โครงการที่ 1 : โครงการพัฒนาระบบการจัดเก็บมูลฝอยโดยรูปแบบสถานีขนถ่ายขยะชุมชน


เนื่องจากปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นปัญหาหลักของเมืองที่กำลังมีการพัฒนาและเติบโตรวดเร็ว เทศบาลนครขอนแก่นที่มีพื้นที่ครอบคลุมถึง 46 ตารางกิโลเมตร มีชุมชนที่จัดตั้งแล้ว 95 ชุมชน มีจำนวนประชากรและประชากรแฝงที่คาดการณ์ไม่น้อยกว่า 300,000 คน ที่ใช้ชีวิตในเขตเทศบาล ก็เป็นอีกหนึ่งแห่งที่ต้องประสบกับปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่รุมเร้าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การจัดการขยะยังเป็นปัญหาของช่วงทศวรรษที่ผ่านมา อัตราการผลิตขยะของเมืองมีแนวโน้มสูงขึ้น และจากสภาพการทิ้งขยะของประชาชนส่วนใหญ่ที่ยังไม่คัดแยกขยะประเภทเศษอาหารถูกทิ้งรวมมากับขยะทั่วไป ส่งผลให้ขยะมีความชื้นสูงเมื่อเกิดการหมักหมม ทำให้ก่อปัญหาเรื่องกลิ่นจากขยะที่รอเก็บขน โดยปริมาณขยะที่รอเก็บขนส่งกำจัดปลายทางในปี 2560 เฉลี่ย 181.5 ตัน/วัน ประกอบกับระบบการบริหารแบบกระจายอำนาจ ถือเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาที่มุ่งให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการท้องถิ่นของตนเอง ซึ่งเป็นการส่งเสริมบทบาทให้ชุมชนมีการริเริ่มในการดำเนินโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชน ร่วมค้นหาปัญหาและสาเหตุของปัญหาภายในชุมชน ร่วมตัดสินใจ กำหนดความต้องการ และร่วมลำดับความสำคัญของความต้องการ มีการวางแผน กำหนดวัตถุประสงค์ วิธีการ แนวทาง ตลอดจนการมีส่วนร่วมในการประเมินผลโครงการ ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาในชุมชน และโดยชุมชนอย่างแท้จริง อันเป็นที่มาของโครงการภายใต้นโยบายเทศบาลเล็กในเทศบาลใหญ่ โดยในปี 2560 มีชุมชนเข้าร่วมกิจกรรมและโครงการด้านสิ่งแวดล้อม ตามนโยบาย เทศบาลเล็กในเทศบาลใหญ่กว่า 90 ชุมชน ดำเนินงานโดยอาสาสมัครกว่า 500 คน เป็นเงินอุดหนุนกว่า 22 ล้านบาท


ดังนั้น เทศบาลนครขอนแก่น จึงได้จัดทำโครงการพัฒนาระบบการจัดเก็บมูลฝอยโดยรูปแบบสถานีขนถ่ายขยะชุมชน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการพัฒนาวิธีการใหม่ๆ ในการแก้ไขปัญหาการจัดการขยะ โดยสรุปดังนี้ คือ

1. ได้รูปแบบใหม่ในการเก็บขนขยะจากชุมชน

2. ลดเรื่องร้องเรียนจากการเก็บขนขยะ

3. ลดปัญหาเรื่องการจัดเก็บค่าธรรมเนียมขยะ

4. ชุมชนมีความเป็นระเบียบเรียบร้อยจากการปลอดถังขยะภายในชุมชน

5. คนมีวินัยในการทิ้งขยะมากขึ้น

6. ลดเวลาการจัดการ ลดค่าใช้จ่าย

ซึ่งจากการประเมินความพึงพอใจของประชาชนทุกไตรมาส พบว่า ร้อยละของความพึงพอใจการให้บริการ ตั้งแต่ระดับดีขึ้นไป มากกว่า 90