ศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณีท้องถิ่น

วัดศรีภิรมย์ ตำบลคลองขลุง อำเภอคลองขลุง จังหวัดกำแพงเพชร

วัด คือ สถานที่อยู่ของพระภิกษุ สามเณร และเป็นศาสนสถานที่ช่วยขัดเกล้าจิตใจประชาชนและ วัดเป็นสถานที่บาเพ็ญกุศลและจัดกิจกรรมต่างๆ ได้แก่การให้ทาน รักษาศีล ฟังธรรม สวดมนต์ไหว้พระ และกิจกรรมทางศาสนา เป็นต้นแบบในการแสดงออกทางด้านขนบธรรมเนียมและประเพณีต่างๆ ซึ่งเกี่ยวกับ พระพุทธศาสนา เป็นศูนย์ศิลปวัฒนธรรมทำหน้าที่ทั้งผู้ผลิต ผู้อนุรักษ์ และผู้สอนศิลปะแก่ประชาชน เป็นที่ปรึกษาด้านการครองตน อาชีพแก้ปัญหาชีวิต สังคม หรือแม้กระทั่ง แก้ปัญหาครอบครัว เป็นสถานที่สงเคราะห์ผู้ยากไร้ เช่น น้ำท่วม ไฟไหม้ สงครามเป็นต้น เป็นสถานพยาบาล ที่พักคนเดินทาง สโมสรให้ชาวบ้านได้พบปะกัน สถานบันเทิง จัดงานเทศกาลต่างๆ ตำบลคลองขลุง อำเอคลองขลุง จังหวัดกำแพงเพชร ยังมีวัดที่สำคัญที่คอยเป็นหลายๆอย่างให้ประชาชนในพื้นที่ ทั้งใกล้ไกล ได้แวะเวียนเข้ามาตามโอกาสที่เหมาะสมของแต่ละบุคคล มากมายหลายวัดด้วยกัน ซึ่งวันนี้ผู้เขียน จะมาขอแนะนำให้ท่านผู้อ่านได้รู้จักสักหนึ่งวัดนั้นก็คือ วัดศรีภิรมย์ (Wat Si Pirom)

วัดศรีภิรมย์ (Wat Si Pirom)ตั้งอยู่เลขที่ 1 หมู่ที่ 2 บ้านคลองขลุง ตำบลคลองขลุง อำเภอคลองขลุง มีที่ดินตั้งวัดเนื้อที่ 55 ไร่ 3 งาน 44 ตารางวา สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย เดิมตั้งอยู่เหนือตลาดคลองขลุง อยู่ริมคลองขลุงฝั่งซ้ายปัจจุบัน วัดนี้เดิม ชื่อ "วัดพิกุลทอง" พ.ศ.2451 หลวงพ่ออ้วน มีภูมิลำเนาเดิมที่พระตะบอง ประเทศสาธารณรัฐประชาชนกัมพูชา ได้มาเรียนหนังสือที่วัดจักรวรรดิติราชาวาส กรุงเทพฯ เมื่อเรียนพอมีความรู้บ้างเล็กน้อย ก็เกิดมีโรคประจำตัวเลยต้องออกจากวัด แล้วก็ได้เดินทางขึ้นมาทางจังหวัดกำแพงเพชร ได้ขึ้นมาถึงอำเภอคลองขลุงและได้มาพักที่วัดพิกุลทอง ซึ่งเป็นวัดไทย (วัดพิกุลทองนั้นมี 2 วัด คือ วัดไทยกับวัดพม่า,วัดพม่าอยู่ฝั่งขวา) เมื่อหลวงพ่ออ้วนได้มาพักอยู่ที่วัดพิกุลทอง วัดไทยกำลังเสื่อมลง พระก็ไม่ค่อยมีอยู่ต่อมาชาวบ้านคลองขลุงที่เป็นฝ่ายไทยซึ่งมีมรรคทายกนำ เป็นหัวหน้าพร้อมด้วยนายเถา นายโกสน ชักชวนชาวบ้านโดยมีหลวงพ่ออ้วนเป็นประธาน ช่วยกันย้ายวัดพิกุลทองซึ่งตั้งอยู่ฝั่งนี้มาตั้งอยู่ที่ท้ายตลาดคลองขลุง อยู่ใต้ที่ว่าการอำเภอคลองขลุงในปัจจุบันนี้ เมื่อย้ายวัดมาแล้วก็ช่วยกันสร้างกุฏิสงฆ์ขึ้น ต่อมา

ได้ปลูกศาลาการเปรียญขึ้นเพื่อใช้เป็นสถานที่บำเพ็ญกุศล เมื่อช่วยปลูกสร้างวัดพอเป็นหลักฐาน แล้วก็ทะนุบำรุงนิมนต์พระสงฆ์ให้มาจำพรรษามิได้ขาด พ.ศ. 2461 ย้ายมาได้ประมาณ 8 ปีเศษ วัดมีความเจริญเป็นหลักฐาน หลวงสรรค์สิทธิกิจ นายอำเภอคลองขลุงมีความศรัทธาได้สละทรัพย์ของตนออกสร้างอุโบสถ โดยชักชวนราษฎรให้เข้าร่วมด้วยกำลังกาย และกำลังทรัพย์บ้างตามสมควรแต่ศรัทธา และจึงได้มีชื่อว่า “วัดศรีภิรมย์” มาจนถึงปัจจุบัน

วัดคือสถานที่ที่อยู่คู่กับคนไทยมาช้านานนอกเหนือจากวัดเป็นสถานที่ในการเผยแพร่ศาสนา สืบสารศิลปวัฒนธรรม ประเพณีอันงดงามเก่าแก่ของคนไทยมาแต่ช้านานแล้ว อีกทั้งวัดของบางคนก็เปรียบเสมือนโรงเรียน วัดของบางคนเปรียบเสมือนโรงพยาบาล วัดของบางคนเปรียบเสมือนสวนสาธารณะ วัดของบางคนเหมือนเปรียบเสมือนสนามกีฬา และวัดของบางคนเปรียบเสมือนสถานที่ใช้พบปะพูดคุยซึ่งกันและกัน วัดจึงเป็นสถานที่ที่คนไทยเกือบทุกคนได้เคยมีโอกาสแวะเวียนเข้าไปพึ่งพาอาศัย ทั้งทางร่างกายและจิตใจ จึงทำให้สามารถรับรู้ถึงความเป็นอยู่ เปลี่ยนแปลงของวัดได้ จากที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นว่าวัดของหลายๆคน เปรียบเสมือนหลายๆสิ่งจึงเป็นสถานที่ที่คู่ควรแก่การรักษา ให้คงอยู่เพื่อคนรุ่นหลังสืบต่อไป