ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงหมู่ที่ ๕ บ้านบางโสก
ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เป็นปรัชญาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสชี้แนะแนวทางการดำเนินชีวิตแก่พสกนิกรชาวไทย เป็นปรัชญาชี้ให้เห็นถึงแนวทาง การดำรงอยู่และปฏิบัติตนของประชาชนในทุกระดับตั้งแต่ระดับครอบครัว ระดับชุมชนจนถึงระดับรัฐ ทั้งในการพัฒนา และบริหารประเทศให้ดำเนินไปใน ทางสายกลาง โดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อให้ก้าวทันต่อโลกยุคโลกาภิวัตน์ ชี้แนะแนวทางการดำรงอยู่และปฏิบัติตนในทางที่ควรจะเป็น โดยมีพื้นฐานมาจากวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมของสังคมไทย สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ตลอดเวลา และเป็นการมองโลกเชิงระบบที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา มุ่งเน้นการรอดพ้นจากภัยและวิกฤติ เพื่อความมั่นคงและความยั่งยืนของการพัฒนา ความพอเพียงหมายถึง ความพอประมาณ คือ ความพอดีที่ไม่น้อยเกินไปและไม่มากเกินไป โดยไม่ไปเบียดเบียนตนเองและผู้อื่น ความมีเหตุผล คือ การตัดสินใจเกี่ยวกับระดับความพอเพียงนั้น จะต้องเป็นไปอย่างมีเหตุมีผล โดยพิจารณาจากเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้อง รวมถึงความจำเป็นที่จะต้องมีระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีด้วย คือ การเตรียมตัวให้พร้อมรับผลกระทบและการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้นโดยคำนึงถึงความเป็นไปได้ของสถานการณ์ต่าง ๆ และต้องประกอบไปด้วยสองเงื่อนไข คือ เงื่อนไขความรู้ เงื่อนไขคุณธรรม
กำนันสมควร โพธิรักษ์ ผู้ริเริ่มก่อตั้งศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงหมู่ที่ ๕ บ้านบางโสก โดยน้อมนำเอาหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ ๙ มาประยุกต์ใช้ในการทำศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง เพื่อเป็นแหล่งเผยแพร่ความรู้ และเป็นฐานการเรียนรู้ให้กับนักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไปที่สนใจได้เข้ามาศึกษาหาความรู้
ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงหมู่ที่ ๕ บ้านบางโสก เดิมที่พื้นที่ตรงนั้นเป็นพื้นที่เพาะปลูกปาล์มน้ำมันของกำนันสมควร โพธิรักษ์ ต่อมาท่านได้เริ่มศึกษาแนวคิดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยเน้นหลักการการทำเกษตรแบบผสมผสาน จึงได้ปรับพื้นที่บริเวณสวนปาล์มน้ำมันส่วนหนึ่งเป็นพื้นที่ทำการเกษตรแบบผสมผสาน โดยเริ่มจากการวางแปลนใหม่ทั้งหมด ซึ่งภายในศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงจะแบ่งพื้นที่ออกเป็นส่วนต่าง ๆ อย่างเป็นระเบียง เหมาะแก่การเป็นศูนย์การเรียนรู้ให้ประชาชนได้เข้ามาศึกษา
การปลูกมะนาวในบ่อท่อซีเมนต์ ถือเป็นไฮไลท์สำคัญของที่นี้ มะนาวในบ่อท่อซีเมนต์ได้รับความสนใจจากประชาชนเป็นอย่างมาก มีประชาชนเข้ามาศึกษาดูงานเป็นจำนวนมาก เนื่องจากมะนาวในบ่อท่อซีเมนต์ของกำนันสร้างความแปลกใหม่ น่าสนใจ จัดรูปแบบการปลูกได้อย่างเป็นระเบียบ ต้นมะนาวให้ผลผลิตที่ดี เก็บเกี่ยวดูแลได้ง่าย และที่สำคัญมีการวางแปลนการบริหารจัดการน้ำได้ดี ทำให้ต้นมะนาวมีผลผลิตที่ดี และเป็นที่น่าสนใจของผู้พบเห็น
โซนปศุสัตว์ ภายในศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงของกำนัน มีโรงเลี้ยงสัตว์มากมายหลายชนิด ไม่ว่า จะเป็น หมู แพะ และวัวพันธ์ โดยสัตว์ที่เลี้ยงที่นี้ทุกตัวจะเป็นสัตว์ที่เลี้ยงโดยการให้กินแต่ของที่เป็นประโยชน์ ซึ่งเป็นพืช ผัก และหญ้าที่กำนันปลูกไว้ในสวนผสมผสานของกำนันเอง ซึ่งสัตว์ที่ได้รับความสนใจเป็นพิเศษของที่นี้คือ วัวพันธ์ ซึ่งเป็นวัวที่ไว้สำหรับผลิตลูกพันธ์ส่งออกให้กับพ่อค้าที่สนใจ ซึ่งวัวที่นี้จะเลี้ยงแบบเปิด ก็คือ จะมีโรงเลี้ยงสำหรับให้วัวนอนหลับพักผ่อน และจะมีพื้นที่ด้านข้างที่กำนันปลูกหญ้าเอาไว้สำหรับให้วัวได้ออกไปเดินเล่น และกินหญ้าได้อย่างอิสระเสรี จนถึงเวลาพลบค่ำกำนันถึงจะไล่ต้อนเข้าโรงเลี้ยง และเช้าวันถัดมาก็จะปล่อยให้วัวออกไปเดินเล่นเช่นเดิม การทำลักษณะเช่นนี้ จะทำให้วัวไม่เครียด และผลิตลูกพันธ์ออกมาได้อย่างเต็มที่ และมีคุณภาพดี
โซนบ่อปลา ภายในศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง จะมีการขุดบ่อปลาไว้ ซึ่งภายในบ่อก็จะมีการเลี้ยงปลาหลากหลายชนิด เช่น ปลานิล ปลาสวาย ฯลฯ ซึ่งกำนันบอกว่าส่วนใหญ่เลี้ยงไว้ดูเล่นมากกว่าการจับไปขาย หรือจับไปกิน
โซนสุดท้ายจะเป็นโซนสำหรับปลูกผักสวนครัว ซึ่งผักสวนครัวภายในศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงก็จะมีมากมายหลายชนิด เช่น มะเขือ พริก ตะไคร้ ขมิ้น ถั่วพู มะละกอ ฯลฯ ซึ่งผักที่ปลูกที่นี้จะเป็นผักสวนครัวที่ปลอดสารพิษทั้งหมด สามารถนำไปประกอบอาหารได้อย่างปลอดภัยจากสารอันตรายต่าง ๆ ซึ่งที่บ้านของกำนันเองไม่จำเป็นต้องซื้อผักจากตลาดเลย สามารถเก็บได้จากสวนของตัวเอง ได้ทั้งผักที่ปลอดสารพิษ และสดใหม่ และมีผลผลิตที่กินได้ตลอดทั้งปี
สำหรับผู้ที่สนใจ ต้องการที่จะมาเรียนรู้ที่ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง สามารถติดต่อกำนันสมควร โพธิรักษ์ และเข้ามาเรียนรู้ได้ทุกวันที่ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง หมู่ที่ ๕ บ้านบางโสก ตำบลเขาต่อ อำเภอปลายพระยา จังหวัดกระบี่