การอำนวยความยุติธรรม การสร้างความเป็นธรรมและความสงบสุขในสังคม เป็นภารกิจหลักที่สำคัญยิ่งของกระทรวงยุติธรรม ที่จะต้องดำเนินการให้เกิดขึ้นแก่ประชาชนในทุกพื้นที่และทุกระดับ แต่ภารกิจดังกล่าวหากรัฐเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการแต่เพียงฝ่ายเดียวคงไม่สามารถบรรลุผลอย่างยั่งยืนได้ หัวใจสำคัญของความสำเร็จในการดำเนินภารกิจดังกล่าว จึงอยู่ที่คนในชุมชน ซึ่งเป็นผู้ที่อยู่ใกล้ชิดได้สัมผัส มีส่วนได้ส่วนเสียกับความยุติธรรม ความเป็นธรรม และความสงบสุขในชุมชนนั้นๆ ได้มีโอกาสและมีช่องทางที่จะเข้ามามีส่วนร่วมกับภาครัฐในการแก้ปัญหาของชุมชนด้วยตนเอง โดยมีโอกาสในการร่วมคิด ร่วมวางแผน ร่วมดำเนินการและร่วมรับประโยชน์จากการแก้ปัญหาร่วมกันในลักษณะของการเป็น "หุ้นส่วน"

เพื่อให้ความยุติธรรมเกิดขึ้นอย่างแท้จริง โดยผู้ที่ได้รับผลกระทบเป็นผู้อำนวยความยุติธรรมร่วมกับกระบวนการยุติธรรม จึงเกิดเป็นแนวความคิดของยุติธรรมชุมชนขึ้น ซึ่งความหมายของยุติธรรมชุมชนนั้น หลายท่านอาจมีความคิดเห็นแตกต่างกันไป บางท่านอาจเห็นว่า เป็นการควบคุมอาชญากรรมโดยชุมชนร่วมมือกับตำรวจในการป้องกันและลดปัญหาอาชญากรรม บางท่านอาจมองว่า เป็นการประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานในกระทรวงยุติธรรมและ/หรือศาลกับชุมชน โดยตระหนักว่าปัญหาอาชญากรรมเป็นประเด็นของปัญหาสังคม ซึ่งกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบต้องให้ความสำคัญเข้ามาทำงานร่วมกับชุมชนมากขึ้น บางท่านอาจมองว่าเป็นการลงโทษหรือแก้ไขผู้กระทำผิดโดยอาศัยความร่วมมือจากชุมชน โดยใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในชุมชน ในขณะที่บางส่วนมองไปที่บทบาทของการจัดการยุติธรรมแบบสมานฉันท์โดยชุมชนเป็นหลัก

แม้ว่ามุมมองต่อคำว่า ยุติธรรมชุมชน หลายฝ่ายจะเข้าใจและมองยุติธรรมชุมชนแตกต่างกันไป แต่มีรากฐานสำคัญยิ่งสิ่งหนึ่งที่ทุกกลุ่มความคิดเห็นเหมือนกัน คือ การทำงานอย่างร่วมกันระหว่างหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมกับชุมชน ซึ่งหากให้นิยามของคำว่ายุติธรรมชุมชนแล้วคำนิยามควรจะประกอบด้วยองค์ประกอบสำคัญ 3ระการ คือ

1. เป็นกิจกรรมด้านการป้องกันและควบคุมปัญหาอาชญากรรมในชุมชน

2. เป็นการดำเนินการโดยชุมชนเพื่อชุมชน

3. รัฐมีหน้าที่เป็นหุ้นส่วนร่วมกับชุมชน