อนุสาวรีย์ย่าโม

“กว่าจะมาเป็นอนุสาวรีย์ย่าโม”

ในยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ อนุสาวรีย์แทบทั้งหมดบนแผ่นดินสยามนั้นถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ และในสมัยรัชกาลที่ 6 นายคอร์ราโด เฟโรจี หรือ อาจารย์ศิลป์ พีระศรี ประติมากรชาวอิตาลี ก็ถูกเชื้อเชิญมาเมืองไทยโดยราชสำนักเพื่อให้รังสรรค์ผลงาน

จนหลังจากที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. 2475 อนุสาวรีย์สดุดีสามัญชน วีรบุรุษ วีรสตรีจึงเริ่มมีดำริให้จัดสร้างขึ้น และอนุสาวรีย์แรกที่สร้างหลังจากประเทศสยามเปลี่ยนมาปกครองโดยระบอบประชาธิปไตยก็คือ “อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี” หรือที่เรียกกันติดปากกันว่าอนุสาวรีย์ย่าโมนั่นเอง

ย่าโม หรือคุณหญิงโม เป็นวีรสตรีที่มีส่วนในการสู้รบกับกองทัพเจ้าอนุวงศ์จากเวียงจันทน์ เพื่อกอบกู้แขวงเมืองนครราชสีมา เหตุการณ์นี้เกิดขึ้น ณ ทุ่งสัมฤทธิ์ เมื่อวันที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2369 ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ด้วยวีรกรรมที่กล้าหาญ ในหลวงรัชกาลที่ 3 จึงโปรดเกล้าฯสถาปนาคุณหญิงโม เป็นท้าวสุรนารี ในวันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2370 ซึ่งขณะนั้นท่านมีอายุ 57 ปีแล้ว นั่นหมายความว่าย่าโมของเราไปแกว่งดาบวิ่งไล่ฟันทหารฝ่ายตรงข้ามตอนอายุ 56 ปี

เมื่อย่าโมถึงแก่กรรมในวัย 81 ปี เจ้าพระยามหิศราธิบดีผู้เป็นสามี ได้บรรจุอัฐิของย่าโมไว้ในเจดีย์ ณ วัดศาลาลอย ภายหลังเมื่อเจดีย์ทรุดโทรมตามกาลเวลา อัฐิของท่านจึงถูกย้ายไปบรรจุไว้ในขนาดย่อมๆ ที่สร้างขึ้นใหม่ในวัดพระนารายณ์มหาราช พอนานเข้ากู่ที่เก็บอัฐิก็เริ่มผุพังลงอีก เมื่อปี พ.ศ. 2476 พระยากำธรพายัพทิศ ผู้ว่าจังหวัดนครราชสีมา กับนายพันเอกระเริงรุกปัจจามิตร (ทอง รักสงบ) ผู้บังคับการมณฑลทหารบกที่ 5 และประชาชนชาวโคราช เลยมีความคิดในการสร้างที่เก็บอัฐิขึ้นมาใหม่ให้ใหญ่โตสมเกียรติ รัฐบาลซึ่งนำโดยคณะราษฎรก็เห็นดีเห็นงามด้วย ครั้งนั้นรัฐบาลมอบหมายให้กรมศิลปากรทำการออกแบบจัดสร้างในรูปแบบอนุสาวรีย์เพื่อนำไปตั้งไว้หน้าประตูชัยใจกลางเมืองโคราชให้คนเห็นกันทั่วบ้านทั่วเมือง โดยมีศิลปินฝีมือระดับสูงมาร่วมงานถึง 2 ท่าน คือพระเทวาภินิมมิตร จิตรกรชาวโคราช กับ อาจารย์ศิลป์ พีระศรี ประติมากรชาวอิตาลี

หลังจากมีการปรับแบบกันไปมา คณะกรรมการจึงได้แบบรูปปั้นที่ดูเหมือนมนุษย์ที่มีชีวิตจิตใจ ลักษณะหญิงไทย ในชุดนุ่งจีบ ห่มผ้า มีสไบเฉียง ตัดผมปีกแบบโบราณ ยินท้าวสะเอว ในขณะที่อีกมือก็ถือด้ามดาบชี้ปลายจรดพื้นไว้อย่างทะมัดทะแมง ท่าทางและสีหน้าดูผ่อนคลาย แต่อารมณ์จากแววตานั้นเต็มไปด้วยความมุ่งมั่น ในที่สุดรูปปั้นนี้จึงถูกถอดแบบและหล่อขึ้นมาด้วยทองแดงรมดำ เมื่อแล้วเสร็จมีความสูง 1.85 เมตร และหนัก 325 กิโลกรัม ประติมากรรมชิ้นนี้ถูกนำขึ้นไปประดิษฐานบนฐานที่บรรจุอัฐิของย่าโมเอาไว้โดยตั้งให้หันหน้าไปทางทิศตะวันตก ซึ่งเป็นทิศที่ตั้งของกรุงเทพมหานคร เมืองหลวงของประเทศสยามที่ท่านเคยปกป้องพร้อมสรรพ สำหรับพิธีเปิดอนุสาวรีย์ที่จัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ในวันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2477

กว่า 30 ปีให้หลังเมื่อปี พ.ศ. 2510 ฐานของอนุสาวรีย์ย่าโมเริ่มพังเสียหาย นายสวัสดิวงค์ ปฏิทัศน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดในสมัยนั้น พร้อมทั้งข้าราชการและประชาชนชาวโคราช จึงร่วมกันจัดสร้างฐานอนุสาวรีย์ที่ใช้บรรจุอัฐิขึ้นมาใหม่ โดยมีการปรับแบบแต่ยังตั้งอยู่ที่เดิมบริเวณหน้าประตูชุมพล นี่จึงเป็นสาเหตุว่าทำไมบางทีเวลานั่งดูรูปเก่าๆ ของอนุสาวรีย์ย่าโม บางรูปถึงดูไม่เหมือนอีกรูป นี่แหละความเป็นมาของอนุสาวรีย์ย่าโม ผลงานของศิลปินด้านศิลปะไทยกับศิลปินด้านศิลปะสากลของบ้านเราในสมัยนั้น

อนุสาวรีย์แห่งนี้นอกจากจะเป็นศูนย์รวมดวงใจของชาวโคราชแล้ว จึงยังทรงคุณค่าในแง่สุนทรียศาสตร์ด้วยอย่างครบครัน รู้แบบนี้อย่าลืมแวะแลนด์มาร์กการท่องเที่ยวที่หากใครไม่ได้มาที่อนุสาวรีย์ย่าโมก็เหมือนมาไม่ถึงโคราช เวลาไหว้ย่าโมก็อย่าลืมแหงนหน้าชมมนต์เสน่ห์ผลงานชิ้นเอกของสองศิลปินชั้นครูที่หาดูไม่ได้ที่ไหนแล้วด้วยนะ