การเล่นโหวด

การเล่นโหวด

ชาวตำบลแก้งไก่ อำเภอสังคม จังหวัดหนองคาย

การเล่นโหวดมีประวัติความเป็นมา ในสมัยก่อนพุทธกาล มีเมืองชื่อพันทุมาลัย เมืองนี้มีพระโพธิสัตว์เสวยชาติเป็นพญาคางคก ผู้คนมีความเชื่อว่าพญาแถนสามารถบันดาลฝนฟ้า และสามารถรักษาอาการเจ็บป่วยได้ โดยการบนบาลศาลกล่าวต่อพญาแถน ครั้นพอมีพญาคางคก ผู้คนและสัตว์หันไปนับถือพญาคางคก ทำให้พญาแถนไม่พอใจ พญาแถนจึงบันตาลให้ฝนฟ้าไม่ตกต้องตามฤดูกาล ทำให้เมืองแห้งแล้งเป็นเวลา 7 ปี 7 เดือน ผู้คนและสัตว์ รวมทั้งพืชพันธุ์ธัญญาหารล้มตาย ส่งผลให้มวลมนุษย์และสัตว์เดือดร้อน มนุษย์จึงทำสงครามกับพญาแถน แต่มนุษย์ก็ไม่สามารถชนะพญาแถน จึงไปปรึกษาพญาคางคก และพญาคางคกรับอาสาสู้รบกับพญาแถน พญาคางคกจับพญาแถนได้ พญาแถนจึงยอมตกลงตามสัญญา โดยมีเงื่อนไข 3 ประการ คือ 1.ให้พญาแถน บันดาลฝนให้มนุษย์ดังเดิม พอถึงเดือนหกถ้าฝนไม่ตกมนุษย์จะจุดบั้งไฟ เพื่อเป็นการบอกกล่าวต่อพญาแถนให้ประทานฝนไห้มนุษย์, 2.หากได้ยินเสียงกบ อึ่งอ่าง เขียดร้อง แสดงว่ามนุษย์ได้รับน้ำฝนแล้ว และ 3.เมื่อไดที่ได้รับฝนเพียงพอแล้ว มนุษย์จะแกว่งโหวดขึ้นสู่ท้องฟ้าให้เกิดเสียงดังเป็นสัญญาณ ให้พญาแถนทราบว่าได้รับน้ำฝนเพียงพอแล้ว เพื่อให้ลดปริมาณฝนลง หรือให้ฝนหยุด

ชาวตำบลแก้งไก่ได้มีการละเล่นโหวด เป็นประเพณีสืบมา ต่อมาในปี พ.ศ. 2546 องค์การบริหารส่วนตำบลแก้งไก่ เห็นความสำคัญของประเพณีพื้นบ้าน จึงได้สืบสานวัฒนธรรมประเพณีการเล่นโหวดขึ้น โดยจัดเทศกาลเล่นโหวด ในวันเสาร์สุดท้ายเดือนธันวาคมของทุกปี ซึ่งมีกิจกรรมประกอบด้วย การแข่งขันประกวดประดิษฐ์โหวด ประเภทเยาวชนชาย-หญิง, การแข่งขันประกวดไก่ ประเภทไก่พ่อพันธุ์(ไก่ชน) ไก่ตั้งไก่ต่อ(เสียงขัน) และไก่ตั้งไก่ต่อ(สวยงาม), การแข่งขันขว้างโหวด ประเทศเด็กและเยาวชนชาย-หญิง, ประเภทประชาชนทั่วไป และประเภทผู้สูงอายุ

โดยการนำโหวดที่เป็นเครื่องเป่าในวงโปงลาง นำมาแกว่ง โยน หรือแกว่งก่อนที่จะขว้างออกไปยังท้องทุ่งนา นำมาแข่งขันกัน ทั้งระดับของเสียงที่ดังขณะแกว่ง เสียงแห่งความไพเราะขณะที่ตัวโหวด ถูกขว้างออกไป ลอยละลิ่วไปตามท้องทุ่ง พร้อมกับการส่งเสียงดังกลับมายังหูของผู้ชม ผู้ฟัง และผู้ขว้าง โหวดของใครส่งเสียงดังไพเราะ และขว้างเข้าไปไกลที่สุด ไม่ออกนอกเส้นทางที่คณะกรรมการกำหนดไว้ ก็จะได้รางวัลไป แม้รางวัลจะไม่มาก แต่ชาวบ้านก็ถือว่าได้มาร่วมประเพณีขว้างโหวดที่จัดขึ้นแห่งเดียว ได้แจ้งบอกกล่าวพญาแถนให้หยุดน้ำฝนได้แล้วในปีนี้


ผู้เรียบเรียง นางสาวสมสเหลา วงศ์ต่างตา

แหล่งที่มาของข้อมูล https://www.facebook.com/Nongkhaiklajaykaw/posts/2518333941748105/

แหล่งที่มาภาพ https://www.facebook.com/Nongkhaiklajaykaw/posts/2518333941748105/

แหล่งข้อมูล กรมส่งเสริมวัฒนธรรม DCP https://www.youtube.com/watch?v=ZargFA1sVfA