ยินดีต้องรับเข้าสู่บทเรียนออนไลน์

คำอธิบายบทเรียน สังคมศึกษา

.........ศึกษา วิเคราะห์และประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการออกแบบการจัดการเรียนรู้ตามธรรมชาติของสาขาวิชาเอกสังคมศึกษาเพื่อพัฒนาผู้เรียนให้มีปัญญารู้คิดและมีความเป็นนวัตกรรมที่สอดคล้องกับบริบทและความแตกต่างระหว่างบุคคลของผู้เรียน ผู้เรียนที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษโดยการวิเคราะห์หลักการ แนวคิด ทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาวิชาสังคมศึกษาเพื่อการสื่อสารการศึกษาเพื่อให้สามารถเลือกและประยุกต์ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการสื่อสารการศึกษาและการจัดการเรียนรู้ได้อย่างเหมาะสมมีประสิทธิภาพ 


ความหมายวิชาสังคมศึกษา

สังคมศึกษา (Social Studies) เป็นองค์ความรู้ที่มีมาตั้งแต่อดีต โดยแฝงตัวอยู่กับศาสตร์ความรู้สาขาวิชาต่างๆ โดยเฉพาะในสาขาสังคมศาสตร์ ต่อมาราวศตวรรษที่ 19 นักการศึกษาในแถบภูมิภาคยุโรปและสหรัฐอเมริกา จึงได้ริเริ่มกล่าวถึงวิชาสังคมศึกษาในวงการศึกษามากขึ้น จนเป็นที่นิยมและแพร่หลายในระยะเวลาต่อมา ทั้งนี้นักการศึกษาและนักวิชาการหลายท่าน ได้ให้ความหมายของสังคมศึกษาไว้ต่าง ๆ กัน ดังนี้

เพรสตัน (Preston C. Ralph. 1988 : 1 - 2) กล่าวถึงสังคมศึกษาในอีกแง่หนึ่งว่า สังคมศึกษาเป็นส่วนหนึ่งของเนื้อหาวิชาสังคมศาสตร์ที่เลือกสรรมา เพื่อใช้ในการสอนเด็กโดยเฉพาะระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา สังคมศึกษาในระดับมัธยมศึกษาและประถมศึกษาส่วนมากจะได้เนื้อหาวิชามาจากสังคมศาสตร์ คือ

1. ประวัติศาสตร์ เป็นการศึกษาเรื่องราวในอดีตของมนุษย์

2. ภูมิศาสตร์ เป็นการศึกษาเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับแผ่นดินที่อยู่อาศัย

3. หน้าที่พลเมือง เป็นการศึกษาเรื่องสิทธิและหน้าที่มนุษย์

4. สังคมวิทยา เป็นการศึกษาเกี่ยวกับสถาบันของมนุษย์และกระบวนการทางสังคม

5. มานุษยวิทยา เป็นการศึกษาเกี่ยวกับวัฒนธรรมของกลุ่มชน

6. เศรษฐศาสตร์ เป็นการศึกษาเกี่ยวกับผลผลิต การแจกจ่าย และการใช้สิ่งที่มีค่าในการแลกเปลี่ยน และปรากฏการณ์ทางสังคมอันเกิดขึ้นจากกิจกรรมดังกล่าว

ความมุ่งหมายของวิชาสังคมศึกษา

กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม หรือรายวิชาสังคมศึกษามีจุดมุ่งหมาย เพื่อให้ผู้เรียนทุกคนซึ่งเป็นกำลังของชาติ ให้มีความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับ อิทธิพลของสภาพแวดล้อม ที่มีผลต่อการดำรงชีวิต การอยู่ร่วมกันในสังคม ปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เป็นพลเมืองที่รับผิดชอบ มีความสามารถทางสังคม มีความรู้ มีทักษะ และมีคุณธรรมเพื่อเกิดค่านิยมที่เหมาะสม มุ่งหวังให้ผู้เรียนเกิดความเจริญงอกงามด้านความรู้โดยจะให้ความรู้แก่ผู้เรียนด้านเนื้อหาสาระ ความคิดรวบยอดและหลักการสำคัญในสาขาวิชาต่างๆ