ข้อมูลโครงการวิจัย

หลักการและเหตุผล

       เด็กปฐมวัยถือเป็นยุคทองของการพัฒนาการเรียนรู้ หากเด็กได้รับการกระตุ้นส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้อย่างเหมาะสม จะทำให้เกิดศักยภาพสูงสุดของสมอง หรือศักยภาพสูงสุดในการเรียนรู้ ซึ่งการที่สมองทำงานได้ดีมีความสำคัญและมีความหมายต่อชีวิตมากกว่าการได้คะแนนสอบดี นั่นคือ การนำพาเด็กไปสู่การมีความคิด ความรู้สึก และการกระทำที่มีเหตุมีผลตามวัย และค่อยๆ ฝังรากลึกจนเป็นสมรรถนะและคุณลักษณะอันเป็นประโยชน์ต่อการจัดการชีวิตของตนเองให้สำเร็จ  มีความสุข และสามารถใช้ชีวิตอยู่กับคนอื่น อยู่กับสังคมได้ดีในอนาคตด้วย ส่วนเด็กที่ขาดการกระตุ้นส่งเสริมอย่างเหมาะสม ย่อมทำให้เด็กสูญเสียโอกาสในการพัฒนาศักยภาพสมองและการเรียนรู้อย่างน่าเสียดาย 

สถานการณ์เด็กปฐมวัยในเขตสุขภาพที่ 10 พบว่ามีศักยภาพของสมองและการเรียนรู้ไม่เป็นไปตามเป้าหมายการพัฒนาของประเทศ โดยในปีงบประมาณ 2565 พบเด็กมีพัฒนาการสงสัยล่าช้า ร้อยละ 24.11 เด็กที่มีพัฒนาการสงสัยล่าช้าได้รับการติดตามส่งเสริม/กระตุ้นภายใน 30 วัน ร้อยละ 91.59 และเด็กมีพัฒนาการสมวัย ร้อยละ 84.52 (HDC ประมวลผลวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2566) เด็กชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 มีปัญหาระดับสติปัญญาหรือ IQ ต่ำกว่าเกณฑ์ ดังผลการสำรวจสถานการณ์ระดับสติปัญญาเด็กไทยชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ปี พ.ศ.2564 พบว่าภาพรวมเขตพบว่ามีไอคิวเฉลี่ยเท่ากับ 98.44 (จังหวัดอุบลราชธานี 98.13 ศรีสะเกษ 98.36 ยโสธร 97.11 อำนาจเจริญ 97.85 และมุกดาหาร 102.93) และเป็นอันดับสุดท้ายของประเทศ นอกจากนี้พบว่าเด็กปฐมวัยมีพัฒนาการทักษะสมอง EF สงสัยล่าช้าประมาณร้อยละ 30 และถึงแม้ว่าเด็กจะมีความฉลาดทางอารมณ์ผ่านเกณฑ์ แต่พบปัญหามากที่สุดด้านความมุ่งมั่นพยายามและทักษะในการแก้ไขปัญหา หากเด็กไม่ได้รับการดูแลแก้ไข คุณภาพของเด็กในเขตสุขภาพที่ 10 จะไม่เปลี่ยนแปลงและอาจมีแนวโน้มของปัญหาเพิ่มขึ้น

คณะกรรมการอำนวยการส่งเสริมพัฒนาเด็กปฐมวัย เขตสุขภาพที่ 10 เล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาเด็กอย่างยั่งยืน จึงได้กำหนดนโยบายส่งเสริมพัฒนาการ ทักษะสมอง อีคิวและไอคิวเด็กปฐมวัย เขตสุขภาพที่ 10 “พัฒนาการสมวัย IQ เกิน 103  EQ & EF ดี” เพื่อกำหนดแนวทางการพัฒนาเด็กปฐมวัยสู่การผลักดันให้เกิดการขับเคลื่อนนโยบายสู่กลไกการทำงานในระดับปฏิบัติ โดยการบูรณาการความร่วมมือของหน่วยงานและภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องในเขตสุขภาพที่ 10 อย่างเป็นรูปธรรม ทั้งนี้ได้ให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาทักษะด้านการส่งเสริมพัฒนาการ ทักษะสมอง อีคิวและไอคิวเด็กปฐมวัย ของพ่อแม่ผู้ปกครองเด็ก ครูปฐมวัย และผู้ดูแลเด็ก ผู้ซึ่งใกล้ชิดเด็กปฐมวัยมากที่สุดที่จะช่วยส่งเสริมให้เด็กได้รับการพัฒนาเหมาะสมตามวัยและเตรียมความพร้อมเด็กเพื่อเข้าสู่ระบบการศึกษาและสังคมในอนาคต จึงได้จัดทำหลักสูตรนี้ขึ้นเพื่อให้พ่อแม่ผู้ปกครองเด็ก ครูปฐมวัย และผู้ดูแลเด็ก ได้พัฒนาองค์ความรู้ เจตคติที่ดี มีทักษะเหมาะสม เพียงพอในการส่งเสริมพัฒนาการ ทักษะสมอง อีคิวและไอคิวเด็กปฐมวัยสู่การเป็นเด็กปฐมวัยคุณภาพต่อไป

วัตถุประสงค์ของการวิจัย

       เพื่อพัฒนาหลักสูตรฝึกอบรมออนไลน์เพื่อเสริมสร้างสมรรถนะครูปฐมวัย ผู้ดูแลเด็ก และพ่อแม่ผู้ปกครองเด็กด้านการส่งเสริมพัฒนาการ ทักษะสมอง อีคิวและไอคิวของเด็กปฐมวัยในเขตสุขภาพที่ 10

ความร่วมมือกับหน่วยงานภายนอก

ระยะเวลาดำเนินการ

      ตุลาคม 2566 - กันยายน 2567

สถานที่ดำเนินการ

      1) โครงการจัดตั้งวิทยาเขตอำนาจเจริญ  มหาวิทยาลัยมหิดล
      2) สำนักงานเขตสุขภาพที่ 10

ประโยชน์ที่ได้รับ

      ได้หลักสูตรฝึกอบรมออนไลน์ เพื่อเสริมสร้างสมรรถนะครูปฐมวัย ผู้ดูแลเด็ก และพ่อแม่ผู้ปกครองเด็กด้านการส่งเสริมพัฒนาการ ทักษะสมอง อีคิวและไอคิวของเด็กปฐมวัยในเขตสุขภาพที่ 10 ที่มีคุณภาพ  จำนวน 3 หลักสูตร ประกอบด้วย หลักสูตรสำหรับครูปฐมวัย ในโรงเรียนประถมศึกษาที่มีชั้นเรียนอนุบาล (เด็กปฐมวัยอายุ 4-6 ปี)  หลักสูตรสำหรับครูปฐมวัยและผู้ดูแลเด็ก ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก (เด็กปฐมวัยอายุ 2-4 ปี)  และหลักสูตรสำหรับพ่อแม่ผู้ปกครองเด็กปฐมวัย (เด็กปฐมวัยอายุ 0-6 ปี)