โครงการ  Innovation For Thai Education (IFTE)
นวัตกรรมการศึกษาเพื่อพัฒนาการศึกษา สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดราชบุรี ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566

เอกสารแนวทางการขับเคลื่อนโครงการ

แผ่นพับแนวทางการขับเคลื่อน

หลักการและเหตุผลความจำเป็น

       การที่จะพัฒนาประเทศไทยไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ให้เกิดขึ้นในอนาคตนั้น จะต้องให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างทุนของประเทศที่มีอยู่ให้เข้มแข็ง และมีพลังเพียงพอในการขับเคลื่อนกระบวนการพัฒนาทั้งในระยะกลางและระยะยาว โดยเฉพาะ "การพัฒนาคน" ให้มีการเตรียมความพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงของโลกในศตวรรษที่ 21 ซึ่งมีสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ทักษะการเรียนรู้และการเสริมสร้างปัจจัยแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนาคุณภาพของคน โดยการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มาประยุกต์ใช้ทั้งในเชิงระบบและโครงสร้างของสังคมไทยให้มีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น

       กระบวนการบริหารจัดการศึกษาที่มีคุณภาพประกอบด้วย 3 กระบวนการ คือ กระบวนการบริหารจัดการศึกษา กระบวนการจัดการเรียนการสอน และกระบวนการนิเทศการศึกษา ซึ่งจะต้องมีความร้อยรัดสัมพันธ์กันเป็นอย่างดี โดยต้องอาศัยความร่วมมือกันของบุคลากรที่เกี่ยวข้องจากทุกภาคส่วน การสร้างเครือข่ายในการทำงานในและพื้นที่จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษา ซึ่งจะต้องมีการร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมประเมินผล อย่างต่อเนื่อง มีการพัฒนากระบวนการทำงานและสร้างนวัตกรรมในการทำงานให้เหมาะสมสอดคล้องกับสภาพบริบทและความต้องการของแต่ละพื้นที่ รองรับการพัฒนาผู้เรียนให้มีความรู้และทักษะในศตวรรษที่ 21

       จากเหตุผลและความจำเป็นดังกล่าว สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดราชบุรี จึงได้จัดทำโครงการ Innovation For Thai Education (IFTE) นวัตกรรมการศึกษา เพื่อพัฒนาการศึกษา สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดราชบุรี ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 ขึ้น เพื่อสร้างและพัฒนา

เครือข่ายความร่วมมือของบุคลากรในทุกภาคส่วนมาร่วมกันส่งเสริม สนับสนุน พัฒนานวัตกรรมการพัฒนาคุณภาพการศึกษา ทั้งในด้านกระบวนการบริหารจัดการศึกษา กระบวนการจัดการเรียนการสอน และกระบวนการนิเทศการศึกษา เพื่อยกระดับคุณภาพของผู้เรียนในด้านทักษะ

การเรียนรู้ ทักษะอาชีพ และทักษะชีวิตในศตวรรษที่ 21

วัตถุประสงค์

     1. เพื่อส่งเสริม สนับสนุน พัฒนา นวัตกรรมการบริหารจัดการ การจัดการเรียนรู้ และการนิเทศการศึกษา รวมทั้งการยกระดับคุณภาพและประสิทธิภาพการจัดการศึกษาอย่างบูรณาการร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

     2. เพื่อสร้างศูนย์กลางข้อมูลสารสนเทศอย่างบูรณาการ ด้านนวัตกรรม และการวิจัยทางการศึกษาในระดับจังหวัด

     3.  เพื่อสร้างเครือข่ายความร่วมมือในการพัฒนาการศึกษา

เป้าหมายโครงการ (Output)


1.เป้าหมายเชิงปริมาณ

 1.1 จังหวัดมีรูปแบบ/แนวทางการพัฒนานักเรียน หรือแนวทางการพัฒนานวัตกรรมการบริหารจัดการ การจัดการเรียนรู้ และการนิเทศการศึกษา รวมทั้งการยกระดับคุณภาพ และประสิทธิภาพการจัดการศึกษา

 1.2 จังหวัดมีศูนย์กลางข้อมูลสารสนเทศทางการศึกษา นวัตกรรม และการวิจัยทางการศึกษาในระดับจังหวัด

 1.3 จังหวัดมีเครือข่ายความร่วมมือในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา
2. เป้าหมายเชิงคุณภาพ

 2.1 จังหวัดสามารถนำรูปแบบ/แนวทางการพัฒนานักเรียน หรือแนวทางการพัฒนานวัตกรรมการบริหารจัดการ การจัดการเรียนรู้ และการนิเทศการศึกษาไปใช้ในการพัฒนาได้จริงในระดับพื้นที่

         2.2 ข้อมูลสารสนเทศทางการศึกษา นวัตกรรม และการวิจัยทางการศึกษาในระดับจังหวัด มีความครอบคลุม ชัดเจน เป็นปัจจุบัน สามารถนำไปใช้ในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ
          2.3 จังหวัดสามารถสร้างเครือข่ายความร่วมมือในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา 

กลุ่มเป้าหมายโครงการ (Target group)

       ผู้บริหาร ครู และบุคลากรทางการศึกษาของทุกหน่วยงานการศึกษา และภาคีเครือข่ายในพื้นที่จังหวัดราชบุรี