ประวัติความเป็นมา และวัตถุประสงค์การจัดตั้งกองทุน

1. ประวัติความเป็นมา

กองทุนสำนักส่งเสริมและฝึกอบรม ได้จัดตั้งขึ้นในปี พ.ศ.2565 ภายใต้พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พ.ศ.2558 โดยมี รศ.สุวิสา พัฒนเกียรติ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมและฝึกอบรม เป็นประธานกรรมการกองทุนสำนักส่งเสริมและฝึกอบรม และ นางพงศ์พงา เนตรหาญ หัวหน้าสำนักงานเลขานุการ เป็นกรรมการและเลขานุการ มีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานตามบทบาทหน้าที่และภารกิจของสำนักส่งเสริมและฝึกอบรม การเพิ่มศักยภาพและเตรียมความพร้อมของบุคลากรสำนักส่งเสริมและฝึกอบรม ให้มีความรู้และทักษะเพิ่มมากขึ้น และการเพิ่มขีดความสามารถในการปฏิบัติงานของสำนักส่งเสริมและฝึกอบรมให้เป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ

กองทุนสำนักส่งเสริมและฝึกอบรม เกิดจากการปรับปรุง “กองทุนวิจัยและพัฒนางานส่งเสริมการเกษตร (AGERD FUND)” ที่ได้จัดตั้งในปี พ.ศ.2549 ให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พ.ศ.2558 ซึ่งจะช่วยให้การดำเนินงานมีความคล่องตัวและขอบเขต การดำเนินงานมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น

กองทุนวิจัยและพัฒนางานส่งเสริมการเกษตร (AGERD FUND) ได้จัดตั้งใน ปีพ.ศ.2549 โดยการสนับสนุนอย่างเข้มแข็งจาก ศ.ดร.ธีระ สูตะบุตร อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และนายปราโมทย์ รักษาราษฎร์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร โดยมีวัตถุประสงค์โดยรวมเพื่อการพัฒนางานส่งเสริมการเกษตรในประเทศไทย ให้มีความเข้มแข็งและยกระดับความสามารถในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตร โดยที่มีทุนสนับสนุนการจัดตั้งกองทุนในระยะเริ่มต้น จำนวนเงินทั้งสิ้น 3,000,000 บาท (สามล้านบาทถ้วน) ในระยะเริ่มแรกมี ศ.ดร.ศุภมาศ พนิชศักดิ์พัฒนา คณบดีคณะเกษตร เป็นประธานกรรมการ และ รศ.ดร.พัฒนา สุขประเสริฐ เป็นกรรมการและเลขานุการ ต่อมาได้มีการโอนย้ายกองทุนฯ ไปสังกัดสำนักส่งเสริมและฝึกอบรม โดยมี รศ.วัฒนา สวรรยาธิปัติ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมและฝึกอบรม เป็นประธานกรรมการ และ รศ.สุวิสา พัฒนเกียรติ เป็นกรรมการและเลขานุการ

2. วัตถุประสงค์ของกองทุนสำนักส่งเสริมและฝึกอบรม

ประกาศสำนักส่งเสริมและฝึกอบรม เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการให้ทุนของกองทุนสำนักส่งเสริมและฝึกอบรม ประกาศ ณ วันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2565 ได้ระบุวัตถุประสงค์ของกองทุนสำนักส่งเสริมและฝึกอบรม ดังนี้

2.1 ส่งเสริมการศึกษาค้นคว้าวิจัยของบุคลากรสำนักส่งเสริมและฝึกอบรม

2.2 สนับสนุนการผลิตสื่อเพื่อการถ่ายทอดเทคโนโลยีและการเผยแพร่ผลงานของสำนักส่งเสริมและฝึกอบรม

2.3 สนับสนุนกิจกรรมการดำเนินงานของสำนักส่งเสริมและฝึกอบรม

2.4 สนับสนุนกิจกรรมด้านนวัตกรรมและบริการสังคม

2.5 สนับสนุนการพัฒนาการเรียนการสอน การเรียนรู้ตลอดชีวิต

2.6 สนับสนุนการพัฒนาสมรรถนะของบุคลากรสำนักส่งเสริมและฝึกอบรม

2.7 ส่งเสริมงานบริการวิชาการแก่ชุมชน

2.8 ส่งเสริมงานด้านทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม

2.9 สนับสนุนการพัฒนาทางด้านกายภาพสำนักส่งเสริมและฝึกอบรม