หน่วยที่ 3

ระบบเครือข่ายท้องถิ่น


ระบบเครือข่ายท้องถิ่น

ความเป็นมาและวิวัฒนาการ

เครือข่ายท้องถิ่นในโลกพีซี คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล หรือจะเรียกว่าพีซีนั้น ได้รับการพัฒนาทั้งจากผู้ผลิตซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ ให้ต่อเชื่อมเข้าสู่เครือข่ายท้องถิ่นหรือ LAN ได้โดยไม่ยุ่งยากซับซ้อน ไม่ต้องการความเชี่ยวชาญ ไม่ต้องการเครื่องมือที่สลับซับซ้อน ก็สามารถต่อเชื่อมได้ ด้วยการ์ดเครือข่าย (NIC- Network Interface Card) คอนเน็คเตอร์หรือหัวต่อที่เหมาะสมกับการ์ด และสายสัญญาณที่เหมาะสม ใช้เวลาเพียงไม่ถึงหนึ่งชั่วโมง คอมพิวเตอร์เพนเทียม II 350 เมกะเฮิร์ตกลายเป็นเครื่องในระบบเครือข่าย Peer-to-Peer ไปอย่างเรียบร้อยแล้ว นั้นคือ ทั้งผู้ผลิตฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ต่างให้ความสำคัญในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของตัวเองให้เอื้อประโยชน์ต่อการต่อเชื่อมเป็นระบบเครือข่าย

ทำไมผู้ผลิตฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์จึงร่วมกันพัฒนาให้เครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลมีคุณสมบัติเอื้ออำนวยต่อการต่อเชื่อมระบบเครือข่าย คำตอบคือ เป็นไปตามแนมโน้มของเทคโนโลยี และตอบสนองความต้องการของผู้ใช้งาน การต่อเชื่อมระบบเครือข่าย ทำให้เกิดองค์กรประเภท Paperless คือ ไร้กระดาษ แทนที่จะต้องส่งเอกสารที่พิมพ์บนกระดาษหมุนเวียนกันไปมา ซึ่งนอกจากจะประหยัดค่าใช้จ่ายแล้วประสิทธิภาพของงานยังเพิ่มขึ้นในขณะที่ใช้เวลาสำหรับงานต่าง ๆ น้อยลง ขณะเดียวกันองค์กรธุรกิจเองก็ต้องการหน่วยสนับสนุนที่เป็นสารสนเทศ ที่ปฏิบัติการได้รวดเร็ว ถูกต้อง และใช้งานได้เต็มประสิทธิภาพด้วย นอกจากนี้แนวความคิดเกี่ยวกับการทำงานเป็นกลุ่ม หรือที่เรียกว่า Workgroup Computing นั้น ได้รับความสนใจ และรับรองว่าประสิทธิภาพขององค์กรจะเพิ่มขึ้น

Windows 3.11 for Workgroup เป็นซอฟต์แวร์กึ่งระบบปฏิบัติการตัวแรกที่สนับสนุนการต่อเชื่อมเครือข่าย Windows 95, Windows 98 ของไมโครซอฟต์ในลำดับต่อมานั้น สนับสนุนการต่อเชื่อมเป็นเครือข่ายตั้งแต่ระดับการออกแบบพื้นฐาน ซึ่งเป็นการสนับสนุนแนวความคิดหรือการเติบโตของเทคโนโลยีเครือข่ายเป็นอย่างดี

สำหรับที่ทำงานที่ใช้คอมพิวเตอร์ พนักงานอาจจะต้องการแบ่งปันแฟ้มข้อมูลกัน การก๊อปปี้ข้อมูลใส่แผ่นฟลอปปี หรือการพิมพ์บนเครื่องพิมพ์แล้วนำไปให้อีกคนหนึ่งอ่านทำให้ประสิทธิภาพลดลง และเสียเวลาเพิ่มขึ้น หรือการที่จะต้องเข้าคิวเพื่อรอพิมพ์เอกสารจากเครื่องพิมพ์ที่ติดตั้งที่เครื่องคอมพิวเตอร์เครื่องใดเครื่องหนึ่ง ก็ทำให้ขาดประสิทธิภาพ โดยเฉพาะในเวลาที่ต้องการพิมพ์งานเร่งด่วน การถ่ายโอนข้อมูลจำนวนมากกว่า 100 เมกะไบต์ ไปฝากไว้ที่เครื่องของเพื่อนร่วมงานอีกคนหนึ่ง ทำได้ยากนอกจากใช้ความรู้ด้านเทคนิค ไปถอดฮาร์ดดิสก์มา แต่เมื่อคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลกลายเป็นส่วนหนึ่งของระบบเครือข่าย สิ่งเหล่านั้นกลายเป็นคุณลักษณะขั้นพื้นฐานที่ระบบเครือข่ายรองรับ

คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล หรือจะเรียกว่าพีซีการประยุกต์ที่หลากหลายเพื่อการใช้งานเครือข่าย

ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว โดยแนวคิดแล้ว "ระบบเครือข่าย" มีแนวคิดคือ ทำอย่างไรให้สามารถนำอุปกรณ์คอมพิวเตอร์มาต่อเชื่อมกัน ในระดับคอมพิวเตอร์กับคอมพิวเตอร์เอง ก็ใช้งานพื้นที่จัดเก็บข้อมูล หรือใช้งานแอปพลิเคชั่นร่วมกัน หรือในระดับอุปกรณ์ต่อพ่วง ก็สามารถทำให้อุปกรณ์ต่อพ่วงใช้งานได้กับทุก ๆ คน

สิ่งที่เหมือนกันในทุก ๆ เครือข่ายคือ ต้องมีระบบการเดินสาย ซึ่งมีอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ ได้แก่สายสัญญาณ ชุดกล่องรวมสัญญาณ (HUB) การ์ดเครือข่าย (Network Interface Card) และซอฟต์แวร์ที่สนับสนุนระบบเครือข่าย ซึ่งทั้งหมดนั้นถูกเปรียบเหมือนกระดูกสันหลัง (Back Bone) ซึ่งหน้าที่หลักคงไม่แตกต่างจากกระดูกสันหลังจริง ๆ เท่าไรนัก เพราะทำหน้าที่ในการค้ำจุน แยกแยะสัญญาณ ควบคุมงาน และให้โครงร่างแก่ระบบเครือข่าย

ข้อแตกต่างของระบบเครือข่ายแต่ละแห่งคือ วิธีการใช้งาน เนื่องจากงานเครือข่ายนั้น ก็เหมือนกับการออกแบบเพื่อสนับสนุนกิจกรรมทางธุรกิจ ธุรกิจซื้อขายหุ้นก็ย่อมมีลักษณะและความต้องการของตัวเองอย่างหนึ่ง ธุรกิจการเงินการธนาคารก็อีกอย่างหนึ่ง หรือธุรกิจการบริการ เช่น บริการสายการบิน โรงแรมเหล่านั้นก็มีความต้องการของตัวเองเฉพาะ เมื่อจะกำหนดหรือวางระบบเครือข่าย สิ่งที่ผู้วางระบบต้องทราบก็คือ ต้องการอะไร และทำอย่างไรจึงจะเลือกอุปกรณ์ที่เหมาะสมกับความต้องการของตัวเองได้

องค์ประกอบของระบบเครือข่าย

1. Back Bone หรือกระดูกสันหลัง ได้แก่ อุปกรณ์ต่อเชื่อมและควบคุมการกระจายสัญญาณเปรียบเสมือนระบบควบคุมประสาทในร่างกายมนุษย์ ได้แก่ เราต์เตอร์ (Router) กล่องรวมสาย (Hub) กล่องแยกสลับสัญญาณ (Switching) และเครื่องแม่ข่ายซึ่งเป็นเสมือนหัวใจหลัก ใน Back Bone

2. สายสัญญาณ (Cabling) เปรียบกับร่างกายมนุษย์ก็เหมือนเส้นเลือดที่นำเอาเลือดไปหล่อเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ในระบบเครือข่าย สายสัญญาณจะนำสัญญาณระหว่างเครื่องคอมพิวเตอร์ลูกข่ายและแม่ข่ายหรือระหว่างลูกข่ายด้วยกันมาต่อเชื่อมกัน

3. การ์ดเครือข่าย (Network Interface Card) ทำหน้าที่เป็นวงจรล่าม คอยส่งและแปลสัญญาณ โดยเป็นไปตามข้อกำหนดหรือข้อตกลงร่วมกัน เรียกว่าโปรโตคอล การ์ดเครือข่ายที่มีความสามารถมาก ๆ จะทำหน้าที่แยกแยะและควบคุมการส่งสัญญาณได้อย่างเที่ยงตรงและมีประสิทธิภาพด้วย

4. ซอฟต์แวร์สนับสนุนระบบเครือข่าย ทำหน้าที่ในการ เชื่อมโยงทั้งสามภาคข้างบนที่กล่าวมานั้นให้ทำงานร่วมกันเป็นระบบเครือข่ายได้ ซึ่งซอฟต์แวร์นั้น จะดำเนินการควบคุมในระดับพื้นฐาน คือฮาร์ดแวร์ตลอดไปจนถึงระบบซอฟต์แวร์และแอปพลิเคชั่นต่าง ๆ ที่จะส่งข้อมูลถึงกันและกัน ซึ่งการทำงานในขั้นตอน ดังกล่าวนั้น เป็นไปตามระดับชั้นของข้อตกลงที่เรียกว่าโปรโตคอล

สร้างระบบเครือข่ายด้วยวินโดวส์

ยุคของคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลเริ่มด้วยระบบปฏิบัติการอย่าง DOS และโปรแกรมประยุกต์ที่โด่งดังในยุคเดียวกัน (และน่าจะยังมีคนรู้จัก) คือ โลตัส 1-2-3 นอกจากนั้นบรรดาโปรแกรมเมอร์ต่างก็เริ่มสาละวนกับการพัฒนาซอฟต์แวร์กันด้วยคอมไพล์เลอร์อย่าง C, Turbo Pascal ถ้าจำได้ยุคนั้นการเป็นโปรแกรมเมอร์นั้นเป็นอะไรที่ใหม่และท้าท้าย แต่ก็นั่นอีกแหละ คอมพิวเตอร์ยังถูกถือเป็นเครื่องมือเครื่องใช้ "ราคาแพง" และ "ทำงานแบบ Stand Alone" ถึงแม้ว่าคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลหรือพีซีจะถูกพัฒนาขึ้นมาก็ตาม แต่มันก็ยัง "Stand Alone" อยู่ดี ราว ๆ ปี 1993 ไมโครซอฟต์ได้พัฒนา Windows 3.11 For Workgroup ขึ้นมา นับได้ว่าเป็นยุคที่มีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องของการทำงานเป็น "กลุ่มงาน" ขึ้นมาอย่างมากทีเดียว

เมื่อสิบปีก่อน ถ้าพูดถึงการสร้างระบบเครือข่ายท้องถิ่นหรือ LAN สิ่งที่ตามมาคือความยุ่งยากประมาณว่าหลายประการ และถูกมองว่าเป็นเรื่องของวิศวกรหรือผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น เพราะการจัดหาฮาร์ดแวร์ระบบเครือข่ายและการติดตั้งมีความสลับซับซ้อน

พื้นฐาน OS รุ่นใหม่ สนับสนุนระบบเครือข่าย

เมื่อพูดถึงเครือข่ายที่เกิดจากการประยุกต์จากคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล เมื่อไมโครซอฟต์พัฒนาวินโดวส์ 3.11 สำหรับกลุ่มงาน (Windows 3.11 For Workgroup) จะเห็นว่ามี Workgroup พ่วงท้ายมา แท้จริงแล้วคำว่า Workgroup หรือกลุ่มงาน มาจากพื้นฐานง่าย ๆ ของการทำงานภายในองค์กร เพราะโดยธรรมชาติขององค์กรแล้ว ผลงานหรือผลิตผลขององค์กรจะเกิดขึ้นได้เพราะการร่วมกลุ่มสร้างสรรค์ผลงานออกมา เมื่อคอมพิวเตอร์ถูกพัฒนาเพื่อรองรับการทำงานของธุรกิจแล้ว สิ่งที่เป็นก้าวต่อไป ฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ที่เป็นเครื่องมือรองรับการทำงานของกลุ่มงาน หรือขององค์กร นั้นคือที่ว่าของคำว่า Workgroup Computing

อีกคำหนึ่งที่ได้ยินกัน โดยถือเป็นกึ่ง ๆ ศัพท์คอมพิวเตอร์ ก็คือ Work Station ภาษาไทยอาจเรียกว่า"สถานีงาน" แต่โดยส่วนใหญ่จะถูกเรียกทับศัพท์กันเลยว่า เวิร์กสเตชั่น คือ คอมพิวเตอร์ที่ทำหน้าที่เป็นสถานีงาน หรือจุดทำงานนั้นเอง เวิร์กสเตชั่นดังกล่าวก็คือคอมพิวเตอร์เครื่องหนึ่ง ที่เข้าใช้ข้อมูล Application Software จากเซิร์ฟเวอร์ เห็นได้ว่าคำว่าเวิร์กสเตชั่น จึงเป็นที่เข้าใจกันดีว่า หมายถึงพีซีที่ถูกนำเข้าไปผนวกเข้าเป็นสมาชิกของกลุ่มงาน หรือของเครือข่าย

เฉพาะวินโดวส์ 3.11 สำหรับกลุ่มงาน (Windows 3.11 for Workgroup) เท่านั้นที่สนับสนุนการทำงานแบบเครือข่าย โดยพัฒนาในลักษณะของ Add-on Module เพราะช่วงนั้น แม้แต่วินโดวส์ 3.11 เองก็ถือได้ว่าเป็นเรื่องวิเศษในวงการคอมพิวเตอร์ การเพิ่มความสามารถโดยการสนับสนุนระบบเครือข่ายยิ่งเป็นเทคโนโลยีใหม่ในวงการพีซี แต่หลังจากนั้นมา เมื่อวินโดวส์ 95 ถูกพัฒนาขึ้น การสนับสนุนเครือข่ายถือเป็นลักษณะพื้นฐาน หรือลักษณะโดยธรรมชาติของวินโดวส์ 95 ที่จะสนับสนุนการทำงานแบบเครือข่าย กล่าวได้ว่าโดยการออกแบบแล้ววินโดวส์ 95 สนับสนุนการทำงานแบบกลุ่มงานตั้งแต่แรกเกิดเลยทีเดียว

อย่างไรก็ตามสิ่งที่น่าสังเกตอย่างหนึ่ง คือ นับวันการต่อเชื่อมเข้ากับระบบเครือข่ายยิ่งง่ายมากขึ้นต้องการผู้เชี่ยวชาญน้อยลง สมัยของ Windows 3.11 for workgroup นั้น การทำให้พีซีกลายเป็น "เวิร์กสเตชั่น" ในระบบเครือข่ายนั้นมีความยุ่งยากอย่างมาก เริ่มตั้งแต่ต้องหาการ์ดเครือข่าย (NIC = Network Interface Card) แล้วนำมาติดตั้งเข้ากับคอมพิวเตอร์ หลังจากนั้นจึงติดตั้งไดรเวอร์ ซึ่งสมัยก่อนยังไม่มีการสนับสนุนระบบ Plug & Play ต้องใช้เวลากันพอสมควร การเพิ่มเข้า - เอาออกไดรเวอร์เครือข่ายแต่ละครั้งใช้เวลานาน (และต้องการผู้เชี่ยวชาญ) พอถึงวินโดวส์ 95 การทำให้คอมพิวเตอร์กลายเป็นสถานีงาน ใช้เวลามากที่สุดไม่เกินครึ่งชั่วโมง เพราะการ์ดเครือข่ายรุ่นใหม่ ๆ นั้น ใช้ระบบ Plug & Play แทบทั้งสิ้น พอติดตั้งลงบนสล๊อตบนเมนบอร์ด บูตวินโดวส์ 95 ระบบจะตรวจสอบว่ามีการ์ดเครือข่ายถูกติดตั้งลงในคอมพิวเตอร์ ผู้ติดตั้งเพียงติดตั้งไดรเวอร์ที่เหมาะสมลงไป หลังจากนั้นกำหนดชื่อให้กับสถานีงาน เสร็จแล้ววินโดวส์ 95/98 ก็จะปรับปรุงตัวเองให้กลายเป็น "สถานีงาน" โดยอัตโนมัติ ผู้ติดตั้งเพียงแค่นั่งรอ เพื่อ Restart ให้คอมพิวเตอร์เครื่องนั้น ทำงานเป็นสถานีงานเท่านั้นเอง

หัวใจของวินโดวส์ 3.11 /99/98 สถาปัตยกรรมเครือข่ายแบบ Peer-to-Peer

เครือข่ายแบบไคลเอนต์-เซิร์ฟเวอร์ ได้รับความนิยมมากในระยะแรกที่มีการพัฒนาเครือข่ายขึ้นมาใช้งาน ด้วยเหตุผลหลายประการ ประการแรกคือ ในระยะแรกนั้น ฮาร์ดแวร์ของคอมพิวเตอร์ ได้แก่ หน่วยความจำสำรอง จำพวก ฮาร์ดดิสก์ ไดรฟ์ซีดีรอม และหน่วยความจำหลักมีราคาแพง รวมไปถึงคอมพิวเตอร์ที่ใช้โปรเซสเซอร์ที่มีความเร็วสูงมีราคาแพงมาก องค์กรที่ต้องการใช้งานระบบเครือข่ายจึงพิจารณาลงทุนซื้อเซิร์ฟเวอร์ให้เป็นเครื่องที่ใช้ซีพียูความเร็วสูง หน่วยความจำความจุสูง ฮาร์ดดิสก์ความจุสูง เมื่อพิจารณาราคาเห็นได้ว่าสถาปัตยกรรมเครือข่ายแบบไคลเอนต์-เซิร์ฟเวอร์จะช่วยลดต้นทุนโดยการลงทุนเซิร์ฟเวอร์ 1 เครื่องให้มีประสิทธิภาพสูง พร้อมรองรับการให้บริการเวิร์กสเตชั่น มาถึงตรงนี้ จะมีคำอีกสองคำที่ใช้เรียกความสัมพันธ์ของเครือข่าย คือ แม่ข่ายหรือเซิร์ฟเวอร์ และลูกข่ายหรือ ไคลเอนต์ หรือลูกค้าที่คอยรับบริการจากแม่ข่าย

เมื่อมาถึงยุคของวินโดวส์และเครือข่ายบนวินโดวส์ สถาปัตยกรรมเครือข่ายแบบ Peer-to-Peer ได้รับการกล่าวถึงและนำเข้ามาประยุกต์ใช้งาน เมื่อกล่าวถึงสถาปัตยกรรมแบบ Peer-to-Peer นั้น จะพิจารณาว่าไม่มีคอมพิวเตอร์ตัวใดเป็นไคลเอนต์ ตัวใดเป็นเซิร์ฟเวอร์ แต่คอมพิวเตอร์ทุกตัวมีสถานะเท่าเทียมกัน คือ ขึ้นอยู่กับสภาวะการทำงานในขณะนั้น ๆ ว่า คอมพิวเตอร์เครื่องนั้นทำงานในฐานะของเซิร์ฟเวอร์ หรือในสถานะของไคลเอนต์ เช่น ถ้าตามรูป ถ้าคอมพิวเตอร์ Monique กำลังอ่านแฟ้มข้อมูลจากคอมพิวเตอร์ Kattiya ก็เรียกเครื่อง Monique ว่าเป็นไคลเอนต์ ในขณะเดียวกันเครื่อง Kattiya เป็นผู้ให้บริการหรือเซิร์ฟเวอร์ ในทางกลับกัน ถ้าเครื่อง Kattiya เข้าไปใช้บริการเครื่องพิมพ์ที่ต่ออยู่ที่เครื่อง Monigue เครื่อง Monique จะกลายเป็นผู้ให้บริการหรือเซิร์ฟเวอร์ และเครื่อง Kattiya กลายเป็นผู้รับบริการหรือไคลเอนต์ จะเห็นได้ว่า ถ้ากล่าวถึง Peer-to-peer จะไม่มีคอมพิวเตอร์ตัวไหนเป็นเซิร์ฟเวอร์และเป็นไคลเอนต์อย่างแท้จริง

ทำไมสถาปัตยกรรมเครือข่ายแบบ Peer-to-peer จึงเหมาะสมกับวินโดวส์ คำตอบก็คือ เนื่องจากทิศทางการใช้งานคอมพิวเตอร์ ทั้งผู้ผลิตฮาร์ดแวร์ และซอฟต์แวร์ต่างก็พัฒนาเทคโนโลยีที่ทันสมัยขึ้น ราคาคอมพิวเตอร์ที่มีประสิทธิภาพสูงลดลงเป็นอย่างมาก ทำให้คอมพิวเตอร์แต่ละเครื่องมีประสิทธิภาพในการประมวลผลที่เพียงพอต่อการทำงานในสำนักงาน โดยไม่ต้องพึ่งพาเซิร์ฟเวอร์อีกต่อไป ซอฟต์แวร์ประยุกต์ที่ออกแบบมาให้การทำงานบนพีซีทั่วไปได้รับประโยชน์สูงสุด กล่าวได้ว่า อุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ประสบความสำเร็จในการผลักดันและพัฒนาพีซีให้มีประสิทธิภาพจริง ๆ แต่สิ่งที่การทำงานแบบเครือข่าย Peer-to-Peer จะเข้ามาช่วยเสริมคือ ช่วยลดต้นทุนของอุปกรณ์ต่อพ่วง และเพิ่มความสามารถในการทำงานแบบกลุ่มงาน (Workgroup)

ประโยชน์ที่ได้รับเมื่อต่อคอมพิวเตอร์เข้ากับเครือข่ายสถาปัตยกรรม Peer-to-Peer

การใช้เพิ่มขยายพื้นที่ในการเก็บข้อมูล/การใช้ข้อมูลร่วมกัน

ครั้งแรกที่มีการพัฒนาการสนับสนุนระบบเครือข่ายโดยไมโครซอฟต์ในการพัฒนาวินโดวส์ 3.11

สำหรับกลุ่มงานนั้น เนื่องจากเป็นระยะเวลาที่หน่วยเก็บข้อมูลสำรองอย่างฮาร์ดดิสก์ยังมีราคาแพง และมีความจุไม่สูงนัก เช่น ฮาร์ดดิสก์ความจุ 240 เมกะไบต์ ราคาเกือบสองหมื่นบาท ดังนั้นการใช้งานเครือข่าย Peer-to-Peer จึง เป็นการเอื้ออำนวยต่อผู้ใช้ในกลุ่มงานที่จะแบ่งปันพื้นที่ในการเก็บข้อมูลร่วมกัน

ปัจจุบันแม้ว่าราคาของฮาร์ดดิสก์จะลดลงมามากแล้ว แต่การจัดเก็บแฟ้มไว้ที่คอมพิวเตอร์เครื่องใดเครื่องหนึ่งก็ยังเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ในด้านของความเป็นระเบียบ การจัดรวมเป็นหมวดหมู่ หรือการค้นหาแฟ้มข้อมูล เช่น จัดเก็บแฟ้มเอกสารที่ส่งโทรสารให้ลูกค้าไว้ที่เครื่องของ Sale หรือเก็บแฟ้มใบเสนอราคาที่ส่งไปให้ลูกค้า การทำงานแบบกลุ่มงานจะได้รับประโยชน์เป็นอย่างแท้จริง

การใช้งานอุปกรณ์ต่อพ่วงร่วมกัน

อุปกรณ์ต่อพ่วง เช่น พรินเตอร์ สแกนเนอร์ ไดรฟ์ซีดีรอม โมเด็ม นั้น เป็นอุปกรณ์ที่ปัจจุบันราคาไม่แพงมากนัก แต่ก็ยังเป็นการสิ้นเปลืองหากสำนักงานแต่ละแห่งจะลงทุนในการจัดซื้ออุปกรณ์แต่ละรายการให้กับคอมพิวเตอร์ทั้งหมดภายในสำนักงาน เพราะเมื่อพิจารณาที่การใช้งานแล้ว อุปกรณ์ดังกล่าวมักไม่ถูกใช้งานผู้ใช้รายใดรายหนึ่งตลอดเวลา การลงทุนดังกล่าวจึงเป็นการสิ้นเปลือง แต่จะเกิดการใช้งานอย่างคุ้มค่า ถ้าหากมีการแบ่งปัน (Share) อุปกรณ์ดังกล่าวผ่านเครือข่าย ให้ผู้ใช้รายอื่น ๆ ที่ต้องการใช้งานอุปกรณ์นั้นสามารถเข้าใช้งานโดยผ่านการสนับสนุนของเครือข่ายแบบ Peer-to-Peer ได้

การแบ่งปันพรินเตอร์ ในสำนักงานที่มีพรินเตอร์เพียงตัวเดียว ก็สามารถแบ่งปันกันใช้พรินเตอร์นั้นไปยังคอมพิวเตอร์อื่น ๆ ในสำนักงานได้ เพราะคุณสมบัติ Printer Sharing ที่มีในวินโดวส์ โดยการเลือกพิมพ์ผ่านพอร์ตเครือข่าย การสั่งพิมพ์งานก็ทำได้โดยการสั่งพิมพ์งานตามปกติ

ภาพแสดงการติดตั้งพรินเตอร์ โดยที่กำหนดการติดตั้งให้ใช้พรินเตอร์ที่ติดตั้งจากคอมพิวเตอร์เครื่องอื่นพรินเตอร์รายการที่ปรากฏมีฐานรองคือ Shared Printer จากเครือข่าย

อุปกรณ์ต่อพ่วงอื่น ๆ ที่สามารถใช้งานร่วมกัน เช่น สแกนเนอร์ เช่น สแกนเนอร์รุ่นใหม่ ๆ ของ Hewlett Packard ออกแบบไดรเวอร์ให้สามารถ Shared Scanner ผ่านเครือข่ายได้ ซึ่งทำให้เกิดการใช้งานที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น

การแบ่งปันโมเด็ม

ด้วยการทำงานของซอฟต์แวร์รุ่นใหม่ อย่าง Symantec WinFax 9.02 นั้น สามารถแบ่งปันโมเด็มในฐานะเสมือน Fax Server ผ่านเครือข่ายแบบ Peer-to-Peer ได้ ทำให้เครื่องที่ต่อเข้ามาใช้บริการสามารถใช้บริการส่งโทรสารได้การแบ่งปันอุปกรณ์ต่อพ่วงอื่น ๆ เช่นไดรฟ์ฟลอปปี ไดรฟ์ซีดีรอม สามารถแบ่งปันได้โดยง่ายดาย ทำให้คอมพิวเตอร์ในสำนักงานไม่จำเป็นต้องมีไดรฟ์ซีดีรอมทุกเครื่อง

การใช้ซอฟต์แวร์ประยุกต์ร่วมกัน

มีซอฟต์แวร์ประยุกต์หลายตัวทั้งที่เป็นแบบสำเร็จรูป และซอฟต์แวร์ที่พัฒนาขึ้นมาเอง สนับสนุนให้มีการใช้งานร่วมกัน ทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายในการจัดหาซอฟต์แวร์ มีประโยชน์ในการเพิ่มเอกภาพของการจัดการ และทำให้การทำงานแบบกลุ่มงานประสบความสำเร็จมากขึ้น ที่จริงการใช้ซอฟต์แวร์ประยุกต์ร่วมกันนั้น กินความรวมไปถึงการใช้ข้อมูลร่วมกันด้วย เช่น ซอฟต์แวร์ประยุกต์ด้านบัญชี จะทำให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายบัญชีแต่ละคนสามารถทำงานในโมดูลต่างของบัญชีได้ ทำให้การทำงานสามารถทำได้ทันเวลา ในขณะเดียวกันสำหรับฝ่ายขาย ก็สามารถใช้แอพพลิเคชันในการตรวจสอบประวัติลูกค้า ตรวจสอบสินค้าคงคลัง ตรวจสอบรายการสินค้า และราคาสินค้าได้

การใช้การติดต่อสื่อสารผ่านจดหมายอิเลคทรอนิคส์ภายในองค์กร

เมื่อกล่าวถึงจดหมายอิเล็คทรอนิคส์ หลาย ๆ คนอาจจะนึกถึง จดหมายอิเล็คทรอนิคส์ที่เป็นพื้นฐานในการใช้งานจากอินเตอร์เน็ต แต่โดยความเป็นจริงแล้วจดหมายอิเล็คทรอนิคส์เป็นส่วนประกอบหนึ่งของการพัฒนาให้วินโดวส์สนับสนุนการทำงานแบบเครือข่าย

ในการทำงานแบบเป็นทีมงาน หรือเป็นกลุ่มงานนั้น มาจากพื้นฐานการทำงานในสำนักงานว่า ปกติ เรามักมี "บันทึกภายใน" หรือ "แฟ้มเอกสาร" ให้กับเพื่อนร่วมงานในกลุ่มเสมอ ๆ บางครั้งเอกสารชิ้นใดชิ้นหนึ่งต้องถ่ายสำเนาให้เพื่อนร่วมงานในกลุ่มมากกว่า 1 รายเช่น ต้องให้กับเพื่อนร่วมงาน 3 ราย เพื่อตรวจสอบ อนุมัติหรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้มีข้อความ มีข้อตกลงที่สอดคล้อง และถูกต้อง ตรงตามความต้องการขององค์กร

ดังนั้น เมื่อมีการพัฒนาระบบเครือข่ายบนวินโดวส์ การพัฒนา "ที่ทำการไปรษณีย์" หรือ Post Office และการสร้างแอพพลิเคชั่นออกมาสนับสนุน จึงได้รับการพัฒนาเป็นอันดับแรก ๆ การใช้งานที่ทำการไปรษณีย์ ในวินโดวส์จะมีประโยชน์ต่อการทำงานเป็นกลุ่มงาน คือ ไม่ต้องกังวลว่าข่าวสารที่ส่งถึงเพื่อนร่วมงานในกลุ่มจะหายไป เพราะเป็นข่าวสารในรูปของดิจิตอล สามารถส่งใหม่ได้ ไม่ต้องถ่ายสำเนาเอกสารหลาย ๆ ชุดเพื่อส่งให้กับเพื่อนร่วมงานหลาย ๆ คน แต่การแนบไฟล์ไปกับจดหมายอิเล็คทรอนิคส์ที่จะส่ง ทำได้อย่างง่ายดายนอกจากนี้ระบบไปรษณีย์ยังทำให้ผู้ส่งสามารถตรวจสอบสถานะของการส่งจดหมายได้ด้วย เช่น ให้ระบบแจ้งให้ทราบว่า จดหมายได้ส่งถึงผู้รับแล้ว ผู้รับเปิดจดหมายอ่านแล้ว หรือแม้กระทั่งกำหนดระดับความเร่งด่วนของจดหมาย เช่น สำคัญที่สุด ด่วนที่สุด