18 บุปผาราตรี

ไม่มีใครล่วงรู้ประวัติความเป็นมาเบื้องต้นของหญิงสาวที่ชื่อ "บุปผา ราตรี" มาก่อน

และนี่คือเรื่องราวที่เราได้รู้จักเกี่ยวกับตัวเธอ...

เธอเป็นนักศึกษาคณะแพทยศาสตร์ พำนักอาศัยอยู่ในห้องเล็กๆ ของอพาร์ตเมนต์แห่งหนึ่งกลางกรุง ห้อมล้อมด้วยคนปลิ้นปล้อน หลอกลวง เธอใช้ชีวิตจำเจตามลำพัง ไม่สุงสิงพูดจากับใคร ชีวิตถูกปิดด้วยประตูกลที่ไม่ต้องการมองเห็นโลก

เธอเหมือนต้องคำสาป

คืนวันล่วงผ่านพ้นไปเช่นนี้ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า เป็นเวลาเนิ่นนาน

จวบจนวันหนึ่ง เธอตัดสินใจเชื่อมสัมพันธ์กับ เอก(กฤษณ์ ศรีภูมิเศรษฐ์) ลูกเศรษฐี เพื่อนร่วมสถาบันที่เฝ้าติดตามเธอมานานกว่า 1 เดือนเต็ม กระทั่งเผลอไผลลืมตัวมีสัมพันธ์จนตั้ง "ท้อง"

ก่อนที่จะไปทำ "แท้ง" และตกเลือดตายภายในห้องพัก ในวันที่เอกต้องไปเรียนต่อต่างประเทศ

นี่คือโศกนาฏกรรมของหญิงสาวที่ตกอยู่ในสภาพสังคมที่ปลิ้นปล้อน หลอกลวง จะเห็นว่าหนังปูพื้นให้เห็นชะตากรรมที่เลวร้ายของบุปผา(เฌอมาลย์ บุญยศักดิ์) ตั้งแต่ถูกลุง ล่วงละเมิดทางเพศมาตั้งแต่เด็กๆ กระทั่งโตเป็นสาว ถูกเอกหลอกไปมีสัมพันธ์เพื่อแลกกับเหล้าเพียงขวดเดียว ที่พนันกับกลุ่มเพื่อนชายเอาไว้ หรือความไร้น้ำใจของเจ๊สี่ (ศิริสิน ศิริพรสมาธิกุล) เจ้าของอพาร์ตเมนต์ปากจัดที่ทวงค่าเช่าแบบไร้ความปรานี

รวมถึงสภาพแวดล้อมของการทรงเจ้าเข้าผี ที่เกิดจากน้ำมือของ "เจ๊สี่" กับพวกที่หลอกชาวบ้านให้หลงเชื่อ และศรัทธา คงเป็นภาพสะท้อนความเป็นไปในสังคมได้อย่างดี

แก่นของเรื่องใกล้เคียงกับ "นางนาก" ในแง่ผีสาวที่ไม่ยอมจากไปไหน เฝ้ารอคนรักกลับมาสู่อ้อมกอด โดยผูกเรื่องราวของ "ความรัก" และ "ความหลอกลวง" เข้าด้วยกันอย่างลงตัว แม้จินตนาการในเรื่องผีของ "ยุทธเลิศ สิปปภาค" จะแหกกฎความเชื่อเรื่องผีที่ดันโผล่ออกมาตากแดดในตอนกลางวัน หรือเฮี้ยนชนิดที่ไม่มีหมอผีคนใดเอาอยู่ก็ตาม

ความจริง "ทางหนัง" ไม่ได้ต่างจากหนังผีเรื่องอื่นๆ สักเท่าไหร่ เพราะพล็อตเรื่องไม่มีอะไรซับซ้อน โดยเฉพาะช่วงครึ่งหลังของหนัง "รูปแบบ" การนำเสนอจะวนเวียน และไม่มีอะไรมากไปกว่า การหาหมอผีดีๆ มาปราบ หรือ การโผล่ออกมาของ "ผีสาว" ที่ไล่ตามหลอกหลอนผู้คนในอพาร์ตเมนต์

บางครั้งการเลือกที่จะเสนอ "ผีสาว" แบบเห็นตัวตนบ่อยครั้งเกินไป ไม่ว่ากลางวันหรือกลางคืน ทำให้ "น้ำหนัก" ความเป็นหนังผีที่น่ากลัวถูกลดทอนลงไป แม้ผู้กำกับฯยุทธเลิศ จะเลือกเล่นกับบรรยากาศของความน่ากลัวด้วยการใช้ภาพที่ดูดิบๆ การใช้เสียงหวีดร้อง หรือเสียงประกอบที่นำมาจากละครวิทยุสมัยก่อนเพื่อกระตุกขวัญผู้ชมอยู่เนืองๆ ก็ตาม

เพราะความน่ากลัวที่สื่อออกมานั้น เป็นความน่ากลัวจากที่คนดูได้เห็นภาพ "ผีสาว" หากมองในมุมกลับ หากสื่อออกมาให้คนดูเห็นภาพความกลัวของตัวละครในเรื่องที่ต้องเผชิญกับ "ผีสาว" เหมือนกับที่หนังไทยในอดีตเรื่อง "ตะเคียนคะนอง" ที่อัญชลี ชัยศิริ เล่นสมัยก่อน

แค่ได้ยินเสียงลากโซ่ ก็ทำให้ขนลุกแล้ว..

ต้องยอมรับว่าบุปผาราตรี สื่อ "ความน่ากลัว" ตรงเกินไป ตรงเกินจนดูเหมือนยัดเยียดจินตนาการของผู้กำกับฯ ให้ผู้ชม แต่ผมว่าบางครั้งการทำให้คนดูเกิดจินตนาการเอง โดยไม่ยัดเยียด น่าจะทำให้คนดูมีอารมณ์ร่วม(ในความกลัว)ได้มากกว่า

แต่สิ่งที่หนังเรื่องนี้มี และผมเชื่อว่าผู้กำกับฯยุทธเลิศต้องการจะตั้งคำถามกับสังคมก็คือ การล่วงละเมิดทางเพศกว่าเพศที่อ่อนแอกว่าของคนที่เชื่อว่าน่าไว้ใจที่สุด การทำแท้งที่ทุกคนยังเห็นว่าการเอาเด็กออกคือการแก้ปัญหา และสังคมวัตถุนิยมที่เด็กสมัยนี้ไม่สน "ค่าของตัวเอง" มากกว่า "ค่าของวัตถุ"

รวมทั้งการเสียดสีความเชื่อในไสยศาสตร์ "ศาสตร์ลี้ลับ" ของคนในสังคมไทย ที่ยังมัวเมาเชื่อในเรื่องรูปแบบพิธีกรรม อำนาจอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ นั่นเป็นเพราะคนไทยกำลังเดินห่างไกลจากพระธรรมคำสั่งสอนซึ่งเป็นแก่นจริงๆ ของพระพุทธศาสนา

สิ่งเหล่านี้คือความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในสังคม

และทำให้ "บุปผาราตรี" เป็นหนังผี ที่มีอะไรมากกว่าความน่ากลัว และอารมณ์ขัน..

18 บุปผาราตรี