ความเป็นมาของศูนย์

“ศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชน” สู่ “ศูนย์ดิจิทัลชุมชน” จากความเหลื่อมล้ำเป็นโอกาสและความยั่งยืน

“ศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชน” โครงการสำคัญที่กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทสและการสื่อสารใช้เป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับการลดความเหลื่อมล้ำด้านดิจิทัล เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2550 มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ประชาชน ชุมชนในพื้นที่ห่างไกลทั่วประเทศ ได้มีโอกาสในการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากคอมพิวเตอร์ และอินเตอร์เน็ตในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของตนเอง ครอบครัว ชุมชนในชนบท และพื้นที่ห่างไกลด้วยการสร้างช่องทางการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร ตลาด และการเชื่อมโลกด้วยอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ และอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง และอินเตอร์เน็ตผ่านดาวเทียมที่มีความเร็วไม่สูงนักในหลายพื้นที่เมื่อสิบปีก่อน ส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ตามอัธยาศัย และการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยส่วนใหญ่ศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชนจะตั้งอยู่ในสถานที่ที่ชุมชนสามารถเข้าถึงโดยสะดวก เช่น วัด มัสยิด ที่ทำการหมู่บ้าน สหกรณ์ องค์กรปกครองส่งท้องถิ่น โรงเรียน ห้องสมุด ค่ายทหาร ฯลฯ

ศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชนเป็นศูนย์กลางการให้บริการ ให้ความรู้ และพัฒนาทักษะด้าน ICT ให้คนในชุมชนทุกกลุ่ม เช่น ผู้นำชุมชน ผู้สูงอายุ เยาวชน กลุ่มอาชีพ กลุ่มเกษตรกร กลุ่มแรงงานนอกระบบ กลุ่มคนพิการ และประชาชนทั่วไป นับเป็นเครื่องมือในการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนทุกกลุ่มให้สามารถเข้าถึงบริการสาธารณะของรัฐได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม เพื่อพัฒนาประเทศไทยให้ก้าวสู่สังคมแห่งภูมิปัญญาและการเรียนรู้

“จิตอาสา” คือองค์ประกอบที่สำคัญที่สุดของการทำงาน จิตอาสาเป็นเครือข่ายการพัฒนาที่ทำงานร่วมกับกระทรวงมาตั้งแต่เริ่มต้นโครงการ จาก 40 ชีวิต และเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อย ๆ ไปพร้อม ๆ กับจำนวนศูนย์ดิจิทัลชุมชน ที่ขยายไปทั่วประเทศ เป็นกลไกการขับเคลื่อนนโยบายของกระทรวงในระดับพื้นที่การทำงานของจิตอาสาหลายร้อยชีวิตทำงานผ่านเครือข่ายแกนนำผู้ดูแลศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชนประจำภาคร่วมกับสถิติจังหวัด ทำให้งานและนโยบายของกระทรวงส่งลงถึงพื้นที่ได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ซึ่งผลที่ได้รับจากการทำงานร่วมมือกันคือ “มิตรภาพ” ระหว่างศูนย์ ระหว่างจังหวัด และระหว่างภาคเป็นสายใยเชื่อมโยงระหว่างจิตอาสาให้ยังทำงานเพื่อชุมชนอย่างมีความสุขผูกพัน และศรัทธาในงาน

หนึ่งทศวรรษที่ผ่านมา กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชน ไปแล้ว 2,281 แห่ง สร้างบุคลากร และจิตอาสาไปมากกว่า 2,000 คน ที่มุ่งมั่นทุ่มเททำงานร่วมกันเพื่อสร้างผลงานให้เป็นที่ประจักษ์ และเป็นที่ยอมรับทั้งในประเทศและต่างประเทศ สร้างความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นให้กับชีวิตของใครหลาย ๆ คน เช่น ผู้ดูแลศูนย์ดิจิทัลชุมชน ได้รับการเลื่อนตำแหน่งเป็นผู้ประกอบการชุมชนเป็นผู้ประกอบการลำดับต้น ๆ ของจังหวัด หรือแม้แต่ได้รับรางวัลระดับ Asia-Pacific ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นผลพวงของการเปิดรับ ICT เข้ามาใช้ชีวิตและสร้างโอกาสจากการเชื่อมต่อกับโลก

ทศวรรษที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่า ชาวบ้านในเขตบริการศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชน สามารถใช้ ICT ให้เกิดประโยชน์ต่อตนเองและชุมชน ศูนย์ดิจิทัลชุมชน ทั้งหมดเปลี่ยนจากการเชื่อมต่อด้วยสายทองแดงหรือดาวเทียม ไปเป็นการเชื่อมต่อด้วยไฟเบอร์ออพติคที่มีเสถียรภาพ ค่าใช้จ่ายด้านอินเทอร์เน็ตและอุปกรณ์ดิจิทัลปรับลดราคาลง ส่งผลให้ประชาชนเป็นเจ้าของอุปกรณ์ดิจิทัล เช่น สมาร์ทโฟน และแท็บเล็ตมากขึ้น รวมทั้งสามารถเชื่อมต่อโลกง่ายขึ้นผ่านโครงข่าย 3G หรือ 4G ความเหลื่อมล้ำด้านดิจิทัลที่กระทรวงพยายามดำเนินการจึงลดลงอย่างเห็นได้ชัด

คณะรัฐมนตรีภายใต้การบริหารราชาการแผ่นดินของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีนโยบายเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ ด้วยการส่งเสริมภาคเศรษฐกิจดิจิทัล และวางรากฐานเศรษฐกิจดิจิทัลให้ขับเคลื่อนอย่างจริงจัง เพื่อให้ทุกภาคเศรษฐกิจก้าวหน้าทันโลกและสามารถแข่งขันในโลกสมัยใหม่จึงปรับเปลี่ยนบทบาทของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารให้เป็นหน่วยงานหลักของการขับเคลื่อนประเทศด้วยนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัล และได้ปรับเปลี่ยนเป็น “กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม” จึงถึงเวลาที่ศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชนต้องปรับเปลี่ยนบทบาทให้เป็นไปตามภารกิจกระทรวงที่เกิดขึ้นใหม่ จากการ “สร้างโอกาส” มาเป็น “การเพิ่มคุณค่า” เพื่อการขับเคลื่อนสังคมและเศรษฐกิจดิจิทัลระดับชุมชนในชื่อ “ศูนย์ดิจิทัลชุมชน” ทำงานบนแนวคิดการบูรณการร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อเป็นสื่อกลางระหว่างประชาชนกับรัฐเป็นช่องทางการรับบริการอิเล็กทรอนิกส์ การเรียนรู้ตลอดชีวิตผ่านสื่อต่าง ๆ เช่น โทรทัศน์เพื่อการเรียนรู้ผ่านดาวเทียม วีดีโอออนดีมาน และ MOOC1 และการให้ความรู้ด้านการทำธุรกิจและประกอบอาชีพผ่านระบบออนไลน์ ดังนั้นบทบาทสำคัญของศูนย์ดิจิทัลชุมชนจึงเป็นพื้นที่ในการทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังของของชุมชน โดยเน้น ให้บริการและแนะนำการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการดำรงชีวิตประจำวันและการประกอบอาชีพ การทำงานเชิงรุกด้วยกิจกรรมสร้างสรรค์เพื่อสร้างความแข็งแรงของประชาชน การเพิ่มรายได้ผ่านเทคโนโลยีดิจิทัล เช่น การขายสินค้าออนไลน์ ประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวชุมชน การรับงานไปทำที่บ้าน รวมถึงการสร้างงานลักษณะใหม่ ๆ ผ่านช่องทางดิจิทัล ฯลฯ

ในปี 2559 กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมได้ทำการพัฒนาบุคลากรศูนย์ดิจิทัลชุมชน ทุกระดับ เพื่อปรับบทบาทจากศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชนไปสู่ศูนย์ดิจิทัลชุมชน และได้สร้างเครือข่ายการทำงานร่วมกบสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) และร่วมกันจัดตั้งศูนย์ดิจิทัลชุมชน กศน. ตำบล ครบทุกตำบลของประเทศ โดยสำนักงาน กศน.สนับสนุนสถานที่ เครื่องมือ และบุคลากร ในขณะที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมสนับสนุนเครือข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง และงบประมาณการพัฒนาบุคลากรและจัดกิจกรรมการเรียนรู้และการค้าขายออนไลน์ โดยมีผู้ได้รับประโยชน์มากกว่า 400,000 คน ผ่าน ครู ก ครู ข ครู ค และวิทยากรชุมชนกว่า 10,000 คน ขยายขอบเขตการทำงานไปยังระดับหมู่บ้านผ่านโครงการ “เน็ตประชารัฐ” และยังเดินหน้างสร้างเครือข่ายพัฒนาศูนย์ดิจิทัลชุมชนร่วมกับพันธมิตรต่อไป เพื่อให้ประชาชนไทยมากกว่าร้อยละ 90 สามารถใช้ดิจิทัลได้อย่างสร้างสรรค์และปลอดภัยตามแผนการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และให้แน่ใจว่าไม่มีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง