บุญบั้งไฟ




ประเพณี : บุญบั้งไฟ

บุญบั้งไฟ เป็นประเพณีหนึ่งของภาคอีสาน ความเชื่อของประเพณีบุญบั้งไฟ ปรากฎอยู่ในนิทานพื้นบ้านเรื่องพญาคันคาก เรื่องผาแดงนางไอ่ เป็นการจุดบูชาพญาแถน ซึ่งมีตำนานว่า พญาคันคากนั้นเป็นพระโพธิสัตว์ เสวยชาติเป็นโอรสของกษัตริย์ เมื่อครั้งประสูติมีรูปร่างผิวพรรณเหมือนคางคก หรือชาวอีสานเรียกว่า คันคาก และถึงแม้พระองค์จะมีรูปร่างอัปลักษณ์ แต่พระอินทร์ก็คอยช่วยเหลือตลอด จนพญาคันคากเป็นที่เคารพนับถือของชาวบ้าน จนชาวบ้านลืมที่จะเซ่นบูชาพญาแถน พญาแถนโกรธจนไม่ยอมปล่อยน้ำฝนให้ตกลงมายังโลกมนุษย์ จึงเกิดศึกการต่อสู้ระหว่างพญาคันคากและพญาแถนขึ้น โดยพญาคันคากได้นำทัพสัตว์ต่าง ๆ ขึ้นไปรบ จนได้รับชัยชนะพญาแถนจึงปล่อยให้ฝนตกลงมาเช่นเดิม แต่มีข้อแม้ว่าจะต้องจุดบั้งไฟขึ้งไปบูชาเป็นประจำทุกปี จึงเป็นที่มาของชาวอีสานว่าต้องทำบั้งไฟจุดขึ้นถวายพญาแถน เพื่อฝนจะได้ตกต้องตามฤดูกาล

ส่วนประกอบของบั้งไฟ

1. เลาบั้งไฟ คือส่วนประกอบที่ทำหน้าที่บรรจุดินปืน มีลักษณะเป็นรูปทรงกระบอกกลมยาว มีความยาวประมาณ 1.5 – 7 เมตร ทำด้วยลำไม้ไผ่แล้วใช้ริ้วไม้ไผ่ (ตอก) บิดเป็นเกลียวเชือกพันรอบเลาบั้งไฟอีกครั้งหนึ่งให้แน่น และใช้ดินปืนที่ชาวบ้านเรียกว่า “หมื่อ” อัดให้แน่นลงไปในเลาบั้งไฟ ด้วยวิธีใช้สากตำแล้วเจาะรูสายชนวน เสร็จแล้วนำเลาบั้งไฟไปมัดเข้ากับส่วนหางบั้งไฟ ปัจจุบันได้นำวัสดุอื่นมาใช้เป็นเลาบั้งไฟแทนไม้ไผ่ ได้แก่ ท่อเหล็ก ท่อพลาสติก เป็นต้น เรียกว่า เลาเหล็ก ซึ่งสามารถอัดดินปืนได้แน่นและมีประสิทธิภาพในการยิงได้สูงกว่า

2. หางบั้งไฟ หางบั้งไฟถือเป็นส่วนสำคัญทำหน้าที่คล้ายหางเสือของเรือ คือสร้างความสมดุลให้กับบั้งไฟ คอยบังคับทิศทางบั้งไฟให้ยิงขึ้นไปในทิศทางตรงและสูง บั้งไฟแบบเดิมนั้นทำจากไม้ไผ่ทั้งลำ ต่อมาพัฒนาเป็นหางท่อท่อนเหล็กและหางท่อนไม้ไผ่ติดกัน หางท่อนเหล็กมีลักษณะเป็นท่อนกลมทรงกระบอก มีความยาวประมาณ 8-12 เมตร ทำหน้าที่เป็นคานงัด ยกลำตัวบั้งไฟชูโด่งชี้เอียงไปข้างหน้าทำมุม 30-40 องศากับพื้นดิน โดยบั้งไฟจะยื่นไปข้างหน้ายาวประมาณ 7-8 เมตร ปลายหางด้านหนึ่งตั้งอยู่บนฐานที่ตั้งบั้งไฟ

3. ลูกบั้งไฟ เป็นลำไม้ไผ่ที่นำมาประกอบเลาบั้งไฟ โดยมัดรอบลำบั้งไฟ บั้งไฟลำหนึ่งจะประกอบด้วยลูกบั้งไฟประมาณ 8-15 ลูก ขึ้นอยู่กับขนาดของบั้งไฟ เดิมลูกบั้งไฟมีแปดลูกมีชื่อเรียก เรียงตามลำดับคู่ขนาดใหญ่ไปหาคู่ที่มีขนาดเล็กกว่า ได้แก่ ลูกไอ้ ลูกกลาง ลูกนาง และลูกก้อย ลูกบั้งไฟช่วยให้รูปทรงของบั้งไฟกลมเรียวสวยงาม นอกจากนี้ลูกบั้งไฟยังเป็นพื้นผิวรองรับการเอ้หรือการตกแต่งลวดลายปะติดกระดาษ

ในงานประเพณีบุญบั้งไฟตำบลหนองฉิม จะจัดประมาณเดือน พฤษภาคม – มิถุนายน ของทุกปี มีกิจกรรมหลายอย่าง ตั้งแต่การจัดขบวนแห่บั้งไฟ การเซิ้งบั้งไฟ และการละเล่นต่าง ๆ ที่แสดงถึงวิถีชีวิตของคนในท้องถิ่น เช่น การทอดแหหาปลา การสักสุ่ม ขบวนเซิ้งแต่งกายสวยงามโบราณ บั้งไฟแต่ละอันที่มาเข้าขบวนแห่ จะถูกตกแต่งประดับประดาอย่างสวยงามด้วยลวดลายไทย ส่วนหัวบั้งไฟนั้นจะทำเป็นรูปต่าง ๆ ส่วนมากนิยมทำเป็นรูปหัวพญานาคอ้าปากและลิ้นพ่นน้ำได้ ตัวบั้งไฟจะนำไปตั้งบนฐาน ใช้รถหรือเกวียนเป็นพาหนะ นำมาเดินแห่ตามประเพณี บั้งไฟมีอยู่หลายชนิด ทั้งบั้งไฟกิโล บั้งไฟหมื่น และบั้งไฟแสน บั้งไฟกิโลนั้นใช้ดินประสิวหนัก 1 กิโลกรัม บั้งไฟหมื่นใช้ดินประสิว 12 กิโลกรัม และบั้งไฟแสนใช้ดินประสิว 10 หมื่น หรือ 120 กิโลกรัม นอกจากนี้ยังมีการแข่งขันจุดบั้งไฟ ซึ่งจะมีการแบกบั้งไฟไปยังฐานยิงในที่โล่ง ถ้าบั้งไฟใครจุดแล้วยิงไม่ขึ้น คนทำจะถูกโยนลงไปในโคลนเป็นธรรมเนียมที่ปฏิบัติกันมาแต่ช้านาน