บทความ

ขนบธรรมเนียมประเพณีทหารเรือ

ขนบธรรมเนียมประเพณีของทหารเรือนั้น เป็นประเพณี พิธี หรือรูปแบบการปฏิบัติ ที่ได้รับการปฏิบัติสืบช่วงต่อกันมาแต่ครั้งโบราณ พร้อมด้วยเหตุผล ไม่ในทางมารยาทก็ในทางความรู้สึก หรือไม่ก็ในทางที่ก่อให้เกิดประโยชน์ หรือหลายประการรวมกัน ปัจจุบันขนบธรรมเนียมประเพณีของทหารเรือนี้ นับว่าแพร่หลายไปทั่วโลกที่มีกองทัพเรือ บางอย่างก็มีลายลักษณ์อักษร บางอย่างก็ไม่มี ขนบธรรมเนียมประเพณีทหารเรืออาจไม่มีผลในทางกฎหมาย แต่ก็เป็นที่ทราบและนิยมปฏิบัติกันมา และในทุกๆชาติพันธุ์ก็มีประเพณีของตนเอง อาจไม่เหมือนกันทั้งหมด แต่ส่วนใหญ่มีความคล้ายคลึงกัน บางชาติอาจรับมาจากอีกชาติหนึ่ง และดัดแปลงบางสิ่งบางอย่างให้เหมาะสม โดยราชนาวีไทยได้ถือเอาแบบอย่างราชนาวีอังกฤษเป็นหลัก ถึงแม้จะมีประเพณีอีกเป็นอันมากที่ยังไม่ได้รับรองเป็นทางการก็ตาม แต่เชื่อว่าทหารเรือของประเทศทั้งหลายก็คงไม่ยอมให้ประเพณีเหล่านั้นเปลี่ยน ไป หรือทอดทิ้งละเลยให้สูญไปเสีย และเป็นหน้าที่ของทหารเรือรุ่นหลังทุกคน ที่ต้องพยายามศึกษาให้รู้และปฏิบัติตาม การที่จะเป็นผู้มีวินัยดีย่อมเกิดจากการปฏิบัติตามแผนที่ดีและแบบแผน ธรรมเนียมที่ดีเหล่านี้จะคงอยู่ด้วยการร่วมมือกัน ปฏิบัติทั่วทุกคน ทั้งนายทหารและทหาร โดยเฉพาะผู้น้อยควรลงมือปฏิบัติก่อนเสมอ

การเคารพด้วยนกหวีดเรือ

นกหวีดเรือที่จ่ายามใช้นั้น เป็นสิ่งที่เก่าแก่ที่สุดและเป็นเครื่องประดับของบุคคลผู้มีอาชีพในทางทะเล อย่างหนึ่ง นกหวีดเรือหรือขลุ่ยในสมัยโบราณซึ่งทาสในเรือแกลเลย์ของกรีซและโรมเป็นคน กระเชียงนั้น ใช้สำหรับการบอกจังหวะกระเชียง ตามรายงานปรากฏว่านกหวีดเรือได้ใช้ในสงครามครูเสดในปี พ.ศ.๑๗๙๑ เมื่อคนถือหน้าไม้ชาวอังกฤษถูกเรียกขึ้นมาบนดาดฟ้าเพื่อให้ทำการยิงตาม สัญญาณ

ในสมัยหนึ่งนกหวีดเรือ ได้กลายเป็นเครื่องประดับสำหรับตำแหน่งราชการและในบางกรณีก็ใช้เป็นเครื่อง ประดับสำหรับเกียรติยศตามตำแหน่งด้วยเหมือนกัน จอมพลเรือมีนกหวีดทองคำผูกติดกับสร้อยห้อยคอ นกหวีดเรือทำด้วยเงิน ใช้สำหรับผู้บังคับบัญชาชั้นสูงสุดทั้งหลาย เป็นเครื่องหมายสำหรับราชการ หรือห้อยนกหวีดเงินที่คอเพิ่มจากนกหวีดทองคำเกียรติยศอีกด้วย นกหวีดเรือในปัจจุบันใช้สำหรับการเคารพและสำหรับบอกคำสั่งแก่ทหาร

ในการรบที่นอกเมืองเบรสต์ เมื่อ ๒๕ เม.ย. พ.ศ.๒๐๕๖ ระหว่าง เซอร์ เอดเวอร์ด โฮวาร์ด จอมพลเรือและบุตรเอิรล แห่งเชอร์เรย์ กับ เชอวาลีเอเปรตังต์ เดอ บีดูช์ เล่ากันว่า เมื่อจอมพลเรือแน่ใจว่าจะถูกจับเป็นเชลยแล้ว ท่านได้ขว้างนกหวีดทองคำลงทะเลไปแต่นกหวีดเงินซึ่งเป็นเครื่องหมายแห่งการ บังคับบัญชายังคงซ่อนอยู่ในตัวท่าน น้ำหนักถือเป็นเกณฑ์ของนกหวีดเกียรติยศ และชื่อส่วนต่าง ๆ ของนกหวีดนั้นพระเจ้าเฮนรี่ที่ ๘ เป็นผู้ทรงตั้งขึ้น พระองค์ได้ออกกฤษฎีกาว่า นกหวีดจะต้องหนัก ๑๒ ฮูนส์ (Oons) ทองคำ ซึ่งคำว่า “ฮูนส์” เป็นที่มาของคำว่า “เอาช์” สร้อยที่ใช้ห้อยคอ ต้องทำด้วยทองคำเหมือนกัน และจะต้องมีเนื้อทองของเหรียญดูกัต

นอกจากนกหวีดจะใช้เป็นเครื่องประดับสำหรับตำแหน่งในทางการและสำหรับนายทหาร ใช้เมื่อออก คำสั่งเอง ยังใช้สำหรับการรับรองบุคคลชั้นสูงอีกด้วย การที่ทหารมาแถวที่ข้างกราบเรือ ตามที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันนี้ สืบเนื่องแต่กาลก่อน การเป่านกหวีดเรือเคารพ พร้อมด้วยยามยืนรับรอง จึงกลายเป็นประเพณีสืบต่อกันมา ประเพณีในสมัยเรือใบนั้น ย่อมจัดให้มีการประชุมกันในเรือธง และเพื่อที่จะเชื้อเชิญนายทหารไปรับประทานอาหารร่วมกันขณะที่เรือจอดอยู่ใน ทะเล ในเมื่อโอกาสอำนวย บางครั้งอากาศทำให้เกิดความจำเป็นที่จะต้องชักผู้ที่เชิญมานั้นขึ้นทาง เก้าอี้จ่ายาม โดยใช้นกหวีดเรือเป่าบอกเพลงชักขึ้นหรือหย่อนลงมา (หะเบส หรือหะเรีย) เนื่องจากทหารประจำเรือต้องคอยชักคนขึ้นเรือนี้เอง และด้วยการที่เขามาร่วมกันข้างเรือ จึงทำให้เกิดประเพณีที่จะต้องมาคอยต้อนรับขึ้น ต่อมาก็เลยกลายเป็นมารยาทของชาวเรือไปในอันที่จะต้องกระทำในราชนาวีอังกฤษ เมื่อได้รับรายงานว่า “ผู้บังคับการเรือมาใกล้จะถึงเรือ” นายยามจะออกคำสั่ง “Hoist him in” ซึ่งแปลว่า “ชักเขาขึ้นมาบนเรือ”

มีนิทานท้ายเรือ ซึ่งไม่ยืนยันว่า จะเป็นความจริงเพียงใด เล่าว่า เมื่ออังกฤษทำสงครามกับฝรั่งเศสในเดือนเมษายน พ.ศ.๒๓๒๕ ในการยุทธ์ที่เกาะเซนต์ นายพลเรือ รอดนีย์ เป็นแม่ทัพเรือและได้ชัยชนะ วันหนึ่งทางฝ่ายบ้านเมืองได้จัดให้มีการเลี้ยงฉลองชัยชนะแก่กองทัพเรือ บรรดานายทหารในกองทัพเรือทั้งหมดได้รับเชิญไปในงาน เนื่องจากการดื่มอวยพรครั้งแล้วครั้งเล่า ในเวลากลับนายทหารจึงต้องช่วยท่านแม่ทัพในการลงเรือเล็ก ประกอบกับวันนั้นอากาศไม่ดีคลื่นจัดลมแรง เมื่อกลับถึงเรือคนอื่นต่างต้องฝ่าอันตรายช่วยตัวเองในการขึ้นเรือ แต่ท่านแม่ทัพ แม้จะทำการใหญ่สำเร็จแล้ว ก็ไม่สามารถทำเช่นนั้นได้ ผู้บังคับการเรือจึงให้สั่งให้นำเรือโบตไปที่หลักเดวิท และชักเอาร่างของท่านแม่ทัพขึ้นทางนั้น รุ่งขึ้น ทางแม่ทัพได้ทราบความ จึงมีคำสั่งไปยังเรือทั้งหลายในกองเรือนั้นว่า “ถ้านายพลจะขึ้นมาบนเรือ ให้เป่านกหวีดเพลงสัญญาณชักขึ้น เพื่อเป็นการเคารพ ๑ จบ” ครั้นต่อมา เมื่อเห็นว่า โดยที่การขึ้นเรือ นกหวีดเรือ ได้เป่าเพลงคำนับแล้ว เมื่อไปจากเรือ ก็ควรได้รับการเคารพเช่นเดียวกัน จึงได้มีคำสั่งอีกว่า “เมื่อนายพลจะไปจากเรือ ให้เป่านกหวีดเพลงหย่อนลงเพื่อเป็นการเคารพอีกจบหนึ่ง” ตามที่เล่ามานี้ จึงเป็นอีกทางหนึ่งซึ่งเป็นที่มาของประเพณีการเคารพนกหวีดเรือ

การรับรองที่บันไดเรือในปัจจุบันนี้ เป็นมารยาทที่นิยมกันในระหว่างชาวเรือ แต่ในสหรัฐนาวีได้ขยายออกไปถึงทหารบก ทูต และ กงสุล และเจ้าหน้าที่ในแผนกนิติบัญญัติและเจ้าหน้าที่บริหารของรัฐด้วย ซึ่งเป็นประเพณีเช่นเดียวกับราชนาวีไทย แม้จะมีประเพณีดังกล่าวข้างต้นแล้วก็ดี สำหรับนายทหารเรือในนาวีด้วยกัน ผู้ที่จะได้รับการเคารพด้วยนกหวีดเรือนั้น ทุกนาวีย่อมกระทำแก่ผู้บังคับการเรือทุกคน ไม่ว่าจะมียศชั้นใด และนายทหารตั้งแต่ชั้นนายนาวาขึ้นไป แต่ถ้าเป็นนายทหารต่างประเทศแล้ว ไม่ว่าจะมียศชั้นใด ย่อมได้รับการเคารพด้วยนกหวีดเรือเสมอไป

การกระทำความเคารพท้ายเรือ

การทำความเคารพท้ายเรือนี้เป็นประเพณีสืบเนื่องมาจากสมัยโรมัน ในสมัยนั้นดาดฟ้าท้ายเรือมักจะสร้างห้องอย่างประณีตสวยงาม สำหรับประดิษฐานรูปปั้นจำลองของเทวรูปที่ศักดิ์สิทธิ์ เป็นตอนที่สำคัญเพราะจัดเป็นห้องผู้บังคับการเรือและที่อยู่ของนายทหารประจำ เรือ จึงถือว่าเป็นตอนที่สำคัญและได้รับเกียรติสูงสุดของเรือ เมื่อผู้ใดขึ้นมาบนเรือจะต้องทำความเคารพท้ายเรือก่อนเสมอ

ปัจจุบันนี้ ได้จัดให้ชักธงราชนาวีขึ้นที่เสาท้ายเรือ ส่วนสิ่งศักดิ์สิทธิ์นั้นราชนาวีไทยได้ใช้พระพุทธรูปแทนการทำความเคารพท้าย เรือ จึงถือว่า ให้ความเคารพแก่สถานที่ และธงราชนาวีด้วย ฉะนั้น ก่อนลงจากเรือใหญ่และขึ้นบนเรือใหญ่ จึงมีประเพณีให้ทำความเคารพท้ายเรือก่อนเสมอ แม้ว่าในสมัยปัจจุบันนี้เรือบางลำ ห้องผู้บังคับการเรือและห้องพระพุทธรูปจะไว้กลางลำ ก็ยังคงถือปฏิบัติเช่นเดิม สำหรับบุคคลพลเรือนนั้น กระทำด้วยการถอดหมวกและโค้งคำนับ

ประเพณีการเคารพของทหารเรือ

แต่เดิมมานั้น กระทำด้วยวิธีการหลายอย่าง แต่ส่วนมากถือหลักว่าเป็นการแสดงออกในเบื้องต้นอย่างเปิดเผยว่า ไม่มีอาวุธอะไรถืออยู่ในมือ โดยการแบมือ

ต่อมาในปี ค.ศ.๑๘๘๒ อังกฤษได้กำหนดระเบียบการทำวันทยหัตถ์สำหรับทหารเรือขึ้นโดยแบมือเหยียดตรง ยกขึ้นแตะที่ขอบหมวกหรือกะบังหมวก ปัจจุบันนี้ การกระทำความเคารพซึ่งกันและกัน ถือว่าเป็นการแสดงท่าทางที่สง่าผ่าเผย มีวินัยและความสามัคคีอันดี เป็นการให้เกียรติแก่เครื่องแบบและหน้าที่รับใช้ชาติ นอกจากนั้นยังเป็นการคารวะและมารยาทอันดีระหว่างผู้ใหญ่ผู้น้อยอีกด้วย

การถอดหมวก ทหารในเครื่องแบบจะถอดหมวกทำความเคารพแก่ผู้ใดมิได้ ยกเว้นในกรณีการทำพิธีทางศาสนา การเข้าไปในสถานที่เคารพ การกราบไหว้พระพุทธรูป หรือพระภิกษุสงฆ์ เป็นต้น

การเดินในที่โล่งแจ้ง จะต้องสวมหมวกเสมอ จะถอดหมวกได้ต่อเมื่อนั่งลง เช่น บนดาดฟ้า เก้าอี้ขณะรับประทานอาหาร ทั้งนี้ มิได้หมายถึงการนั่งยานพาหนะระหว่างเดินทาง เพื่อสะดวกต่อการแสดงความเคารพด้วย

ทหารที่ถูกทำโทษ จะต้องถอดหมวก เพื่อแสดงความรับผิดและเคารพต่อผู้บังคับบัญชาที่สั่งลงทัณฑ์

ปัจจุบันนี้ทำวันทยาวุธด้วยกระบี่ กระทำจาก ๒ โอกาส คือ

ก. ทำจากท่าบ่าอาวุธ ทำเป็น ๒ จังหวะ คือ

จังหวะที่ ๑ มือขวายกกระบี่ขึ้นข้างบน หันคมไปทางซ้ายให้มือขวาอยู่เสมอคาง นิ้วหัวแม่มือวางทาบตามแนวสันด้ามกระบี่ นิ้วนอกนั้นกำด้ามกระบี่ เป็นการแสดงถึง การร้องเชิญหรือแสดงคารวะแก่ผู้มีอาวุโส และเป็นการออกคำสั่ง “ขวา(ซ้าย) ระวัง วันทยาวุธ”

จังหวะที่ ๒ ลดกระบี่ไปทางหน้า ปลายกระบี่เฉียงลงล่างสูงจากพื้นประมาณ ๑ คืบ มือขวาอยู่ข้างขาขวา นิ้วหัวแม่มือแนบอยู่กับด้ามกระบี่และอยู่ข้างบน คมกระบี่หันไปทางซ้าย เหยียดขาขวาเต็มที่ เป็นการแสดงถึง การยินยอมหรือเป็นผู้น้อย

ข. ทำจากท่าซึ่งกระบี่สวมในฝัก

เมื่อมีคำบอกว่า “ขวา(ซ้าย) ระวัง” ให้ทำท่าบ่าอาวุธ เมื่อมีคำบอก “วันทยาวุธ” ให้ทำท่าวันทยาวุธ เช่นเดียวกับข้อ ๑

การทำความเคารพด้วยกระบี่ ตามประวัติกล่าวว่า ในสงครามครูเสด ระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ ๑๑ – ๑๓ ชาวคริสเตียนได้สลักไม้กางเขนไว้ที่โกร่งดาบ ก่อนทำการรบ จึงมีประเพณีจูบด้ามดาบ เพื่อขอพรจากพระผู้เป็นเจ้าคุ้มครอง

การเคารพระหว่างเรือต่อเรือ

ภัยพิบัติในทะเลนั้นย่อมเกิดขึ้นได้ทุกโอกาส ฉะนั้น จึงถือเป็นประเพณีและมารยาทที่เรืออื่นจะต้องให้ความช่วยเหลือเรือที่เสีย หาย และเมื่อผ่านกัน ย่อมแสดงความเคารพซึ่งกันและกัน เป็นการแสดงว่า จะให้ความช่วยเหลือและมีไมตรีจิตต่อกัน

เรือสินค้าและเรือโดยสาร ต้องแสดงความเคารพเรือรบก่อนเสมอ ไม่ว่าจะเป็นเรือใหญ่เล็กอย่างใด โดยที่เรือรบนั้นไม่เพียงจะให้การช่วยเหลือภัยพิบัติอันเกิดขึ้นแก่เรือ สินค้าเท่านั้น ยังให้ความคุ้มครองในกรณีที่เกิดโจรสลัดอีกด้วย การแสดงความเคารพนั้น ให้เรือสินค้าชักธงชาติลง ๒ ใน ๓ เรียกว่า สลุตธง และเรือรบรับสลุตธง ด้วยการชักธงราชนาวีลง ๑ ใน ๓ อย่างไรก็ดี เมื่อเรือรบผ่านกับเรือสินค้าแล้ว จะต้องระวังการสลุตธงด้วย หากเรือนั้น ไม่รักษาประเพณี โดยไม่ทำการสลุตธงก่อนแล้ว ต้องถามไปทันที (Dip for Dip)

สำหรับเรือรบต่อเรือรบนั้น ย่อมแสดงการเคารพกันตามชั้นของเรือและอาวุโสของผู้บังคับการเรือ ถ้าเป็นเรือรบต่างประเทศไม่ทราบชั้นและอาวุโส ให้ทำความเคารพพร้อมกัน โดยให้ทหารยืนรายกราบ เป่าแตรหรือนกหวีด

การเคารพระหว่างเรือ คงปฏิบัติตามข้อบังคับกระทรวงกลาโหม ว่าด้วยการเคารพ พ.ศ.๒๔๗๘ ตอนที่ ๒ มาตรา ๘ หัวข้อการเคารพในเรือใหญ่ ข้อ ๓. (๔) ดังนี้ เรือใหญ่ซึ่งชักธงประจำเรือตามปกติ และจะมีธงนายเรือชั้นใดด้วยก็ตามให้ทำการเคารพซึ่งกันและกัน และการที่เรือใดจะต้องทำการเคารพซึ่งกันและกันก่อน หรือหลังอย่างใด ให้ปฏิบัติดังนี้

ก. เรือชั้นที่ ๓ เคารพเรือพระที่นั่ง เรือชั้นที่ ๑ และเรือชั้นที่ ๒ ก่อน

ข. เรือชั้นที่ ๒ เคารพเรือพระที่นั่ง กับเรือชั้นที่ ๑ ก่อน

ค. เรือชั้นที่ ๑ เคารพเรือพระที่นั่ง ก่อน

ง. เรือชั้นเดียวกัน ให้เรือที่ผู้บังคับการเรือมียศน้อยกว่า เคารพเรือที่ผู้บังคับการเรือมียศสูงหรืออาวุโสกว่า ถ้าผู้บังคับการเรือมียศเสมอกัน ให้ต่างฝ่ายต่างทำการเคารพพร้อม ๆ กัน

จ. เรือช่วยรบ ถึงจะอยู่ในระดับชั้นสูงกว่าเรือรบก็ตาม ให้ทำการเคารพเรือพระที่นั่งและเรือรบก่อนเสมอไป

การยิงสลุต

ประเพณีการยิงสลุตจะเป็นมาอย่างไรนั้น ไม่สามารถทราบได้ แต่เป็นที่เชื่อว่า โดยเหตุที่ปืนใหญ่สมัยโบราณเป็นปืนบรรจุทางปากกระบอก การจะยิงได้แต่ละครั้งเสียเวลานาน ปืนใหญ่เรือสมัยพระเจ้าเฮนรี่ที่ ๗ แห่งบริเทนใหญ่จะยิงได้ ๒ นัดต้องเสียเวลา ๑ ชั่วโมง คงจะได้ถือเป็นทางปฏิบัติกันว่าในกรณีที่เรือรบเข้าสู่ท่าเรือของรัฐอื่น จะมีกระสุนอยู่ในลำกล้องปืนใหญ่เรือมิได้ และการถอดกระสุนออกจากลำกล้องก็ไม่ใช่ง่าย การยิงทิ้งเสีย เพื่อเป็นการแสดงความบริสุทธิ์ว่า ไม่ได้บรรจุกระสุนอยู่ในลำกล้อง นานเข้าก็เลยกลายเป็นประเพณีที่เรียกว่า “ยิงสลุตคำนับ” ขึ้น

จำนวนนัดในการยิงสลุต ต้องเป็นจำนวนขอนเสมอ และสูงสุดไม่เกิน ๒๑ นัด การยิงสลุตเป็นจำนวนขอนนี้เป็นประเพณี และถือว่า เมื่อเรือยิงสลุตจำนวนอย่างอื่นย่อมแสดงว่า ผู้บังคับการเรือถึงแก่กรรมในขณะเรือกำลังเดินทาง ประเพณีการแสดงความเคารพนี้ ก็สืบเนื่องมาจากการแสดงให้เห็นว่า ผู้ที่ทำการเคารพก่อน เป็นผู้ปราศจากอาวุธ และอยู่ในอำนาจของผู้ได้รับการเคารพ เช่นกระทำวันทยหัตถ์ ก็ดัดแปลงมาจากการยกมือแสดงให้เห็นว่า ไม่มีอาวุธอยู่ในมือ หรือการเคารพด้วยการเอาปลายดาบชี้ดินหรือท่าวันทยาวุธ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ไม่พร้อมที่จะทำการยิง

ในสมัยโบราณ อังกฤษบังคับให้ชาติอื่นที่อ่อนในนาวิกานุภาพเคารพตนก่อน ในปัจจุบันถือว่า ทุกชาติมีศักดิ์เท่าเทียมกัน แต่เคารพกันตามประเพณีนิยม และการเคารพด้วยการยิงสลุตนั้นเป็นการเคารพที่ต้องได้รับตอบนัดต่อนัด คือ ยิงคำนับจำนวนเท่าใด ต้องได้รับตอบจำนวนเท่ากัน เว้นแต่การยิงเคารพผู้บังคับบัญชา ไม่มีการยิงสลุตตอบ

การแสดงความเคารพด้วยการยิงสลุต อันมีจำนวน ๒๑ นัด ตามที่นิยมถือกันเป็นสากล สำหรับแสดงความเคารพแก่ชาติ และผู้เป็นประมุขของชาติ ตามที่ไทยเรียกว่า สลุตหลวง นั้น จัดเป็นจำนวนนัดสูงสุด แต่ในพระราชกำหนดการยิงสลุตของไทย ยังมีการยิงที่มีจำนวนมากกว่านี้อีก คือ ยิงถึง ๑๐๑ นัด เรียกว่า “สลุตหลวงพิเศษ” ซึ่งจะยิงได้แต่เมื่อมีคำสั่งพิเศษเฉพาะคราวเท่านั้น ในสมัย พ.ศ.๒๔๓๑–๓๓ มีการยิงสลุตในวันเฉลิมพระชนมพรรษายิง ๑๐๑ นัด ต้องใช้เรือรบยิง ๒ ลำ และแบ่งยิงเป็น ๓ เวลา คือ เช้า เที่ยง และบ่าย การยิงสลุต ๑๐๑ นัด ยกเลิกในสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ เพื่อเป็นการประหยัดดินปืน จึงไม่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้ยิงสลุตหลวงพิเศษอีก นับตั้งแต่นั้นมาจนปัจจุบันนี้

การอวยพรระหว่างเรือ

เรือรบทุกลำไม่ว่าจะเป็นชาติเดียวกันหรือต่างชาติ เมื่อได้มาจอดร่วมอ่าวกันหรือผ่านกันในทะเล และทราบว่า จะต้องจากไปไกลหรือนานวัน ฝ่ายอยู่จะต้องชักธงหรือส่งวิทยุอวยพร “ให้เดินทางโดยสวัสดิภาพ” ฝ่ายจากไป จะต้องชักธงหรือวิทยุตอบ “ขอบใจ”

พิธีวางกระดูกงูเรือ

เป็นพิธีแรกในการสร้างเรือ คำว่า “กระดูกงู” ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๒๕ หมายถึง “ตัวไม้หรือเหล็กที่ทอดตลอดลำเรือสำหรับตั้งกง” ดังนั้น จึงเห็นได้ว่า พิธีวางกระดูกงูเรือ จึงเป็นพิธีที่สำคัญพิธีหนึ่งในการเริ่มสร้างเรือมานับตั้งแต่สมัยโบราณทั้ง ของไทยและของต่างประเทศ ส่วนพิธีการอาจจะแตกต่างกันไปบ้างขึ้นอยู่กับความเชื่อของแต่ละชาติ

พิธีวางกระดูกงูเรือของไทยนั้น คงจะสืบเนื่องมาจากการนับถือเทพธิดา (นางไม้) เพราะในสมัยโบราณถือกันว่า การเข้าป่าตัดไม้ ต้องทำพิธีบวงสรวงเทพารักษ์ (พฤกษเทวดา) เสียก่อน จึงจะหาตัวเรือไม้แม่ย่านาง และมาดเรือได้ดี และเป็นไม้ที่นายช่างผู้ชำนาญการต่อเรือได้พิจารณาเลือกคัดเอาแต่ที่อย่าง เอก ๆ เป็นไม้ดีที่หนึ่ง เมื่อได้ไม้มาแล้ว ก่อนจะทำการโกลนและเปิดมาดขึ้นกง ก็ทำพิธีบวงสรวงเชิญเทวพฤกษ์มาสิงสถิตปกปักษ์รักษา พิธีนี้ก็เห็นจะเนื่องมาจาก พิธีของพราหมณ์ดังกล่าวมาแล้ว

สำหรับราชนาวีไทย คงได้ประกอบพิธีมาตั้งแต่สมัยเรือรบที่สร้างตัวเรือด้วยไม้ ต่อมาได้เปลี่ยนการสร้างจากตัวเรือไม้มาเป็นตัวเรือเหล็ก สำหรับเรือรบที่สร้างด้วยเหล็กตามหลักฐานได้มีพิธีวางกระดูกงู ร.ล.สัตหีบ เป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ ๒๒ พฤศจิกายน ๒๔๙๙ โดยกรมอู่ ทร. เป็นผู้สร้าง ได้มีพิธีทางศาสนาพุทธ พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ และมีพิธีพราหมณ์ประกอบการบูชาฤกษ์ มี ฯพณฯ จอมพลเรือ ป.พิบูลสงคราม รมว.กห. เป็นประธานประกอบพิธีย้ำหมุดเป็นปฐมฤกษ์ และมีจอมพลเรือ ป.ยุทธศาสตร์โกศล ผบ.ทร. เป็นผู้กล่าวเชิญประกอบพิธี ในปัจจุบันได้กำหนดพิธีวางกระดูกงูของราชนาวีไทย พอสังเขปดังนี้

พิธี ประกอบด้วย การเจิมกระดูกงู คล้องพวงมาลัย แล้วทำพิธีวางกระดูกงูโดยใช้ค้อนตอกย้ำหมุดตัวแรก หรือกดปุ่มสวิตซ์ทำการประสานกระดูกงูด้วยไฟฟ้า

ผู้ประกอบพิธี ในประเทศ ควรเป็น ผบ.ทร. หรือผู้ที่ ผบ.ทร. พิจารณาเห็นสมควร ต่างประเทศ ควรเป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ในประเทศนั้น ๆ โดยให้กรรมการตรวจการจ้างเป็นผู้เสนอแนะ ทร.

กำหนดพิธี แล้วแต่ฤกษ์

พิธีปล่อยเรือลงน้ำ

เมื่อมนุษย์รู้จักสร้างเรือนั้น เท่าที่มีประวัติไว้ประมาณ ๒๑๐๐ ปีก่อน คริสต์ศาสนา ก่อนปล่อยเรือลงน้ำจะต้องประกอบพิธีทางศาสนาเสียก่อน ชาวเกาะตาฮิตีทำพิธีสังเวยด้วยเลือดมนุษย์ จีนสร้างสถูปไหว้เจ้าและสร้างที่สำหรับแม่ย่านางเรือสิงสถิต อียิปต์และกรีกโบราณจะประดับเรือด้วยพวงดอกไม้และใบไม้ที่มีกลิ่นหอม พระจะทำพิธีมอบเรือแก่พระสมุทร ขณะที่เรือเลื่อนลงน้ำจะมีการเทเหล้าไวน์ (WINE) ลงบนเรือหรือบนพื้นดิน เพื่อเป็นการสังเวยให้พระสมุทรปกปักษ์รักษาเรือลำนั้น ต่อมา ในสมัยกลางที่เกิดคริสต์ศาสนาขึ้น พิธีปล่อยเรือลงน้ำกลายเป็นพิธีที่ใหญ่โตมาก จะมีการประดับประดาเรือด้วยดอกไม้ พระจะประสาทพรและกล่าวอุทิศเรือแก่นักบุญที่ยิ่งใหญ่องค์ใดองค์หนึ่ง และดื่มแชมเปญหรือไวน์อวยพรด้วยถ้วยเงิน เมื่อดื่มแล้วให้ขว้างถ้วยขึ้นไปบนเรือ ปรากฏว่าสิ้นเปลืองมาก จึงเปลี่ยนเป็นขว้างขวดแชมเปญหรือไวน์กับหัวเรือแทน

ราชนาวีอังกฤษ เริ่มให้สุภาพสตรีที่สูงศักดิ์ เป็นผู้ประกอบพิธีตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ ๑๙ คราวหนึ่ง สุภาพสตรีได้ขว้างขวดแชมเปญไม่ถูกหัวเรือ แต่กลับไปถูกแขกที่มาในงานพิธีบาดเจ็บ จึงได้ใช้เชือกผูกคอขวดเสียก่อนเสมอ

ฝรั่งเศส ไม่ใช้เหล้าไวน์ในการประกอบพิธีปล่อยเรือลงน้ำ แต่เปลี่ยนเป็นเลี้ยงแขกในพิธีด้วยเหล้าไวน์อย่างดีแทน

ญี่ปุ่น เป็น ประเทศแรกที่ใช้นกร่วมในพิธีนี้ด้วย โดยการปล่อยนกพิราบจากกรงขณะที่เรือเคลื่อนลงน้ำ

สหรัฐนาวี ประกอบพิธีทำนองเดียวกับราชนาวีอังกฤษ แต่บางครั้งก็มีแตกต่างออกไป เช่น ใช้เหล้าผสมน้ำ แทนเหล้าบริสุทธิ์ ใช้นกพิราบผูกริบบิ้นสีแดง ขาว และน้ำเงิน ตัวละสี ๓ ตัว หรือใช้ผู้ประกอบพิธี ๓ คน แต่ละคนถือขวดน้ำ ซึ่งนำมาจากแม่น้ำและทะเลที่ตนนับถือสำหรับต่อยหัวเรือให้ขวดแตก

ชาวเรือไม่ยอมลงเรือลำใดที่ไม่ได้ทำพิธีปล่อยให้ถูกต้อง เพราะเชื่อกันว่าเรือแต่ละลำมีวิญญาณ ถ้าทำพิธีไม่ถูกต้องแล้ว จะถูกสาปให้ประสบเคราะห์กรรมต่าง ๆ มีเรื่องเล่ากันว่า เรือรบอเมริกัน USS. Constitution ไม่ยอมเคลื่อนลงน้ำถึง ๒ ครั้ง เมื่อใช้ขวดน้ำแทนเหล้า จนครั้งที่ ๓ พลเรือจัตวา James Sever จึงสั่งให้เอาขวดเหล้าใน Madeira มาต่อยที่หัวเรือ เรือจึงยอมเลื่อนลงน้ำไป พวกชาวเรือที่ได้เห็นเหตุการณ์วันนั้น กล่าวยืนยันว่า “พับผ่าซีครับ ผมได้ยินเสียงเรือถอนหายใจด้วยความโล่งอกทีเดียว”

สำหรับการที่ต้องปล่อยเรือ โดยการเอาท้ายเรือลงน้ำนั้น ก็เนื่องจาก ท้ายเรือป้าน มีกำลังลอยมากกว่าทางหัวเรือซึ่งแหลม ถ้าเอาหัวเรือลงอาจทำให้น้ำเข้าและจมได้ อีกประการหนึ่ง หัวเรือแหลม เมื่อเคลื่อนลงน้ำแล้ว ด้วยน้ำหนักตัวของมัน จะมีแรงเคลื่อน พุ่งไปข้างหน้าไกลหรือกำลังแรง ลำบากในการยึดเหนี่ยว การเอาท้ายเรือลง จึงสะดวกกว่า

พิธีปล่อยเรือลงน้ำของราชนาวีไทย เริ่มมีมาตั้งแต่เมื่อใดไม่ปรากฏหลักฐาน แต่สันนิษฐานว่า คงจะมีมาตั้งแต่สมัยโบราณ ในสมัยนั้น กองทัพยังไม่ได้แบ่งแยกเป็น กองทัพบกหรือกองทัพเรือ อย่างเช่นในสมัยปัจจุบัน นับตั้งแต่กรุงสุโขทัย กรุงศรีอยุธยา กรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น เรือรบก็สร้างด้วยไม้ ถ้าเป็นเรือรบที่ใช้รบในแม่น้ำ ก็จะเป็นเรือที่มีขนาดเล็ก ส่วนเรือที่ใช้รบในทะเลหรือเรือที่ใช้ในการค้าขายก็จะมีขนาดใหญ่ขึ้น เช่น เรือสำเภา เรือกำปั่น เป็นต้น พิธีปล่อยเรือลงน้ำที่มีหลักฐานปรากฏในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้า อยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ได้มีพิธีปล่อยเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ลงน้ำ เมื่อวันที่ ๑๓ พฤศจิกายน ๒๔๕๔ ส่วนเรือหลวงที่สร้างจากต่างประเทศที่มีหลักฐานปรากฏได้แก่ ร.ล.เสือคำรณสินธุ์ ประเภทเรือพิฆาต มีพิธีปล่อยเรือลงน้ำ เมื่อวันที่ ๒๙ พฤษภาคม ๒๔๕๓ ณ อู่กาวาซากิ เมืองโกเบ ประเทศญี่ปุ่น สำหรับเรือหลวง ตัวเรือเป็นเหล็ก สร้างโดยกรมอู่ ทร. ที่มีพิธีปล่อยเรือลงน้ำ ได้แก่ ร.ล.สัตหีบ ซึ่งมี คุณหญิง วิจิตรา ธนะรัชต์ ภริยา จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ รมว.กห. เป็นประธานประกอบพิธีปล่อยเรือลงน้ำ เมื่อวันที่ ๒๘ ตุลาคม ๒๕๐๐ ในปัจจุบันได้กำหนดพิธีปล่อยเรือลงน้ำของราชนาวีไทย พอสังเขปดังนี้

พิธี ประกอบด้วย การนำขวดแชมเปญกระทบหัวเรือ หรือใช้ขวานทองตัดเชือกหัวเรือ

ในประเทศ มีพิธีทางศาสนา ผู้ประกอบพิธี เป็นสุภาพสตรี อาจเป็นพระบรมวงศานุวงศ์ หรือภริยานายทหารเรือข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่ ทร.พิจารณาเห็นสมควร ทั้งนี้ ไม่ว่าเรือนั้นจะสร้างโดย กรมอู่ ทร. รัฐวิสาหกิจ หรือบริษัทเอกชน

ต่างประเทศ เป็นสุภาพสตรี อาจเป็นภริยาข้าราชการ ทร. ชั้น พล.ร.อ.ขึ้นไป หรือภริยาเอกอัครราชทูตที่ ทร.พิจารณาเห็นสมควร

กำหนดเวลาทำพิธี แล้วแต่ฤกษ์

พิธีรับมอบเรือ

เป็นพิธีที่ได้มีขั้นภายหลังจากบริษัทผู้สร้าง หรือกรมอู่ ทร. ได้สร้างเรือเสร็จเรียบร้อยแล้ว ทางบริษัทผู้สร้างหรือกรมอู่ ทร. จะส่งมอบเรือที่ตนสร้างให้กับกองทัพเรือพิธีรับมอบเรือ รวมไปถึงเรือที่ได้รับความช่วยเหลือจากต่างประเทศที่ได้ให้แก่กองทัพเรือ หรือเรือที่ซื้อมาจากต่างประเทศด้วย พิธีรับมอบเรือได้เริ่มมีมาตั้งแต่เมื่อใดไม่พบหลักฐานที่แน่นอน แต่ในปี พ.ศ.๒๔๕๑ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า รัชกาลที่ ๕ ได้มีพิธีรับมอบเรือเสือทยานชล เรือตอร์ปิโดที่ ๑ เรือตอร์ปิโดที่ ๒ และเรือตอร์ปิโดที่ ๓ เมื่อวันที่ ๒๗ สิงหาคม ๒๔๕๑ จากนายทหารเรือญี่ปุ่น ได้นำเรือทั้ง ๔ ลำ ซึ่งต่อจากบริษัทอู่กาวาซากิ เมืองโกเบ ประเทศญี่ปุ่น เข้ามายังกรุงเทพ ฯ ในปัจจุบันได้กำหนดพิธีรับมอบเรือของราชนาวีไทยพอสังเขป ดังต่อไปนี้

พิธี

ในประเทศ ทหารเดินแถวลงประจำเรือ ชักธงหัว-ท้าย ประธาน ฯ ให้โอวาท มีพิธีทางศาสนา มีการมอบเอกสาร บัญชี ประวัติต่าง ๆ ตลอดจนตัวเรือ การดูแลรับผิดชอบจากผู้สร้างให้ผู้ใช้โดยสมบูรณ์

ต่างประเทศ ทหารเดินแถวลงประจำเรือ มีการชักธงหัว-ท้าย มีการมอบความรับผิดชอบจากผู้สร้าง ให้แก่ทหารประจำเรือ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นเรือที่ ทร.สั่งสร้างหรือต่างชาติมอบให้

ผู้ประกอบพิธี

ในประเทศ ควรเป็น ผบ.ทร. หรือผู้ที่ ผบ.ทร.พิจารณาเห็นสมควร

ต่างประเทศ ควรเป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ในประเทศนั้น ๆ หรือผู้ที่ ผบ.ทร.พิจารณาเห็นสมควร

กำหนดเวลาทำพิธี ไม่กำหนดฤกษ์ยาม

พิธีขึ้นระวางประจำการ

เป็นพิธีที่แสดงถึง การรับเรือเข้าระวางประจำการของทางราชการ โดยกระทรวงกลาโหม หรือกองทัพเรือ จะเป็นผู้ลงคำสั่งให้เรือนั้นเข้าระวางประจำการ ส่วนพิธีขึ้นระวางประจำการ จะกระทำในวันใดนั้น ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมแต่ส่วนมากแล้ว จะตรงกับวันมอบเรือหรืออาจจะภายหลังการรับมอบเรือก็ได้ พิธีขึ้นระวางประจำการของราชนาวีไทย ได้กระทำขึ้นมาตั้งแต่เมื่อใด ยังไม่พบหลักฐานที่แน่นอน แต่ในปี พ.ศ.๒๔๕๑ สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ได้มีการขึ้นระวางประจำการ เรือเสือทยานชล เรือตอร์ปิโดที่ ๑ เรือตอร์ปิโดที่ ๒ และเรือตอร์ปิโดที่ ๓ เมื่อวันที่ ๒๗ สิงหาคม ๒๔๕๑ ในปัจจุบัน ได้กำหนดพิธีขึ้นระวางประจำการของราชนาวีไทย พอสังเขป ดังต่อไปนี้

พิธี มีการแถว อ่านคำสั่งกระทรวงกลาโหม หรือกองทัพเรือ ทหารเดินแถวลงประจำเรือ ชักธง หัว-ท้าย

ผู้ประกอบพิธี

ในประเทศ ควรเป็น ผบ.ทร. หรือผู้ที่ ผบ.ทร.พิจารณาเห็นสมควร

ต่างประเทศ ควรเป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ในประเทศนั้น ๆ หากเป็นเรื่องที่สั่งสร้างให้คณะกรรมการตรวจการจ้าง (กตจ.) เป็นผู้เสนอแนะ ทร. แต่ถ้าเป็นเรือที่ต่างชาติมอบให้ ควรเป็นผู้ที่ ผบ.ทร.พิจารณาเห็นสมควร

กำหนดเวลาทำพิธี ไม่กำหนดฤกษ์ยาม

พิธีฉลองเรือในต่างประเทศ

เป็นพิธีที่มีขึ้นในโอกาสที่เรือรบที่ได้ตั้งชื่อเรือตามชื่อเมือง ของตนได้เดินทางมาเยี่ยมชาวเมืองเป็นครั้งแรก ซึ่งชาวเมืองนั้น ๆ ถือว่า เรือรบที่ได้ตั้งตามชื่อเมืองของตนนั้นเป็นเกียรติประวัติ เป็นสิริมงคล และเป็นมิ่งขวัญอย่างสูงยิ่ง จึงจัดให้มีการฉลองเรือ เป็นงานมหกรรมพิเศษ และเป็นประเพณีสืบเนื่อง ในปีหนึ่ง ๆ เรือรบจะต้องไปเยี่ยมเมืองอันเป็นชื่อเรือของตน

สำหรับราชนาวีไทยมีพิธีฉลองเรือคงเหมือนกับต่างประเทศ คือพิธีฉลองเรือมีขึ้นในโอกาสที่เรือหลวงได้สร้างหรือซื้อจากต่างประเทศเดิน ทางมาถึงประเทศไทยเป็นครั้งแรก ส่วนสถานที่กำหนดพิธีฉลองเรือที่ใดนั้น อาจกระทำในกรุงเทพมหานครหรือต่างจังหวัดนั้นขึ้นอยู่กับประเภทของเรือที่ ตั้งชื่อ ตามระเบียบกองทัพเรือว่าด้วย การแบ่งชั้นเรือ หมู่เรือ และการตั้งชื่อเรือหลวง พ.ศ.๒๕๒๗

เรือหลวงที่ได้รับพระราชทานตามชื่อตัว บรรดาศักดิ์ หรือชื่อสกุลของบุคคลที่เป็นวีรบุรุษของชาติ หรือตามชื่อประเภทของเรืออื่น ๆ อาจมีพิธีฉลองเรือในกรุงเทพมหานคร เช่น พิธีฉลอง ร.ล.พระร่วง ได้กระทำที่ท่าราชวรดิฐ กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ ๘ - ๑๐ ตุลาคม ๒๔๖๓ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ส่วนเรือหลวงที่ได้รับพระราชทานตามชื่อแม่น้ำสายสำคัญของประเทศ ตามชื่อเมือง หรือตำบลชายทะเลที่สำคัญ ได้มีพิธีฉลองเรือตามต่างจังหวัดที่มีเรือของตน ในอดีตมาแล้ว มีการมอบพระพุทธรูป โล่ประจำจังหวัดให้แก่เรือหลวงนั้น ๆ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอนันทมหิดล รัชกาลที่ ๘ ได้มีพิธีฉลอง ร.ล.แม่กลอง ร.ล.จันทบุรี ร.ล.ระยอง ร.ล.ตราด ร.ล.ชลบุรี ร.ล.สงขลา และ ร.ล.ภูเก็ต เป็นต้น ในปัจจุบัน ได้กำหนดพิธีฉลองเรือของราชนาวีไทย พอสังเขป ดังต่อไปนี้

พิธี ประกอบด้วย พิธีทางศาสนา มอบเรือจำลอง มอบพระพุทธรูป เจิมเรือ คล้องพวงมาลัยหัวเรือ มีมหรสพสมโภช เปิดให้ประชาชนขึ้นชมเรือ

ผู้ประกอบพิธี ผบ.ทร. หรือผู้ที่ ผบ.ทร. พิจารณาเห็นสมควร เป็นประธานพิธีฝ่ายทหารเรือ ผู้ว่าราชการจังหวัด หรือผู้แทน เป็นประธานพิธีฝ่ายจังหวัด

กำหนดเวลาทำพิธี ไม่กำหนดฤกษ์ยาม ที่มา:กองเรือยุทธการ

www.การลอยอังคาร.com