ข้อมูลทั่วไป 

       โรงเรียนเรียนบ้านบุญเรือง ๒๓๒ หมู่ ๙ ตำบลบุญเรือง อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย รหัสไปรษณีย์ ๕๗๑๔๐ สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงราย เขต ๔ ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลตำบลบุญเรือง มีเขตบริการ ๔ หมู่บ้าน ประกอบด้วย บ้านบุญเรืองเหนือ หมู่ที่ ๑ บ้านบุญเรืองใต้ หมู่ที่ ๒ บ้านบุญเรืองใต้ หมู่ที่ ๙ และบ้านภูแกง หมู่ที่ ๑๐ มีเนื้อที่ทั้งหมด ๑๓ ไร่ ๒ งาน มีอาณาเขตติดต่อ ดังนี้

       ทิศเหนือ      ติดต่อกับ     บ้านซาววา หมู่ที่ ๓

       ทิศใต้         ติดต่อกับ     บ้านบุญเรืองใต้ หมู่ที่ ๒

       ทิศตะวันออก ติดต่อกับ     บ้านบุญเรืองเหนือ หมู่ที่ ๑ และบ้านหก หมู่ที่ ๔

       ทิศตะวันตก  ติดต่อกับ     บ้านบุญเรืองใต้ หมู่ที่ ๙

เว็บไซต์ www.bbrs.ac.th  อีเมล banboonruang@gmail.com หรือ bbrs@bbrs.ac.th โทรศัพท์ ๐๘๘-๖๗๐๕๒๒๑ Facebook : www.facebook.com/bbrs.ac.th

ประวัติความเป็นมา

       โรงเรียนบ้านบุญเรือง จัดตั้งขึ้นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๔ ซึ่งตรงกับสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๖ แห่งราชวงศ์จักรี โดยอาศัยศาลาวัดบ้านบุญเรืองเหนือเป็นที่เรียนหนังสือมีนักเรียนที่เป็นบรรพชิตและคฤหัสถ์ รวม ๕๔ คน มีครู ๒ คน คือ พระขันทะรังสี และนายนันต๊ะ ปาโท้ โดยอยู่ในความอุปถัมภ์ของราษฎรในหมู่บ้าน และมีกระทรวงธรรมการคอยควบคุมดูแล โรงเรียนบ้านบุญเรือง มีพัฒนาการโดยลำดับ ดังนี้

       พ.ศ. ๒๔๗๐ – ๒๔๗๒ นายแดง   บุญสินไทย  เป็นครูใหญ่

       พ.ศ. ๒๔๗๒ – ๒๔๗๕ นายพายัพ  ดีนาโรจน์ เป็นครูใหญ่

       พ.ศ. ๒๔๗๕ – ๒๔๗๘ นายแดง   บุญสินไทย  เป็นครูใหญ่

       พ.ศ. ๒๔๗๘ – ๒๔๘๓ นายคำปัน  ตันกายา  เป็นครูใหญ่

       ในปี พ.ศ. ๒๔๘๐ นายคำปัน  ตันกายา ร่วมผู้นำและราษฎรในหมู่บ้าน ย้ายโรงเรียนมาสร้างณ สถานที่ใหม่ คือที่อยู่ปัจจุบันนี้ มีเนื้อที่ ๓ ไร่  ซึ่งเป็นที่สาธารณประโยชน์ของหมู่บ้าน และได้ขอความช่วยเหลือด้านแรงงาน วัสดุอุปกรณ์ก่อสร้างจากราษฎรหมู่ ๑, ๒, ๓ และ ๔  ต.บุญเรือง ทำการก่อสร้างอาคารชั่วคราวขึ้น ๑ หลัง เป็นเงิน  ๒,๐๐๐  บาท

       พ.ศ. ๒๔๘๓ นายคำปัน ตันกายา  ได้ขอลาออกจากราชการ เพื่อไปประกอบอาชีพเกษตรกรรม ต่อมาได้รับเลือกตั้งเป็นผู้ใหญ่บ้านทุ่งงิ้ว  กำนันตำบลสถาน และสมาชิกสภาจังหวัดเชียงราย เขตเชียงของตามลำดับ

       พ.ศ. ๒๔๘๓ – ๒๔๘๔    นายเพชร  กระทุ่มวัน เป็นครูใหญ่

       พ.ศ. ๒๔๘๔ – ๒๔๘๖ นายอัมพันธ์  สิทธิสมบัติ  เป็นครูใหญ่ 

ต่อมาได้ดำรงตำแหน่งศึกษาธิการอำเภอเชียงของ และหลายๆ อำเภอในจังหวัดเชียงราย

       พ.ศ. ๒๔๘๖ – ๒๔๘๘ นายอิ่นแก้ว  ปานะกิจ เป็นครูใหญ่

       พ.ศ. ๒๔๘๘ – ๒๕๐๙ นายแก้ว   มหาชัย     เป็นครูใหญ่

       พ.ศ. ๒๕๐๕ นายแก้ว มหาชัย ได้ขอความร่วมมือจากราษฎรหมู่ที่ ๑ และหมู่ที่ ๒ บริจาคเงินเพื่อซื้อที่ดินเพิ่มเติมอีก ๕ ไร่ และในปี พ.ศ. ๒๕๐๖ ทางกระทรวงศึกษาธิการได้จัดสรรงบประมาณจำนวน ๒๘,๐๐๐ บาท เพื่อสร้างอาคารเรียนแบบ ป ๑ ก. และราษฎรสมทบอีก ๓,๐๐๐ บาท รวมเป็นเงิน ๓๑,๐๐๐ บาท   

      พ.ศ. ๒๕๐๙ รัฐบาลมีนโยบายโอนโรงเรียนประชาบาลในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ไปสังกัดกองการศึกษาประชาบาล กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย หรือโรงเรียนองค์การบริหารส่วนจังหวัด ในปีนี้ นายแก้ว  มหาชัย  ได้ลาออกจากราชการ ไปประกอบอาชีพส่วนตัว ทางราชการได้แต่งตั้ง นายพรหม สู่โนนทอง มาเป็นครูใหญ่แทน

พ.ศ. ๒๕๑๕ ได้รับจัดสรรงบประมาณ จำนวน ๒๐๐,๐๐๐ บาท เพื่อก่อสร้างอาคารแบบ ชร. ๐๑๗ ขนาด ๕  ห้องเรียน ต่อมาได้รับจัดสรรงบประมาณต่อเติมชั้นล่างอีก ๕ ห้อง พร้อมกันนี้ ได้ซื้อที่ดินอีก ๔ ไร่ โดยไม่ใช้งบประมาณของทางราชการ

        พ.ศ. ๒๕๑๙ นายพรหม   สู่โนนทอง ได้ย้ายไปดำรงตำแหน่งครูใหญ่ ที่โรงเรียนอื่นทางราชการได้แต่งตั้ง  นายเอนก อุ่นกอง  มาเป็นครูใหญ่แทน

       พ.ศ. ๒๕๑๙ – ๒๕๔๔  ในขณะที่ นายเอนก อุ่นกอง ดำรงตำแหน่งผู้บริหาร ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ ตำแหน่ง ครูใหญ่ อาจารย์ใหญ่ และ ผู้อำนวยการ ตามลำดับ

       พ.ศ. ๒๕๒๐ ได้เปิดทำการสอนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ ๕ และได้รับจัดสรรงบประมาณจากทางราชการ มาก่อสร้างอาคารเรียน แบบ ชร.๐๑๗ ขนาด ๘ ห้องเรียน เป็นเงิน ๒๕๐,๐๐๐ บาท ในปีนี้ทางคณะครู กรรมการสถานศึกษา และราษฎร ได้ซื้อที่ดินเพิ่มเติมอีก ๑ ไร่ ๒ งาน

พ.ศ. ๒๕๒๑ เริ่มใช้หลักสูตรประถมศึกษา พุทธศักราช ๒๕๒๑ ในชั้น ป.๑ และเปิดเรียนถึงชั้นป.๖

๑ ตุลาคม ๒๕๒๓ รัฐบาลออก พรบ.โอนการศึกษาประชาบาลจากองค์การบริหารส่วนจังหวัด กองการศึกษาประชาบาล กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ไปสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ (สปช.) กระทรวงศึกษาธิการ และโรงเรียนบ้านบุญเรือง จึงเข้าสังกัดสำนักงานการประถมศึกษาอำเภอเชียงของ   

๒๕ มีนาคม ๒๕๒๗ นักเรียนชั้น ป.๖ จบหลักสูตรประถมศึกษา พุทธศักราช ๒๕๒๑ เป็นรุ่นแรก

พ.ศ. ๒๕๔๒ นายเอนก อุ่นกอง ตำแหน่ง อาจารย์ใหญ่ ผ่านการประเมินได้เลื่อน และแต่งตั้งเป็น ผู้อำนวยการโรงเรียน ระดับ ๘

๒๗ กันยายน ๒๕๔๔  สำนักงานการประถมศึกษาจังหวัดเชียงรายมีคำสั่งย้ายและแต่งตั้งให้นายเอนก อุ่นกอง  ไปดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านทรายทอง สปอ.เวียงแก่น และย้ายนายสมเกียรติ บุดดี ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านม่วงยาย สปอ.เวียงแก่น มาดำรงตำแหน่งแทนเพื่อเตรียมการเกษียณอายุราชการ

๑ ตุลาคม ๒๕๔๔  นายเอนก อุ่นกอง  เกษียณอายุราชการ ๖๐ ปี

       ๑ – ๘ ตุลาคม ๒๕๔๔ นายสมนึก มะเตปิน  อาจารย์ ๒ ระดับ ๗ โรงเรียนบ้านบุญเรือง รักษาการในตำแหน่ง ผู้อำนวยการโรงเรียน

       ๙ ตุลาคม ๒๕๔๔ นายสมเกียรติ  บุดดี  มารับมอบตำแหน่ง ผู้อำนวยการอย่างเป็นทางการจากนายสมนึก มะเตปิน และได้ประชุมข้าราชการครู ภารโรง และคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน เพื่อชี้แจง นโยบายและวิสัยทัศน์  ดังนี้

๑) บริหารงานแบบมีส่วนร่วม

๒) จัดการเรียนการสอนโดยเน้นการสอนแบบโครงงาน

๓) ระดมทรัพยากรจากทุกฝ่ายเพื่อพัฒนาการศึกษาของเด็ก

๔) สร้างจิตสำนึกให้ครู เป็นครูทั้งตัวและหัวใจ

๕) จัดมวลประสบการณ์เพื่อให้เด็กรู้คิด รู้ทำ มีน้ำในนักกีฬา และพัฒนาท้องถิ่น

๑๓ พฤษภาคม ๒๕๔๖ เริ่มใช้หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. ๒๕๔๔ ในชั้น ป.๑ และ ป.๔

๗ กรกฎาคม ๒๕๔๖ โรงเรียนย้ายสังกัดจาก สปช. มาสังกัด สพฐ. ตาม พ.ร.บ. ระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ  พ.ศ. ๒๕๔๖ โดยสังกัด สพท.ชร. ๔

       พ.ศ. ๒๕๔๙ ปีสุดท้ายของแผนกลยุทธ์ จัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน ( ๒๕๔๕ – ๒๕๔๙ )

พ.ศ. ๒๕๕๐ จัดทำแผนพัฒนาคุณภาพการศึกษา ระยะ ๕ ปี ( ๒๕๕๐ – ๒๕๕๔ ) และเริ่มใช้ในปีการศึกษา ๒๕๕๐ และนายวชิระ  ต๊ะปัน ปรับตำแหน่งจาก นักการภารโรง เป็นพนักงานบริการ นางลัดดาวัลย์ ชัยภิวงศ์ และนางจตุพร  ล้วนงาม เลื่อนตำแหน่งจากครูชำนาญการ เป็นครูชำนาญการพิเศษ

พ.ศ. ๒๕๕๑ นายวชิระ  ต๊ะปัน  ปรับตำแหน่งจาก พนักงานบริการเป็น ช่างครุภัณฑ์ ชั้น ๒ และโรงเรียนได้เข้าโครงการ “โรงเรียนโครงการคุณธรรมชั้นนำ รุ่น ๒”  กรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานหมดวาระ และได้แต่งตั้ง กรรมการชุดใหม่ จำนวน ๙ คน โดยมี นายเอนก อุ่นกอง เป็นประธาน และโรงเรียนผ่านการประเมิน สมศ. รอบที่ ๒

พ.ศ. ๒๕๕๒ โรงเรียนดำเนินการตามนโยบายเรียนฟรี ๑๕ ปี อย่างมีคุณภาพและขับเคลื่อนตามกลยุทธของ สพฐ.อย่างต่อเนื่องโรงเรียนได้รับการรับรองมาตรฐานการศึกษา จาก สมศ. ตั้งแต่วันที่ ๒๘ มิถุนายน ๒๕๕๒  เริ่มปฏิบัติ การตามแผนยุทธศาสตร์ตามนโยบายสถานศึกษา 3D  โรงเรียนได้รับงบประมาณ ๒๔๕,๐๐๐ บาท สร้างส้วมแบบ สปช.  โครงการครูพระสอนศีลธรรม โดยพระพายัพ อุสาใจ  ได้รับจัดสรรงบประมาณจาก อบจ.เชียงราย จำนวน ๒๔๙,๙๐๐๐ บาท เพื่อจัดซื้อหนังสือและสื่ออิเล็กทรอนิกส์

๑๓ ธันวาคม ๒๕๕๕ นายประจวบ ธรรมสรางกูร มารับมอบตำแหน่งผู้อำนวยการอย่างเป็นทางการ จนถึง ๓๐ กันยายน ๒๕๖๐

พ.ศ. ๒๕๕๖ นายประทวน   บุญแดนไพร เลื่อนตำแหน่งจากครูชำนาญการ เป็นครูชำนาญการพิเศษ

พ.ศ. ๒๕๕๗ นางสาวดวงงา   อินเทพ  เลื่อนตำแหน่งจากครูชำนาญการ เป็นครูชำนาญการพิเศษ

พ.ศ. ๒๕๕๘ นายธัชชัย  นาระถี  เลื่อนตำแหน่งจากครูชำนาญการ เป็นครูชำนาญการพิเศษ

๑ ตุลาคม ๒๕๖๐ ถึง ๑๕ พฤษภาคม ๒๕๖๑ นางดวงงา  บาร์น รักษาการแทนในตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านบุญเรือง

๑๖ พฤษภาคม  ๒๕๖๑ นายสมนึก   ก้อนกลีบ มารับตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านบุญเรือง

๑  มิถุนายน ๒๕๖๒ นายสมนึก ก้อนกลีบ ลาออกจากราชการ

๒ มิถุนายน ๒๕๖๒ ถึง ๑๘ สิงหาคม ๒๕๖๒ นางดวงงา  บาร์น รักษาการแทนในตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านบุญเรือง

       ๑๙ สิงหาคม ๒๕๖๒ ถึง ๓๐ กันยายน ๒๕๖๔ นายราเชนทร์  ติ๊บแก้ว มาดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านบุญเรือง 

๑ ตุลาคม ๒๕๖๔ นายวิษณุพงศ์ การดี ดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านบุญเรือง จนถึงปัจจุบัน

วิสัยทัศน์  ( VISION )   

             องค์กรแห่งการเรียนรู้ มุ่งสู่มาตรฐานการศึกษาน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง คู่เคียงเทคโลโลยี

พันธกิจ  ( MISSION )  

       เพื่อให้การจัดการศึกษาให้สอดคล้องตามวิสัยทัศน์  จึงกำหนดพันธกิจสำหรับพัฒนาคุณภาพผู้เรียน ดังนี้

      ๑. จัดการเรียนการสอนให้ได้มาตรฐานการศึกษาขั้นพื้นฐาน ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช ๒๕๕๑ (ฉบับปรับปรุง พุทธศักราช ๒๕๖๐)

      ๒. พัฒนาผู้เรียนให้เป็นบุคคลแห่งการเรียนรู้ มีระเบียบวินัย มีคุณธรรมจริยธรรมตามคุณลักษณะอันพึงประสงค์ ๘ ประการ

      ๓. น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เป็นแนวทางในการจัดการเรียนการสอน เพื่อนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน

      ๔. พัฒนาสื่อเทคโนโลยีสารสนเทศ และแหล่งเรียนรู้ ให้ผู้เรียนใช้งานได้อย่างทั่วถึง

      ๕. ประสานความร่วมมือชุมชนในการพัฒนาการจัดการศึกษา และระดมทรัพยากรเพื่อการศึกษา

      ๖. พัฒนาอาคาร สถานที่ ให้เอื้อต่อการเรียนรู้ ปลอดภัย และใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่า

เป้าประสงค์  ( GOAL)

       เพื่อจัดการศึกษาให้มีคุณภาพจึงกำหนดเป้าหมายสำหรับการพัฒนาคุณภาพของผู้เรียน ดังนี้

       ๑. การจัดการเรียนการสอนได้มาตรฐานการศึกษาขั้นพื้นฐาน ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช ๒๕๕๑ (ฉบับปรับปรุง พุทธศักราช ๒๕๖๐)

       ๒. ผู้เรียนเป็นบุคคลแห่งการเรียนรู้ ระเบียบวินัยเยี่ยม มีคุณธรรมจริยธรรมตามคุณลักษณะอันพึงประสงค์ ๘ ประการ

       ๓. จัดการเรียนการสอนโดยใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และผู้เรียนสามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้

       ๔. ผู้เรียนได้ใช้สื่อเทคโนโลยีสารสนเทศ และแหล่งเรียนรู้อย่างทั่วถึง

       ๕. ชุมชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาการจัดการศึกษา และระดมทรัพยากรเพื่อการศึกษา

       ๖. อาคาร สถานที่ เอื้อต่อการเรียนรู้ ปลอดภัย และใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่า

อัตลักษณ์          ยิ้มง่าย ไหว้สวย

เอกลักษณ์          รู้จักใช้เทคโนโลยี พอเพียงตามรอยพ่อ

ปรัชญาของโรงเรียน  นตฺถิ ปญฺญา สมาอาภา แสงสว่างเสมอด้วยปัญญาไม่มี

คำขวัญของโรงเรียน  รู้คิดรู้ทำ รู้น้ำใจนักกีฬา รู้พัฒนาท้องถิ่น

สีประจำโรงเรียน          สีเหลือง - สีแดง

สัญลักษณ์ หรือตราโรงเรียน