วัฒนธรรมและประเพณี

แห่ปราสาทผึ้ง


แห่ต้นผึ้ง วันออกพรรษบ้านน้อยซุ้มขี้เหล็ก อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก ชาวบ้านในหมู่บ้านกว่า 500 คน ได้ร่วมกันสืบสานประเพณีแห่ต้นผึ้ง ในวันออกพรรษาขึ้น เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่บรรพบุรุษผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว ตามความเชื่อที่สืบทอดกันมายาวนานกว่า 100 ปีประเพณีแห่ต้นผึ้งที่บ้านน้อยซุ้มขี้เหล็ก อ.เนินมะปราง ได้จัดขึ้นทุกปีในช่วงเทศกาลออกพรรษา โดยนำไม้ไผ่ 2 ลำ มาตัดทำเป็นฐานสำหรับยึดโครง จากนั้นนำไม้ไผ่มาเหลาเป็นเส้น สำหรับทำโครงต้นผึ้ง เมื่อทำโครงปราสาทผึ้งด้วยไม้ไผ่เสร็จ นำใบตองมาหุ้มล้อมและนำกาบกล้วยมาผ่าเป็นเส้นแล้วนำมาสานให้รอบต้นผึ้ง จากนั้นก็ทำดอกผึ้ง ด้วยการต้มน้ำในกระทะจนร้อนนำเทียนขี้ผึ้งใส่ในขันน้ำอลูมิเนียมในกระทะที่มีน้ำร้อนรอจนเทียนละลายเป็นของเหลว นำมะละกอขนาดเล็กพอเหมาะมาปอกเปลือกเอาส่วนท้ายของลูกมะละกอแล้วจุ่มลงในเทียนขี้ผึ้ง แล้วนำไปจุ่มลงในน้ำเย็น ซึ่งจะได้เป็นดอกผึ้ง นำดอกผึ้งที่ได้ไปประดับตกแต่งเสียบด้วยเกสรที่ทำจากดอกบานไม่รู้โรยไปประดับตกแต่งปราสาทผึ้ง


จากนั้นก็มีการตั้งขบวนโดยมีนางรำ มาร่ายรำรอบต้นผึ้งเพื่อเป็นการบูชา ก่อนที่จะตั้งขบวนแห่จากกลางหมู่บ้าน มุ่งหน้าไปยังวัดสว่างศรีบุญเรือน โดยตลอดระยะการแห่จะใช้ชายหนุ่มที่แข็งแรงไม่น้อยกว่า 20 คน ทำการแบกต้นผึ้งแห่ไปในขบวนที่มีการร้องรำทำเพลงกันอย่างสนุกสนาน จนถึงวัดก็ทำพิธีถวายให้กับทางวัดเป็นอันเสร็จพิธี และเป็นการบอกว่าสิ้นสุดวันออกพรรษาอย่างแท้จริง

สำหรับประเพณีการแห่ต้นผึ้งนิยมทำกันมาแต่โบราณ ด้วยเหตุผล เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่บรรพบุรุษผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว เพื่อตั้งความปรารถนาไว้หากเกิดในภพมนุษย์ขอให้มีปราสาทราชมณเฑียรอาศัยอยู่ด้วยความมั่งมีศรีสุข ถ้าเกิดในสวรรค์ขอ ให้มีปราสาทอันสวยงาม มีนางฟ้าแวดล้อมเป็นบริวารจำนวนมาก เพื่อรวมพลังสามัคคีทำบุญทำกุศลร่วมกัน พบประ สนทนากันฉันท์พี่น้อง และเพื่อเป็นการประกาศหลักศีลธรรม ทางบุญทาง กุศลให้ปรากฏโดยชาวจะร่วมกันบริจาคเงินตามศรัทธาพร้อมกัน ทำต้นผึ้ง โดยกำหนดเอาวันเทศกาลออกพรรษาเป็นวันจัดงาน




การทำดอกผึ้ง

การตั้งขบวนโดยมีนางรำ มาร่ายรำรอบต้นผึ้งเพื่อเป็นการบูชา

ทำการแบกต้นผึ้งแห่ไปในขบวนที่มีการร้องรำทำเพลงกัน