ศิลปวัฒนธรรมประเพณี

ตำบลบ้านกระแชง

ศิลปะ/วัฒนธรรม/ประเพณีตำบลบ้านกระแชง

ประเพณีลำพาข้าวสาร

ลำพาข้าวสาร เป็นประเพณีของชาวจังหวัดปทุมธานี ที่มีมานานตั้งแต่ต้นรัชกาลที่ ๓ คือพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งชาวปทุมธานีได้กระทำกันมาทุกปี

จุดเริ่มต้นเกิดขึ้นที่วัดแจ้ง ตำบลสามโคก อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี ซึ่งในปีพุทธศักราช ๒๓๑๐ กรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่า เจ้าจอมมารดาน้อยระนาด เป็นธิดาเจ้าสัวสุ่น เป็นคนอยุธยา ได้ลงเรือหนีกองทัพพม่ามากับพรรคพวก ล่องลงมาตามลำแม่น้ำเจ้าพระยาในตอนค่ำคืน มาสว่างที่ตำบลสามโคก ตรงกับวัดแจ้งเวลานี้ และได้แวะเข้าพักผ่อนที่นั้น เล่ากันได้เจอดินกลายเป็นทองที่ตรงวัดแจ้ง จึงตั้งใจได้ว่า เมื่อตั้งหลักฐานมั่นคงแล้วจะมาสร้างวัดที่นี่ ครั้งหยุดพักหุงหาอาหารรับประทานกันแล้ว ก็ออกเรือไปยังกรุงธนบุรี เจ้าน้อยระนาดตีระนาดเก่งมาก ต่อมาได้เป็นเจ้าจอมของพระบาทสมเด็จพระราชโอรส ซึ่งเกิดในเจ้าจอมมารดาน้อยระนาด คือ พระองค์เจ้าชายกลาง ประสูติวันเสาร์ แรม๑๒ ค่ำ เดือน ๓ ปีฉลู ตรงกับวันที่ ๑๕กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๓๔๘ ต่อมาในรัชกาลที่ ๔ พระองค์ชายกลางได้ทรงกรมเป็นที่กรมหลวงเทเวศร์วัชรินทร์ และในรัชกาลที่ ๕ ได้เลื่อนเป็นกรมพระเทเวศร์วัชรินทร์ ทรงกำกับกรมช่างของในรัชกาลที่ ๓ ต่อมาในรัชกาลที่ ๔ ได้ทรงว่าความศาลราชตระกูลตลอดมาจนสิ้นพระชนม์ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๙ พระชนมายุ ๗๓ พรรษา ทรงเป็นต้นสกุลวัชรีวงศ์ เข้าใจว่าสกุลนี้จะมาสร้างวัดแจ้ง

กรมพระเทเวศร์วัชรินทร์ มีบุตรชาย คือพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าวัชรีวงศ์ (พระองค์เจ้าขาว) ได้มาบุรณวัดแจ้งทุกปี และพระองค์เป็นผู้ริเริ่มให้มีการลำพาข้าวสารขึ้น เพื่อนำไปถวายพระให้เป็นทุนในการปฏิสังขรณ์วัดต่อไป

ต่อมา ม.ร.ว. หญิงกระแสร์ วัชรีวงศ์ ซึ่งเป็นพี่สาวของหลวงราชพงษ์ ภักดี เลียมวัชรีวงศ์ ซึ่งเป็นบุตรของพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าวัชรีวงศ์ พระองค์เจ้าขาว เห็นว่าปีใดไม่มีใครมาทอดกฐินที่วัดแจ้งท่านก็จะนำกฐินมาทอด และนำการละเล่นมาแสดงด้วย เช่น รีวิวและโขน เป็นที่สนุกครึกครื้นทุกครั้งที่ท่านมาทอดกฐิน หรือมีงานศพที่วัดแจ้งคราวใดก็จะนำโขนหลวงราชพงษ์มาแสดงให้ชาวบ้านชมเสนอโขนของท่านมีชื่อเสียง คนดูชอบกันมาก จนชาวบ้านเรียกว่าติดปากมาจนทุกวันนี้ว่า "โขนหลวงราชพงษ์”

ม.ร.ว. หญิงกระแสร์ วัชรีวงศ์ เกิดเมื่อวันที่ ๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๕๒ มรณะเมื่อ วันที่ ๔ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๒๒

หลวงราชพงษ์ ภักดี (เลี่ยม วัชรีวงศ์) เกิดเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๓ และ มรณะเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๓ ตั้งแต่ท่านสิ้นชีวิตแล้ว โขนหลวงราชพงษ์ก็หายสาบสูญไป ไม่มีใครนำมาแสดงให้ดูอีกเลย

พระครูอรรถสุนทร (สุวรรณ) เจ้าอาวาสวัดแจ้ง ได้เล่าให้ฟังว่า "หลวงปู่เทียน วัดโบสถ์ เมื่อตอนเป็นหนุ่มได้อยู่ในวังสวนกุหลาบเกิดมีความสัมพันธ์กับหญิงในวังเลยต้องหนีออกจากวังมาบวชไม่ยอมสึก” ม.ร.ว. หญิงกระแสร์ วัชรีวงศ์ เป็นผู้เล่าให้ท่านฟังอย่างนี้

เรื่องการลำพาข้าวสาร พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าวัชรีวงศ์ ฉะนั้นในการร้องเพลงลำพาข้าวสาร จึงเริ่มต้นด้วยชื่อของท่าน ซึ่งเป็นการแสดงความเคารวะต่อพระองค์ท่านเช่นนี้ต้นเพลงว่า "เจ้าขาวลาละลอกเอย..” เป็นต้น นาย ปทุม คงดี อยู่ตำบลกระแชง อำเภอสามโคก เล่าให้ฟังว่า "ในแถบปากเกร็ด นนทบุรี ได้นำประเพณีรำพาข้าวสารจากปทุมธานีไปใช้ด้วย แต่พวกปากเกร็ดเขา เรียกว่า ลำพาข้าวสารพระองค์เจ้าขาว”

การลำพาข้าวสาร จะเริ่มกระทำกันเมื่ออกพรรษาแล้วเพราะในระหว่างออกพรรษาชาวพุทธโดยทั่วไปจะนิยมทำการทอดกฐินและทอดผ้าป่าตามวัดต่างๆ ถ้าวัดใดยังไม่มีคนจองกฐินหรือยังไม่ได้ทอดกฐิน ชาวบ้านก็จะช่วยกันจัดกฐินไปทอด โดยจัดเป็นรูปกฐินสามัคคี คือให้ชาวบ้านรับเป็นเจ้าภาพทำบุญร่วมกัน ในการทอดกฐินแต่ละครั้งจะต้องลงทุนมาก ต้องมีข้าวของเงินทองที่จะนำไปทอด เพื่อทางวัดจะได้อาศัยข้าวของเงินทอง หรือจตุปัจจัยที่นำไปทอดถวายนี้ บำรุงและซ่อมแซมวัดต่อไปเป็นการสืบต่ออายุของพระพุทธศาสนาให้ถาวรต่อไปอีก

การที่จะจัดทอดกฐินสามัคคีนี้ ก็จะต้องออกเรี่ยไรหรือบอกบุญไปยังชาวบ้านโดยไม่ได้เจาะจงหรือกะเกณฑ์มากน้อยเท่าไร แล้วแต่จะให้ แต่การเรี่ยไรแบบนี้ผิดกับการเรี่ยไรวิธีอื่นๆ ที่มีการแจกซองหรือโฆษณาเที่ยวเดินอุ้มบาตรไปของเงินตามรถโดยสารตลอดปีที่ท่ารถรังสิต เพราะถือเป็นประเพณีแบบชาวบ้านไม่มีใครรังเกียจ มีการร้องเพลงทำนองเชิญชวนให้ทำบุญ ซึ่งเรียก การเรี่ยไรชนิดนี้ว่า "รำพาข้าวสาร”

วิธีรำพาข้าวสาร จะมีบุคคลคณะหนึ่งมีทั้งหญิงและชายประมาณ๒๐–๓๐คน มีทั้งคนแก่หนุ่มสาว ร่วมไปในคณะด้วย พอตกค่ำก็ลงเรือที่เตรียมไว้ จะเป็นเรือจ้างหรือเรือมาดหรือเรือที่ใช้บิณฑบาตก็ได้ ขอให้ลำใหญ่ๆ จุคนได้มากๆ ก็แล้วกัน ทุกคนจะเตรียมพายไปคนละอันเพื่อจะได้ช่วยกันพายเรือ ในเรือจะมีกระบุง กระสอบสำหรับใส่ข้าวสาร และจัดให้คนแก่คนหนึ่งนุ่งขาวห่มขาว นั่งกลางลำเรือเป็นประธานไม่ต้องทำอะไร ส่วนคนอื่นๆ การแต่งตัวก็ตามสบาย เพราะกลางคืนไม่มีใครเห็น แต่บางคณะที่แต่งกายเหมือนกันดูสวยงามก็มีแล้วแต่ละตกลงกันทุกคนจะนั่งริมกาบเรือเพื่อช่วยกันพาย และมีคนคัดท้ายหรือที่เรียกว่า "ถือท้ายเรือ” หนึ่งคน เขาจะพายพร้อมๆ กัน เหมือนกับแข่งเรือ จุดมุ่งหมายที่จะไปก็คือ ตามบ้านทั่วไปที่เรือจอดถึงหัวบันไดบ้านได้

พอเรือจอดที่หัวบันไดหน้าบ้าน ก็จะร้องเพลง โดยมีต้นเสียงหรือแม่เพลงขึ้นนำว่า"เจ้าขาวลาวระลอกเอย มาหอมดอกดอกเอ๋ยลำใย แม่เจ้าประคุณที่เอาส่วนบุญมาให้” แล้วทุกคนก็ร้องรับพร้อมๆ กันว่า "เอ่ เอ เอ้ หล่า เอ่ หล่า ขาว เอย” แล้วก็ร้องเรื่อยไป การร้องเป็นทำนองเชิญชวนให้ทำบุญร่วมกันร้องเรื่อยไปจะเป็นดอกอะไรก็ได้ ร้องจนกว่าเจ้าของบ้านจะตื่น เมื่อเจ้าของบ้านได้ ยินเสียงเพลง ก็รู้ได้ทันทีว่ามาเรี่ยไรข้าวสาร เพื่อจะนำไปทอดกฐิน เขาก็จะรีบเอาขันตักข้าวสารลงมาให้ที่เรือแล้วยกเมื่อไหว้เป็นการอนุโมทนาด้วย เมื่อคณะลำพาข้าวสารได้รับบริจาคแล้ว ก็จะให้ศีลให้พรเป็นเพลงให้เจ้าของบ้านอยู่เย็นเป็นสุข ให้ทำมาค้าขึ้น นึกเงินให้ได้เงินไหลมากอง ถ้าจะนึกไดทองให้ทองไหลมา อะไรทำนองนั้น ดังเนื้อเพลงมีว่า "ทำบุญกับพี่แล้วเอยขอให้ทรามเชยมีความสุข นึกถึงเงินให้เงินมากอง นึกถึงทองให้ทองไหลมา เอ่ เอ เอ้ หล่า เอ่ หล่า ขาว เอย” ครั้น ร้องเพลงให้พรเสร็จแล้วคณะลำพาข้าวสารก็จะพายเรือไปแวะบ้านอื่นต่อๆ ไป

การลำพาข้าวสาร จะเริ่มตั้งแต่ ๑ ทุ่ม ไปจนกระทั่ง ๒ ทุ่ม เที่ยงคืนจึงจะเลิกพากันกลับบ้าน แล้วในคืนต่อไปคณะรำพาข้าวสารก็จะไปรำพาในที่อื่นตำบลอื่นอีกจนกว่าจะเห็นว่าข้าวของที่ได้มากพอที่จะทอดกฐินแล้วจึงจะยุติ

ประเพณีการรำพาข้าวสารของชาวจังหวัดปทุมธานี ได้เลิกมาประมาณ ๓ ปีกว่าแล้ว เพราะได้มีพวกมิจฉาชีพหากินโดยไม่สุจริต ปลอมตัวเป็นคณะลำพาข้าวสารออกจี้ปล้นชาวบ้าน ทำให้ชาวบ้านเดือดร้อนหวาดกลัว พอได้ยินเพลงลำพาข้าวสารเข้าก็ขวัญหนีดีฝ่อปิดประตูลงกลอนเงียบไม่ยอมออกมาเพราะกลัวพวกคนร้ายจะปลอมตัวมาจี้ปล้นเอา ต่อมาการลำพาข้าวสาร ซึ่งเป็นประเพณีของคนดีที่บริสุทธิ์หวังจะทำบุญ เพื่อต่ออายุพระพุทธศาสนา จึงต้องสิ้นสุดลงด้วยคนใจบาป หยาบช้าดังกล่าวแล้ว จะอย่างไรก็ตาม หากทางราชการก็ดี หรือทางโรงเรียนก็ดี ถ้าจะได้ช่วยกันฟื้นฟูประเพณีลำพาข้าวสาร ซึ่งเป็นประเพณีของเมืองปทุมธานีไว้ไม่ให้สูญ โดยจัดแสดงเป็นครั้งคราวในเทศกาลออกพรรษา หรือในงานเทศกาลต่างๆ ก็จะทำให้เด็กรุ่นหลังได้เห็นเป็นการรักษามรดกของชาติสืบต่อไป

แหล่งที่มา : สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดปทุมธานี . [ออนไลน์]

https://www.m-culture.go.th/phatumthani/ewt_news.php?nid=1246&filename=index. (สืบค้นวันที่ 17 สิงหาคม 2565)

ภาพประกอบอ้างอิง : สำนักวิทยบริการฯ มรภ.วไลยอลงกรณ์ [ออนไลน์]. https://www.facebook.com/lib.vru.ac.th (สืบค้นวันที่ 17 สิงหาคม 2565)

กศน.ร่วมอนุรักษ์ “สไบมอญ” มรดกวัฒนธรรมชุมชนมอญ

หากใครมีโอกาสเข้าร่วมชมประเพณีชาวมอญ มักเห็นการแต่งกายที่เป็นเอกลักษณ์ของชาวมอญที่นิยมห่มสไบ ทั้งชายและหญิง หลายคนอาจสงสัยว่า ทำไมสไบมอญจึงนิยมปักลวดลายทั้งผืนในเมื่อใช้งานเพียงด้านเดียว เหตุผลสำคัญที่ต้องปักลวดลายทั้งผืนนั้น เนื่องจากผ้าสไบต้องใช้ในงานพิธีต่างๆ เช่น งานแต่งงาน แม่ฝ่ายหญิงจะคลี่ผ้าสไบห่มไหล่ในขั้นตอนรับขันหมาก จึงเป็นเหตุผลของการปักสไบลวดลายทั้งผืน เพราะเมื่อคลี่ออกจะเห็นลวดลายที่สวยงามนั่นเอง

ชาวมอญยกย่อง “สไบ” เป็นของสูง นิยมใช้สไบในงานพิธีกรรมและประเพณีต่างๆ และใช้สไบแสดงอัตลักษณ์ร่วมของชาวมอญทั้งชายและหญิง เมื่อเห็นคนมอญพาดสไบรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะมาจากชุมชนไหนๆ ก็รู้ได้ทันทีว่าเป็นคนมอญเหมือนกัน นับเป็นพี่น้องกัน ผู้หญิงมอญจะขาดสไบเสียมิได้ โดยมีคำนายโบราณ “แม่งเจน” ที่กล่าวถึงเหตุแห่งการถ่มสลายของชาติมอญ 1 ใน 10 ประการ นั่นคือ “หญิงมอญจะละทิ้งสไบ” สะท้อนความสำคัญสไบต่อการมีอยู่ของชาติมอญมาแต่โบราณ จนถึงปัจจุบัน หากใครไปวัดแล้วไม่นำสไบติดตัวไป จะรู้สึกอับอาย

สไบมอญ สินค้าพรีเมี่ยม กศน.ปทุมธานี รูปแบบการคล้องผ้า สไบมอญ สาวมอญนิยมคล้องสไบ 2 รูปแบบ คือ 1. นำคล้องสไบให้ชายของผ้าทั้งสองห้อยมาด้านหน้า ในเทศกาลงานรื่นเริงต่างๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางพระพุทธศาสนา เช่น ขบวนแห่หางหงส์ธงตะขาบ ในเทศกาลสงกรานต์ หรืองานมงคลต่างๆ การพาดผ้าสไบแบบนี้เป็นลักษณะการใช้ผ้าสไบเฉพาะของผู้หญิงเท่านั้น ผ้าสไบที่ใช้มีทั้งแบบที่เป็นผ้าแพรเรียบ ผ้าสไบจีบ ผ้าสไบไหมพรมถัก ผ้าสไบลูกไม้ และผ้าสไบปัก 2. สาวมอญยังนิยมคล้องผ้าแบบสไบเฉียง เป็นการพาดผ้าจากไหล่ซ้าย อ้อมใต้รักแร้ขวา แล้วเอาปลายทับบนไหล่ซ้ายอีกครั้ง การพาดผ้าสไบแบบนี้เป็นแบบแผนการไปงานบุญออกวัด หรือประกอบกิจกรรมทางพุทธศาสนาที่ต้องมีพิธีสงฆ์เข้ามาเกี่ยวข้อง (การพาดผ้าในลักษณะนี้ผู้ชายก็สามารถพาดได้) ส่วนหนุ่มชาวมอญ นิยมคล้องสไบ 2 รูปแบบ คือ 1. พาดผ้าปล่อยชาย 2 ข้าง พาดไว้ด้านหลัง เป็นการใช้สไบของผู้ชายมอญในเทศกาลงานรื่นเริง 2. พาดไหล่ด้านซ้าย เป็นการพาดผ้าสไบบนไหล่ซ้ายแล้วทิ้งชายทั้งสองข้าง มักพบในช่วงที่มีการร่ายรำ เพื่อเซ่นสรวง หรือบูชา

ความสำคัญของสไบในวิถีชีวิตชาวมอญ 1. ใช้เป็นเครื่องนุ่งห่มประกอบการ ทำกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับพิธีกรรมทางพุทธศาสนา คนมอญโดยทั่วไปเมื่อต้องเข้าวัด หรือประกอบพิธีกรรมทางศาสนา จำเป็นต้องมีการห่มผ้าสไบเฉียงติดตัวไปด้วย 2. ใช้เป็นเครื่องประดับตกแต่งในงานประเพณี คนมอญเป็นกลุ่มวัฒนธรรมที่มีประเพณี พิธีกรรมมากมาย โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งเป็นเทศกาลที่คนมอญให้ความสำคัญอย่างมาก มีการทำบุญตักบาตร มีการแห่หงส์ธงตะขาบในทุกชุมชนมอญ กิจกรรมอีกอย่างที่เป็นประเพณีปฏิบัติของกลุ่มคนมอญ คือการจัดงานระลึกบรรพชนมอญ ตรงกับวันแรม 1 ค่ำ เดือน 3 แต่มักจะจัดขึ้นวันเสาร์ – อาทิตย์ ในช่วงนั้น ซึ่งจะอยู่ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี ในการมาร่วมประเพณีพิธีกรรมต่างๆ คนมอญจะมีการแต่งกายด้วยเสื้อผ้าสีสันสดใส และสิ่งที่ขาดไม่ได้คือสไบ ในการคล้องผ้าสไบจะมีการคล้องแบบคล้องคอชายของผ้าทั้งสองห้อยมาด้านหน้า 3. ใช้เป็นสัญลักษณ์ในการประกอบพิธีที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อเรื่องผีบรรพบุรุษตามความเชื่อเรื่อง ผีมอญ ชาวมอญแต่ละบ้านจะมีห่อผ้าผีมอญวางไว้บนเรือนตรงเสาเอก 1 ใบ ภายในบรรจุผ้าโสร่ง ผ้าขาวม้า ผ้าแดง ผ้าขาว อย่างละผืน แหวนทองคำหัวพลอยแดง และหม้อดิน 1 ใบ ในหม้อใส่ข้าวเหนียว เงิน และข้าวตอกดอกไม้ เพื่อเป็นสัญลักษณ์แทนวิญญาณ หรือผีของบรรพบุรุษที่คอยปกปักดูแลลูกหลานบางบ้าน มีผ้าสไบเป็นส่วนหนึ่งของสมบัติผี รวมอยู่ด้วย 4. ใช้เป็นสัญลักษณ์แสดงอัตลักษณ์ความเป็นกลุ่มชาติพันธุ์มอญในปัจจุบัน กระแสการแสดงออกทางกลุ่มชาติพันธุ์มีมากยิ่งขึ้น การสะท้อนให้เห็นถึงอัตลักษณ์เฉพาะของแต่ละชาติพันธุ์เป็นเรื่องสำคัญขึ้นมา กลุ่มชาติพันธุ์มอญได้มีการดำรงไว้ซึ่งประเพณี พิธีกรรม และศิลปวัฒนธรรมมาโดยตลอด

กศน.ร่วมอนุรักษ์วัฒนธรรมมอญ การปักผ้าสไบมอญเป็นการส่งเสริมงานหัตถกรรมด้านศิลปวัฒนธรรมให้กับชุมชนชาวมอญ ซึ่งส่วนใหญ่จะอาศัยอยู่ในอำเภอเมืองปทุมธานี อำเภอสามโคก และอำเภอลาดหลุมแก้ว ลวดลายของผ้าสไบมอญดั้งเดิมจะมี 3 ลาย คือ ลายโบราณ ลายดอกมะเขือ และลายดอกมะตาด ซึ่งสำนักงาน กศน.จังหวัดปทุมธานี โดย กศน.อำเภอเมืองปทุมธานี อำเภอสามโคก และอำเภอลาดหลุมแก้ว ได้ร่วมกันส่งเสริมอาชีพ โดยฝึกอบรมการทำผ้าสไบมอญให้กับประชาชนใน 3 อำเภอ โดยวิทยากร/ภูมิปัญญาที่มีความชำนาญการในการปักผ้าสไบมอญมาอย่างต่อเนื่อง

ต่อมาได้มีการพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์เพื่อให้เป็นไปตามยุคสมัย โดยเพิ่มลวดลายขึ้น คือ ลายดอกบัว เพื่อแสดงความเป็นอัตลักษณ์ของจังหวัดปทุมธานี ซึ่งได้รับพระราชทานชื่อเมือง สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เสด็จประพาสเมืองสามโคกทางชลมารคไปทรงเยี่ยมพสกนิกรชาวไทยและชาวมอญ เมื่อปี พ.ศ. 2358 พระองค์ประทับ ณ พลับพลาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เยื้องกับเมืองสามโคก ขณะนั้นเป็นช่วงฤดูน้ำมาก จึงมีดอกบัวบานสะพรั่ง ชาวเมืองสามโคกที่มาเฝ้ารับเสด็จต่างก็นำดอกบัวขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย พระองค์ทรงเห็นว่าเมืองนี้มีดอกบัวมาก จึงพระราชทานชื่อเมืองให้ใหม่ว่า “ประทุมธานี”

ต่อมา ปี พ.ศ. 2459 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนการเขียนเป็น “ปทุมธานี” ซึ่งยังคงความหมายเดิม คือเมืองแห่งดอกบัว การปักผ้าสไบมอญในปัจจุบันจึงนิยมปักลายดอกบัวบนผ้าสไบมอญ เพื่อเป็นอัตลักษณ์ว่า ผ้าสไบมอญผืนที่ใช้อยู่นั้นทำจากปทุมธานี “เมืองดอกบัว”

ปัจจุบัน สำนักงาน กศน.จังหวัดปทุมธานี ได้เข้าไปส่งเสริมอบรมอาชีพการทำสไบนางให้แก่ประชาชนที่สนใจได้นำไปประกอบอาชีพ โดยสินค้าสไบมอญ มีราคาขายเริ่มตั้งแต่ 800 บาทขึ้นไป ขึ้นอยู่กับชนิดของผ้าและลวดลาย ผู้สนใจ สามารถติดต่อสั่งซื้อสินค้าได้ในช่องทางต่างๆ เช่น 1. วิสาหกิจชุมชนเทศบาลตำบลบางหลวง อำเภอเมืองปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี โทร. (090) 886-6945 2. กลุ่มสัมมาชีพ หมู่ที่ 7 ตำบลคูบางหลวง อำเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี โทร. (083) 884-9747 3. ชุมชนมอญสามโคก ชุมชนศาลาแดง อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี โทร. (02) 593-4504 Page : ศูนย์จำหน่ายสินค้าและผลิตภัณฑ์ออนไลน์ กศน.อำเภอสามโคก

ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบข่าว จาก กระทรวงศึกษาธิการ และ สำนักงาน กศน.จังหวัดปทุมธานี

แหล่งที่มา : กระทรวงศึกษาธิการ และ สำนักงาน กศน.จังหวัดปทุมธานี . เรื่องเล่า กศน. [ออนไลน์] https://www.technologychaoban.com/folkways/article_187945 เผยแพร่วันศุกร์ที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ.2564

ภาพประกอบอ้างอิง : กศน.ตำบลบ้านกระแชง (เผยแพร่รูปภาพประกอบ วันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2565)