“ ประเพณีเลี้ยงบ้าน เลี้ยงปู่ ”

ประเภทวัฒนธรรมประเพณี ด้านค่านิยม ประเพณี ความเชื่อ

ตำบลบ้านดง มีขนมธรรมเนียมประเพณีที่สืบทอดและถือปฏิบัติกันมาตั้งแต่โบราณ คือ ประเพณีเลี้ยงบ้าน เลี้ยงปู่ เป็นเรื่องความเชื่อของชาวบ้านที่สืบทอดกันมาตั้งแต่ในอดีต เชื่อในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เทพยดา ผีบรรพบุรุษของชุมชน (บ้าน) เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ให้ความคุ้มครองดูแลรักษาบ้านให้ปลอดภัย ร่มเย็น หากไม่เลี้ยงบ้านจะเกิดภัยพิบัติ ซึ่งเป็นพิธีกรรมที่เปรียบเหมือนเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจของคนในหมู่บ้านชุมชน

ประเพณีเลี้ยงบ้าน เลี้ยงปู่ จะจัดขึ้น ณ ลานศาลปู่ประจำหมู่บ้าน การเลี้ยงบ้าน เลี้ยงปู่ จะมีขึ้นในเดือนกรกฎาคมของทุกปี ผู้นำชุมชนและผู้นำทางด้านจิตวิญญาณหรือผู้ที่เป็นตัวแทนของร่างทรงปู่จะช่วยกันหารือเพื่อกำหนดวันในการจัดพิธีเลี้ยงศาลปู่ โดยจะไม่กำหนดวันทำพิธีให้ตรงกับในช่วงขึ้น 8 ค่ำ หรือ 15 ค่ำ

ในวันที่ประกอบพิธีเลี้ยงบ้าน เลี้ยงศาลปู่ ชาวบ้านก็จะเตรียมเครื่องไหว้ศาลปู่ ได้แก่ พืชพันธุ์ธัญญาหาร ข้าวโพด ข้าวต้มมัด ผลไม้ ไก่ หัวหมู เหล้า บุหรี่ และอาหารหวานคาวต่างๆ มาถวายเพื่อให้ปู่ประจำหมู่บ้านช่วยปกปักรักษา คุ้มครอง ตนเอง ลูกหลานของตนเองและเพื่อเป็นการบนหรือแก้บนในสิ่งที่ชาวบ้านได้ตั้งคำอธิฐานไว้ และยังเป็นการแสดงความรัก ความกตัญญู ความผูกพันของชาวบ้านต่อบรรพบุรุษเป็นการส่งเสริมให้ชุมชนเกิดความสามัคคีซึ่งนำมาสู่ความมั่นคงของชุมชน

ประเพณีเลี้ยงบ้าน เลี้ยงปู่ ถือว่าเป็นการร่วมสืบทอดประเพณีทางความเชื่อที่ดีงามของตำบลบ้านดง ซึ่งในปัจจุบันยังมีชาวบ้านส่วนใหญ่ในพื้นที่ตำบลบ้านดง ได้แก่ บ้านดง บ้านนาซาน บ้านห้วยน้ำปลา บ้านนาหล่ม บ้านเนินทอง บ้านนาตาจูม บ้านเนินพะยอม บ้านท่าสวนยา บ้านน้ำทองน้อย บ้านห้วยน้ำอุ่น บ้านชุมแสง บ้านห้วยน้ำเย็น บ้านตีนตก บ้านใหม่เจริญทรัพย์ บ้านเนินสุวรรณ และบ้านเนินต้อง ที่ยังทำการสืบทอดประเพณีพิธีกรรมทางความเชื่อดังกล่าวไว้ให้คนรุ่นหลังๆได้รู้จักและช่วยสืบสานต่อไปในอนาคต

ผู้ให้ข้อมูล นายรณชัย สุขคำภา

ผู้เขียน/ผู้เรียบเรียง นางสาวสุภาพร แต่งเนตร ครู กศน.ตำบล

ผู้ถ่ายภาพ นางสาวสุภาพร แต่งเนตร ครู กศน.ตำบล