ภูมิปัญญาท้องถิ่นเรื่องผ้าทอโบราณ โดย นางจำปี ธรรมศิริ


ภูมิปัญญาท้องถิ่น

เรื่องผ้าทอโบราณ โดย นางจำปี ธรรมศิริ

ชื่อ-นามสกุล นางจำปี ธรรมศิริ

ที่อยู่ปัจจุบัน บ้านเลขที่ 10/1 หมู่ที่ 3 ตำบลบ้านบึง อำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี รหัสไปรษณีย์ 61140

โทรศัพท์ 089-8391446


พิพิธภัณฑ์ผ้าไท-ลาวโบราณ (ลาวครั่ง)

นางจำปี ธรรมศิริ หรือเป็นที่รู้จักของคนทั่วไปว่า “ป้าจำปี” ซึ่งเป็นผู้สืบทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นผ้าทอโบราณ ลาวครั่งเป็นผู้ที่สืบทอดและเก็บรวบรวมผ้าทอโบราณที่เป็นของบรรพบุรุษ ไว้ได้อย่างสมบูรณ์โดยไม่ต้องใช้ตำรา ไม่ต้องเรียนในโรงเรียน ป้าทอผ้า ตั้งแต่อายุสิบกว่า แต่ทอเป็นผ้าธรรมดา เพราะว่าป้าเป็นเด็กยากจน ต้องทำให้ป้าใช้ น้องใช้ แต่ก่อน วัน ๆ ต้องปั่นฝ้ายเอง อิ่วเอง ดีดเอง แม่ก็ต้องทำไร่สมัยโบราณ ป้าต้องอยู่กับน้อง ...เขาบอกว่าป้าเป็นลาวครั่ง ป้าคิดว่าป้า แล้วแต่ฉายาให้ มองตัวเองเป็นลาวครั่ง ว่าจะใช่หรือ โดยดูจากลายผ้า ดูจากตระกูลย่ายาย ป้าจำปีเป็นรุ่นที่สาม รุ่นที่หนึ่งยายเกี้ยง รุ่นที่สองย่าป็อกผู้ฝึกสอนป้าจำปี แล้วรุ่นที่สาม ป้าจำปี แล้วรุ่นที่สี่ป้ากำลังถ่ายทอดตรงนี้ จำปี ธรรมศิริ บอกเล่าถึงประวัติส่วนตัว คุณยายถ่ายทอดประสบการณ์เมื่อเยาว์วัย ในการเริ่มต้นเรียนรู้การทอผ้าแบบดั้งเดิมของชาวลาวครั่ง ในช่วงราว พ.ศ. 2509-2514 เป็นช่วงเวลาที่ป้าจำปีต้องอาศัยอยู่กับ “ย่าป็อก” ผู้ถ่ายทอดวิชาการทอผ้าให้ โดยทำงานบ้านและทำอาหารให้กับครอบครัวของย่าป็อกเป็นการตอบแทน เรื่องราวของการเริ่มต้นเรียนรู้การทำผ้ามีความสัมพันธ์กับที่มาของสิ่งจัดแสดงภายในพิพิธภัณฑ์ผ้าไท-ลาวโบราณ ป้าจำปีกล่าวถึง “มรดก” ที่ได้รับมาจากย่าป็อก แซงผ้า หรือเศษผ้าที่มีการปักลายต้นแบบ “มีคนมาขอซื้อลายแซงเหมือนกัน แต่ขายไม่ได้ เพราะเป็นสมบัติของย่ายาย ...ป้าก็ชอบด้วย เป็นการเรียนกุญแจลาย นั่นหมายถึงการทำลวดลายโดยไม่ต้องใช้ตะกรอลอย แต่เป็นลายที่ผนึกเข้าสมอง ทำเป็นร้อย ๆ ลาย แต่สลับเปลี่ยนสี” ป้าจำปีกล่าวถึงชิ้นผ้าที่เป็นเสมือนบันทึกลวดลายต่าง ๆ ให้กับป้าใช้ในการทอผ้าได้หลากหลาย สำหรับไว้ทำมาหากินตลอดหลายสิบปี

แรกก่อตั้งพิพิธภัณฑ์

บุคคลสำคัญที่มีบทบาทในการผลักดันให้เกิดพิพิธภัณฑ์ผ้าไท-ลาวโบราณแห่งนี้ เป็นนักวิชาการจากภายนอกที่เข้ามาศึกษาวัฒนธรรมในชุมชน และมีโอกาสเห็นมรดกแซงผ้าและผลงานผ้าทอของป้าจำปี จนสามารถก่อตั้งเป็น เรือนผ้าย่ายาย เมื่อ พ.ศ. 2536 อาจารย์สิทธิชัย สมานชัย เป็นบุคคลที่ป้าจำปีกล่าวถึง “อาจารย์เข้ามาดูผ้าเหล่านี้ที่เคยเก็บไว้เฉย ๆ เมื่อนำมาคลี่ดู เห็นมีขี้มอดขึ้นอยู่ตามชิ้นผ้า อาจารย์จึงให้ความเห็นว่าควรจัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์ เพื่อให้คนดูเห็นถึงงานฝีมือสำคัญในพื้นที่” ในระยะนั้น ใช้เรือนใต้ถุนสูงที่เป็นบ้านพักของตนเองเป็นส่วนจัดแสดง และใช้ต้อนรับนักศึกษาและผู้ที่สนใจวัฒนธรรมท้องถิ่น แต่เมื่อ พ.ศ. 2548 สามีของป้าจำปีเสียชีวิต ป้าจำปีจึงตัดสินใจปิดเรือนผ้าย่ายายไประยะหนึ่ง และย้ายไปพักกับลูกที่จังหวัดกระบี่เป็นการชั่วคราว การกลับมาเปิดพิพิธภัณฑ์เนื่องจากได้รับการเสนอชื่อให้เข้ารับรางวัลอาเซียน พ.ศ. 2558 ในเวลานั้นอาจารย์ธีรพันธุ์ เหลืองทองคำ ทำวิจัยผ้าทอลายมือทั่วประเทศ และบันทึกภาพผ้าทอ ในการจัดทำหนังสือเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนฯ นับเป็นโอกาสในการย้ายผ้าจากเรือนใต้ถุน มายังอาคารหลังใหม่ที่เป็นอาคารชั้นเดียว โดยเป็นทั้งโรงทอผ้าและสถานที่ในการจัดแสดงแซงผ้าและผลงานผ้าทอ หรือ พิพิธภัณฑ์ผ้าโบราณไท-ลาว

ภายในโรงทอผ้าและพิพิธภัณฑ์

อาคารพิพิธภัณฑ์หลังปัจจุบันมีการแบ่งพื้นที่ใช้งานที่หลากหลาย ส่วนหน้าสุดเป็นตำแหน่งกี่ทอผ้าที่ป้าจำปีและลูกสะใภ้ใช้ทอผ้า ภายในบริเวณนี้ ปรากฏการตกแต่งผนังด้วยแซงผ้าและอุปกรณ์ในการทอผ้า ส่วนที่สองเป็นบริเวณกี่ทอผ้าสำหรับเด็กและเยาวชนจากสถานศึกษาในพื้นที่มาเรียนรู้การทอผ้า ในส่วนสุดท้ายเป็นบริเวณจัดแสดงผลงานผ้าทอของผ้าจำปี แซงผ้า รวมถึงเกียรติบัตรและชุดปริญญากิตติมศักดิ์ ป้าจำปีกล่าวถึงกิจกรรมการถ่ายทอดความรู้ให้กับเด็กรุ่นใหม่ ให้เด็กมาทออย่างเดียว มาจากโรงเรียนหน้าฝายฯ โรงเรียนส่งเด็กมาเรียนกับเรา ...อย่างลายอ้อแอ้ นั่นหมายถึงเส้นทางสมัยโบราณ ลายคดเคี้ยว เราก็สอนให้เด็กจำเหมือนกุญแจลาย อันนี้เราไม่ได้คิดค่าใช้จ่าย เราสอนให้กับคนนอกที่สนใจเรียนเช่นกัน คนยินดีจะจ่ายเงิน เราสอนให้รู้จักแก้ปัญหาเฉพาะหน้า มีทั้ง “ข่ม ฆ่า แพ้” ข่มไว้เฉพาะจุด ไม่ให้เสียหายไปทางอื่น แล้วก็มีสมาธิอย่างมีสติ แยกหู แยกตา แยกใจ เหมือนงานฝังลูกนิมิต ยิ่งทำผิดเราจะแก้ปัญหาอย่างไร ฝีมือผ้าทอของป้าจำปีจึงได้รับการกล่าวขาน และเหมาะสมการยกย่องให้เป็นครูศิลป์ของแผ่นดินประเภทเครื่องทอ (ผ้าทอลาวครั่ง) พ.ศ. 2560 ประกาศโดยศูนย์ศิลปาชีพระหว่างประเทศ(องค์การมหาชน) ผ้าทอสำเร็จที่อวดลวดลายอยู่กลางห้องสุดท้าย ยิ่งทำให้เห็นถึงความอุตสาหะและความแม่นยำในการทักถอด้ายแต่ละเส้นให้เป็นลวดลายและเป็นผืน หนึ่งในจำนวนนั้น ป้าจำปีถักทอบทกลอนของเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ที่เคยเขียนบอกเล่าชีวิตและวิญญาณของศิลปินผืนบ้านผู้นี้ไว้เป็นอย่างดี ผ้าทออีกส่วนหนึ่งเป็นบทบันทึกประสบการณ์ส่วนตัว ป้าจำปีชี้ให้เห็นผ้าทอที่จัดแสดงบนผนัง ชี้ชวนให้เห็นภาพวิวทะเลที่ตนเองเคยมีโอกาสไปใช้ชีวิตสั้น ๆ กับลูกหลานในจังหวัดกระบี่ ในระยะที่สามีเสียชีวิต “นี่เป็นเขาขนาบน้ำ จังหวัดกระบี่ ทะเลเป็นคลื่นเล็ก ส่วนนี่เป็นเกาะบอดะ ทะเลเป็นคลื่นใหญ่ คลื่นเล็กเราใช้ลายอ้อแอ้เล็ก เราต้องทำให้สมองของเราทำงานก่อนแล้วจึงถักทอมาเป็นเรื่องราว อย่างป่าโกงกางตรงนี้ใช้ลายง้างมูก ตอนนั้นเราอยู่ที่เขาขนาบน้ำเห็นภูเขาใหญ่ขนาบทะเล เราก็ถ่ายทอดออกมา” ป้าจำปีอธิบายการสร้างสรรค์ลายบนผืนผ้าทออย่างคล่องแคล้ว โดยชี้ให้เห็นว่าการทอผ้าเป็นเสมือนการบันทึกเรื่องราวชีวิตของตนเองลงบนผืนผ้า แทนการวาดภาพหรือถ่ายภาพ ปัจจุบันนี้ ป้าจำปีได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานภาพนอกหลายหน่วยงาน ในการสื่อสารและประชาสัมพันธ์ให้ผ้าของป้าจำปีเป็นที่รู้จัก โดยเฉพาะการกำหนดให้พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ อยู่ในเส้นทางการเรียนรู้วิถีวัฒนธรรมชุมชนหัตถกรรมทอผ้าลาวครั่งบ้านนาตาโพ ผู้มาเยือนจึงมาเรียนรู้ชีวิตของช่างทอผ้า และชมความงดงามของฝีมือที่ใช้ทั้งแรงใจและแรงใจบรรจงสร้างเป็นลวดลายอย่างงดงาม

สัญญาใจที่ป้าจำปี ธรรมศิริ ตั้งปณิธานไว้กับตัวเอง ว่านอกจากการอนุรักษ์เก็บรักษาแล้ว ป้าจำปีจะพัฒนาลายผ้าทอโบราณต่อไป โดยการสร้างสรรค์ลวดลายใหม่ๆ และอัพสกิลไปถึงขั้น “คิดลายไป ทอไป” เหมือนวลีโรแมนติกที่มีคนคิดให้ป้าว่าเป็นวิธีการแบบ “สมองสั่งลาย หัวใจสั่งทอ” ทำให้ผ้าทอของป้าหลายชิ้น เป็นผ้าทอผืนเดียวในโลก ที่ไม่มีการเก็บลายไว้ทำซ้ำ เหมือนผ้าทอทั่วไป ผ้าทอของป้าจำปี เป็นผ้าทอเล่าเรื่อง โดยต้องทอกลับหลัง และส่วนที่เป็นตัวอักษรยังต้องทอกลับหัวและกลับด้าน ทุกวันนี้ป้าไม่สนใจที่จะทอผ้าขาย แต่การเปิดบ้านเป็นแหล่งเรียนรู้ เป็นพิพิธภัณฑ์ ให้กับเยาวชนในท้องถิ่นและผู้สนใจ คือความฝันของหญิงสูงวัยชาวบ้านไร่คนนี้

ป้าจำปี ธรรมศิริ ศิลปินเอกด้านการทอผ้า สืบสานมรดกทางภูมิปัญญาของลาวครั่งและลาวเวียง ผู้มีชื่อเสียงไกลระดับอาเซียนจากรางวัล ASEAN Selection 2016 รางวัลในงานสุดยอดอาเซียน เป็นหัวข้อที่ว่าด้วยการออกแบบผ้า โดยมีศิลปินหัตถกรรมสิ่งทอจากหลายประเทศ เช่น ญี่ปุ่น มาเลเซีย สิงคโปร์ ศิลปินแต่ละประเทศล้วนนำเอาผ้าทอวัฒนธรรมท้องถิ่นมาแสดงให้โลกเห็น ด้วยการทอผ้าที่มีอัตลักษณ์และสอดแทรกเรื่องราวต่างๆ ไว้บนผืนผ้า ป้าจำปี ธรรมศิริ ได้รับรางวัลที่ยิ่งใหญ่นี้ในปี 2016 การทอผ้าของป้าจำปีเป็นมรดกทางภูมิปัญญาที่ถ่ายทอดมาจากรุ่นย่ายาย ป้าจำปีสั่งสมวิชาไว้และถักทอผ้าซิ่นเอกลักษณ์ลาวครั่งออกมาได้อย่างวิจิตรงดงาม จนมีหลายคนยกย่องป้าว่าเป็นอัจฉริยะด้านการทอผ้า เหตุผลที่หลายคนยกย่องป้าเช่นนั้นเป็นเพราะเอกลักษณ์ประจำตัวของป้าจำปี คือการทอผ้าด้วยความรัก และออกแบบลายอิสระตามใจนึก โดยมีวลีเด็ดที่หลายคนยกย่องป้าว่า “สมองสั่งลาย หัวใจสั่งทอ”


ที่มา : https://db.sac.or.th/museum/museum-detail/1577