ตราสัญลักษณ์ประจำเทศบาลตำบลบ้านแหวน

สภาพทั่วไปและข้อมูลพื้นฐาน

คำขวัญประจำตำบลบ้านแหวน

“ ประเพณีเลิศล้ำ วัฒนธรรมงามเด่น

ประชาอยู่ร่มเย็น บ้านแหวนเน้นพัฒนา ”

ตำบล บ้านแหวน ” เดิมมีชื่อว่า บ้านหนองแหวนเพราะมีหนองน้ำแห่งหนึ่งในหมู่บ้าน หนองน้ำนี้ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของหมู่บ้าน มีความลึกและกว้างเป็นอย่างมาก เป็นที่อยู่อาศัยและที่ทำมาหากินของชาวบ้านและได้มีผู้นำหมู่บ้านซึ่งมีศักดิ์เป็นกำนันในสมัยปัจจุบัน ชื่อว่า“พญามโน” ได้ปกครองดูแลลูกบ้านซึ่งเป็นหมู่บ้านเล็กๆ มีอยู่ไม่กี่หลังคาเรือน ท่านพญามโนปกครองลูกบ้านด้วยคุณธรรม อยู่มาวันหนึ่ง แม่ปั๋น เป็นชาวบ้านในหมู่บ้านนี้ได้ออกหาปลาที่หนองน้ำแห่งนี้ตามปกติ และได้พบแหวนโบราณติดมากับสวิงหาปลา จึงนำแหวนวงนั้นไปให้พญามโน เมื่อชาวบ้านทราบข่าวก็พากันไปดูเป็นจำนวนมาก ต่อมาชาวบ้านในแถบนั้นได้พบสิ่งผิดปกติเกิดขึ้นในหมู่บ้าน ต่างก็ลงความเห็นว่าเป็นความศักดิ์สิทธิ์ของแหวนวงนั้นและเชื่อกันว่าแหวนวงนั้นถ้าไปอยู่ที่ใคร หรือผู้ใดครอบครองแหวน มักมีเรื่องราวเกิดขึ้นกับคนๆนั้นเสมอ นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ก็ไม่มีใครครอบครองแหวนวงนั้นและตกลงกันว่า ควรเป็นสมบัติของหมู่บ้านจึงได้ตั้งชื่อหมู่บ้านว่า“บ้านแหวน”

เทศบาลตำบลบ้านแหวน เดิมเป็นสภาตำบล ตามประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 326 ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2515 ซึ่งมีฐานะเป็นส่วนหนึ่งของราชการบริหารส่วนภูมิภาค หลังจากนั้นได้มีประกาศกระทรวงมหาดไทยลงวันที่ 16 ธันวาคม 2539 โดยอาศัยมาตรา 40 และ 41 แห่งพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ.2537 ให้จัดตั้งสภาตำบลบ้านแหวนเป็นองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านแหวน มีผลตั้งแต่วันที่ 23 ธันวาคม 2539 ต่อมากระทรวงมหาดไทยพิจารณาแล้วเห็นว่า องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านแหวน มีสภาพเหมาะสม สมควรให้จัดตั้งเป็นเทศบาลตำบล จึงอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 42 แห่ง พระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ.2537 และมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย จึงจัดตั้งองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านแหวน เป็นเทศบาลตำบลบ้านแหวน ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย ลงวันที่ 27ตุลาคม 2552 และให้มีฐานะเป็นเทศบาลตำบลบ้านแหวน นับตั้งแต่วันที่ 27 ตุลาคม 2552 เป็นต้นมา


ที่ตั้งของหมู่บ้านหรือตำบล

เทศบาลตำบลบ้านแหวน ตั้งอยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอหางดง ประมาณ 2 กิโลเมตรและตั้งอยู่ห่างจากอำเภอเมืองเชียงใหม่ ไปทางทิศใต้ประมาณ 11 กิโลเมตร ตามเส้นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 108 (ถนนสายเชียงใหม่ – ฮอด) มีเนื้อที่รวมประมาณ 14 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 8,750 ไร่

อาณาเขต

ทิศเหนือ ติดต่อกับตำบลหนองควายและตำบลสันผักหวาน อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่

ทิศใต้ ติดต่อกับตำบลหนองแก๋วและตำบลขุนคง อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่

ทิศตะวันตก ติดต่อกับตำบลน้ำแพร่และตำบลหางดง อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่

ทิศตะวันออก ติดต่อกับตำบลสบแม่ข่า อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่


สภาพทางสังคม

ด้านการศึกษา

ในเขตเทศบาลตำบลบ้านแหวน มีศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนและโรงเรียนในสังกัด สพฐ. ดังนี้

- โรงเรียนระดับเด็กเล็กก่อนวัยเรียน จำนวน 4 แห่ง

- โรงเรียนระดับอนุบาล จำนวน 4 แห่ง

- โรงเรียนระดับประถมศึกษา จำนวน 4 แห่ง

- โรงเรียนระดับมัธยมศึกษา จำนวน - แห่ง

โรงเรียนเอกชนตั้งอยู่ในเขตเทศบาลตำบลบ้านแหวน

- โรงเรียนระดับเด็กเล็กก่อนวัยเรียน จำนวน 1 แห่ง

- โรงเรียนระดับอนุบาล จำนวน 2 แห่ง

- โรงเรียนระดับประถมศึกษา จำนวน 1 แห่ง

- โรงเรียนระดับมัธยมศึกษา จำนวน 1 แห่ง

ด้านการสาธารณสุข

ด้านการสาธารณสุข ประชากรส่วนใหญ่มีมาตรฐานทางด้านสาธารณสุขทั่วไปอยู่ ในเกณฑ์ที่ดี การระบาดของโรคติดต่อตามฤดูกาลมีไม่บ่อยนัก เช่น โรคไข้เลือดออก โรคทางเดินระบบอาหาร ซึ่งถ้าเกิดการระบาดของโรคต่าง ๆ ขึ้นแล้ว ทางเทศบาลตำบลบ้านแหวนและเจ้าหน้าที่สาธารณสุขระดับ ตำบล อำเภอและจังหวัด จะร่วมกันเข้าไปแก้ไขปัญหาโดยด่วน เพื่อป้องกันและระงับการระบาดของโรค ประชาชนได้รับสิทธิการรักษาพยาบาลของรัฐ เช่น บัตรประกันสุขภาพ (บัตรประกันสุขภาพ 30 บาท) เพื่อใช้สิทธิเข้ารักษาในสถานพยาบาลหรือโรงพยาบาลของรัฐหรือเอกชน และยังมีโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพระดับตำบล ในการดูแลด้านการสาธารณสุขให้กับประชาชนในพื้นที่ จำนวน 2 แห่ง คือ

  1. โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านไร่ ตั้งอยู่ หมู่ที่ 1 ตำบลบ้านแหวน

  2. โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านต้นเฮือด ตั้งอยู่ หมู่ที่ 8 ตำบลบ้านแหวน

ด้านอาชญากรรม

ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน

เทศบาลตำบลบ้านแหวน มีเครื่องมือ อุปกรณ์ ในการอำนวยการเกี่ยวกับความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ดังนี้

  • รถบรรทุกน้ำดับเพลิงอเนกประสงค์ จำนวน 2 คัน

  • รถกู้ชีพ-กู้ภัย ขนาดกลางพร้อมอุปกรณ์มาตรฐาน จำนวน 1 คัน


ศาสนา ประเพณี วัฒนธรรม

การนับถือศาสนา

ในเขตเทศบาลตำบลบ้านแหวน ประกอบด้วย วัด จำนวน 11 แห่ง โบสถ์ศาสนาคริสต์ จำนวน 5 แห่ง ประชากรส่วนใหญ่ของตำบลบ้านแหวน นับถือศาสนาพุทธ มีวิถีการดำเนินชีวิตเช่นเดียวกับชาวล้านนาทั่วไป กล่าวคือเมื่อถึงวันพระและวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาประชาชนจะทำบุญตักบาตรหรือประกอบพิธีกรรมทางศาสนาตามประเพณีหรือความเชื่อตามหลักศาสนา ของตน เช่นอดีตกาล ภาษาพูดที่ใช้ส่วนใหญ่เป็นภาษาพื้นเมืองที่เรียกว่า “กำเมือง” ประเพณีวัฒนธรรมที่สำคัญได้แก่ ประเพณีลอยกระทง ประเพณีสงกรานต์ การถวายสลากภัตต์ ปอยหลวง เป็นต้น เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองสิ่งปลูกสร้างในวัด เป็นต้น ประชาชนส่วนใหญ่ของพื้นที่ นับถือศาสนาพุทธโดยมีข้อมูลศาสนสถาน ดังนี้

วัด จำนวน 11 แห่ง ประกอบด้วย

1. วัดชัยวุฒิ

2. วัดโขงขาว

3. วัดปู่ฮ่อ

4. วัดช่างคำหลวง

5. วัดป่าหมาก

6. วัดเทพประสิทธิ์ (วัดต้นเฮือด)

7. วัดวรเวทย์วิสิฐ (วัดช้างหม้อ)

8. วัดจอมทอง

9. วัดสันกู่สุทธิพันธ์

10 วัดดอนไฟ

11. วัดท้าวบุญเรือง

โบสถ์จำนวน 5 แห่ง ได้แก่

1. โบสถ์หมู่ที่ 2 บ้านโขงขาว จำนวน 1 แห่ง

2. โบสถ์หมู่ที่ 4 บ้านช่างคำน้อย จำนวน 3 แห่ง

3. โบสถ์หมู่ที่ 13 บ้านศรีสรร จำนวน 1 แห่ง

ประเพณีและงานประจำปี

¨ พิธีกรรมกิ๋นอ้อผญา

พิธีกรรมนี้ถือเป็นประเพณีประจำตำบลบ้านแหวน โดยเฉพาะหมู่บ้านท้าวบุญเรือง (หมู่ที่ 3) เป็นประเพณีที่สืบทอดกันมาแต่โบราณ ผู้ที่จะทำพิธีนี้ได้จะเป็นครูอาจารย์ที่อยู่วัดเป็นผู้ที่มีความรอบรู้ในสาขาต่าง ๆ (ในอดีตถือเป็นผู้ที่มีความรู้มีคาถา อาคม ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ) จนได้รับการยกย่องและยอมรับจากชุมชนเท่านั้น “พิธีกรรมกิ๋นอ้อผญา” มักจะจัดขึ้นในวันผญาวัน คือวันที่ 13 เมษายน ของทุกปี เพราะคนเมืองจะมีความเชื่อว่าวันนี้เป็นวันเริ่มต้นของปี เป็นวันปากปี แต่หากจัดขึ้นในวันที่ 13 เมษายน ไม่ได้ก็จะพยายามจัดให้อยู่ในเดือนเมษายน “พิธีกรรมกิ๋นอ้อผญา” หรือเรียกกันสั้น ๆ ทั่วไปว่า “ กิ๋นอ้อ ” ในการประกอบพิธีกรรมนั้นจะใช้ปล้องของต้นอ้อใส่น้ำผึ้งที่เสกด้วยคาถาแล้วนำมาเคี้ยวกินเมื่อเคี้ยวจนน้ำหวานหมดแล้วก็เอาชานอ้อโยนข้ามศรีษะทิ้งไปข้างหลังหรือโยนออกไปทางหน้าต่าง คติความเชื่อของพิธีกรรมนี้คือเชื่อว่า บุคคลใดก็ตามที่ได้เข้ามาร่วมในพิธีกรรมนี้ก็จะเป็นผู้ที่มีสติปัญญาเฉียบแหลมสามารถเรียนรู้ได้รวดเร็ว มีความจำดี ในสมัยก่อนกลุ่มคนที่นิยมเข้าพิธีกรรมนี้ได้แก่ พระสงฆ์ พระนักเทศน์ หรือบุคคลที่ต้องการศึกษาเล่าเรียนโดยเฉพาะช่างซอจะต้องผ่านพิธีกรรมนี้เพราะเชื่อว่าจะทำให้มีความจำ ความคิดดี มีน้ำเสียงขับซอดีขึ้น และจะมีเสน่ห์แก่คนทั่วไป

ประเพณีเดือน 4 เป็ง

ประวัติความเป็นมาประเพณีเดือน 4 เป็ง เป็นประเพณีที่สืบทอดกันมาตั้งแต่โบราณจากการบอกเล่าของชาวบ้านทำให้ทราบว่าเป็นการปฏิบัติที่สืบต่อกันมาตั้งแต่ครั้งพุทธกาล จัดขึ้นเพื่อระลึกถึงบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว โดยการทำบุญด้วยข้าวใหม่ที่ได้จากการทำนา หรือที่เรียกว่าทำบุญทานข้าวใหม่ เพื่อระลึกถึงบุญคุณของควายที่ได้ใช้แรงงานตั้งแต่เริ่มจากการไถนา จนถึงการลากเอาข้าวไปเก็บไว้ในยุ้ง ประเพณีนี้ถือเป็นประเพณีที่โบราณในท้องถิ่นล้านนาอีกอย่างหนึ่งที่ยังคงหลงเหลือมีอยู่น้อยแล้ว จนทำให้บางครั้งก็เรียกประเพณีนี้ว่า การเรียกขวัญควายสำหรับในตำบลบ้านแหวนที่ในอดีตอาชีพหลักได้แก่การทำนา และปัจจุบันพื้นที่นาก็เริ่มหดหายไปกลายสภาพเป็นหมู่บ้านจัดสรร ร้านค้าทางศิลปะ สวนลำไย ที่รกร้างว่างเปล่า เป็นส่วนใหญ่ วัว ควาย ที่เคยมีก็หาให้เห็นได้ยาก จึงทำให้ประเพณีนี้เป็นแค่ภาพความทรงจำของผู้เฒ่าผู้แก่ในชุมชนที่ต้องการจะให้คนรุ่นปัจจุบันได้ซึมซับกับความงดงามของประเพณีและพิธีกรรมนี้ ในอดีตชุมชน ทุกชุมชนในตำบลบ้านแหวนจะจัดประเพณีนี้ขึ้นในช่วงเดือน 3 และเดือน 4 โดยพิธีนี้ถือว่ามีความสำคัญมาก จะเริ่มตั้งแต่ก่อนที่จะถึงวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ เดือน 4 หนึ่งวัน คือ วันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 4 ชาวบ้านก็จะนำเอาไม้จี้ (เป็นไม้ที่หายาก คุณสมบัติของไม้ชนิดนี้เมื่อนำมาเผาไฟแล้วจะแตกเอง) เอามาวางสุมรวมกันไว้แล้วก่อกองไฟหน้าพระพุทธรูปเพื่อทำการบูชาพอเช้าวันรุ่งขึ้นคือวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 4 แต่ละครัวเรือนก็จะเตรียมข้าวตอกดอกไม้เตรียมข้าวใหม่ ข้าวเปลือกไปรวมกันที่ลานหน้าหมู่บ้านจากนั้นก็นำเอาตุงไปปักไว้บนกอข้าวเหล่านั้นพระสงฆ์ก็จะให้พรก็ถือว่าเสร็จพิธีปัจจุบันประเพณีเรียกขวัญควายนี้เริ่มหายไปเพราะสภาพสังคมรวมทั้งการดำรงชีวิตของคนในหมู่บ้านต่างๆได้เปลี่ยนแปลงไป แต่ก็ยังคงมีการอนุรักษ์ประเพณีนี้ไว้ให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้


ภูมิปัญญาท้องถิ่น ภาษาถิ่น

ในพื้นที่ตำบลบ้านแหวน มีอาชีพที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษที่สะท้อนให้เห็นถึงศิลปวัฒนธรรมของชุมชนในด้านต่าง ๆ อาทิเช่น ด้านดนตรี ทำให้เกิดการพัฒนาเป็นอาชีพขึ้นในตำบลบ้านแหวน นั่นก็คือ อาชีพการทำเครื่องดนตรีพื้นเมือง ซึ่งในปัจจุบันก็มีช่างทำเครื่องดนตรีหลงเหลืออยู่เพียงไม่กี่คน ได้แก่ ช่างทำเครื่องซอ ซึง รวมทั้งยังเป็นผู้สอนเพื่อเป็นการอนุรักษ์และสืบทอดอาชีพนี้ให้แก่รุ่นลูกรุ่นหลานด้วย ด้วยเหตุที่ว่าคนในสมัยก่อนนี้มีวัฒนธรรมชุมชนที่เป็นของตนเองเมื่อถึงเทศกาลงานต่าง ก็จะมีการเฉลิมฉลอง มีการละเล่นการแสดงกันในหมู่บ้าน เช่นการฟ้อนประกอบการเล่นดนตรี ส่วนมากแล้วเครื่องดนตรีที่ใช้ในงานประเพณีและพิธีกรรมต่าง ๆ ในหมู่บ้าน ก็จะจัดทำขึ้นเองโดยใช้วัสดุที่มีอยู่ในธรรมชาติหรือดัดแปลงมา

กาดฝรั่ง เมืองตลาดการค้า แห่งล้านนา

กาดฝรั่งตั้งอยู่บริเวณริมถนนสาย เชียงใหม่ – หางดง ในพื้นที่ หมู่ 13 บ้านศรีสรร ตำบลบ้านแหวน กาดฝรั่งมีความโดดเด่น และเป็นที่สนใจของผู้คนที่ผ่านไปมาบนถนนสายนี้ เนื่องจากเป็นการสร้างโดยใช้แนวคิดด้านสถาปัตยกรรมล้านนาแบบประยุกต์ ผสมผสานกับความหรูหรา จึงทำให้เกิดเมืองตลาดการค้า แห่งล้านนาขึ้นมาเป็นศูนย์รวมของ ร้านค้า ร้านอาหาร ธนาคาร สินค้าอุปโภค – บริโภค และสินค้าหัตถกรรม ระดับ 5 ดาว ทำให้ประชาชนในตำบลบ้านแหวนและใกล้เคียงได้รับความสะดวกสบายมากขึ้น และยังเป็นอีกแหล่งดึงดูดความสนใจของนักท่องเที่ยวอีกด้วย


การดำเนินงานดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงและบุคคลอื่นที่มีภาวะพึ่งพิงตำบลบ้านแหวน

ตามมติที่ ประชุมคณะอนุกรรมการสนับสนุนการจัดบริการสาธารณสุขสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงและบุคคลอื่นที่มีภาวะพึ่งพิง เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2562 มีมติประชุมเห็นชอบให้มีการแต่งตั้งตำแหน่งคณะกรรมการศูนย์ดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงและบุคคลอื่นที่มีภาวะพึ่งพิงเทศบาลตำบลบ้านแหวน เพื่อให้บริการ การสร้างสุขภาพ การป้องกันโรค การฟื้นฟูสมรรถภาพ และการรักษาพยาบาลระดับปฐมภูมิเชิงรุกให้กับผู้สูงอายุ ผู้ป่วย และผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือในพื้นที่ตำบลบ้านแหวน ให้สามารถเข้าถึงการดูแลสุขภาพและได้รับการดูแลสุขภาพอย่างต่อเนื่องและมีคุณภาพชีวิตที่ดี และสอดคล้องกับประกาศคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์เพื่อสนับสนุนให้องค์ปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินงานและบริหารจัดการระบบหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ พ.ศ. 2561 ลงวันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2561 ข้อ 18

OTOP สินค้าพื้นเมืองและของที่ระลึก

กลุ่มเกษตรอินทรีย์ตำบลบ้านแหวน เป็นศูนย์เรียนรู้ให้กับเกษตรกรหรือผู้ที่สนใจศึกษาดูงานเกี่ยวกับการเกษตรอินทรีย์ ตั้งอยู่หมู่ที่ 8 ได้รับคัดเลือกให้เป็นกลุ่มเกษตรอินทรีย์ตัวอย่างจาก สำนักงานพัฒนาชุมชนและสำนักงานเกษตรอำเภอหางดงอีกทั้งได้รับงบประมาณสนับสนุนในการดำเนินโครงการจากเทศบาลตำบลบ้านแหวนและวิสาหกิจชุมชนกลุ่มผู้ผลิตและแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรตำบลบ้านแหวน ตั้งอยู่หมู่ที่ 6 ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก บริษัท วิทยุการบิน จำกัด (มหาชน) สาขาจังหวัดเชียงใหม่และได้รับการสนับสนุน เครื่องมือ เครื่องจักรอุปกรณ์ต่าง ๆ จากวิทยาลัยเทคนิคเชียงใหม่รวมทั้งองค์ความรู้ทางวิชาการจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา