ความรู้เรื่องบาญศรี
บายศรีภาคอีสาน
ประเพณีการสู่ขวัญของภาคตะวันออกเฉียงเหนือหรือภาคอีสาน เป็นประเพณีที่สืบทอดกันมาช้านาน เป็นเรื่องเกี่ยวกับความเชื่อ เรื่องขวัญหรือจิตใจอันก่อให้เกิดกำลังใจที่ดีขึ้น ชาวอีสานเห็นความสำคัญทางด้านจิตใจมาก ในการดำเนินชีวิตแต่ละช่วง มักมีการสู่ขวัญควบคู่กันเสมอ จึงพบเห็นการสู่ขวัญทุกท้องถิ่นในภาคอีสาน
การสู่ขวัญ เรียกอีกอย่างว่า การสูดขวัญ หรือการสูดขวน เป็นจิตวิทยาอย่างหนึ่ง เป็นการสร้างขวัญและกำลังใจแก่คน หรือเสริมสิริมงคลแก่บ้านเรือน ล้อเลื่อน เกวียน วัว รถ เป็นต้น การสู่ขวัญจึงเป็นพิธีกรรมหนึ่ง ที่ทำให้สามารถดำเนินชีวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ การบำรุงขวัญถือเป็นการรวมสิริแห่งโภคทรัพย์
ในพิธีสู่ขวัญ บางทีเรียกว่า พิธีบายศรี พิธีสูดขวัญ หรือบายศรีสู่ขวัญ ซึ่งเป็นประเพณีสำคัญอย่างหนึ่งของชาวอีสาน และนิยมทำกัน แทบทุกโอกาส จะมีการทำบายศรีประกอบในพิธี โดยเป็นบายศรีแบบดั้งเดิมหรือแบบประยุกต์ ซึ่งการทำบายศรีแบบประยุกต์นี้ จะทำตามจินตนาการของผู้ทำบายศรีให้เกิดความสวยงามวิจิตรพิสดารและสอดคล้องกับความเชื่อของท้องถิ่นนั้นๆ โดยชาวอีสานยังคงยึดถือและปฏิบัติกันมาจนถึงปัจจุบัน
บายศรีภาคอีสาน จำแนกได้ดังนี้
๑. บาศรี หรือพาขวัญ หรือพานบายศรี
เดิมเรียกว่า บาศรีสูดขวัญ เป็นพิธีที่เจ้านายผู้ใหญ่ทำกัน
การจัดพาขวัญนี้นิยมจัดเป็น ๓ ชั้น ๕ ชั้น ๗ ชั้น และ ๙ ชั้น พาขวัญ ๓ ชั้น ๕ ชั้น จัดสำหรับคนธรรมดาสามัญ ส่วน ๗ ชั้น ๙ ชั้น จัดสำหรับพระมหากษัตริย์ และเชื้อพระวงศ์ พาขวัญประกอบด้วย
บาศรี หรือพาขวัญ หรือพานบายศรี
ชั้นที่ ๑ (ชั้นบนสุด) ประกอบด้วย แม่ ๙ นิ้ว ทั้ง ๔ ทิศอาจแซมด้วยลายกนกทิพย์ หรือถ้าไม่มีตัวแซมจะใช้แม่ ๗ นิ้ว ทั้ง ๗ ทิศ
ชั้นที่ ๒ ประกอบด้วย แม่ ๑๑ นิ้ว ๗ ทิศ
ชั้นที่ ๓ ประกอบด้วย แม่ ๑๓ นิ้ว ๗ ทิศ
ชั้นที่ ๔ ประกอบด้วย แม่ ๑๕ นิ้ว ๗ ทิศ
ชั้นที่ ๕ ประกอบด้วย แม่ ๑๗ นิ้ว ๗ ทิศ
ชั้นที่ ๖ ประกอบด้วย แม่ ๑๙ นิ้ว ๗ ทิศ
ชั้นที่ ๗ ประกอบด้วย แม่ ๒๑ นิ้ว ๗ ทิศ
ชั้นที่ ๘ ประกอบด้วย แม่ ๒๓ นิ้ว ๗ ทิศ
ชั้นที่ ๙ ประกอบด้วย แม่ ๒๕ นิ้ว ๗ ทิศ
การทำพานบายศรีของภาคอีสานจะไม่นิยมประกอบบายศรีในลักษณะที่คว่ำลง และมีขนาดใหญ่กว่าบายศรีปากชาม จัดทำใส่ในภาชนะที่ใหญ่มากขึ้น เช่น พาน โตก พานบายศรีสู่ขวัญถือเป็นพานเบญจขันธ์ ประกอบด้วย รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
บาศรี หรือพาขวัญ หรือพานบายศรี
พิธีสู่ขวัญ หรือพิธีสูดขวัญเป็นพิธีเก่าแก่ของชาวไทยทุกภาค แม้จะจัดพิธีกรรมแตกต่างกันไป แต่ยึดหลักใหญ่ และจุดมุ่งหมายเดียวกัน สำหรับชาวอีสานจะประกอบพิธีนี้ทุกงาน เช่น สูดขวัญเด็กแรกเกิด ทำขวัญเดือนเด็ก สูดขวัญบวชเณร บวชนาค สูดขวัญบ่าวสาว สูดขวัญรับขวัญผู้ที่ได้เลื่อนยศหรือเลื่อนตำแหน่ง สูดขวัญส่งขวัญผู้เดินทางไกล
๒. ขันหมากเบ็ง
ประวัติความเป็นมาของขันหมากเบ็งนั้น ผู้เฒ่าผู้แก่ทางภาคอีสานได้เล่าให้ฟังว่า แต่โบราณมีต้นหมากเบ็ง ลักษณะเป็นพุ่ม และมีดอก ชาวบ้านนิยมนำดอกหมากเบ็งมาสักการบูชาพระพุทธรูปตามถ้ำ หรือตามบ้านเรือน ต่อมาต้นหมากเบ็งได้สูญพันธุ์ ชาวบ้านจึงได้คิดประดิษฐ์ขันหมากเบ็งใช้แทนต้นหมากเบ็งที่ได้สูญหายไป ขันหมากเบ็งอีกความหมายหนึ่งคือ ทิศทั้ง ๔ ทิศที่มีเทวาธิราช ๔ พระองค์ทรงปกครอง ได้แก่ ธตรฐมหาราช ปกครองเทพนครที่ตั้งอยู่ทิศตะวันออก และมีอำนาจปกครองหมู่คนธรรพ์ วิรุฬหกมหาราช ปกครองเทพนครที่ตั้งอยู่ทิศใต้ และมีอำนาจปกครองหมู่กุมภัณฑ์ วิรูปักษมหาราช ปกครองเทพนครที่ตั้งอยู่ทิศตะวันตก และมีอำนาจปกครองหมู่นาคา เวสสุวัณมหาราช ปกครองเทพนครที่ตั้งอยู่ทิศเหนือ และมีอำนาจปกครองหมู่ยักษ์
ขันหมากเป้ง
ขันหมากเบ็งจะนิยมทำถวายเป็นคู่ ใช้ในพิธีกรรมต่างๆ ดังนี้
๑. สักการบูชาพระพุทธรูป
๒. กราบไหว้บูชาครูบาอาจารย์
๓. พิธีสักการบูชาพ่อเมือง บรรพบุรุษของเมือง เพื่อเป็นสิริมงคล แก่บ้านเมือง และประชาชน
๔. พิธีบวช ผู้ที่จะบวชนำขันหมากเบ็งมาถวายสักการะพระอุปัชฌาย์
นับแต่โบราณกาลจนถึงปัจจุบัน ชาวอีสานถือว่าพิธีบายศรีเป็นพิธีมงคลสูงสุดกว่าพิธีใดๆ และจะทำพิธีบายศรี เฉพาะเรื่องที่เป็นมงคลเท่านั้น ถ้าเป็นการทำพิธีบายศรีปูชนียสถาน ปูชนียวัตถุ สัตว์ พืช สิ่งของ เรียกว่า บายศรีสมโภช ถ้าทำบายศรีให้แก่บุคคลเรียกว่า บายศรีสู่ขวัญ ผู้ที่ได้รับการบายศรีสู่ขวัญต้องเป็นผู้ที่มีเกียรติและเป็นผู้ที่ให้ความเคารพนับถือยิ่ง จึงได้มอบความเป็นมงคลสูงสุดให้
พิธีบายศรีสู่ขวัญของภาคอีสานมีองค์ประกอบของพิธีดังนี้
๑. พานบายศรีหรือต้นบายศรี ทำด้วยใบตองดอกไม้สด ปัจจุบันดัดแปลงเป็นผ้าแพร กระดาษ และดอกไม้ประดิษฐ์แทน เพราะการทำด้วยใบตองดอกไม้สดเป็นภาระยุ่งยาก ต้องใช้กำลังคนมาก และเก็บได้ไม่นาน เมื่อเย็บบายศรีแล้ว จึงนำไปประกอบลงในโตก พาน หรือขัน ซ้อนกันเป็นชั้นๆ แล้วประดับด้วยดอกไม้มงคล เช่น ดอกรัก ดอกบัว ดอกบานไม่รู้โรย ดอกบานชื่น ดอกดาวเรือง ดอกมะลิ หรือประกอบเป็นต้นบายศรี ๓ ชั้น ๕ ชั้น ๗ ชั้น และ ๙ ชั้น ตามฐานะ ยศ ตำแหน่ง ฐานันดรของบุคคลผู้รับการบายศรีสู่ขวัญ
๒. เครื่องสังเวย มีไก่ ไข่ไก่ อาหารคาว-หวาน สุรา ยาสูบ ผลไม้ มะพร้าวอ่อน ดอกไม้ธูปเทียน ขันห้า
๓. ด้ายผูกขวัญ (ผูกข้อมือ) ใช้ด้ายดิบสายสิญจน์
๔. หมอสูดขวัญ (ไม่ใช่พราหมณ์) เป็นผู้อาวุโสคงแก่เรียนในท้องถิ่นนั้นๆ อาจเป็นหญิงหรือชายก็ได้ แต่ต้องมีพร้อมทั้งวัยวุฒิ และคุณวุฒิ
๕. ผู้ฟ้อน แบ่งเป็น ๒ กลุ่ม คือ กลุ่มเชิญบายศรี และกลุ่มฟ้อนเชิญขวัญ
๖. ผู้แห่ห้อม (ตู้มห่อ) คือ ชายหญิงผู้นั่งล้อมบายศรี เพื่อช่วยร้องเรียกขวัญในขณะทำพิธี
อนึ่ง ผู้ประกอบพิธีผูกข้อมือต้องเป็นผู้เฒ่าผู้แก่หรือผู้อาวุโสชายหญิง ส่วนเด็กและหนุ่มสาวจะเป็นบริวารรุมล้อมแห่ห้อม ช่วยกันร้องเรียกขวัญเท่านั้น
ปัจจุบันจะเห็นว่า บายศรียังคงนิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะในภาคอีสานและภาคเหนือ ส่วนในภาคใต้ไม่ค่อยนิยม และเริ่มลดความสำคัญลง
From <http://kanchanapisek.or.th/kp6/sub/book/book.php?book=38&chap=2&page=t38-2-infodetail07.html>
ชั้นของบายศรี
บายศรีใหญ่หรือบายศรีต้นนิยมทำเป็น ๓ ชั้น ๕ ชั้น ๗ ชั้น และ ๙ ชั้น เพราะนำคติเรื่องฉัตรเข้ามาเกี่ยวข้อง อันที่จริงแล้ว บายศรีชนิดนี้ไม่ได้กำหนดชั้นตายตัว แล้วแต่ผู้ทำจะเห็นสวยงาม ถ้ามีชั้นมากก็ถือว่าเป็นเกียรติมาก ในแต่ละชั้นของบายศรี มักใส่อาหาร ขนม ดอกไม้ ธูปเทียนลงไปด้วย
บายศรีปากชามนั้น ไม่มีชั้นบายศรีที่ชัดเจน การนับชั้นนับจากนมแมว ซึ่งอาจนับรวมยอดของตัวแม่ด้วย นิยมทำเป็นเลขคี่ตั้งแต่ ๓ ชั้น ๕ ชั้น ๗ ชั้น และ ๙ ชั้น ถือว่า เป็นเลขสวยและเป็นมงคล บายศรีปากชามจะทำเป็นกี่ชั้นขึ้นอยู่กับขนาดของชาม และขนาดของพิธีด้วย
เครื่องประกอบบายศรี
ในพิธีกรรมการทำขวัญ บวงสรวง สมโภช และไหว้ครู บางประเภท นอกจากมีตัวบายศรีแล้ว ยังมีสำรับอาหาร ดอกไม้ ธูปเทียน และสิ่งอื่นๆ อยู่ในตัวบายศรี เรียกว่า เครื่องประกอบบายศรี และไม่ได้กำหนดไว้ชัดเจนแน่นอน ส่วนใหญ่ประกอบด้วยข้าว ไข่ กล้วย ดอกไม้ ธูปเทียน ถ้ามีการผูกขวัญและเวียนเทียน ก็จะมีด้ายผูกข้อมือ แว่นเวียนเทียน และขันปักแว่นเวียนเทียน นอกจากนี้ ยังมีอาหารคาว-หวานและผลไม้ แยกต่างหากอีกสำรับหนึ่ง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชวินิจฉัย ถึงเหตุผลของการจัดสำรับคาว-หวานเพิ่มเติมว่า เพราะต้องการให้หรูหราเป็นงานใหญ่ และเห็นเป็นรูปธรรมมากขึ้น และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงพระวินิจฉัยเรื่องสำรับคาว-หวานที่แยกต่างหากจากบายศรีว่า เป็นเพราะความไม่รู้และไม่มีที่ว่างพอที่จะวางสำรับเหล่านี้ได้
อย่างไรก็ตาม เครื่องประกอบบายศรีเท่าที่พบเห็นทั่วไป ส่วนใหญ่ประกอบด้วย
๑. ขันปักแว่นเวียนเทียน เรียกว่า ขันเหม ใช้ใส่ข้าวสารสำหรับปักแว่น
๒. เทียนชัย
๓. น้ำมันหอม
๔. พานใส่ใบพลู ตลับแป้งเจิม
๕. ด้ายผูกข้อมือ
๖. มะพร้าวอ่อนปอกเปลือกเจาะปาก
๗. เป็ดปั้นด้วยแป้ง (มักใช้ในพิธีของหลวง ปัจจุบันนำมาใช้ในพระราชพิธีสมโภชเดือนและขึ้นพระอู่เท่านั้น เรียกว่า เป็ดปากทอง)
๘. หัวหมู
๙. อาหารและขนม
๑๐. ธูปเทียนบูชา
๑๑. สิ่งอื่นๆ ตามแต่จะจัดหามา
เครื่องประกอบบายศรีดังกล่าวนี้ไม่จำเป็นต้องมีทุกสิ่งครบบริบูรณ์ ขึ้นอยู่กับลักษณะของพิธีกรรม และฐานะหรือกำลังทรัพย์ ของเจ้าภาพ บางงานก็เข้มงวดจะขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งไม่ได้ เช่น ในงานทำขวัญทารก ๓ วัน ต้องมีขันน้ำอุ่นสำหรับป้อนเด็กอ่อน
เครื่องประกอบบายศรี
ในพิธีหลวง เครื่องสังเวยต้องเป็นเครื่องคู่และสิ่งที่ขาดไม่ได้คือ หัวหมู เป็ด ไก่ กล้วยน้ำไท ขนมต้มแดง ขนมต้มขาว ทองหยิบ ฝอยทอง
แม้บายศรีได้รับอิทธิพลมาจากคติพราหมณ์ ก็ตาม แต่มักนำบายศรีและเครื่องประกอบบายศรีไปเปรียบให้เป็นปริศนาธรรม หรือหลักธรรมในพระพุทธศาสนา เช่น นมแมว ๔ อัน หมายถึง อริยสัจ ๔ เพราะศาสนาพราหมณ์เข้ามาผสมผสาน กับพระพุทธศาสนา จนบางครั้งไม่สามารถจะแยกออกจากกันได้โดยเด็ดขาด ซึ่งเป็นไปตามคำกล่าวที่ว่า "พุทธกับไสยย่อมอาศัยกัน"
ดังกล่าวแล้วว่า บายศรีเป็นสิ่งที่ได้รับอิทธิพลมาจากคติพราหมณ์ แม้แต่อาหารที่ประกอบในบายศรีบางอย่าง ก็นำมาจากคติพราหมณ์ด้วย เช่น ไข่ มะพร้าว แต่คติพราหมณ์คงไม่ได้ตั้งใจให้เป็นปริศนาธรรม ดังนั้น จึงพอสันนิษฐานได้ว่า อาจเป็นเพราะไม่ค่อยเข้าใจแนวคิดของคติพราหมณ์ จึงพยายามคิดเปรียบเทียบให้เข้ากับหลักพระพุทธศาสนา เพื่อให้สอดคล้อง กับวัฒนธรรมไทย
ชนิดของบายศรีที่ใช้ในพิธี
บายศรีนำไปใช้ในพิธีต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเพณีที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิต แม้แต่พิธีที่เกี่ยวข้องกับการทำมาหากิน การทำขวัญ เช่น ทำขวัญนาค ทำขวัญเดือน ทำขวัญแต่งงาน ฯลฯ การบวงสรวงสังเวย เช่น ตั้งศาลพระภูมิ วางศิลาฤกษ์ บวงสรวงเทวดาอารักษ์ บูชาครู ไหว้ครูช่าง ไหว้ครูศิลปิน และการสมโภชในโอกาสต่างๆ เช่น สมโภชฉลองพระพุทธรูป ทำขวัญช้าง ทำขวัญกระบือ ทำขวัญข้าว ทำขวัญนา ทำขวัญแม่โพสพ พิธีเหล่านี้ใช้บายศรีเป็นเครื่องประกอบพิธีกรรมทั้งสิ้น เนื่องจาก บายศรีมีทั้ง บายศรีปากชามและบายศรีต้น การเลือกใช้บายศรีชนิดใดและโอกาสใดนั้น มักนิยมปฏิบัติสืบต่อกันเป็นแบบแผนประเพณี โดยมีข้อสังเกตง่ายๆ คือ
๑. บายศรีปากชาม
มักใช้ในพิธีทำขวัญกันภายในครัวเรือนอย่างเรียบง่าย ไม่ใช่งานใหญ่ เช่น การทำขวัญเด็กแรกเกิด ทำขวัญเดือน หรือใช้เป็นเครื่องบวงสรวงสังเวยเทวดา เช่น การตั้งหรือการถอนศาลพระภูมิ
๒. บายศรีต้นหรือบายศรีใหญ่
มักใช้เป็นเครื่องบูชาเทพยดาตามลัทธิพราหมณ์ หรือใช้ในงานทำขวัญที่เป็นงานชุมนุมชนหรืองานใหญ่ครึกครื้น เช่น ทำขวัญนาค โกนจุก สมโภชในการฉลองพระพุทธรูป ฉลองสมณศักดิ์ นอกจากนี้ยังใช้ในการไหว้ครูอีกด้วย
อนึ่ง บางงานหรือบางพิธีอาจใช้ทั้งบายศรีปากชามและบายศรีต้นควบคู่กันไปด้วยก็ได้
พิธีกรรมที่ใช้บายศรีเป็นองค์ประกอบสำคัญ ได้แก่
การทำขวัญข้าว
๑) การทำขวัญ
บายศรีถือเป็นองค์ประกอบสำคัญที่บางท้องถิ่นใช้ในการทำขวัญ คนไทยมีความเชื่อว่า ขวัญเป็นสิ่งที่มีความสำคัญมาก จึงต้องมีพิธีกรรม เพื่อไม่ให้ขวัญหนีไปจากตัว และเชื่อว่า เมื่อขวัญหนีไป ก็ต้องทำพิธีกรรมเรียกขวัญ หรือรับขวัญ ให้กลับมาอยู่กับตัว เมื่อมีการเจ็บไข้ได้ป่วย หรือมีผู้มาเยือน ก็จะมีการทำขวัญเพื่อความเป็นสิริมงคลทั้งสิ้น เช่น
- ทำขวัญ ๓ วัน ใช้บายศรีปากชาม
- ทำขวัญเดือน โกนจุก ใช้บายศรีปากชามหรือบายศรีต้น แล้วแต่ฐานะของเจ้าภาพ และขนาดของพิธี
- ทำขวัญนาค ใช้บายศรีต้น ยอดบายศรี มักเป็นบายศรีปากชาม
- ทำขวัญแต่งงาน ในภาคเหนือและภาคอีสานนิยมทำขวัญแต่งงาน ส่วนภาคกลาง ไม่นิยม
- ทำขวัญสัตว์ สิ่งของ ใช้บายศรีปากชาม
๒) การบวงสรวงสังเวย
การบวงสรวงสังเวยเป็นพิธีกรรมอย่างหนึ่งที่มนุษย์ใช้ในการบำบวง เซ่นไหว้ และสังเวยสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือสิ่งที่ตนเคารพนับถือ เพื่อช่วยดลบันดาลให้ประสบกับโชคลาภ ความผาสุก และความสำเร็จในกิจการทั้งปวง ในการบวงสรวงสังเวย จะต้องมีเครื่องสังเวยบูชาเป็นโภชนาหารต่างๆ โดยต้องมีบายศรีเป็นองค์ประกอบหลัก การบวงสรวงจึงเป็นการบอกกล่าวเทวดา อัญเชิญมาร่วมในพิธีและเสวยอาหารในบายศรีและเครื่องสังเวย การบวงสรวงสังเวย จะมีทั้งพระราชพิธีที่เกี่ยวเนื่องกับ พระมหากษัตริย์ และพิธีที่ราษฎรจัดทำขึ้น ในการบวงสรวงของราษฎรมักใช้บายศรีปากชาม เครื่องบวงสรวงสังเวย ได้แก่ โภชนาหารที่มีพวกเนื้อสัตว์ ที่เรียกว่า เครื่องมัจฉมังสาหาร เช่น หัวหมู เป็ด ไก่ กุ้ง ปู ปลา ซึ่งส่วนใหญ่ต้มสุกแล้ว และพวกที่ไม่ปรุงด้วยเนื้อสัตว์ เรียกว่า เครื่องกระยาบวช เช่น มะพร้าวอ่อน กล้วยน้ำไท ขนมต้มแดง ขนมต้มขาว เผือกต้ม มันต้ม แกงบวด ถั่ว งา และนมเนย ถ้าเป็นบายศรีในศาลพระภูมิต้องมีไข่ต้มสุกอีก ๓ ฟอง การทำพิธีบวงสรวงสังเวยของราษฎร เช่น การบวงสรวงสังเวยตั้งหรือถอนศาลพระภูมิเจ้าที่ ใช้พราหมณ์หรือผู้รู้เป็นผู้ประกอบพิธี แล้วแต่จะทำในโอกาสใด
พิธีบวงสรวง
พิธีบวงสรวงของหลวงมักใช้บายศรีต้น ๓ ชั้น ไม่ใช้บายศรีปากชามอย่างของราษฎร เครื่องประกอบบายศรีมีหัวหมู เป็ด ไก่ กุ้ง ปู ปลาช่อน แป๊ะซะ ทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง ขนมต้มแดง ขนมต้มขาว ไข่ เมี่ยงส้ม ผลไม้ กล้วยน้ำไท มะพร้าวอ่อน เครื่องประกอบบายศรีเหล่านี้ อาจงดเว้นบางอย่างก็ได้ ไม่ได้บังคับว่า ต้องมีตามรายการนี้ทั้งหมด การทำพิธีนั้น พราหมณ์เป็นผู้ทำพิธี โดยกล่าวคำชุมนุมเทวดาและอ่านคำประกาศบวงสรวง พิธีบวงสรวงของหลวงเป็นพิธีใหญ่ และมักเกี่ยวกับ เรื่องของพระมหากษัตริย์ เช่น พิธีบวงสรวงสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ที่อำเภอดอนเจดีย์ จังหวัดสุพรรณบุรี พิธีบวงสรวงพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ที่เชิงสะพานพระพุทธยอดฟ้า การบวงสรวงสังเวยพระภูมิเจ้าที่ ที่วังไกลกังวล หัวหิน
๓) การไหว้ครู
การไหว้ครูที่ต้องใช้บายศรี ได้แก่ การไหว้ครูของกลุ่มศิลปินและช่างสาขาต่างๆ งานช่างศิลปกรรมนั้น ล้วนเป็นสิ่งที่ต้องสร้างสรรค์ ด้วยความประณีตและวิจิตรบรรจง งานช่างบางอย่างยุ่งยากซับซ้อน จะต้องหาที่พึ่งทางจิตใจเพื่อเสริมสร้างกำลังใจให้มั่นคง จึงจะสำเร็จลุล่วงได้ ส่วนงานด้านนาฏศิลป์ก็เช่นกัน มีการกำหนดขั้นตอนไว้เป็นแบบแผน ทั้งยังยึดถือปฏิบัติ ด้วยความเชื่อมั่นศรัทธา เพราะผู้เรียนต้องได้รับการถ่ายทอดความรู้จากง่ายไปสู่ยาก จากการเป็นผู้ไม่รู้ไปสู่ผู้รู้ และยังนำความรู้นั้น ไปประกอบอาชีพ ด้วยความมั่นใจ ทำให้มีความผูกพันและให้ความสำคัญยกย่องครูมาก ดังนั้น การไหว้ครูของพวกช่างและศิลปิน จึงเป็นการแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อครู ด้วยความศรัทธาและเคารพอย่างแท้จริง
เครื่องประกอบพิธีกรรมในการไหว้ครูช่างและโขนละคร ประกอบด้วยเครื่องบูชา เครื่องสังเวย ได้แก่ อาหารคาว-หวานต่างๆ เครื่องกระยาบวช นอกจากนี้ยังมีเครื่องมือช่าง (ไหว้ครูช่าง) และหัวโขนละครต่างๆ (ไหว้ครูโขนละคร) สิ่งที่ขาดไม่ได้คือ บายศรี ส่วนจะใช้บายศรีชนิดใดนั้น ขึ้นอยู่กับฐานะของผู้จัดและขนาดของพิธี หากเป็นการไหว้ครูระดับธรรมดามักใช้บายศรีปากชาม ถ้ามีการเวียนเทียนจะใช้บายศรีต้น ซึ่งจะมีกี่ชั้นแล้วแต่จะกำหนด
บายศรีเป็นเครื่องสักการบูชาสำคัญในพิธีไหว้ครู
ในการไหว้ครูดังกล่าวนั้นมักประกอบพิธีด้วยการบูชาเทวรูป สรงน้ำเทวรูป กล่าวคำชุมนุมเทวดา อัญเชิญเทพเจ้า และครูผู้ล่วงลับไปแล้ว มาร่วมพิธี รวมทั้งร่วมรับเครื่องสักการะและเครื่องสังเวย การประกอบพิธีกรรม เป็นไปตามการไหว้ครูของศิลปะแต่ละประเภท และมีพิธีครอบครู ซึ่งเป็นพิธีการประกาศยอมรับความเป็นศิษย์ ซึ่งเป็นโอกาส ที่จะฝึกหัดวิชาการขั้นสูงต่อๆ ไป
นอกจากนี้ยังมีบายศรีซึ่งใช้สักการะเทพเจ้าชั้นพรหม ชั้นเทพ ที่แพร่หลายอย่างกว้างขวางในปัจจุบัน พิธีไหว้ครูมักกระทำเป็นประจำปี หรือกำหนดวัน-เวลาแตกต่างกันไปในแต่ละสำนัก เช่น ไหว้ครู ยกครู ในการประกอบพิธีดังกล่าว อาจมีทั้งพิธีทางพระพุทธศาสนาและพิธีพราหมณ์ควบคู่กันไปด้วย ทั้งนี้ เท่ากับเป็นการเชื่อมโยงพระพุทธศาสนา เข้ากับคติความเชื่อของพราหมณ์ ซึ่งยังคงยึดถือและเชื่อมั่นไม่เสื่อมคลาย
พิธีไหว้ครูประจำปีหรือสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ดังกล่าว นอกจากจะมีบายศรีต้นอันเป็นบายศรีหลักแล้ว ยังมีบายศรีที่ประดิษฐ์ขึ้น เพื่อบูชาเป็นการเฉพาะ และมีบายศรีบริวารอีกเป็นจำนวนมาก ความยิ่งใหญ่อลังการขึ้นอยู่กับระดับความสำคัญของเทพเจ้านั้นๆ
๔) การสมโภช
เป็นงานฉลองในพิธีมงคลเพื่อความรื่นเริงยินดี การสมโภชส่วนใหญ่จะเป็นพิธีของหลวง เช่น พระราชพิธีสมโภชขึ้นระวางช้างสำคัญ พระราชพิธีสมโภชเดือนและขึ้นพระอู่ พระราชพิธีสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ ๒๐๐ ปี ส่วนการสมโภชของราษฎร ใช้ในพิธีสมโภชฉลองพระพุทธรูป ฉลองสมณศักดิ์ บายศรีที่ใช้ในการสมโภชมีทั้งบายศรีปากชามและบายศรีต้น ในพิธีของหลวง ใช้บายศรีแก้ว ทอง เงิน ตามแบบแผนที่มีการกำหนดไว้ในราชประเพณี บางพิธีอาจใช้บายศรีต้น และบายศรีตองรองทองขาว ควบคู่ไปด้วย
บายศรีนอกจากจะใช้ในโอกาสต่างๆ ตามที่กล่าวมาแล้ว ยังได้ขยายวงกว้างออกไป โดยนำไปสักการบูชาพระพุทธรูป หรือถวายแก้บน ดังที่พบเห็นกันทั่วไปตามวัดวาอารามต่างๆ จึงกล่าวได้ว่า บายศรีเป็นองค์ประกอบสำคัญในพิธีกรรมการทำขวัญ บวงสรวงบูชาเทพยดา บูชาครู เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ตนเองหรือส่วนรวม ทั้งนี้ เพราะบายศรีจะนำไปใช้เฉพาะในงานพิธี ที่เป็นมงคลเท่านั้น จะไม่ใช้ในพิธีอวมงคล
บายศรีกับการทำขวัญ
วิถีชีวิตของคนไทยตั้งแต่เกิดจนตายมักมีพิธีกรรมในการทำขวัญที่ต้องมีการใช้บายศรีเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งเกิดจากแนวความคิด ที่จะให้มีการดำรงชีวิตอย่างมีความสุข ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ และปลอดภัยจากอันตรายทั้งปวง การทำขวัญนำมาใช้ในพิธีกรรมต่างๆ ได้แก่
บายศรีเป็นเครื่องประกอบสำคัญในการทำขวัญ
การทำขวัญทารก เนื่องจากไม่แน่ใจว่าเด็กจะมีชีวิตรอดตลอดไปหรือไม่ จึงปัดเป่าเสนียดจัญไร ไม่ให้มารังควาน เด็กจะได้เติบโตอย่างแข็งแรง สมบูรณ์
การทำขวัญเดือน เชื่อว่าเด็กรอดพ้นจากอันตรายแล้ว จึงทำขวัญแสดงความยินดี
การโกนจุก เพราะเด็กย่างเข้าสู่สภาวะพ้นจากการเป็นเด็ก นับเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญ เด็กควรสำนึกในหน้าที่ ความรับผิดชอบ และเป็นผู้ใหญ่ที่ดีในอนาคต
การทำขวัญนาค เพื่อให้เกิดสวัสดิมงคล และเตือนใจผู้บวชให้พากเพียรปฏิบัติธรรม ให้สมดังเจตนารมณ์ของพ่อแม่
การทำขวัญนาค
การทำขวัญแต่งงาน เพราะคน ๒ คนจะเปลี่ยนสถานภาพมาเป็นผู้ครองเรือน จึงทำขวัญ เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิตคู่ ให้มีชีวิตแต่งงานที่สงบสุข และให้กำเนิดผู้สืบสกุลที่ดี
การทำขวัญผู้ป่วย เมื่อหายจากการเจ็บป่วย ก็ทำขวัญเสมือนเป็นการรับขวัญ และเพื่อให้ปลอดภัยจากโรคภัยไข้เจ็บ ไม่ให้เจ็บป่วยอีก
การไปต่างถิ่นหรือกลับมาจากต่างถิ่น เป็นการปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายให้ออกไป หรือสะเดาะเคราะห์ หรือส่งขวัญให้ไปอยู่กับตัว นอกจากนี้ยังเป็นเรื่องของความยินดี ให้กำลังใจ และเตือนสติให้สำนึกผิดชอบชั่วดีอยู่เสมอ
การทำขวัญต้อนรับแขกผู้มาเยือน เป็นการปัดเป่าสิ่งไม่ดีที่อาจนำเข้ามาในถิ่น และเพื่อนำสิ่งที่ดีเข้าสู่ตัวผู้มาเยือน
การทำขวัญเรือน เพื่อให้อยู่เย็นเป็นสุข
การทำขวัญโค กระบือ การทำขวัญนา การทำขวัญข้าว เพื่อความอุดมสมบูรณ์ของผลผลิต
การทำขวัญพระพุทธรูป เพื่อวิงวอนขอพุทธานุภาพให้ช่วยคุ้มครองป้องกันภัย และดลบันดาลให้ร่มเย็นเป็นสุข
พิธีบวงสรวงต่างๆ
การบวงสรวงสังเวยและการบูชาครู เป็นการแสดงถึงความเคารพ และมอบสิ่งตอบแทนให้แก่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ เพื่อช่วยดลบันดาลให้ประสบความสำเร็จ ในกิจการงาน ไม่มีปัญหาอุปสรรคใดๆ บันดาลลาภยศ และความอุดมสมบูรณ์
การประกอบพิธีกรรมต่างๆ ที่ต้องใช้บายศรีเป็นองค์ประกอบสำคัญเหล่านี้ จะต้องอาศัยผู้รู้ ผู้ชำนาญ พราหมณ์ หรือผู้อาวุโส (ในภาคอีสานและภาคเหนือ) เป็นสื่อกลางที่จะทำให้มนุษย์บรรลุเป้าหมายตามความเชื่อของตน ส่วนความเหมาะสม ที่จะใช้บายศรีชนิดใดนั้น ได้กำหนดไว้เป็นแบบแผนประเพณีที่ได้ปฏิบัติสืบต่อกันมา
บายศรีจึงไม่ได้เป็นแค่เพียงสิ่งประกอบในพิธีกรรมเท่านั้น แต่เป็นสิ่งแสดงถึงภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ ที่นำเอาความเชื่อ เรื่องเขาพระสุเมรุในไตรภูมิมาเปรียบเทียบ โดยเชื่อว่า ยอดสูงสุดของบายศรีคือเขาพระสุเมรุ ที่รายล้อมด้วยสัตบริภัณฑ์น้อยใหญ่ ทั้งยังมีการอัญเชิญพรหมเทพทั้งหลายให้มาร่วมในการประกอบพิธีกรรมต่างๆ เพื่อความศักดิ์สิทธิ์ เป็นสิริมงคล และให้บังเกิดความสำเร็จขึ้น หรือเป็นการสร้างสรรค์ภูมิปัญญาออกมาเป็นศิลปะอันงดงาม
บทสรุป
ในยุคโลกาภิวัตน์ แม้ว่าความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ได้แพร่หลายกว้างขวาง การพัฒนาประเทศมุ่งสู่อุตสาหกรรม และอิทธิพลวัฒนธรรมตะวันตกได้หลั่งไหลเข้ามามากจนทำให้ความเชื่อต่างๆ เปลี่ยนไป รูปแบบของพิธีกรรมหลายอย่าง ก็ได้เปลี่ยนแปลงไปด้วย ดังจะเห็นว่า มีบายศรีสำเร็จรูปเกิดขึ้น ในปัจจุบันมักไม่ค่อยมีโอกาสได้พบเห็นการทำขวัญต่างๆ เช่น ทำขวัญเด็ก โกนจุก บวชนาค แต่งงาน หรือทำขวัญเสาเรือน ผู้เฒ่า ผู้แก่ ที่มีความรอบรู้และเคร่งครัดในประเพณีก็หายากมากขึ้น นอกจากนี้ ช่างทำบายศรีนับวันยิ่งจะลดน้อยลงทุกที หรือจำกัดอยู่ในวงวิชาช่างหรือผู้ที่ได้รับการสืบทอดต่อมาเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ยังพอกล่าวได้ว่า พิธีกรรมที่ต้องใช้บายศรีเป็นหลักในการประกอบพิธีนั้นยังคงยึดถือปฏิบัติอยู่ในบางท้องถิ่น โดยเฉพาะในภาคอีสาน และภาคเหนือ ส่วนในพิธีของหลวงนั้น ถือว่า ยังคงรักษาและยึดมั่นในแบบแผนประเพณีอย่างเคร่งครัด ดังนั้น บายศรีจึงยังคงเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่อนุชนรุ่นหลังจะได้รู้จัก และชื่นชมในภูมิปัญญาของบรรพชนกันต่อไป