จากวิถีฮิมโขง... 

สู่ความ (ไม่) มั่นคงในวิถีเกษตร

"จะมีอะไรการันตีได้ว่า 

"วิถีเกษตร"  เป็นความมั่นคง

ที่ชาวบ้านตามหาอยู่อย่างแท้จริง"

บ้านห้วยลึก

บ้านห้วยลึก อำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงรายเป็นชุมชนสุดท้ายของฝั่งประเทศไทย ที่มีเขตแดนติดกับประเทศลาว โดยมีแม่น้ำโขงเป็นเส้นแบ่งเขตแดน  ส่วนใหญ่ประชาชนบ้านห้วยลึกนั้นเป็นชาวลาวที่อพยพพลัดถิ่นมาตั้งแต่เมื่อ 100 ปีก่อน พวกเขามีความผูกพันธ์ต่อแม่น้ำโขง และดำรงชีวิตด้วยการพึ่งพิงแม่น้ำโขงเป็นหลัก อาชีพหลักของบ้านห้วยลึกคือการทำประมง เนื่องจากในอดีตแม่น้ำโขงมีความอุดมสมบูรณ์และมีระบบนิเวศที่เอื้ออำนวยต่ออาชีพประมง แต่ภายหลังจากการเริ่มต้นของโครงการพัฒนาต่างๆ หมู่บ้านห้วยลึกจึงได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำโขง และความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศน์ริมชายฝั่งน้ำโขงก็เริ่มหายไป ทำให้ชาวห้วยลึกต้องปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตตามสภาพแวดล้อม จากการพึ่งพาน้ำโขงสู่การเกษตรบนฝั่ง ชาวห้วยลึกจึงต้องหันมาสนใจอาชีพเกษตรกรรมมากขึ้น โดยพืชที่ปลูกส่วนมากจะเป็นไร่ข้าวโพด สวนยางพารา และสวนส้มโอ 

พอมีโครงการพัฒนาต่างๆเข้ามา วิถีชีวิตของชาวบ้านก็ต้องเปลี่ยนตามไปเนอะ ก็คือ ไม่ค่อยหาปลาแล้ว บางวันน้ำไม่ขึ้น บางวันน้ำขึ้น ทำให้อวนตะข่าย ที่ลงทุนเป็นหมื่นๆหายไปเลย เพราะกระแสน้ำมันพัดไป บางทีเรือก็ต้องผูกเชือกยาวๆไว้ เพราะเวลาน้ำขึ้นที 4-5 เมตร เอาเรือไม่ทัน เรือก็ไหลไปกับน้ำ พอไหลไปแล้วก็หายไปเลย พี่พงษ์ลูกชาวประมงของหมู่บ้านห้วยลึกได้กล่าว


ในอดีตชาวห้วยลึกปลูกข้าวไร่บนพื้นที่สูงหรือบนดอย โดยใช้ลักษณะภูมิประเทศที่เป็นทางลาดชันให้เกิดประโยชน์ และมีการหมุนเวียนพืชในการเพาะปลูก ภายหลังจากปี 2553-2554 เกิดกระแสน้ำขึ้นน้ำลงที่ผิดปกติจึงทำให้ระบบนิเวศที่เคยมีนั้นเริ่มหายไป ชาวห้วยลึกไม่สามารถปลูกพืชฝั่งโขงได้อีกต่อไป จึงเริ่มหันมาทำไร่ ทำสวนบนที่ดินที่อยู่อีกฝั่งของชุมชนหรือไกลออกไปจากแม่น้ำมากขึ้น ความผิดหวังจากการถูกโกงจากพ่อค้าคนกลางในช่วงแรกที่ชาวบ้านทำไร่ข้าวโพดนั้น ทำให้ชาวบ้านหันมาทำสวน ไม่ว่าจะเป็นยางพาราและ สวนส้มโอกันมากขึ้น บ้านห้วยลึกทุกวันนี้เราจึงเห็นมีสวนยางพาราและสวนส้มโอรายล้อมอยู่รอบหมู่บ้าน 

จากอาชีพเสริม กลายมาเป็นอาชีพหลัก: 

เมื่อหาปลาไม่ได้ เลยต้องกลายมาเป็นชาวสวน

สวนยางพารา: ความหวังที่จะมีรายได้อีกครั้ง หลังจากหาปลาไม่ได้

พี่พงษ์ได้กล่าวว่า "สมัยก่อนอาชีพประมงสามารถยึดเป็นอาชีพหลักได้ สมัยที่ยังมีปลาเยอะๆนะ แต่ตอนนี้กลายเป็นว่าสวนยางกลายมาเป็นอาชีพหลัก แล้วประมงกลายเป็นอาชีพเสริม เพราะว่าความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศน์มันหายไปไง


ปัจจุบันยางพารา เป็นพืชเศรษฐกิจของประเทศที่ปัจจุบันมีการปลูกกันในหลายภูมิภาคของไทยรวมถึงหมู่บ้านห้วยลึก โดยปลูกบนที่ที่ลาดเอียง ต้องทำเป็นขั้นบันได พื้นที่สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 100 เมตร และลักษณะดินเป็นดินร่วนเหนียวหรือร่วนทราย และสามารถระบายน้ำได้ดี เนื่องจากยางพาราเป็นพืชที่อาศัยน้ำจากน้ำฝนและสามารถทำได้ตลอดทั้งปี จึงเป็นอาชีพที่ชาวห้วยลึกนิยมกันมาก 


การปลูกยางพาราทางเหนือกับใต้นั้นมีข้อแตกต่างกันเล็กน้อย แน่ชัดว่า สภาพแวดล้อม เป็นความแตกต่างข้อแรกที่เห็นได้ชัด เนื่องจากพื้นที่ในภาคเหนือ จะอยู่สูงจากน้ำทะเลประมาณ 350 เมตร ซึ่งยางพารา หากสูงจากระดับน้ำทะเลทุก ๆ 100 เมตร จะเจริญเติบโตช้า 1 ปี ในขณะที่พื้นที่ในภาคใต้ สูงจะระดับน้ำทะเล 150 เมตร ทำให้หลังจากปลูกต้นยางพาราไปได้ 4 - 5 ปี ก็สามารถเริ่มกรีดยางได้แล้ว กลับกันในภาคเหนือ ต้องปลูกต้นยางพาราอย่างน้อย 7 - 8 ปี ถึงจะสามารถเริ่มกรีดยางได้ 

หากอ้างอิงตามหลักวิชาการในด้านผลผลิตแล้ว ทางภาคเหนือ จะได้น้ำยางมาก แต่ค่า DRC ยางนั้นไม่มากนัก เนื่องจากภาคเหนือไม่สามารถทำน้ำยางสดได้ จำเป็นต้องทำยางอบแห้ง ทำให้ปริมาณน้ำนั้นออกไปมาก ถ้าหากนำไปขายในรูปแบบเศษยาง ขี้ยาง หรือยางแผ่นดิบ จะเพิ่มโอกาสได้มากกว่า ซึ่งเมื่อพูดถึงภาคใต้ เปอร์เซ็นต์ยางจะดีกว่า แต่มีน้ำยางน้อย ทำให้สามารถขายในรูปแบบน้ำยางข้นใส่ในแกลลอน จะเพิ่มโอกาสได้มากกว่า สามารถสรุปได้ว่า ทางภาคใต้ เมื่อกรีดยางเสร็จแล้ว สามารถนำไปขายได้ทันที แต่ทางภาคเหนือ ต้องใช้เวลา ในบางครั้งต้องกรีด 7 - 8 มีด ถึงจะสามารถนำไปขายได้ และผลผลิตของทางภาคใต้ เป็นรูปแบบน้ำยางสด โดยการวัดจากเปอร์เซ็นต์ยาง แต่ทางภาคเหนือ จะเป็นผลผลิตในรูปแบบเศษยาง ขี้ยางหรือยางแผ่นดิบ

ส้มโอ: ทางเลือกใหม่ที่ยังเต็มไปด้วยคำถาม บนความ (ไม่) มั่นคงในชีวิตของชุมชนริมน้ำโขง

ส้มโอ เป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของบ้านห้วยลึก รองลงมาจากยางพารา ที่นี่เกษตรกรปลูกส้มโอด้วยความรัก รสชาติที่ได้จึงมาพร้อมกับคุณภาพ และความอร่อยที่ไม่เหมือนใคร 

ส้มโอบ้านห้วยลึกมี 2 สายพันธุ์หลักคือทองดีและขาวใหญ่ เกษตรกรนิยมปลูกพืชที่มีการเพาะเมล็ดลงดินโดยใช้ระยะเวลา 2-3 ปี แต่ผลผลิตจะมากขึ้นเมื่อเข้าสู่ช่วงปีที่ 4-5


โดยปกติแล้ว ส้มโอจะผลิดอกช่วงเดือนธันวาคมถึงมกราคม และเริ่มเก็บเกี่ยวเมื่อเข้าสู่เดือนกรกฎาคมจนกระทั่งถึงเดือนตุลาคม        ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศในแต่ละปีด้วยพี่พงษ์เกษตรกรบ้านห้วยลึกกล่าว


ส้มโอเป็นพืชที่ต้องการน้ำมาก เกษตรกรต้องหมั่นรดน้ำอย่างสม่ำเสมอ อีกทั้งยังชอบดินที่มีค่า pH ระหว่าง 4.5-7 ซึ่งความเป็นกรดหรือด่างของดินจะมีผลต่อคุณภาพและรสชาติของผลผลิต


ส้มโอบ้านห้วยลึก มีลักษณะเฉพาะตัวคือมีรสชาติที่หวานอมเปรี้ยว ซึ่งแตกต่างจากทางภาคกลางและภาคใต้ 

ส้มโอบ้านห้วยลึกล้วนเกิดขึ้นจากแรงกายแรงใจและความมุ่งมั่นตั้งใจของเกษตรกร เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพต่อไป

จริง ๆ แล้ว ในอดีตนั้น เกษตรกรสามารถขายส้มโอให้กับพ่อค้า นำไปขึ้นห้าง หรือแม้กระทั่งส่งออกนอกประเทศได้ ตลาดของส้มโอจึงถือได้ว่า เป็นตลาดที่มีโอกาสมากกว่าสวนยางพารา แต่ในช่วงหลัง โดยเฉพาะหลังจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา ในปี 2019 ตลาดส้มโอก็ประสบปัญหากับความปรวนแปรของราคาส้มโอ ส่งผลให้เกษตรกรและพ่อค้าต้องขายส้มโอในราคาที่ขาดทุน


ถึงแม้ว่า พี่จะเริ่มมีการแปรรูปส้มโอสดเป็นส้มโอกระป๋องเพื่อให้ส้มโอสามารถส่งออกนอกประเทศได้ แต่ด้วยโรคแคงเกอร์ในส้มโอ หรือ หากจะส่งออก ก็ต้องฉายรังสีก่อน ซึ่งค่าใช้จ่ายสูง พี่เลยคิดว่า สวนส้มโอนั้น ยากจะไปต่อ พี่พงษ์กล่าว


เมื่อสวนส้มโออาจจะถึงทางตัน พี่พงษ์จึงเริ่มหันมาสนใจ และเริ่มศึกษาการปลูกทุเรียน เพราะเป็นพืชที่มีราคาสูง และหากว่าในชุมชนห้วยลึกสามารถปลูกทุเรียนได้สำเร็จก็จะสร้างความเจริญเติบโตแก่เศรษฐกิจในชุมชนต่อไปในอนาคตอีกด้วย 


พี่พงษ์ทิ้งท้ายไว้ว่า การปลูกส้มโอนั้นคนที่รวย จะเป็นพ่อค้าเท่านั้น แต่สำหรับการปลูกทุเรียนนั้นคนปลูกก็สามารถรวยได้

ชุมชนริมน้ำโขงท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงแบบเดินหน้าสองก้าวถอยหลังสามก้าว

ในขณะเดียวกัน หากพูดถึงการทำสวนยางพารา ที่ในอดีต มักถูกมองว่า กว่าจะสร้างเงินได้นั้น ต้องใช้ทั้งเวลาและการดูแลเอาใจตั้งแต่นำต้นกล้าเข้าดิน ซึ่งต้องค่อยดูแลตลอด 7 ปี กว่าต้นยางพาราจะเติบโตจนสามารถเริ่มกรีดขายได้ แต่เมื่อเวลานั้นมาถึง ต้นยางพาราสามารถสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรได้ตลอดทั้งปี โดยไม่ต้องมีการดูแลและบำรุงมาก เมื่อเทียบกับส้มโอ เนื่องจาก ยางพารามีความต้านทานต่อสภาพอากาศ และสภาพดินดีกว่า การปลูกยางพาราจึงถือเป็นการลงทุน ที่ได้ผลตอบแทนที่มั่นคง และยั่งยืนเกษตรกรบ้านห้วยลึก ด้วยเหตุนี้เอง พี่ยา ผู้รับจ้างกรีดยางจึงกล่าวถึงแนวโน้มของสวนยางพาราในอนาคตไว้ว่า 

ต้นยางพารานั้นมีแต่จะปลูกเพิ่มขึ้น ไม่มีทางน้อยลงหรอก

จะเห็นได้ว่า ถึงแม้ชาวบ้านห้วยลึก จะมีการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต และการทำอาชีพ จากประมง เป็นเกษตรกรรมบนชายฝั่งแล้ว ก็ยังคงประสบปัญหาความไม่มั่นคง และความไม่ยั่งยืนของพืชที่ปลูก ทั้งส้มโอที่ในอดีต ให้ผลตอบแทนที่ดี แต่เมื่อเวลาผ่านไป ส้มโอก็ไม่สามารถให้ผลตอบแทนได้เท่าเดิม จนต้องหาลู่ทางใหม่ ๆ เช่นเดียวกันกับสวนยางพารา ที่ถึงแม้ตอนนี้ ชาวบ้านจะถือว่า เป็นความยั่งยืน แต่แล้วมีสิ่งใดที่จะสามารถการันตีได้ว่า สวนยางพารานี้ จะเป็นความยั่งยืนที่ชาวบ้านตามหาอยู่อย่างแท้จริง และชาวบ้านไม่ต้องลองถูกลองผิดอีกครั้ง ทั้งนี้ ความไม่มั่นคงเหล่านี้ ล้วนเป็นผลมากจากโครงการการพัฒนาในพื้นที่ที่ชาวบ้านอาจไม่ได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ แต่ชาวบ้านกลับเป็นผู้ได้รับผลกระทบนั้น