ประวัติความเป็นมา

วัดพระบรมธาตุ พระอารามหลวง วัดพระบรมธาตุนครชุมเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ เป็นวัดเก่าแก่อยู่คู่เมืองกำแพงเพชรมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ภายในมีศาสนสถานที่สำคัญหลายอย่าง เช่น พระบรมธาตุเจดีย์ภายในบรรจุพระสารีริกธาตุ ๙ องค์, ต้นศรีมหาโพธิ์ขนาดใหญ่ที่พระยาลิไททรงปลูกไว้,พระอุโบสถหลังเก่า,พระวิหาร,วิหารพระนอน,ศาลาเรือนไทย นอกจากนี้ยังมีศาลาการเปรียญที่ใช้เป็นศูนย์วัฒนธรรมไทยสายใยชุมชน เพื่อให้เป็นแหล่งความรู้แก่ชุมชน และเมื่อได้เข้าไปนมัสการและบูชาแล้ว ดังได้พบกับพระพุทธเจ้าด้วยตนเอง เป็นพระบรมธาตุเจดีย์ที่อยู่คู่เมืองกำแพงเพชรมาตั้งแต่สมัยเป็นเมืองนครชุมกินเวลายาวนานมากกว่า ๖๐๐ ปี และยังคงยั่งยืนสืบต่อกันมาเป็นองค์มหาเจดีย์แห่งศรัทธา จวบจนปัจจุบัน

พระบรมธาตุนครชุมเป็นวัดที่สร้างขึ้นมาพร้อมกับเมืองนครชุมเป็นวัดประจำเมืองเหมือนกับวัดพระแก้วประจำเมืองกำแพงเพชรและวัดพระบรมธาตุ จากจารึกนครชุมเดิมภายในวัดมีเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ (ทรงดอกบัว)สามองค์ตั้งอยู่บนฐานเดียวกัน สันนิษฐานว่าสร้างโดยกษัตริย์ในสมัยกรุงสุโขทัย คือพระมหาธรรมราชาลิไทหรือพระยาลิไท สร้างขึ้นในปี ๑๙๐๐ เพื่ออุทิศถวาย พ่อขุนศรีอินทราทิตย์องค์หนึ่ง พ่อขุนรามคำแหงองค์หนึ่ง และพระเจดีย์ประจำรัชกาลองค์อีก ๑ องค์ และได้นำพระบรมสารีริกธาตุ ๙ องค์ สถาปนาไว้ในพระเจดีย์องค์กลาง และพระองค์ได้เสด็จมาพระมหาธาตุเจดีย์เป็นประจำทุกปี ซึ่งในสมัยสุโขทัยนั้นวัดพระบรมธาตุนครชุมมีความเจริญ มากเพราะเป็นวัดพระอารามหลวงประจำเมือง

วัดพระบรมธาตุเจริญรุ่งเรืองมากกว่า ๒๐๐ ปี จนกระทั่งเมืองนครชุมถึงภาวะล่มสลายตามกฎแห่งอนิจจัง เพราะแม่น้ำปิงกัดเซาะแนวกำแพงเมืองนครชุมพังพินาศความเจริญทางพุทธจักรและอาณาจักรได้สูญสิ้นไปจากเมืองนครชุม เมืองฝั่งตรงข้ามทางทิศตะวันออก คือ เมืองกำแพงเพชร ได้เจริญรุ่งเรืองขึ้นมาแทนที่ วัดพระบรมธาตุร้างมากว่า ๓๐๐ ปี จนกระทั่งถึงต้นกรุงรัตนโกสินทร์วัดพระบรมธาตุมีหลักฐานที่ชัดเจนอีกครั้ง จากหนังสือพระราชนิพนธ์เสด็จประพาสต้นครั้งที่ ๒ เมื่อเดือนสิงหาคม ๒๔๔๙ ณ เมืองกำแพงเพชร ความว่า…ในพ.ศ.๒๓๒๙ สมเด็จพุฒาจารย์ (โต) แห่งวัดระฆังโฆษิตาราม ได้เสด็จมาเยี่ยมญาติที่เมืองกำแพงเพชร พักที่วัดเสด็จได้อ่านจารึกนครชุมที่ประดิษฐาน ณ อุโบสถวัดเสด็จ ตำบลเมือง อำเภอเมืองกำแพงเพชร จังหวัดกำแพงเพชร ได้ทราบว่ามีเจดีย์.โบราณบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ อยู่ริมน้ำปิง ฝั่งตะวันตกตรงข้ามเมืองเก่าสามองค์ ได้ให้เจ้าเมืองกำแพงเพชรพระยารามณรงค์สงคราม (น้อย) ได้ป่าวร้อง ให้ประชาชนแผ้วถางพบเจดีย์ตามจารึกและปฏิสังขรณ์ขึ้นในปี พ.ศ.๒๔๑๔ (ซงพอหรือพระยาตะก่า)

พ่อค้าไม้ชาวกะเหรี่ยงมีใจศรัทธาจะบูรณะปฏิสังขรณ์ พระเจดีย์วัดพระบรมธาตุนครชุม พระยากำแพงเพชร เจ้าเมืองได้ทำหนังสือขออนุญาตลงมาที่กรุงเทพฯ ทางกรุงเทพฯจึงตอบอนุโมทนาและอนุญาตให้ซ่อมแซมได้

สิ่งสำคัญที่สุดภายในวัดก็คือ พระบรมธาตุเจดีย์ เดิมนั้นเป็นเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ (ทรงดอกบัว) สามองค์ตั้งอยู่บนฐานเดียวกัน ในปี พ.ศ ๒๔๑๔ (แซภอ หรือพระยาตะก่า) และพ่อค้าไม้ชาวกะเหรี่ยงมีใจศรัทธาจะบูรณปฏิสังขรณ์พระเจดีย์วัดพระบรมธาตุนครชุม โดยสร้างครอบฐานเดิม ต่อมา พ.ศ.๒๔๑๘ แซภอ ถึงแก่กรรม การปฏิสังขรณ์ชะงักไป จนถึง พ.ศ.๒๔๔๗-๒๔๔๘ พะโป้ จึงรวบรวมทุนทรัพย์ เริ่มปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่จนสำเร็จและยกยอดฉัตรขึ้นประดิษฐานในเดือน ๖ พ.ศ.๒๔๙๙ ก่อนที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจะเสด็จประพาสต้นเมืองกำแพง เพียง ๓ เดือน ปัจจุบันพระบรมธาตุเจดีย์เป็นเจดีย์ทรงไทยประยุกต์มอญ เนื่องจาก การบูรณะครั้งใหญ่ในสมัยรัชกาลที่ ๕ นั้นพระยาตะก่า และพะโป้คหบดีพ่อค้าไม้ชาวกะเหรี่ยงได้สร้างพระเจดีย์ทรงมอญครอบไว้บนฐานเดิม เนื่องจากใช้ช่างชาวกะเหรี่ยง ลักษณะองค์จึงออกไปทางศิลปะพม่า พระเจดีย์จึงมีรูปอย่างที่เห็นในปัจจุบัน และได้บูรณะใหม่ อีกครั้ง ในปี ๒๕๓๓ โดยทำเป็นสีทองทั้งองค์ มีซุ้มจรทั้งสี่ทิศประดิษฐานพระพุทธรูปประจำซุ้ม ตั้งอยู่บนฐานสูงประมาณ ๑ เมตร มีกำแพงล้อมรอบ เป็นองค์เจดีย์ขนาดใหญ่ที่มีความสวยงามอีกแห่งหนึ่งของเมืองไทย และเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์อย่างยิ่ง เพราะภายในบรรจุพระบรมสาริกธาตุ ๙ องค์ ซึ่งเป็นที่เคารพศรัทธาของประชาชนมาเป็นเวลาช้านาน บริเวณด้านหน้าพระบรมธาตุ ทำเป็นศาลาเล็ก ๆ เพื่อใช้เป็นจุดบูชาพระบรมธาตุ และมีบริการดอกไม้ธูปเทียน มีองค์พระธาตุจำลองสำหรับให้ปิดทองและมีพระพุทธรูปอีกหลายองค์ให้เราได้กราบไหว้บูชา

วัดพระบรมธาตุนอกจากจะมีสถานที่สำคัญหลายอย่างแล้ว ภายในวัดก็มีแหล่งความรู้ที่สำคัญคือศูนย์วัฒนธรรมไทยสายใยชุมชนตำบลนครชุม โดยจัดแสดงเป็นอาคารทรงไทยสวยงาม ทำด้วยไม้สักทองทั้งหลัง ภายในจัดแสดงวัตถุโบราณและข้าวของเครื่องใช้ในอดีตมากมาย และแสดงเรื่องราวทางประวัติศาสตร์อีกหลายอย่าง แสดงวิถีชีวิตของชาวเมือง เป็นศูนย์รวบรวมวัตถุโบราณและเรื่องราวต่าง ๆของเมืองนครชุมเอาไว้มากมาย เพื่อให้เป็นแหล่งการเรียนรู้และถ่ายทอดถูมิปัญญาท้องถิ่น ทั้งทางด้านศาสนา ศิลปวัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาคุณภาพชีวิต แก่ชุมชนและสังคม ในยุคปัจจุบันเพื่อให้ยั่งยืนสืบไป นอกเราจะได้บูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์แล้ว เรายังสามารถใช้เป็นแหล่งความรู้และเรียนรู้ได้อีกด้วย ภายในวัดกว้างขวางสะอาดจัดระเบียบอาคารได้อย่างดี เป็นวัดพัฒนาตัวอย่างอีกวัดหนึ่ง