สถาปัตยกรรมเขานางทองอดีตมีพระเจดีย์แบบนี้มียอดเป็นรูปดอกบัวตูม หรือเรียกกันว่า ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ หรือทรงทนาฬ ตั้งอยู่เหนือเรือนธาตุสี่เหลี่ยมย่อไม้ยี่สิบ ที่เรือนธาตุลางองค์มีการจัดซุ้มพระพุทธรูปยืนทั้ง 4 ทิศ นักโบราณคดีและนักประวัติศาสตร์ศิลปะพากันยกย่องว่า พระเจดีย์ทรงบัวตูม เป็นสถาปัตยกรรมแบบสุโขทัยแท้ที่ศิลปินสุโขทัยคิดแบบอย่างของตนขึ้น พระเจดีย์แบบนี้นิยมสร้างไว้ตามเมืองต่าง ๆ ในสมัยสุโขทัยเท่านั้น ไม่มีการสร้างต่อมาในสมัยกรุงศรีอยุธยาเลย

      ศิลาแลงกรุงสุโขทัย ราชธานีของคนไทยเมื่อประมาณ 700 ปีมาแล้ว โบราณสถานที่พบเห็นในอุทยานประวัติศาสตร์แห่งชาติ ในจังหวัดสุโขทัยทั้งสองแห่ง คืออุทยานประวัติศาสตร์แห่งชาติรามคำแหงสุโขทัย และอุทยานประวัติศาสตร์แห่งชาติศรีสัชนาลัย ต่างก่อสร้างด้วย ศิลาแลง 

   ก้อนศิลาแลง มีลักษณะคล้ายหินลูกรังที่ถูกหลอมขึ้นรูป สีแดง น้ำตาลปนดำ เมื่อนำไปทำเป็นเสาจะทำเป็นรูปทรงกระบอก เมื่อทำเป็นส่วนต่าง ๆ ของอาคาร มักทำเป็นรูปสี่เหลี่ยมขนาดต่างกัน ปัจจุบันพบทั่วไปตามโบราณสถานทุกแห่งที่สร้างในสมัยสุโขทัย จำนวนก้อนศิลาแลงที่พบมีจำนวนมากมายมหาศาล แต่เป็นที่น่าสังเกตและเป็นที่สงสัยกันมานานคือไม่ทราบแน่ชัดว่าแหล่งวัตถุดิบ ที่ใช้ทำศิลาแลงเพื่อการสร้างกรุงสุโขทัย นำมาจากที่ใด 

  เจดีย์รายเล็ก 3 องค์ กว้าง 2 เมตร เท่ากันทุกองค์ เจดีย์ราย คือ เจดีย์ที่มีขนาดเล็กสร้างเรียงรายรอบ ๆ บริเวณเจดีย์ประธาน โดยอยู่ถัดออกมาจากเจดีย์ประธาน เจดีย์ประจำมุม และเจดีย์ประจำทิศ คำว่า เจดีย์ราย เป็นศัพท์เรียกระบุตำแหน่ง ไม่ได้หมายถึงรูปแบบ  

   วิหาร 4 ตอน วิหารสุโขทัย อาณาจักรสุโขทัย นิยมสร้างวิหารที่มีขนาดใหญ่กว่าโบสถ์เพื่อใช้เป็นที่ประกอบ พิธีอุปสมบท ประกอบสังฆกรรมของพระสงฆ์ ประดิษฐานพระพุทธรูปและใช้เป็นที่ประชุมเพื่อฟังธรรมของประชาชนวิหารมีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า วัสดุที่ใช้ในการสร้างวิหารได้แก่ ศิลาแลง อิฐ ไม้ 

  รอยพระพุทธบาท ในสมัยโบราณนั้น ไม่นิยมสร้างรูปเคารพที่เหมือนจริง เมื่อจะรำลึกถึงพระพุทธคุณของ องค์พระบรมศาสดา ซึ่งเป็นที่เคารพสูงสุด จึงไม่อาจเอื้อม ที่จะสร้างรูปเหมือน มักจะสร้างแต่เพียงสัญลักษณ์ ที่มีความหมาย ว่านี้คือพระพุทธองค์ นี้คือ ธรรมะ ที่พระพุทธองค์ทรงสั่งสอน เพื่อให้คนรุ่นหลัง ๆได้เคารพบูชา ที่ตั้งบุษบก เป็นที่ ประดิษฐานรอยพระพุทธบาทซึ่งปัจจุบันได้เก็บรักษาและจัดแสดงที่ห้องศิลปะสุโขทัย อาคารพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร สำนักศิลปากรที่ 6 สุโขทัย กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรมดังภาพ 

          บ่อน้ำ หมายถึง บ่อน้ำสำหรับดื่มกินหรือใช้ และเนื่องจากน้ำมีความสำคัญต่อชีวิต ซึ่งมีวิธีปฏิบัติในการขุด การสร้าง การใช้ การรักษาตลอดจนพิธีกรรมตามความเชื่อของแต่ละท้องถิ่นอีกด้วย โดยทั่วไปในเอกสารโบราณ พบว่ามีการเรียก น้ำบ่อ ว่า น้ำส้าง และ น้ำบ่อส้าง อีกด้วย แหล่งน้ำที่ขุดสร้างขึ้นเพื่อนำมาบริโภคใช้สอย เป็นของควบคู่กับวิถีชีวิตของมนุษย์มาแต่โบราณกาล ความผูกพันผนวกกับพื้นฐานทางวัฒนธรรมมักก่อให้เกิดเทคนิควิธี พิธีกรรมตามความเชื่อติดตามมา