ทวีปแอฟริกา

 แอฟริกาเป็นทวีปใหญ่และเก่าแก่ซึ่งชาวยุโรปรู้จักมานาน แต่เป็นทวีปที่มีสภาพภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นที่สูง ทางตอนเหนือและตอนใต้มีภูมิอากาศแห้งแล้งเป็นทะเลทราย ส่วนภาคกลางเป็นเขตป่าดิบ สภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศดังกล่าว เป็นอุปสรรคต่อการตั้งถิ่นฐาน ทำให้ชาวยุโรปให้ความสนใจทวีปนี้น้อย ประกอบกับชนพื้นเมือง  ส่วนใหญ่มีการพัฒนาทางวิชาการและเทคโนโลยีสมัยใหม่น้อยและเป็นไปอย่างเชื่องช้า จึงทำให้แอฟริกาเป็นทวีปที่มีความล้าหลังกว่าทวีปอื่นๆ แต่ปัจจุบันเป็นที่ราบกันทั่วไปว่าแอฟริกาเป็นทวีปที่อุดมด้วยทรัพยากรน้ำมัน เพชร ทองคำ และสัตว์ป่า ทั้งยังเป็นแหล่งของพืชผลเมืองร้อน และเป็นตลาดของสินค้าอุตสาหกรรมที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก            

ทวีปแอฟริกา มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ทวีปมืด หรือกาฬทวีป (Dark continent) เพราะในสมัยก่อนทวีปนี้มีความลึกลับอยู่มาก เนื่องจากสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติเป็นอุปสรรคต่อการสำรวจดินแดนภายในทวีป และแม้ในปัจจุบันทวีปแอฟริกาก็ยังล้าหลังอยู่ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และวิทยาการสมัยใหม่ ในยุคที่มีการแสวงหาอาณานิคม   ชาวยุโรปให้ความสนใจแต่ทวีปเอเชีย เพราะเข้าใจว่าทวีปเอเชียเพียงแห่งเดียวเท่านั้น ที่อุดมด้วยทรัพยากรและเป็นตลาดการค้าใหญ่ ภายหลังความคิดเช่นนี้ได้เปลี่ยนไป โดยชาวยุโรปได้หันมาให้ความสนใจต่อทวีปแอฟริกามากขึ้น ทั้งนี้เพราะทวีปแอฟริกาเป็นดินแดนที่อยู่กึ่งกลางของเส้นทางติดต่อระหว่างทวีปเอเชียกับยุโรป และทวีปยุโรปกับออสเตรเลีย นอกจากนี้ยังพบว่าทวีปแอฟริกาเป็นแหล่งผลิตพืชผลเมืองร้อนและมีแร่ธาตุมากมาย ทั้งยังเป็นทวีปที่มีประชากรอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก โดยมีจำนวนประชากรมากกว่าทวีปยุโรป แอฟริกาจึงเป็นตลาดการค้าที่สำคัญของโลกแห่งหนึ่ง 

อาณาเขตติดต่อ 

ทิศเหนือ ติดต่อกับทะเลเมดิเตอร์เรเนียน โดยมีช่องแคบยิบรอลตาร์เป็นทางออกสู่มหาสมุทรแอตแลนติก คลองสุเอชและทะเลแดงเป็นทางออกสู่สมุทรอินเดีย พื้นที่ชายฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียนทางภาคเหนือของทวีปแอฟริกา เรียกว่า บาร์บารี (Barbary)                 

ทิศตะวันออก ติดต่อกับทะเลแดง อ่าวเอเดน และมหาสมุทรอินเดีย เกาะในมหาสมุทรอินเดีย ได้แก่ เกาะมาดากัสการ์ ซึ่งเป็นเกาะใหญ่ลำดับ 4 ของโลกรองจากเกาะกรีนแลนด์ เกาะนิวกินี และเกาะบอร์เนียว โดยมีช่องแคบโมซัมบิก คั่นกับตัวทวีป เกาะอื่นๆ ได้แก่ หมู่เกาะมอริเชียส เกาะเซเชลส์ และเกาะคอโมโรส                 

ทิศใต้ ติดต่อกับมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแอตแลนติก                 

ทิศตะวันตก ติดต่อกับมหาสมุทรแอตแลนติก มีอ่าวกินีเป็นอ่าวที่ใหญ่ตอนกลางทวีป เกาะสำคัญ ได้แก่ หมู่เกาะเคปเวิร์ด หมู่เกาะคานารี และหมู่เกาะมาเดียรา


ภูมิภาค    

1. แอฟริกาเหนือ ประกอบด้วยประเทศแอลจีเรีย อียิปต์ ลิเบีย โมร็อกโก ซูดาน ตูนิเซีย และดินแดนสะฮาราตะวันตก              

2. แอฟริกาตะวันตก ประกอบด้วยประเทศเบนิน บูร์กินาฟาโซ เคปเวิร์ด โกตดิวัวร์ แกมเบีย กานา กินี กินีบิสเซา ไลบีเรีย มาลี มอริเตเนีย ไนเจอร์ ไนจีเรีย เซเนกัล เซียร์ราลีโอน และโตโก                 

3. แอฟริกาตะวันออก ประกอบด้วยประเทศบุรุนดี คอโมโรส จิบูตี เอริเทรีย เอธิโอเปีย เคนยา มาดากัสการ์ มาลาวี บอริเชียส โมซัมบิก เรอูเนียง รวันดา เซเชลส์ โซมาเลีย แทนซาเนีย ยูกันดา แซมเบีย ซิมบับเว                 

4. แอฟริกากลาง ประกอบด้วยประเทศแองโกลา แคเมอรูน สาธารณรัฐแอฟริกากลาง ชาด คองโก อิเควทอเรียลกินี กาบอง เซาโตเมและปริสซิเป และซาอีร์           

5. แอฟริกาใต้ ประกอบด้วยประเทศบอตสวานา เลโซโท นามิเบีย สาธารณรัฐแอฟริกาใต้ และสวาซิแลนด์

ลักษณะภูมิประเทศ 

1. เขตที่ราบลุ่มแม่น้ำมีที่ราบลุ่มแม่น้ำขนาดใหญ่ 4 แห่ง ได้แก่ ที่ราบลุ่มแม่น้ำไนล์ (มีความยาวที่สุดในโลก) ที่ราบลุ่มแม่น้ำไนเจอร์ ที่ราบลุ่มแม่น้ำแซมบีซี และที่ราบลุ่มแม่น้ำคองโก

2. เขตที่ราบสูงและภูเขาสูง มี 2 บริเวณ ได้แก่

          1) เขตที่ราบสูงและภูเขาสูงทางตะวันออก ได้แก่ ที่ราบสูงเอธิโอเปียและแอฟริกาตะวันออก มีภูเขาไฟทั้งที่ทรงพลังอยู่และที่ดับแล้ว มีภูเขาคิลิมันจาโร ซึ่งมียอดเขาสูงสุดในทวีปนี้ นอกจากนี้ยังมีทะเลสาบขนาดใหญ่อยู่หลายแห่ง

          2) เขตที่ราบสูงและภูเขาสูง เป็นที่ราบสูงหินแกรนิต อยู่ระหว่างแม่น้ำวาลและแม่น้ำลิมโปโป เรียกว่า เดอะแรนด์ (The Rand) หรือวิตวอเตอร์สแรนด์ (Witwatersrand) บริเวณทางตะวันออกเป็นเทือกเขาดราเคนส์เบิร์ก ทางตอนใต้เป็นแอ่งรูปจาน และทางตะวันตกเป็นเขตแห้งแล้ง

3. เขตที่ราบสูงทางตะวันตกเป็นที่ราบสูงหินเก่า มีอาณาเขตตั้งแต่ทะเลทรายซาฮาราถึงอ่าวกินี ทิวเขาที่สำคัญ ได้แก่ ทิวเขาอาฮักการ์ และทิวเขาทิเบสตี และทางใต้เป็นที่ราบสูง


ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อสภาพภูมิอากาศ

         1. ที่ตั้ง ทวีปแอฟริกามีเส้นศูนย์สูตรลากผ่านตอนกลางของทวีป ทำให้เนื้อที่ 3 ใน 4 ส่วนอยู่ในเขตร้อน อีก 1 ส่วนอยู่ในเขตอบอุ่น

          2. ลักษณะภูมิประเทศ เนื้อที่ประมาณ 2 ใน 3 เป็นที่ราบสูง มีอ่าวและคาบสมุทรน้อย พื้นที่ตอนกลางตั้งอยู่ในเขตศูนย์สูตร มีทิศทางการพัดของลมสงบไม่แน่นอน จึงได้รับอิทธิพลความชื้นและมวลอากาศจากทะเลน้อยมาก

          3. กระแสน้ำ ทางเหนือของทวีปมีกระแสน้ำเย็นกรีนแลนด์ไหลมาบรรจบกับกระแสน้ำอุ่นกัลฟ์สตรีม กระแสน้ำเย็นที่มีความหนาแน่นมากกว่าจมลงด้านล่าง และเคลื่อนตัวขึ้นมาสู่ผิวน้ำบริเวณหมู่เกาะคะแนรี ชายฝั่งตะวันตกเฉียงใต้มีกระแสน้ำเย็นเบงเกวลาไหลผ่าน ทำให้ดินแดนชายฝั่งตะวันตกเฉียงเหนือและตะวันตกเฉียงใต้มีอากาศไม่ร้อนมากนัก กระแสน้ำอุ่นโมซัมบิกไหลผ่านชายฝั่งทางใต้ของโมซัมบิกและตะวันออกเฉียงใต้ของแอฟริกา ทำให้ฤดูหนาวมีอากาศอบอุ่นชื้น

เขตภูมิอากาศ

  ทวีปแอฟริกามีภูมิอากาศที่แตกต่างกันจำแนกได้ 6 เขต ดังนี้

          1. ภูมิอากาศแบบป่าฝนเขตร้อน (Af)

          2. ภูมิอากาศร้อนชื้นแบบทุ่งหญ้าเมืองร้อนหรือทุ่งหญ้าสะวันนา (Aw)

          3. ภูมิอากาศแบบทะเลทราย (BW)

          4. ภูมิอากาศแบบทุ่งหญ้ากึ่งทะเลทราย (BS)

          5. ภูมิอากาศแบบเมดิเตอร์เรเนียน (Cs)

          6. ภูมิอากาศแบบอบอุ่นชื้น (Ca)



ทรัพยากรธรรมชาติ

 1. ดิน บริเวณที่ดินอุดมสมบูรณ์ ได้แก่ พื้นที่ลุ่มน้ำ

 2. ป่าไม้ ส่วนใหญ่ปลูกป่าเพื่อการดำรงชีพ ไม้สำคัญ ได้แก่ มะฮอกกานี โอชีบี ไอโรโค

3. สัตว์ในธรรมชาติ ทวีปแอฟริกามีสัตว์หลายชนิดมากมาย มีการจัดตั้งเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแห่งชาติขึ้น ส่วนสัตว์น้ำจะพบปลาน้ำเค็มในบริเวณแอฟริกาตะวันตก และปลาน้ำจืดในแม่น้ำไนล์

4. พลังงานที่สำคัญ ได้แก่ ถ่านหิน น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ พลังงานน้ำ และนิวเคลียร์

5. แร่ เป็นสินค้าออกที่สำคัญ ได้แก่ ทองคำ ผลิตมากในแอฟริกาใต้ ซิมบับเว และกานา เพชร ผลิตมากในแอฟริกาใต้ นามิเบีย บอตสวานา ซิมบับเว และโมซัมบิก และยังมีแร่อื่น ๆ เช่น บ็อกไซต์ ทองแดง และเหล็ก


ประชากร

จำนวนประชากร

       ทวีปแอฟริกามีประชากรประมาณ 1,029 ล้านคน มากเป็นอันดับ 2 ของโลก มีอัตราเฉลี่ยความหนาแน่นของประชากรประมาณ 34 คนต่อตารางกิโลเมตร

เชื้อชาติ

       เชื้อชาติของประชากรในทวีปแอฟริกาแบ่งเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้

          1. กลุ่มผิวดำ

          2. กลุ่มผิวขาว    

ภาษา

       แบ่งภาษาเป็น 4 กลุ่มใหญ่ ๆ ดังนี้

          1. กลุ่มภาษาเซมิติก

          2. กลุ่มภาษาซูดาน

          3. กลุ่มภาษาบันตู

          4. กลุ่มภาษาเฮาซา

ศาสนา

       ประชากรในทวีปแอฟริกายังมีความเชื่อเรื่องจิตวิญญาณอำนาจของธรรมชาติ ส่วนศาสนาที่นับถือกัน ได้แก่ ศาสนาคริสต์ ศาสนาอิสลาม และมีบางส่วนนับถือพราหมณ์-ฮินดู และศาสนายูดาห์

การกระจายของประชากร

        1. เขตที่มีประชากรหนาแน่น ได้แก่ บริเวณลุ่มแม่น้ำไนล์ในอียิปต์ ที่ราบสูงของประเทศเอธิโอเปีย คาบสมุทรในเขตสาธารณรัฐแอฟริกาใต้

        2. เขตที่มีประชากรเบาบาง ได้แก่ เขตทะเลทรายซาฮาราและคาลาฮารี แถบลุ่มแม่น้ำคองโก พื้นที่ชายฝั่งอ่าวกินี

เศรษฐกิจ 

  1. การเกษตรประกอบด้วย

          1) การเพาะปลูก มีความแตกต่างกันไปตามสภาพภูมิอากาศและภูมิประเทศ ดังนี้

             - เขตร้อนชื้น บริเวณแอฟริกาตะวันตก ลุ่มน้ำคองโก และชายฝั่งแอฟริกาตะวันออก จะปลูกพืชเมืองร้อน เช่น โกโก้ ปลูกมากในกานา พืชสำคัญ ได้แก่ เผือก มัน ปาล์ม น้ำมัน กาแฟ อ้อย

             - เขตลุ่มน้ำไนล์ เป็นเขตภูมิอากาศร้อนและแห้งแล้ง แต่ได้รับน้ำจากการชลประทาน พืชสำคัญ ได้แก่ ฝ้าย ชา อินทผลัม และข้าวฟ่าง

       - เขตเมดิเตอร์เรเนียน บริเวณตอนเหนือสุดและใต้สุดของทวีป พืชแบบเมดิเตอร์เรเนียน เช่น องุ่น ส้ม มะกอก อินทผลัม

             - เขตอบอุ่นชื้น บริเวณตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศแอฟริกาใต้และภาคใต้ของโมซัมบิก เหมาะแก่การปลูกข้าวสาลี ข้าวโพด ไม้ผล

2) การเลี้ยงสัตว์ สัตว์เลี้ยงที่สำคัญ ได้แก่ โคพันธุ์พื้นเมือง โคพันธุ์ต่างประเทศแพะ แกะ อูฐ และลา

         3) การล่าสัตว์ มีการล่าสัตว์กันมากขึ้นจนทำให้สัตว์ป่าลดลงอย่างรวดเร็ว ประเทศต่าง ๆ จึงจัดทำเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแห่งชาติที่รู้จักกันในชื่อว่า ซาฟารี

2. การทำประมง มีการทำประมงน้อย โดยสาธารณรัฐแอฟริกาใต้จับปลามากที่สุดในทวีป     

3. การทำป่าไม้ แหล่งป่าไม้เมืองร้อนที่สำคัญ ได้แก่ ชายฝั่งอ่าวกินีและลุ่มน้ำคองโก และเขตที่ราบสูงตะวันออกของแอฟริกา แต่ทวีปนี้ผลิตไม้ได้น้อยกว่าทวีปอื่น

4. การทำเหมืองแร่ แร่ที่สำคัญ ได้แก่ เพชร ทองคำ ถ่านหิน น้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติ เหล็ก และทองแดง

5. อุตสาหกรรม สาธารณรัฐแอฟริกาใต้เป็นประเทศเดียวที่มีความก้าวหน้าทางอุตสาหกรรมในทวีปนี้ และประเทศที่มีอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ได้แก่ ตูนีเซีย โมร็อกโก อียิปต์ เคนยา และแอลจีเรีย

6. การค้า
      สินค้าออก ได้แก่ น้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติ แร่ และวัตถุดิบต่าง ๆ เช่น กาแฟ โกโก้
      สินค้าเข้า ได้แก่ เครื่องจักรกล ยานยนต์ อุปกรณ์การขนส่งจากโรงงานอุตสาหกรรม น้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติ และอาหาร



 การคมนาคมขนส่ง

 1. ทางบก มักเป็นเส้นทางสายสั้น ๆ ซึ่งสาธารณรัฐแอฟริกาใต้มีเส้นทางคมนาคมหนาแน่นกว่าทุกประเทศ

       2. ทางน้ำ มีเมืองท่าขนาดใหญ่หลายเมือง เช่น อะเล็กซานเดรีย เคปทาวน์ คาซา บลังกา และมอนโรเวียและแม่น้ำที่ใช้ในการคมนาคมขนส่งทางน้ำมากที่สุด ได้แก่ แม่น้ำคองโก

       3. ทางอากาศ ประเทศที่มีระบบการคมนาคมขนส่งทางอากาศที่ดีในทวีปแอฟริกา ได้แก่ สาธารณรัฐแอฟริกาใต้ อียิปต์ เอธิโอเปีย เคนยา ไนจีเรียและกานา