📍สัตว์ป่าและพันธุ์พืช : อุทยานแห่งชาติคลองลาน จังหวัดกำแพงเพชร

สัตว์ป่า

        สัตว์ป่าที่พบในถิ่นที่อยู่อาศัยประเภทนี้ ได้แก่ กระทิง วัวแดง กวางป่า เก้ง ตะกวด ฯลฯ และ "ป่าเต็งรัง" พบในระดับความสูงประมาณ 400-600 เมตรจากระดับน้ำทะเล ชนิดไม้ที่สำคัญ ได้แก่ เต็งรัง ยอป่า สมอพิเภก รกฟ้า และสมพง ฯลฯ สัตว์ป่าที่พบในป่าประเภทนี้ได้แก่ เขียดหลังปุ่มที่ราบ เขียดอ่อง อึ่งปากขวด เก้ง เป็นต้น ในบริเวณทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของอุทยานแห่งชาติคลองลาน ซึ่งเคยเป็นที่อยู่อาศัยของชาวเขาเผ่าต่างๆ แต่ปัจจุบันทางราชการได้อพยพชาวเขาเหล่านี้มาอยู่พื้นที่ราบที่ทางราชการจัดสรรให้สภาพพื้นที่จึงถูกปล่อยให้รกร้างและกลายสภาพเป็นป่ารุ่นสอง ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าขนาดเล็ก จำพวกกระแตธรรมดา ค้างคาวขอบหูขาว กระรอก หนูฟันขาว และหนูขนเสี้ยน ส่วนในบริเวณที่เป็นถ้ำ หนึบหิน และหน้าผา เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าเฉพาะชนิด เช่น เลียงผา ค้างคาวปีกถุงเคราแดง ค้างคาวมงกุฎเล็ก ค้างคาวแวมไพร์แปลงใหญ่ และค้างคาวหน้ายักษ์ทศกัณฑ์ เป็นต้น พื้นที่บริเวณริมลำห้วย และลำคลองที่กระจายอยู่ทั่วพื้นที่อุทยานแห่งชาติ เป็นแหล่งที่หลบซ่อนหรือถิ่นอาศัยหากินของสัตว์หลายประเภท ได้แก่ กบ อึ่งกรายลายเลอะ ตะพาบธรรมดา ปลาสลา ปลาเวียน และปลาติดดิน เป็นต้น

ผืนป่าคลองลาน....บ้านของเสือ

         ผืนป่าตะวันตกของประเทศไทยเป็นผืนป่าที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก  และแหล่งที่อยู่อาศัยของเสื้อโคร่งสิ่งมีชีวิตสูงสุดของห่วงโซ่อาหาร ผืนป่าคลองลานพื้นที่รับผิดชอบของอุทยานแห่งชาติคลองลานส่วนหนึ่งของผืนป่าตะวันตก เป็นผืนป่าที่ยังมีการพบเห็นเสือโคร่ง แสดงให้เห็นว่าผืนป่าแห่งนี้นั้นมีความอุดมสมบูรณ์ การที่มีเสือโคร่งอาศัยในพื้นที่ เป็นดัชนีชี้วัดความสมบูรณ์ของพื้นที่ได้อย่างชัดเจนปัจจุบันผืนป่าแห่งนี้ยังเป็นผืนป่าแห่งความหวังในการฟื้นฟูประชากรเสื้อโคร่ง และเหยื่ออีกด้วย

กระรอก

        กระรอกต้นไม้ เป็นกระรอกที่มักพบเห็นได้บ่อยและคุ้นเคยกันดี มีหางยาวเป็นพวงสวยงาม มีกรงเล็บแหลมคม และมีใบหูใหญ่ บางชนิดมีปอยขนที่หู ส่วนกระรอกบินนั้น จะมีพังผืดข้างลำตัว สำหรับกางเพื่อร่อนจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่ง มักเป็นหากินในตอนกลางคืน มีตาสะท้อนแสงไฟ กระรอกเป็นสัตว์ที่คล่องแคล่วว่องไวมาก อาหารของกระรอกคือ ผลไม้ และ เมล็ดพืช เป็นหลัก แต่กระรอกก็ยังชอบกินแมลงด้วยเหมือนกัน โดยเฉพาะกระรอกขนาดใหญ่อย่างพญากระรอก นั้นบางครั้งก็ยังกินไข่นกเป็นอาหารอีกด้วย 

เลียงผา

       มีรูปร่างหน้าตาคล้ายแพะ ลำตัวสั้น ขายาว ขนมีเส้นเล็กและหยาบ ขนตามลำตัวมีสีเทาอมดำ บริเวณท้องจะมีสีอ่อนกว่า สีขนบริเวณหน้าแข้งหรือใต้หัวเข่ามีสีดำ ตรงหัวเข่ามีสีน้ำตาลอมแดง มีแผงคอยาวในบางตัวอาจพาดไปถึงหัวไหล่ มีต่อมขนาดใหญ่อยู่ใต้ตาเห็นได้ชัดเจน ริมฝีปากมีสีขาว หูยาวคล้ายลา มีเขาทั้งตัวผู้และตัวเมีย มีรูปร่างคล้ายเขาของแพะ แต่เขาตัวเมียจะสั้นกว่าตัวผู้ โดยทั่วไปมีขนาดความยาวลำตัวและหัว หากินตามลำพังบนภูเขาหรือหน้าผา ที่มีพุ่มไม้เตี้ยขึ้นอยู่ กินพืช เช่น ใบไม้และยอดไม้เป็นหลัก 

กวางแซมบ้า 

      กวางป่าเป็นสัตว์จำพวกกวางที่มีขนาดใหญ่ที่สุดที่มีในประเทศไทยและในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กวางป่าเพศผู้จะมีขนาดใหญ่กว่าเพศเมีย ขนของกวางป่าจะหยาบแข็ง และไม่ขึ้นถี่อย่างขนเก้ง ขนมีสีเทาน้ำตาลแกมเหลืองอ่อน สีไม่ฉูดฉาดอย่างสีขนกวางดาวและเก้ง ชอบกินใบไม้ และยอดอ่อนของพืชมากกว่าหญ้า อาหารในธรรมชาติของกวางได้แก่ เถาวัลย์อ่อน ๆ ยอดอ่อนของไม้พุ่มเตี้ย ๆ ใบไม้ใบหญ้าที่เพิ่งผลิใบ ใบไผ่ และชอบกินดินโป่งมาก 

ลิงอ้ายเงียะ

      ปัจจุบันนี้พบได้เพียง 9 แห่งเท่านั้น ซึ่งหนึ่งในนั้นคืออุทยานแห่งชาติคลองลานลิงอ้ายเงียะ เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดหนึ่งที่อยู่ในอันดับวานร (ไพรเมต) มีรูปร่างอ้วนเทอะทะ แขนและขาสั้น ขนตามลำตัวมีสีเหลืองปนเทา บางตัวอาจมีสีเข้มมากจนดูคล้ายสีน้ำตาลดำ ส่วนหัวไหล่ ศีรษะ และแขนจะมีสีอ่อนกว่าสีขนบริเวณอื่น ๆ ของร่างกาย ขนบริเวณหัวและหางมักมีสีเทาน ในบางฤดูกาลผิวหนังใต้ขนจะเปลี่ยนเป็นสีเทาอมฟ้า

      ลิงอ้ายเงี๊ยะ มักอาศัยอยู่รวมกันเป็นฝูงเล็ก ๆ การหากินจะมีสมาชิกบางตัวทำหน้าที่ระวังภัยให้ฝูง โดยจะนั่งสังเกตการณ์อยู่บนต้นไม้ซึ่งสูงที่สุด และหากมีอันตรายเข้ามาใกล้จะส่งเสียงร้องเตือนให้หลบหนี โดยจะร้องเสียงดัง "ปิ้ว"

      ลิงอ้ายเงียะจัดเป็นลิงนิสัยดุร้าย สามารถกระดิกหางได้เหมือนสุนัข กินอาหารประกอบไปด้วย ผลไม้ ยอดไม้อ่อน แมลง และสัตว์เลื้อยคลานจำพวกกิ้งก่า

เก้ง

     เก้ง เป็นสัตว์กีบที่เห็นได้ง่ายที่สุดชนิดหนึ่งในป่าเมืองไทย รูปร่างแบบกวาง แต่ตัวเล็ก หลังโก่งเล็กน้อย ลำตัวสีน้ำตาลแดง ด้านใต้ซีดและอมเทาเล็กน้อย หางด้านบนสีน้ำตาลเข้ม ด้านล่างสีขาว เก้งตัวผู้มีเขาสั้น ฐานเขาซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกระโหลกยื่นยาวขึ้นไปเป็นแท่ง มีขนปกคลุม และมีขนสีดำขึ้นตามแนวเขาจนดูเป็นรูปตัววีเมื่อมองด้านหน้าตรง ส่วนปลายเขาสั้น แต่เป็นง่ามเล็ก ๆ แค่สองง่าม ไม่แตกเป็นกิ่งก้านแบบกวาง เก้งหากินได้ทั้งกลางวันและกลางคืน แต่ส่วนใหญ่จะพบตอนเย็นหรือหัวค่ำ และตอนเช้ามืดจนถึงช่วงสาย อดน้ำไม่เก่ง จึงมักอยู่ไม่ไกลจากแหล่งน้ำ อาหารหลักได้แก่ยอดไม้ หน่ออ่อน ใบไม้ ผลไม้ และรวมถึงเปลือกไม้ด้วย ไม่ค่อยกินหญ้า 

หมูป่า

       หมูป่า เป็นสัตว์ชนิดเดียวกับหมูบ้านที่นิยมเลี้ยงกันทั่วโลกเพื่อบริโภคเนื้อ มีหลักฐานว่าในเมืองไทย มนุษย์เริ่มเลี้ยงหมูตั้งแต่ 10,000 ปีก่อนคริสต์กาล ในธรรมชาติหมูป่าชอบอาศัยในป่าชื้น ชอบตีแปลงและคลุกโคลน เพื่อรักษาอุณหภูมิร่างกายและเพื่อป้องกันแมลงรบกวน บางครั้งอาจเกลือกปัสสาวะของตัวเองเพื่อลดอุณหภูมิร่างกาย หมูป่าไวต่ออุณหภูมิแวดล้อมมาก อากาศที่ร้อนเกินไปอาจทำให้หมูป่าเป็นลมแดดได้  ส่วนใหญ่หากินเวลากลางคืน พื้นที่หากินของตัวผู้จะกว้างกว่าของตัวเมียราวสองเท่า หมูป่ามีจมูกไวมาก ประสาทรับรสก็พัฒนาเป็นพิเศษ แต่สายตาไม่ดีนัก อาหารส่วนใหญ่ของหมูป่าคือพืช แต่ความจริงหมูป่ากินอาหารแทบไม่เลือกสมกับเป็นหมู ตั้งแต่เห็ด หัวพืช เมล็ดพืช ผลไม้ ไข่ สัตว์เลื้อยคลาน ซากสัตว์  

พันธุ์พืช

       ป่าคลองลานยังมีสภาพสมบูรณ์เป็นแหล่งสุดท้ายในด้านทิศใต้ของภาคเหนือ ประกอบด้วยชนิดป่าต่าง ๆ คือ "ป่าดงดิบแล้ง" ซึ่งพบกระจายอยู่ทั่วไปที่ระดับความสูงจากน้ำทะเลประมาณ 500 เมตรขึ้นไป  ชนิดไม้ที่สำคัญได้แก่ ตะเคียนทอง ตะเคียนหิน สมพง ยมหอม พะยอม สมอพิเภก ฯลฯ  จะพบอยู่ตามริมห้วยที่มีความชื้นสูง "ป่าดิบเขา" จะพบเป็นหย่อม ๆ "ป่าเบญจพรรณ" สภาพป่าส่วนใหญ่จะเป็นป่าเบญจพรรณผสมป่าดงดิบ ชนิดไม้ที่สำคัญ ได้แก่ สัก ประดู่ ตะแบก มะค่าโมง และไผ่ชนิดต่างๆ

เฟิร์น...พืชโบราณ

        เฟิร์น เป็นหนึ่งในพืชที่ถือกำเนิดคู่โลกมาตั้งแต่ก่อนยุคไดโนเสาร์และก่อนที่มษุษยชาติ จะถือกำเนิดขึ้นมาหลายล้านปี เป็นกลุ่มพืชที่มีประมาณ 20,000 ชนิดทั่วโลก โดยในประเทศไทยพบมากกว่า 700 ชนิดทั้งนี้ เฟิร์นที่สามารถพบในอุทยานแห่งชาติคลองลาน ได้แก่ เฟิร์นเข้าหลวงหลังลาย ผักกูด ชายผ้าลีดา เฟิร์นก้านดำ เป็นต้น สำหรับประโยชน์ของเฟิร์นมีหลายด้าน เช่น เป็นอาหาร ยารักษาโรค และไม้ประดับ เป็นต้น

ผักกาดหินคลองลาน

        พรรณไม้สกุลใหม่ และเป็นพืชเฉพาะถิ่น ที่ถูกค้นพบในอุทยานแห่งชาติคลองลานในปี พ.ศ.2553ซึ่งชื่อ "ผักกาดหินคลองลาน" เป็นชื่อที่ตั้งขึ้นตามสถานที่ค้นพบ สามารถพบเห็นดอกได้ในช่วงฤดูฝนเท่านั้น ระหว่างเดือน สิงหาคม ถึง ตุลาคม ของทุกปีลักษณะดอกมีสีม่วงออกเป็นช่อโดยแต่ละช่อมีประมาณ 3-17 ดอก ก้านช่อดอกยาวได้ถึง 23 เซนติเมตร ดอกย่อย มีขนาดความยาว 5-6 เซนติเมตร กว้างประมาณ 2 เซนติเมตร กลีบดอกมี 4 กลีบ เชื่อมติดกันที่ฐาน กลีบเลี้ยงมี 3 กลีบเชื่อมติดกันหนึ่งกอมีช่อดอกตั้งแต่ 1 - 13 ช่อดอก ใบเดี่ยว รูปรี ขนาดโตเต็มที่ กว้าง 13-15 เซนติเมตร ยาว 24-25 เซนติเมตร ก้านใบยาว 14 เซนติเมตร ขอบใบหยัก ฐานใบเบี้ยว ปลายใบแหลม ด้านหลังใบและท้องใบมีสีต่างกัน หนึ่งกอประมาณ 7-20 ใบ

เห็ด

      เห็ดเป็นราชนิดหนึ่ง มนุษย์เรารู้จัก"เห็ด"และนำมาใช้บริโภคเป็นอาหารมานานกว่า 130 ล้านปี นอกจากเห็ดจะเป็นแห่งอาหาร ของมนุษย์ และสัตว์แล้วเห็ดยังมีบทบาทสำคัญในการรักษาสิ่งแวดล้อม โดยช่วยในกระบวนการย่อยสลายสิ่งตกค้างจากซากพืช เห็ดมีมากกว่า 30,000 สายพันธุ์ทั่วโลก จากการสำรวจพบเห็ดในอุทยานแห่งชาติคลองลานจำนวน 56 ชนิด

ต้นเสลาขาว

              ไม้ต้น ผลัดใบ สูง 20–35 ม. เปลือกนอกสีน้ำตาลถึงเทาเข้ม แตกตามยาว มีขนรูปดาวและขนสั้นนุ่มตามกิ่งอ่อน แผ่นใบด้านล่าง ช่อดอก กลีบเลี้ยงด้านนอก รังไข่ และผลอ่อน ใบรูปรีหรือรูปขอบขนาน ยาว 7–18 ซม. ปลายแหลมหรือแหลมยาว โคนมนหรือกลม ก้านใบยาว 4–8 มม. ช่อดอกส่วนมากออกที่ปลายกิ่ง ยาวได้ถึง 40 ซม. หลอดกลีบเลี้ยงยาว 3–4 มม. มีประมาณ 12 สัน ปลายแยกเป็นรูปสามเหลี่ยม 5–6 แฉก ยาวประมาณ 3 มม. ด้านนอกมีขนหนาแน่น ด้านในเกลี้ยง ติดทน ดอกสีขาวหรืออมม่วงอ่อน มี 5–6 กลีบ รูปไข่กลับ ยาว 1–1.5 ซม. รวมก้านกลีบที่ยาว 3–5 มม. ขอบเป็นคลื่น แผ่นกลีบย่น เกสรเพศผู้ที่สมบูรณ์มี 6–7 อัน ยาวและหนา ก้านเกสรเพศเมียยาวประมาณ 1.5 ซม. ผลแห้งแตกเป็น 6 ซีก รูปขอบขนาน ยาว 1–1.7 ซม.  ประโยชน์ของเสลาขาวปลูกประดับบ้าน เนื้อไม้ทำเครื่องแกะสลัก ด้ามเครื่องมือ ทำพื้น รอด ตง คาน ได้ดี 

ต้นประดู่

ไม้ต้น ขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ สูง 15 – 30 เมตร ผลัดใบ เรือนยอดเป็นพุ่มกลม ทึบ เปลือกนอกสีน้ำตาลดำ หนา แตกสะเก็ด เปลือกในสีน้ำตาล มีน้ำเลี้ยงสีแดง เนื้อไม้แข็งสีแดงอมเหลือง  ดอกช่อกระจะแยกแขนง ออกที่ซอกใบและปลายกิ่ง ดอกย่อยสีเหลืองแกมแสด รูปถั่ว กลีบเลี้ยงสีน้ำตาลอมเขียว หรือสีเขียว 5 กลีบ โคนเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วย ปลายแยกเป็น 2 แฉก แบ่งเป็นอันบน 2 กลีบติดกัน และอันล่าง 3 กลีบติดกัน กลีบยาวประมาณ 6 – 8 มิลลิเมตร กลีบดอก รูปผีเสื้อ มี 5 กลีบ ยาวประมาณ 8 – 15 มิลลิเมตร มีเกสรเพศผู้ 10 อัน เกสรเพศเมียมี 1 อัน ดอกมีกลิ่นหอม ใบประกอบขนนกชั้นเดียว ปลายใบคี่ เรียงสลับ ใบย่อยรูปไข่หรือรูปขอบขนาน กว้าง 2.5 – 5 เซนติเมตร ยาว 5 – 15 เซนติเมตร โคนใบมน ขอบใบเรียบ ปลายใบเป็นติ่ง แผ่นใบมีลักษณะคล้ายแผ่นหนังบางๆ ท้องใบมีขนอ่อนๆ ปกคลุม 

ต้นสัก

         เป็นไม้ต้นขนาดใหญ่ผลัดใบในฤดูร้อน ลำต้นเปลาตรงเปลือกเรียบหรือแตกเป็นร่องเล็ก ๆ สีเทา โคนเป็นพูพอนต่ำ ๆ เรือนยอดเป็นพุ่มทรงกลมค่อนข้างทึบ เปลือกสีเทา เรียบ หรือแตกเป็นร่องตื้นตามความยาวลำต้น ขึ้นเป็นหมู่ในป่าเบญจพรรณทางภาคเหนือ บางส่วนในภาคกลางและภาคตะวันตก มีอยู่บ้างทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สักมักจะได้รับความเข้าใจผิดเสมอว่าเป็นไม้เนื้อแข็งเนื่องจากว่ามันมีลักษณะพิเศษที่เป็นไม้เนื้ออ่อนที่มีความทนทานกว่าไม้เนื้อแข็งหลาย ๆ ชนิด 


ต้นตะแบก

       ต้นตะแบกจัดเป็นไม้ประดับและไม้มงคล ด้วยช่อดอกมีมักสีม่วงอมชมพูขนาดใหญ่ ฤดูดอกบานมีความสวยงาม ทั้งยังสามารถให้ร่มเงาได้ดี นอกจากนี้ชื่อของต้นตะแบกยังมีคำว่า “แบก” อันหมายความเกี่ยวกับการแบกรับไม่ให้ตกต่ำ หรือช่วยแบกรับภาระ ตะแบกจึงได้รับความเชื่อที่ว่าเป็นไม้ที่ช่วยค้ำจุนครอบครัวให้ร่มเย็น นิยมปลูกเพื่อประดับบ้านและสวน ริมถนน ทางเดิน ริมบ่อน้ำ  ต้นตะแบก ต้นไม้ชนิดหนึ่ง มีถิ่นกำเนิดอยู่ในป่าเบญจพรรณ ป่าดิบ ป่าราบที่ชื้นและแล้งทั่วไปในเอเชีย พบแพร่กระจายตั้งแต่อินเดีย จีนตอนใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และออสเตรเลีย ลักษณะของลำต้น มีความสูงประมาณ 15 – 30 เมตร แตกแขนงบนเรือนยอด ทรงพุ่มเป็นรูประฆัง กิ่งแตกแขนงจำนวนปานกลาง โคนต้นเป็นพูพอนสูงและเป็นร่องลึกล้อมรอบลำต้น ยาวสูงจนถึงกลางลำต้น ลำต้นส่วนปลายไม่เกิดร่อง มีแผลเป็นหลุมตื้นตลอดลำต้นอันเกิดจากผิวด้านนอกแตกสะเก็ดหลุดออก เปลือกชั้นในเป็นสีแดงม่วง เปลือกชั้นนอกเรียบเป็นมัน บาง สีเทาหรือน้ำตาลอมเทา สากมือเพียงบริเวณขอบหลุม 

ต้นมะค่าโมง

 เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง และเป็นไม้เนื้อแข็งที่นิยมตัดฟันมาก่อสร้างบ้านเรือน และแปรรูปเป็นเฟอร์นิเจอร์ เป็นไม้ขนาดใหญ่ แต่ไม่สูงมากนัก มีเรือนยอดเป็นพุ่มกว้าง แตกกิ่งต่ำตั้งแต่ระดับล่างของลำต้น เปลือกลำต้นมีสีน้ำตาลอ่อนอมชมพู กิ่งอ่อนมีขนปกคลุมใบมะค่าโมงเป็นใบประกอบ ใบมีรูปไข่ ฐานใบ และปลายใบมน แผ่นใบเรียบ ขนาดใบกว้างประมาณ 2-5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 4 – 10 เซนติเมตร  กดอกเป็นช่อ มีสีแดงเรื่อๆ ผลมะค่าโมง เรียกว่า ฝัก มีลักษณะแบนขนาดใหญ่ ฝักกว้างประมาณ 7 – 10 เซนติเมตร ยาวประมาณ 12 – 20 เซนติเมตร ฝักอ่อนมีสีเขียว เมื่อแก่จะมีสีน้ำตาล และเมล็ดมีลักษณะกลม เปลือกเมล็ดมีสีดำ