📍ความเป็นมาของ : อุทยานแห่งชาติน้ำตกคลองลาน จังหวัดกำแพงเพชร

อุทยานแห่งชาติคลองลาน

            สืบเนื่องจากนายเทพ ไสยานนท์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีหนังสือ ที่ กส 0215/230 ลงวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2521 ถึงปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รายงานผลการไปตรวจราชการที่จังหวัดกำแพงเพชร เมื่อวันที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2521 ว่า น้ำตกคลองลาน กิ่งอำเภอคลองลาน เป็นบริเวณป่าต้นน้ำลำธารและเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ แต่ขาดการดูแลรักษา และมีการลักลอบตัดไม้ไปใช้สอย หากปล่อยทิ้งไว้บริเวณป่าต้นน้ำลำธารก็จะถูกทำลายลงไป ทั้งนี้พื้นที่ดังกล่าวอยู่ในเขตของศูนย์พัฒนาสงเคราะห์ชาวเขา กรมป่าไม้จึงมีหนังสือ ที่ กส 0808/1114 ลงวันที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2521 แจ้งให้ ป่าไม้เขตนครสวรรค์ตรวจสอบ ซึ่งได้รับรายงานตามหนังสือ ที่ กส 0809(นว)/1596 ลงวันที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2521 ว่า ได้ทำการสำรวจสภาพพื้นที่บริเวณน้ำตกคลองลานไว้แล้ว เพื่อจะขออนุมัติกรมป่าไม้จัดตั้งเป็นวนอุทยาน เพราะเห็นว่ามีทิวทัศน์สวยงามเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจของประชาชน ซึ่งน้ำตกคลองลานอยู่ในพื้นที่สงวนไว้เป็นพื้นที่ป่าไม้ 40 เปอร์เซ็นต์ ของเขตพื้นที่ศูนย์พัฒนาสงเคราะห์ชาวเขากำแพงเพชร กรมประชาสงเคราะห์ ป่าไม้เขตนครสวรรค์จึงได้ประสานงานกับจังหวัดกำแพงเพชรและกรมประชาสงเคราะห์ขอใช้พื้นที่บริเวณน้ำตกคลองลาน จำนวน 5,000 ไร่

ที่อยู่ในพื้นที่สงวนไว้เป็นพื้นที่ป่าไม้ 40 เปอร์เซ็นต์ เพื่อจัดเป็นวนอุทยาน ซึ่งกรมประชาสงเคราะห์ไม่ขัดข้อง จังหวัดกำแพงเพชรจึงมีหนังสือ ที่ มท 0714/13/13438 ลงวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2521 แจ้งให้กรมป่าไม้ดำเนินการจัดตั้งวนอุทยานเพื่อสงวนป่าต้นน้ำลำธารแห่งนี้

              ต่อมากองอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ได้มีคำสั่งที่ 192/2523 ลงวันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2523 ให้ นายปรีชา จันทร์ศิริตานนท์ นักวิชาการป่าไม้ 4 ไปทำการสำรวจและจัดพื้นที่บริเวณป่าคลองลาน จังหวัดกำแพงเพชร เป็นอุทยานแห่งชาติ ปรากฏว่า พื้นที่ดังกล่าวมีสภาพป่าทั้งไม้สักและไม้กระยาเลยสมบูรณ์มาก เป็นภูเขาสูงมีธรรมชาติสวยงาม เป็นป่าต้นน้ำลำธารเหมาะสมที่จะจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ กองอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ ได้นำเสนอคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติมีมติในการประชุม ครั้งที่ 1/2525 เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2525 เห็นสมควรให้ออกพระราชกฤษฎีกากำหนดพื้นที่ป่าคลองลานเป็นอุทยานแห่งชาติ โดยได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดบริเวณที่ดินป่าคลองลานในท้องที่ตำบลโป่งน้ำร้อน ตำบลคลองลาน และตำบลคลองลานพัฒนา กิ่งอำเภอคลองลาน อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร ให้เป็นอุทยานแห่งชาติ ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 99 ตอนที่ 191 ลงวันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2525 เป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 44 ของประเทศ 

"น้ำตกคลองลาน"

      “น้ำตกคลองลาน” ซึ่งเป็นหนึ่งในสายน้ำที่สามารถเที่ยวชมได้ตลอดทั้งปี โดยเฉพาะในหน้าฝนเช่นนี้น้ำตกคลองลานจะมีสายน้ำชุ่มฉ่ำสวยงามอลังการมาก น้ำตกคลองลาน เป็นหนึ่งในน้ำตกใหญ่ของเมืองไทย มีความสูงราว 100 เมตร กว้างประมาณ 40 เมตร บริเวณใต้น้ำตกคลองเป็นแอ่งน้ำขนาดใหญ่ ในยามปกติสามารถลงเล่นน้ำได้ น้ำตกคลองลาน เกิดจากเทือกเขาขุนคลองลาน ซึ่งมียอดสูง 1,439 เมตรจากระดับน้ำทะเล บริเวณเหนือหน้าผาน้ำตกเป็นที่ราบกว้าง ในฤดูฝนสายน้ำจะไหลจากลำห้วยต่าง ๆ ประมาณ 5 สาย ลงสู่แอ่งน้ำกลางหุบเขา เกิดเป็นวังน้ำลึกและลำน้ำยาวประมาณ 3 กิโลเมตร จากนั้นสายน้ำได้ไหลผ่านหน้าผาสูงตกลงมาเป็นสายน้ำตกคลองลานอันยิ่งใหญ่สวยงาม ซึ่งเป็นน้ำตกที่มีสายน้ำตลอดทั้งปี แต่จะมีปริมาณน้ำมากและสวยงามน่าเที่ยวมากที่สุดในช่วงกลางฤดูฝนถึงปลายฝนต้นหนาว

            น้ำตกคลองลาน ตั้งอยู่ห่างจากที่ทำการ อช.คลองลานประมาณ 500 เมตร โดยบริเวณลานจอดรถจะมีร้าน “Coffee Park” ร้านกาแฟวิวหลักล้านภายในอุทยานฯ ที่สามารถมองเห็นน้ำตกคลองลานได้อย่างสวยงาม เป็นการอุ่นเครื่อง ในอารมณ์ก่อนจะเดินเท้าไปตามเส้นทางเดินเท้าที่จัดทำอย่างดี กลมกลืนกับธรรมชาติสู่ตัวน้ำตกคลองลานอันสวยงาม สำหรับนักถ่ายภาพน้ำตกคลองลานมีหลากหลายมุมงามให้เลือกถ่ายภาพ รวมถึงมีเส้นทางเดินป่าเพื่อขึ้นไปชมวิวน้ำตกมุมสูงหรือที่เรียกว่า “จุดชมวิวกิ่วงวงช้าง” ซึ่งเป็นอีกหนึ่งจุดเช็คอินที่ไม่ควรพลาดสำหรับผู้ชื่นชอบการถ่ายรูป 

น้ำตกมาจากไหน....?

"น้ำตกคลองลาน"เป็นส่วนหนึ่งของลำน้ำคลอง ลำน้ำนี้มี ต้นกำเนิดมาจากสันเขาถนนธงชัยทางด้านทิศตะวันตกโดยมีจุดสูงสุดที่มีความสูง 1,439 จากระดับน้ำทะเลด้วยสภาพภูมิประเทศ เต็มไปด้วยภูเขาสลับซับซ้อนจึงก่อให้เกิดเป็นลำน้ำหลายสายไม่ว่าจะเป็นคลองสวนหมาก คลองน้ำไหล และคลองลาน

📍ความเชื่อ

ศาลเจ้าพ่อกัญระยามะกะและเจ้าแม่กัญระยาเตสม

เป็นศาลที่เกิดจากความเชื่อ และเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของคนในท้องถิ่นอีกครั้งในวันที่25 ธันวาคมของทุกปี ซึ่งเป็นวันประกาศจัดตั้งอุทยานแห่งชาติคลองลานจะมีการไหว้ศาลเพื่อขอให้คุ้มครองเจ้าหน้าที่ และนักท่องเที่ยวตลอดจนเพื่อความเป็นสิริมงคล

อ้างอิง : หมีหลงเที่ยว