ความเป็นมา

วัดช้างรอบ 

  เป็นโบราณสถานร้างตั้งอยู่บนเนินเขาลูกรัง นอกกำแพงเมืองทางด้านทิศเหนือที่เป็นเขตอรัญญิกของเมืองโบราณกำแพงเพชร ในอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร ตำบลหนองปลิง อำเภอเมืองกำแพงเพชร จังหวัดกำแพงเพชร 

        เป็นวัดใหญ่ที่สุด และสำคัญที่สุดในบรรดาวัดนอกกำแพงเมืองตั้งอยู่บนเนินสูง เจดีย์ประธานเป็นเจดีย์ทรงลังกา รูประฆังกลม มีพระเจดีย์ใหญ่ตั้งอยู่กลางลาน ฐานเจดีย์กว้าง 31 เมตร สี่เหลี่ยมที่ฐานเจดีย์เป็นรูปช้างครึ่งตัวเห็นแต่ 2 ขาหน้า หันศีรษะออกจากฐานรายรอบเจดีย์ เป็นช้างทรงเครื่องจำนวน 68 เชือก ระหว่างช้างมีลายปูนปั้นเป็นรูปใบโพธิ์ กับมีรอยตั้งรูปยักษ์และนางรำติดอยู่แต่ชำรุดหัก เห็นไม่สมบูรณ์ ทางขึ้นไปบนฐานทักษิณมีบันไดสี่ด้าน ตรงเชิงบันไดมีรูปสิงห์หักอยู่ที่ฐาน ฐานเจดีย์จากพื้นดินถึงลานทักษิณชั้นบนสูงประมาณ 7 เมตร กลางลานมีเจดีย์ฐานเขียงแปดเหลี่ยมฐานกว้างประมาณ 20 เมตร

       ลักษณะเป็นเจดีย์แบบลังกายอดหัก ด้านหน้าฐานเจดีย์เป็นวิหารใหญ่ กว้าง 17 เมตร ยาว 34 เมตร ฐานสูงประมาณ 1.5 เมตร วิหารเป็นเสา 4 แถว 7 ห้อง มีมุขเด็จข้างหน้าหนึ่งห้อง ต่อจากวิหารใหญ่เป็นสระซึ่งขุดลงไปในพื้นศิลาแลง กว้าง 23 เมตร สี่เหลี่ยมลึก ประมาณ 8 เมตร มีน้ำขังอยู่บางฤดู

       การที่นำช้างมาประดับเช่นนี้ อาจมีความหมายเชิงสัญลักษณ์ในพุทธประวัติว่า ช้างเป็นสัตว์มงคลที่ช่วยค้ำชูพระพุทธศาสนาไว้ และอาจแสดงความหมายถึง ช้างที่ช่วยค้ำยันเขาพระสุเมรุ ซึ่งเป็นศูนย์กลางของ จักรวาลอันเปรียบได้กับเจดีย์ประธาน รูปแบบการสร้างวัดช้างล้อมนั้น มีทั้งที่วัดในอำเภอสุโขทัย อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย และที่วัดในจังหวัดกำแพงเพชร แต่ที่จังหวัดกำแพงเพชร เรียกว่า วัดช้างรอบ ที่วิหารหน้าเจดีย์มีพระพุทธรูปปูนปั้นชำรุด โบราณสถานอื่นก็มี เจดีย์ราย กำแพงแก้วล้อมรอบชั้นหนึ่ง มีคูน้ำล้อมรอบนอก ห่างไปทางตะวันออกมีโบสถ์ที่มีน้ำล้อมรอบ เรียกว่า อุทกสีมา หรือนทีสีมา

       จากการขุดแต่งที่ฐานเจดีย์วัดช้างรอบนี้ได้พบบรรดาลวดลายต่าง ๆ เป็นดินเผารูปนางรำ รูปยักษ์ รูปหงส์ รูปหน้าเทวดา และหน้ามนุษย์ ซึ่งตามลักษณะโบราณวัตถุเป็นศิลปสมัยอยุธยาตอนต้น หรือสุโขทัยตอนปลาย ทำให้ทราบลักษณะเครื่องแต่งตัว การฟ้อนรำและลักษณะอื่น ๆ ของคนสมัยสุโขทัยตอนปลาย ซึ่งเป็นประโยชน์ในการศึกษาศิลปะและโบราณคดี บรรดาโบราณวัตถุที่พบนี้ บางชิ้นเก็บรวบรวมตั้งแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติกำแพงเพช