“นักศึกษาสถาบันฝึกอบรมนายช่างภาคพื้นดิน วิทยาลัยเทคนิคถลาง รุ่นที่ 8 ได้เสร็จสิ้นการฝึกอาชีพจาก MRO เป็นที่เรียบร้อยแล้ว”
ดร.นิติ นาชิต ที่ปรึกษาด้านมาตรฐานอาชีวศึกษาธุรกิจและบริการ ให้เกียรติเป็นประธานเปิดงานปัจฉิมนิเทศนักศึกษาสาขาวิชาช่างอากาศยานเข้าฝึกอาชีพในสถานประกอบการ ประจำภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2565 โดยมี นาวาอากาศตรีบัญชา ชุนสิทธิ์ ประธาน อ.กรอ.อศ. กลุ่มอาชีพอุตสาหกรรมการบิน เป็นผู้กล่าวรายงาน พร้อมด้วย ท่านวณิชย์ อ่วมศรี นายกสถาบันการอาชีวศึกษาภาคเหนือ 1 ท่านปัทมา วีระวานิช นายกสถาบันการอาชีวศึกษาภาคกลาง 3 ท่านยงยุทธ ใจซื่อดี ผู้อำนวยการกลุ่มพัฒนาวิชาชีพด้านอุตสาหกรรม สำนักพัฒนาสมรรถนะครูและ บุคลากรอาชีวศึกษา ท่านกชกร บุษราภรณ์ ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคถลาง ท่านธาตรี พิบูลมณฑา ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคอุบลราชธานี ท่าน ดร.ศรากร บุญปถัมภ์ ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคเชียงราย ท่านนราธิป นเรศเสนีย์ หัวหน้างานตรวจสอบและรับรองคุณภาพหน่วยงานตรวจสอบและรับรองมาตรฐาน บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ท่านภพ บุณยะเวช หัวหน้าฝ่ายฝึกอบรมบุคลากรช่าง บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ท่านทนงชาย เจษฎารักษ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทวิงแสปน เซอวิสเซส จำกัด ท่านรองผู้อำนวยการ และคณะครู เข้าร่วมงานปัจฉิมนิเทศนักศึกษาฝึกอาชีพสาขาวิชาช่างอากาศยาน ตามที่คณะอนุกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา (อ.กรอ.อศ.) กลุ่มอาชีพอุตสาหกรรมการบิน ร่วมกับคณะกรรมการขับเคลื่อนศูนย์บริหารเครือข่ายการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา (CVM) สาขาวิชาช่างอากาศยาน สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา และสถานศึกษาที่จัดการเรียนการสอนในสาขาวิชาช่างอากาศยาน จำนวน 6 แห่ง ได้ส่งนักศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) สาขาวิชาช่างอากาศยานเข้าฝึกอาชีพในสถานประกอบการ ตามมาตรฐานขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ และตามข้อกำหนดของสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (CAAT) ที่กำหนดไว้สำหรับสถาบันที่ได้รับการรับรอง ซึ่งปีนี้เป็นปีที่ 2 ที่ได้ส่งนักศึกษาเข้าฝึกอาชีพในสถานประกอบการที่เป็น MRO
โดยสถานประกอบที่นักศึกษาเข้าฝึกประกอบการมีจำนวน 2 แห่ง คือ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และ บริษัท บางกอกแอร์เวย์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นศูนย์ซ่อมบำรุงที่ได้มาตรฐานระดับโลกและเป็นศูนย์ฝึกอบรมในสภาพแวดล้อมการทำงานจริง (Maintenance Experience ระหว่างวันที่ 1 พฤศจิกายน 2565 ถึงวันที่ 22 มีนาคม 2566 ที่ผ่านมา รวมจำนวนชั่วโมงฝึกของนักศึกษา 620-630 ชั่วโมง เป็นไปข้อกำหนดของสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (CAAT) ที่กำหนดไว้ 600 ชั่วโมง
โดยวัตถุประสงค์การจัดงานปัจฉิมนิเทศครั้งนี้ เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ที่ได้รับจากการฝึกอาชีพ สรุปปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะ จากการฝึกอาชีพฯ เพื่อเป็นแนวทางในฝึกอาชีพ ในปีต่อไป และเป็นขวัญและกำลังใจให้กับนักศึกษาสาขาวิชาช่างอากาศยานในการออกปฏิบัติงานจริงซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญของประเทศต่อไป
สำหรับการฝึกอาชีพในสถานประกอบการในครั้งนี้ มีจำนวนนักศึกษาเข้าฝึกทั้งหมด 41 คน โดยนักศึกษาได้ผ่าน Practical Assessment ทุกคน และมีจำนวนครูผู้ควบคุม 14 คน ถือได้ว่านักศึกษาได้รับการฝึกที่ได้มาตรฐานพร้อมต่อการทำงานในอนาคตต่อไป