แผนการจัดการเรียนรู้ที่ 4 ครอบครัวคุณภาพ

ในชีวิตคนเรามีสิ่งสำคัญอยู่ไม่กี่อย่าง และหนึ่งในนั้นคือ “ครอบครัว” ซึ่งเราไม่มีทางรู้เลยว่าตั้งแต่เล็กจนโตที่อยู่ร่วมกันมา มีใครต้องเหนื่อยกับเราขนาดไหน แม้แต่เรื่องที่เราเคยทำผิด ครอบครัวก็ยังพร้อมที่จะอภัยให้เสมอมา จะดีไหมถ้าเราเริ่มมาใส่ใจท่านตั้งแต่วันนี้ด้วยเคล็ดลับ 4 ย.

– ย. ยืดหยุ่น รู้จักอดทนอดกลั้น รู้จักให้และรับที่เหมาะสม เรียนรู้ที่จะพบกันครึ่งทาง เพื่อความสัมพันธ์ที่สมดุลและแนบแน่น ดังคำกล่าวที่ว่า “บ้านเปี่ยมรัก…สร้างจากความรักและความเข้าใจ”

– ย. ยกย่อง คำพูดที่อ่อนหวานไพเราะ ห่วงใย ให้กำลังใจ ซึ่งออกมาจากใจ บนพื้นฐานของสติปัญญา และความรักเป็นพลังเสริมสร้างแรงบันดาลใจเพื่อการเปลี่ยนแปลงตนเองและโลกได้อย่างน่าอัศจรรย์

– ย. ยืนหยัด ไม่ว่าปัญหาใดเกิดขึ้นให้ถือหลักมองสิ่งดีด้วยใจดี ก็จะทำให้เกิดกำลังใจในการดำเนินชีวิต รวมทั้งมองทุกสิ่งที่ผ่านเข้ามา-ผ่านออกไป เป็นเรื่องปกติได้

– ย. แยกแยะ รู้จักแยกแยะปัญหาแต่ละเรื่องออกจากกัน ไม่นำปัญหาภายนอกมาใส่อารมณ์กับคนในบ้าน คิดก่อนพูดและทำ จะช่วยให้ความยุ่งยากต่างๆ กลายเป็นเรื่องเล็ก และสามารถแก้ไขได้ดีในที่สุด


สภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรต่อครอบครัว : สร้างสุข ทุกพื้นที่ปลอดภัย


ครอบครัว” คือรากฐานสำคัญที่จะหล่อหลอมให้เด็กเติบโตไปอย่างมีคุณภาพ ที่ผ่านมาครอบครัวไทยเผชิญกับความท้าทายในหลาย ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ สังคม และการพัฒนาอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมถึงวิถีชีวิตที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้ ผู้คนต่างคนต่างอยู่มากขึ้น สังคม ชุมชน ขาดการทำกิจกรรมร่วมกันน้อยลงไปเรื่อย ๆ

อีกปัจจัยหนึ่งคือ ปัญหาการหย่าร้างพบมากขึ้นทุกปี เด็กที่ครอบครัวหย่าร้างจัดเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดปัญหาทางสังคม การหย่าร้างของผู้ใหญ่อาจเป็นแค่เรื่องเล็กน้อย แต่สำหรับเด็กอาจต้องแยกกันอยู่ระหว่างพ่อ หรือแม่ ซึ่งในความเป็นจริง การหย่าร้างในบางครอบครัวอาจทำให้เกิดผลกระทบกับเด็ก เนื่องจากเด็กทั่วไปมองการหย่าร้างไปในเชิงลบ บางเหตุการณ์กระทบจิตใจ ทำให้เด็กเก็บกดและแสดงออกมาในลักษณะก้าวร้าว เรียกร้องความสนใจ และสร้างปัญหาต่าง ๆ ที่อาจรุนแรงมากขึ้น

นางสาวณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส. ให้ข้อมูลว่า สถาบันครอบครัวต้องเข้มแข็ง เราสามารถตีความหมายถึงความแข็งแกร่งของสถาบันครอบครัวไปต่าง ๆ นานา แต่รู้หรือไม่ ว่าครอบครัวไม่ได้ลอยอยู่ในสูญญกาศเสมอไป ครอบครัวเปรียบเสมือนดาวที่ล้อมไปด้วยสิ่งต่าง ๆ มากมาย ทั้งหมดนี้คือระบบนิเวศน์ที่มีผลต่อความเป็นอยู่ที่ดี ความมีสุขภาวะของครอบครัว เราจะให้ครอบครัวเข้มแข็งได้อย่างไร เมื่อทุกครอบครัวต้องไปทำงานไกลบ้าน เด็กหลายคนต้องเรียนไกลบ้าน และต้องทิ้งคนแก่ไว้ดูแลบ้านและเด็ก ซึ่งปัญหาเหล่านี้มีมายาวนาน ในชนบท บางหมู่บ้านแทบจะไม่มีคนวัยแรงงานอยู่เลย เพราะวัยนี้ต้องออกไปต่อสู้ดิ้นรนอยู่ในเมืองใหญ่ ๆ จึงทำให้ชุมชนนั้น ๆ มีแต่เด็กและผู้สูงอายุ ซึ่งไม่แปลกถ้าหากเราจะเห็นเด็กเหล่านี้เกาะกลุ่มมั่วสุ่มกัน เนื่องจากขาดการใส่ใจ Ecosystem ของครอบครัว 

“สสส. มีความพร้อมที่จะเป็นกองหนุน 20 ปี ของ สสส. เราสะสม Solution มากมาย อีกทั้งภาคีเครือข่ายนั้น มีความเก่งและเชี่ยวชาญสามารถพัฒนาจนเกิดเป็นพื้นที่ต้นแบบ เกิดศูนย์เรียนรู้ต่าง ๆ มีทีมที่เก่งมากแทบจะทุกเรื่องที่เป็น  Well being ของมนุษย์ ทุกเพศ ทุกวัย เพื่อทำให้คนไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ไม่ว่าจะอยู่ในครอบครัวแบบไหนก็ตาม และเราพร้อมจะหนุนหลังฝ่ายนโยบายในทุกระดับ สามารถพูดคุยกันได้ว่าจะร่วมมือกันในรูปแบบไหน อย่างไร อีก 10 ปีข้างหน้า สสส. พร้อมแล้วที่จะเดินไปพร้อมกับทุกคนเพื่อสร้างพื้นที่ปลอดภัย และสร้างสุขให้กับสังคม” นางสาวณัฐยา กล่าวเพิ่มเติม

ปัญหาของครอบครัวมีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต ดังนี้

1. พ่อ แม่ ลูก ไม่ได้ทำบทบาทหน้าที่อย่างเต็มที่

2. พ่อแม่ต้องออกจากบ้าน หรือย้ายถิ่นทำงานเพื่อหารายได้ให้ครอบครัว

3. สถานที่ทำงานไม่เอื้อต่อการดูแลสมาชิกในครอบครัว หรือไม่สามารถสร้างสมดุลระหว่างชีวิตและงานได้

4. สมาชิกขาดการใช้เวลาร่วมกันในครอบครัว ส่งผลต่อสัมพันธภาพที่เปราะบาง สามารถก่อให้เกิดความรุนแรงในครอบครัวได้มากขึ้น