ความเป็นมาของศูนย์ประสานงาน

ประเทศไทยเป็นประเทศที่ตั้งอยู่ในเขตร้อน มีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการดำรงชีวิตของสิ่งมีชีวิตที่หลากหลาย ซึ่งคาดว่าประเทศไทยมีความหลากหลายทางชีวภาพของสิ่งมีชีวิตอยู่มากในระดับต้นๆ ของโลก โดยที่ผ่านมาได้มีการใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพในด้านของปัจจัย 4 คือ ใช้เป็นอาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค นอกจากนี้ความหลากหลายทางชีวภาพยังเป็นต้นแบบก่อให้เกิดพฤติกรรมการเรียนรู้ของมนุษย์ในด้านต่างๆ ทั้งภาษา ศิลปะ วัฒนธรรม ความเชื่อ และภูมิปัญญาท้องถิ่นตามสภาพความหลากหลายทางชีวภาพของท้องถิ่นนั้นๆ ซึ่งทรัพยากรชีวภาพเหล่านั้นยังสามารถนำมาพัฒนาต่อยอดและเพิ่มมูลค่าให้สูงขึ้นได้ จึงทำให้หลายประเทศให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณค่าความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งส่วนหนึ่งยังคงต้องดูแลรักษาไว้เพื่อสร้างความสมดุลทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และอีกส่วนหนึ่งนำมาวิจัยและพัฒนาต่อยอดเพื่อใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจอันจะนำมาซึ่งสร้างรายได้ที่ยั่งยืน แต่ในปัจจุบันการพัฒนาประเทศบนฐานการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรความหลากหลายทางชีวภาพนั้นยังไม่เกิดความยั่งยืน ทั้งนี้เนื่องจากขาดความผสมผสานระหว่างองค์ความรู้สมัยใหม่และความรู้จากภูมิปัญญาท้องถิ่น และบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญ รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจ สังคม วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งนำไปสู่ความไม่มั่นคงต่อการรักษาทรัพยากรชีวภาพ ทำให้ประเทศไทยต้องเร่งพัฒนาการบริหารจัดการทรัพยากรและองค์ความรู้ด้านความหลากหลายทางชีวภาพอย่างบูรณาการ รวมถึงการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมมาผสมผสาน

มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นและจะก้าวเข้าสู่มหาวิทยาลัยเพื่อรับใช้สังคม ได้เห็นความสำคัญของความหลากหลายทางชีวภาพและการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน ดังนั้น เพื่อให้การศึกษาวิจัยด้านความหลากหลายทางชีวภาพมีความต่อเนื่องและเกิดประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม จึงได้เข้าร่วมเป็นหนึ่งในเครือข่ายวิจัยความหลากหลายทางชีวภาพ วัฒนธรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่น ซึ่งมีการทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ ณ หอประชุมไพรพะยอม มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี ในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559 ซึ่งเครือข่ายนี้ประกอบด้วย 1) สำนักบริหารโครงการส่งเสริมการวิจัยในอุดมศึกษาและพัฒนามหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา 2) มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม 3) มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร 4) มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ 5) มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ 6) มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง 7) มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย 8) มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี 9) มหาวิทยาลัยราชภัฏ สุราษฎร์ธานี 10) มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา 11) มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี 12) มหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี 13) มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช 14) มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ 15) มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา 16) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย และ17) มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

ในวันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2559 ที่ประชุมสภามหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ ในคราวประชุมครั้งที่ 3/2559 ได้มีมติให้จัดตั้งศูนย์ประสานงานการวิจัยความหลากหลายทางชีวภาพ วัฒนธรรมและภูมิปัญญา มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ เพื่อให้การบริหารจัดการตามพันธกิจของมหาวิทยาลัย มีระบบและกลไกการขับเคลื่อนงานที่มีความชัดเจน เหมาะสม และสามารถนำไปสู่การปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรมตามยุทธศาสตร์การดำเนินงานพันธกิจสัมพันธ์มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์กับสังคม โดยดำเนินงานแบบบูรณาการพันธกิจอย่างมีส่วนร่วม มีการใช้ทรัพยากรร่วมกัน มีจุดเน้นตามความเหมาะสมทั้งเชิงประเด็นและเชิงพื้นที่ มีการทำงานเป็นประเด็นเชิงยุทธศาสตร์เฉพาะ ซึ่งศูนย์ประสานงานการวิจัยความหลากหลายทางชีวภาพ วัฒนธรรมและภูมิปัญญา สังกัดโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) เป็นหน่วยงานประสานการดำเนินงานความหลากหลายทางชีวภาพ วัฒนธรรมและภูมิปัญญากับหน่วยงานทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย 2) พัฒนายุทธศาสตร์ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ วัฒนธรรมและภูมิปัญญาโดยน้อมนำแนวพระราชดำริของโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ มาเป็นแนวปฏิบัติ และสอดคล้องกับงานด้านพันธกิจสัมพันธ์ของมหาวิทยาลัย และ 3) สังเคราะห์องค์ความรู้ นวัตกรรม และการเรียนรุ้ จากการดำเนินงานด้านความหลากหลายทางชีวภาพ วัฒนธรรมและภูมิปัญญา โดยศูนย์ประสานงานฯ มีบทบาทหน้าที่เป็นแกนประสานการดำเนินงานด้านความหลากหลายทางชีวภาพ วัฒนธรรม และภูมิปัญญา กำกับดูแลบันทึกตกลงความร่วมมือ (MOU) ของสำนักงานคณะกรรมการการอุดศึกษาตามชุดโครงการ HERP และแหล่งทุนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ให้มีผู้ประสานงานศูนย์เพื่อการบริหารจัดการตามพันธกิจด้านการวิจัยและพันธกิจสัมพันธ์ของมหาวิทยาลัยในการเชื่อมระบบเครือข่ายการขับเคลื่อนพันธกิจสัมพันธ์มหาวิทยาลัยกับสังคมของหน่วยงานภายในมหาวิทยาลัย