การจัดทำข้อตกลงในการพัฒนางาน (Performance Agreement :PA)

เตรียมพัฒนางานตามข้อตกลง(PA)ให้ตรงกับตำแหน่งและวิทยฐานะครู

ครูต้องรู้ เข้าใจ ปฏิบัติหรือพัฒนางานให้ตรงกับบทบาท หน้าที่ ความคาดหวังต่อตำแหน่งและวิทยาฐานะของครู (สายงานการสอน)

ตามหลักเกณฑ์การประเมินตำแหน่งและวิทยฐานะของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษา ตามหนังสือสำนักงาน ก.ค.ศ. ที่ ศธ.๐๒๐๖.๓/ ว ๙ ลงวันที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๖๔ กำหนดให้มีการจัดทำข้อตกลงในการพัฒนางาน (Performance Agreement :PA) ที่ข้าราชการครูต้องจัดทำและเสนอต่อผู้อำนวยการสถานศึกษา เพื่อแสดงเจตจำนงว่าภายในรอบการประเมิน จะพัฒนาคุณภาพผู้เรียน เพื่อให้ผู้เรียนมีความรู้ ทักษะ คุณลักษณะประจำวิชา คุณลักษณะอันพึงประสงค์ และสมรรถนะที่สำคัญตามหลักสูตรให้สูงขึ้น โดยสะท้อนให้เห็นถึงระดับการปฏิบัติที่คาดหวังของตำแหน่งและวิทยฐานะที่ดำรงอยู่ และสอดคล้องกับเป้าหมายและบริบทของสถานศึกษา นโยบายของส่วนราชการและกระทรวงศึกษาธิการ โดยผู้อำนวยการสถานศึกษาได้เห็นชอบให้เป็นข้อตกลงในการพัฒนางาน

ข้อตกลงในการพัฒนางาน(PA) ดังกล่าว ในหลักเกณฑ์การประเมินฯ กำหนดให้มี ๒ ส่วน กล่าวคือ

ส่วนที่ ๑ ข้อตกลงในการพัฒนาตามมาตรฐานตำแหน่ง ประกอบด้วย ๑) การปฏิบัติงานตามมาตรฐานตำแหน่งครู และมีภาระงานตามที่ ก.ค.ศ.กำหนด ๒) ผลการปฏิบัติงาน ด้านการจัดการเรียนรู้ ด้านการส่งเสริมและสนับสนุนการจัดการเรียนรู้ และด้านการพัฒนาตนเองและวิชาชีพ

ส่วนที่ ๒ ข้อตกลงในการพัฒนางานที่เสนอเป็นประเด็นท้าทายในการพัฒนาผลลัพธ์การเรียนรู้ของผู้เรียน โดยครูต้องแสดงให้เห็นถึงการปรับประยุกต์ แก้ไขปัญหา ริเริ่ม พัฒนา คิดค้น ปรับเปลี่ยน หรือสร้างการเปลี่ยนแปลง ทั้งนี้ข้อตกลงในการพัฒนางานต้องมีความสอดคล้องกับเป้าหมายและบริบทสถานศึกษา นโยบายของส่วนราชการและกระทรวงศึกษาธิการ

ในการจัดทำข้อตกลงในการพัฒนางานตามมาตรฐานตำแหน่งของข้าราชการครู ที่ครอบคลุม ถูกต้อง ตรงประเด็นนั้น จำเป็นที่จะต้องรู้และเข้าใจถึงหน้าที่และความรับผิดชอบ ลักษณะงานที่ปฏิบัติ ขอบข่ายและประเด็นลักษณะงานที่ปฏิบัติของข้าราชการครู ซึ่งสิ่งเหล่านี้กำหนดไว้แล้วในมาตรฐานตำแหน่งและวิทยฐานะประเภทผู้สอนในหน่วยงานทางการศึกษา สายงานการสอน ตามหนังสือสำนักงาน ก.ค.ศ. ที่ ศธ.๐๒๐๖.๓/ ว ๓ ลงวันที่ ๒๖ มกราคม ๒๕๖๔


ตำแหน่งสายงานการสอน มี ๒ ตำแหน่ง คือ ตำแหน่งครูผู้ช่วย และตำแหน่งครู ทั้ง ๒ ตำแหน่ง มีหน้าที่และความรับผิดชอบ ลักษณะงานที่ปฏิบัติที่แตกต่างกัน กล่าวคือ

ตำแหน่งครูผู้ช่วย มีหน้าที่และความรับผิดชอบหลักในการจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาผู้เรียน ส่งเสริมและสนับสนุนการจัดการเรียนรู้ เตรียมความพร้อมและพัฒนาอย่างเข้ม พัฒนาตนเองและวิชาชีพ และปฏิบัติงานอื่นตามที่ได้รับมอบหมาย

ส่วนตำแหน่งครู มีหน้าที่และความรับผิดชอบหลักในการจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาผู้เรียน ส่งเสริมและสนับสนุนการจัดการเรียนรู้ พัฒนาตนเองและวิชาชีพ และปฏิบัติงานอื่นตามที่ได้รับมอบหมาย

ขอบข่ายงานและประเด็นภาระงานที่ปฏิบัติของครู

ลักษณะงานที่ปฏิบัติของครูเกี่ยวกับ ๑) การจัดการเรียนรู้ ๒) การส่งเสริมและสนับสนุนการจัดการเรียนรู้ และ๓) การพัฒนาตนเองและวิชาชีพ ซึ่งต้องบูรณาการงานทั้ง ๕ ด้าน ให้เชื่อมโยงและสอดคล้องกัน

โดยในแต่ละด้าน (ขอบข่ายงาน) และเรื่องย่อยของแต่ละด้าน (ประเด็นภาระงาน) มีดังนี้

๑.ด้านการจัดการเรียนรู้

๑.๑ สร้างและหรือพัฒนาหลักสูตร โดยจัดทำรายวิชาและหน่วยการเรียนรู้ ให้สอดคล้องกับมาตรฐานการเรียนรู้ และตัวชี้วัดและผลการเรียนรู้ตามหลักสูตร ให้ผู้เรียนได้พัฒนาสมรรถนะและการเรียนรู้เต็มตามศักยภาพ

๑.๒ ปฏิบัติการสอนโดยออกแบบการจัดการเรียนรู้โดยเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ให้ผู้เรียนมีความรู้ ทักษะ คุณลักษณะประจำวิชา คุณลักษณะอันพึงประสงค์ และสมรรถนะที่สำคัญตามหลักสูตร

๑.๓ จัดกิจกรรมการเรียนรู้ อำนวยความสะดวกในการเรียนรู้ และส่งเสริมผู้เรียนได้พัฒนาเต็มตามศักยภาพ เรียนรู้และทำงานร่วมกัน

๑.๔ สร้างและหรือพัฒนาสื่อ นวัตกรรม เทคโนโลยี และแหล่งเรียนรู้ ที่สอดคล้องกับกิจกรรมการเรียนรู้ ให้ผู้เรียนมีทักษะการคิด และสามารถสร้างนวัตกรรมได้

๑.๕ วัดและประเมินผลการเรียนรู้ด้วยวิธีการที่หลากหลาย เหมาะสม และสอดคล้องกับมาตรฐานการเรียนรู้ ให้ผู้เรียนพัฒนาการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง

๑.๖ ศึกษา วิเคราะห์ สังเคราะห์ และหรือวิจัย เพื่อแก้ปัญหาหรือพัฒนาการเรียนรู้ที่ส่งผลต่อคุณภาพผู้เรียน

๑.๗ จัดบรรยากาศที่ส่งเสริมและพัฒนาผู้เรียน ให้เกิดกระบวนการคิด ทักษะชีวิต ทักษะการทำงาน ทักษะการเรียนรู้และนวัตกรรม ทักษะด้านสสารสนเทศ สื่อ และเทคโนโลยี

๑.๘ อบรม บ่มนิสัยให้ผู้เรียนมีคุณธรรม จริยธรรม คุณลักษณะอันพึงประสงค์ และค่านิยมความเป็นไทยที่ดีงาม

๒. ด้านการส่งเสริมและสนับสนุนการเรียนรู้

๒.๑ จัดทำข้อมูลสารสนเทศของผู้เรียนและรายวิชา เพื่อใช้ในการส่งเสริมสนับสนุนการเรียนรู้และพัฒนาคุณภาพผู้เรียน

๒.๒ ดำเนินการตามระบบดูแลช่วยเหลือผู้เรียน โดยใช้ข้อมูลสารสนเทศเกี่ยวกับผู้เรียนรายบุคคลและประสานความร่วมมือกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เพื่อพัฒนาและแก้ปัญหาผู้เรียน

๒.๓ ร่วมปฏิบัติงานทางวิชาการ และงานอื่นๆ ของสถานศึกษา เพื่อยกระดับคุณภาพการจัดการศึกษาของสถานศึกษา

๒.๔ ประสานความร่วมมือกับผู้ปกครอง ภาคีเครือข่าย และหรือสถานประกอบการ เพื่อร่วมพัฒนาผู้เรียน

๓. ด้านการพัฒนาตนเองและวิชาชีพ

๓.๑ พัฒนาตนเองอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง เพื่อให้มีความรู้ ความสามารถ ทักษะ โดยเฉพาะอย่ายิ่งการใช้ภาษาไทยและภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร และการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการสื่อสาร สมรรถนะทางวิชาชีพครู ความรอบรู้ในเนื้อหาวิชา และวิธีการสอน

๓.๒ มีส่วนร่วม และเป็นผู้นำในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางวิชาชีพ เพื่อพัฒนาการการจัดการเรียนรู้

๓.๓ นำความรู้ ความสามารถ ทักษะที่ได้จากการพัฒนาตนเองและวิชาชีพมาใช้ในการพัฒนาการจัดการเรียนรู้ พัฒนาคุณภาพผู้เรียน รวมถึงพัฒนานวัตกรรมการจัดการเรียนรู้

๓.๔ สร้างและสนับสนุนชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ

ระดับความคาดหวังที่เป็นคุณภาพการปฏิบัติงาน

ในทำนองเดียวกัน การจัดทำข้อตกลงในการพัฒนางานที่เสนอเป็นประเด็นท้าทายในการพัฒนาผลลัพธ์การเรียนรู้ของผู้เรียน โดยครูต้องพัฒนางานให้สอดคล้องกับระดับความคาดหวังในคุณภาพงานของตำแหน่งและวิทยฐานะนั้น ๆ และสอดคล้องกับเป้าหมายและบริบทสถานศึกษา นโยบายของส่วนราชการและกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวคือ

ความคาดหวังที่เป็นคุณภาพการปฏิบัติงานของข้าราชการครู สายงานการสอนทุกตำแหน่งและวิทยฐานะจะต้องเป็นผู้ที่มีความสามารถ และทักษะในการปฏิบัติงานด้านการจัดการเรียนรู้ ด้านการส่งเสริมและสนับสนุนการจัดการเรียนรู้ ในแต่ตำแหน่งและวิทยฐานะมีระดับความคาดหวังที่แตกต่างกัน ดังนี้

๑. ครู ต้องแสดงให้เห็นว่า เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ มีกระบวนการคิด ค้นพบองค์ความรู้ด้วยตนเอง สร้างแรงบันดาลใจ วัดและประเมินผลการเรียนรู้ตามสภาพจริง ปรับประยุกต์การจัดการเรียนรู้ รวมถึงพัฒนาตนเอง พัฒนาวิชาชีพ นำความรู้ ความสามารถ ทักษะ ที่ได้จากการพัฒนาตนเองและวิชาชีพ มาใช้ในการจัดการเรียนรู้ที่มีผลต่อคุณภาพผู้เรียน

๒. วิทยฐานะครูชำนาญการ ต้องแสดงให้เห็นว่า เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ มีกระบวนการคิด ค้นพบองค์ความรู้ด้วยตนเอง สร้างแรงบันดาลใจ วัดและประเมินผลการเรียนรู้ตามสภาพจริง เพื่อแก้ไขปัญหาการจัดการเรียนรู้ รวมถึงพัฒนาตนเอง พัฒนาวิชาชีพ นำความรู้ ความสามารถ ทักษะ ที่ได้จากการพัฒนาตนเองและวิชาชีพ มาใช้ในการจัดการเรียนรู้ที่มีผลต่อคุณภาพผู้เรียน

๓. วิทยฐานะครูชำนาญการพิเศษ ต้องแสดงให้เห็นว่า เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ มีกระบวนการคิด ค้นพบองค์ความรู้ด้วยตนเอง สร้างแรงบันดาลใจ วัดและประเมินผลการเรียนรู้ตามสภาพจริง เพื่อแก้ไขปัญหา ริเริ่ม คิดค้น และพัฒนานวัตกรรมให้คุณภาพการจัดการเรียนรู้สูงขึ้น รวมถึงพัฒนาตนเอง พัฒนาวิชาชีพ นำความรู้ ความสามารถ ทักษะ ที่ได้จากการพัฒนาตนเองและวิชาชีพ มาใช้ในการจัดการเรียนรู้ที่มีผลต่อคุณภาพผู้เรียน และสามารถเป็นแบบอย่างที่ดี

๔. วิทยฐานะครูเชี่ยวชาญ ต้องแสดงให้เห็นว่า เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ มีกระบวนการคิด ค้นพบองค์ความรู้ด้วยตนเอง สร้างแรงบันดาลใจ วัดและประเมินผลการเรียนรู้ตามสภาพจริง เพื่อแก้ไขปัญหา ริเริ่ม คิดค้น พัฒนา และปรับเปลี่ยนนวัตกรรมให้คุณภาพการจัดการเรียนรู้สูงขึ้น รวมถึงพัฒนาตนเอง พัฒนาวิชาชีพ นำความรู้ ความสามารถ ทักษะ ที่ได้จากการพัฒนาตนเองและวิชาชีพ มาใช้ในการจัดการเรียนรู้ที่มีผลต่อคุณภาพผู้เรียนสามารถเป็นแบบอย่างที่ดี และให้คำปรึกษากับผู้อื่น

๕. วิทยฐานะครูเชี่ยวชาญพิเศษ ต้องแสดงให้เห็นว่า เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ มีกระบวนการคิด ค้นพบองค์ความรู้ด้วยตนเอง สร้างแรงบันดาลใจ วัดและประเมินผลการเรียนรู้ตามสภาพจริง เพื่อแก้ไขปัญหา ริเริ่ม คิดค้น ปรับเปลี่ยน เผยแพร่และขยายผลนวัตกรรมและงานวิจัยนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในวงวิชาชีพ รวมถึงพัฒนาตนเอง พัฒนาวิชาชีพ นำความรู้ ความสามารถ ทักษะ ที่ได้จากการพัฒนาตนเองและวิชาชีพ มาใช้ในการจัดการเรียนรู้ที่มีผลต่อคุณภาพผู้เรียนสามารถเป็นแบบอย่างที่ดีให้คำปรึกษากับผู้อื่น และเป็นผู้นำ


กล่าวโดยสรุป มาตรฐานตำแหน่งและมาตรฐานวิทยฐานะครู เป็นเรื่องสำคัญและกำหนดให้เป็นกรอบการประเมินฯ ตามหลักเกณฑ์การประเมินตำแหน่งและวิทยฐานะของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษา หรือ เกณฑ์ PA ดังนั้น ครูทุกตำแหน่งและวิทยฐานะ จำเป็นต้องรู้และเข้าใจ ปฏิบัติ และพัฒนางาน ให้ตรงกับบทบาท หน้าที่ และระดับความคาดหวังในแต่ละตำแหน่งและวิทยฐานะนั้นๆ

บวร เทศารินทร์

อ้างอิง

๑. มาตรฐานตำแหน่งและมาตรฐานวิทยฐานะของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตามหนังสือสำนักงาน ก.ค.ศ. ที่ ศธ.๐๒๐๖.๓/ ว ๓ ลงวันที่ ๒๖ มกราคม ๒๕๖๔

๒. หลักเกณฑ์การประเมินตำแหน่งและวิทยฐานะของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาตำแหน่งครู ตามหนังสือสำนักงาน ก.ค.ศ. ที่ ศธ.๐๒๐๖.๓/ ว ๙ ลงวันที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๖๔

๓. หลักเกณฑ์การประเมินตำแหน่งและวิทยฐานะของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาทุกสายงาน ตามหนังสือสำนักงาน ก.ค.ศ. ที่ ศธ.๐๒๐๖.๓/ ว ๙- ว ๑๒ ลงวันที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๖๔

ภาพ ; สำนักงาน ก.ค.ศ.