ขอบเขตของงาน

การจัดการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี

ความหมายการจัดการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี

สำนักงานโครงการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี กรมอาชีวศึกษา (2541, หน้า 2) ได้ให้ความหมายไว้ว่า การจัดการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี (Dual Vocational Training หรือ DVT) คือการจัดการศึกษาโดยอาศัยความร่วมมือกันของสองฝ่าย จึงเป็นรูปแบบของการจัดอาชีวศึกษา ที่อยู่ในลักษณะของความร่วมมือในที่นี้คือ เป็นลักษณะสองฝ่าย ระหว่างสถานประกอบการและสถานศึกษาร่วมกันฝึกพนักงานให้มีคุณภาพ สองสถานที่โรงงาน (เน้นในการฝึกทักษะ) และในชั้นเรียน (เน้นในการเรียนด้านทฤษฎี) เพื่อสองวัตถุประสงค์ ได้ฝึกงานที่เกี่ยวข้องกับทักษะและได้รับประกาศนียบัตรวิชาชีพ

เฉลิมศักดิ์ นามเชียงใต้ (2541, หน้า 9) ได้ให้ความหมายการจัดการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี เป็นการจัดระบบคู่ ดำเนินการฝึกอาชีพให้แก่เยาวชนของชาติ โดยความร่วมมือของสถานศึกษาและ สถานประกอบการ

ไอมูว (iMOVE, 2002, p.27) กล่าวว่า การจัดอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี เป็นการจัดฝึกสอง แห่งควบคู่กัน คือ ในสถานประกอบการที่ผู้เข้ารับการฝึกอาชีพที่จะเรียนรู้ภาคปฏิบัติ และสถานศึกษาสำหรับภาคทฤษฎี

สงวน บุญปิยทัศน์ (2544, หน้า 11) ได้กล่าวว่า การจัดการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี เป็นการร่วมกันระหว่างสถานศึกษากับสถานประกอบการ ร่วมกันทำกิจกรรม การรับนักเรียน เพื่อจะฝึกร่วมกัน และเป็นนักเรียนสองเรื่องในตัวคนเดียวกัน คือเป็นทั้งนักเรียนและช่างฝึกอาชีพหรือพนักงานของสถานประกอบการ

ขณะที่ มันน์ (Mann, 1999, p. 6) ได้กล่าวว่า การจัดการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี คือ การเป็นเจ้าของร่วมกันระหว่างผู้ประกอบการและสถานศึกษา ทั้งสองฝ่ายเป็นผู้ร่วมโครงการที่ เท่าเทียมกัน มีการแบ่งอำนาจและความรับผิดชอบในการจัดการ การสนับสนุน ส่งเสริมของทั้งสองฝ่ายมีความสำคัญเท่าเทียมกัน

จากความหมายที่กล่าวมาข้างต้น สรุปได้ว่า การจัดการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี หมายถึง การจัดการเรียนการสอนทางด้านอาชีวศึกษา เป็นความร่วมมือกันระหว่างสถานศึกษากับสถานประกอบการ โดยสถานศึกษาจะสอนในภาคทฤษฎีและสถานประกอบการจะสอนภาคปฏิบัติ

จุดมุ่งหมายของการดำเนินการจัดการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี

การจัดการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี เป็นการร่วมมือกันระหว่างสถานศึกษากับสถาน ประกอบการ โดยที่นักเรียนจะมีสถานะเป็นนักเรียนระบบทวิภาคีและนักเรียนฝึกอาชีพซึ่งจะเกิด ผลดีทั้งสองฝ่าย สถานศึกษาบางแห่งได้ดำเนินการจัดการระบบนี้มาตั้งแต่เริ่มต้น ขณะที่บาง สถานศึกษากำลังจะได้เริ่มดำเนินการ การจัดการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคีมีจุดมุ่งหมายของการดำเนินการ พอสรุปได้ดังนี้ (สำนักงานโครงการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี,2541; มันน์, 1999)

1. เพื่อจัดเตรียมกำลังคนทางด้านอาชีวศึกษาเข้าสู่ตลาดแรงงาน

2. เพื่อผลิตช่างฝีมือผู้มีความชำนาญงานเพียงพอทั้งด้านปริมาณและคุณภาพ

3. เพื่อผลิตกำลังคนที่ตรงตามความต้องการของสถานประกอบการ

4. เพื่อจัดการสร้างระบบการจัดการศึกษาวิชาชีพระบบนี้ขึ้นมาเพื่อเป็นการให้โอกาสในการศึกษาวิชาชีพแก่เยาวชนที่สำเร็จการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น

5. เพื่อเปิดโอกาสให้บุคคลในวัยเรียนและวัยทำงานพัฒนาตนเองทางด้านวิชาชีพอย่างต่อเนื่อง

6. เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับสถานศึกษา ในการเข้าสู่ระบบการปฏิรูปทางการศึกษาตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พุทธศักราช 2542

7. เพื่อเป็นการลดปัญหาในเรื่องงบประมาณในการจัดการศึกษาทางด้านอาชีวศึกษา

8. เพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้การปฏิบัติโดยแท้จริงและมีเนื้อหาที่ทันต่อเทคโนโลยี

9. เพื่อส่งเสริมให้มีการประกอบอาชีพ การจ้างงานและอาชีพอิสระ

มันน์ (Mann, 1995, p. 8-9) ได้กล่าวถึงจุดมุ่งหมายของการจัดการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี พอสรุปได้ดังนี้

1. เพื่อประสมประสานการใช้สิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ของสถานประกอบการใน การฝึกอาชีพตามกิจกรรมที่กำหนดไว้ในหลักสูตรของสถานศึกษา ซึ่งถือเป็นการร่วมมือกันใน การจัดการศึกษา

2. เพื่อตอบสนองความต้องการของสถานประกอบการ ในการผลิตกำลังคนที่เน้นการปฏิบัติงานจริง

3. เพื่อควบคุมและเผยแพร่การจัดการศึกษาที่ไม่เพิ่มค่าใช้จ่ายให้สถานศึกษาและสถานประกอบการ

ขณะที่ เวนเซล (Wenzel, 2000, p. 8) ก็กล่าวถึง จุดมุ่งหมายของการจัดการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี สรุปได้ว่า เพื่อที่สถานประกอบการสามารถเพิ่มคุณค่าเนื้อหาในการฝึกอาชีพที่ เกี่ยวข้องของสถานประกอบการ นอกเหนือไปจากเนื้อหาในหลักสูตรที่กำหนดและเพื่อสนับสนุนการปรับเปลี่ยนกฎเกณฑ์ของการฝึกอาชีพ/หลักสูตรที่ไม่จำเป็น และตอบสนองความต้องการทางด้านเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลง

และสำนักงานโครงการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี (2545, หน้า 4) จากการประเมินผลระยะสุดท้ายของโครงการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี ได้กล่าวถึง สิ่งที่ท้าทายในการจัดอาชีวศึกษาระบบทวิภาคีที่จะต้องพิจารณาต่อไปคือ

1. แนวคิดในการมีส่วนร่วมอย่างจริงจังในการอาชีวศึกษาเป็นสิ่งใหม่สำหรับสถานประกอบการส่วนใหญ่ ถึงแม้ว่าจะประสบความสำเร็จในอดีต แต่ก็ยังมีความต้องการอย่างต่อเนื่องในการสนับสนุน และแนะนำสถานประกอบการแก่บุคลากรต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี

2. การจัดการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคีต้องการความร่วมมือระหว่างสถานศึกษาและสถานประกอบการแบบใหม่ สถานประกอบการเป็นหุ้นส่วนการดำเนินการอาชีวศึกษาและฝึกอาชีพอย่างแท้จริง เพื่อให้วิธีการใหม่นี้ทำให้ได้ผล จึงเป็นขบวนการเปลี่ยนแปลงระยะยาว ซึ่งจะต้องใช้เวลาและความพยายามเพิ่มขึ้น

การดำเนินการจัดการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี

การดำเนินการจะเป็นความร่วมมือระหว่างสถานศึกษาและสถานประกอบการที่จะผลิตช่างฝีมือออกไปสู่ตลาดแรงงานให้มีคุณภาพที่ตรงตามความต้องการ ฉะนั้น ต้องมีการกำหนด หน้าที่ ความรับผิดชอบของสถานศึกษาและสถานประกอบการให้ชัดเจน ศูนย์นิเทศอาชีวศึกษา ภาคเหนือ (2541, หน้า 29) กล่าวถึงหน้าที่ของสถานศึกษาในการจัดการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี มีรายละเอียดดังต่อไปนี้

หน้าที่ของสถานศึกษา

สถานศึกษาเป็นหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญในการให้ความรู้ทางด้านทฤษฎีและจะเป็นผู้ที่สอนในวิชาทั่วไปและวิชาชีพเฉพาะซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งในระบบทวิภาคี เพื่อจะเป็นพื้นฐาน เบื้องต้นก่อนที่นักเรียนจะออกไปเรียนที่สถานประกอบการได้เข้าใจลักษณะงานและบทบาทหน้าที่ของตนในฐานะพลเมืองดีคนหนึ่งของประเทศ ดังนั้น สถานศึกษาจะต้องดำเนินการในส่วนต่าง ๆ ดังนี้

1. การรับนักเรียน

1.1 คัดเลือกสถานประกอบการ เพื่อเข้าร่วมจัดการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี

1.2 ร่วมกับสถานประกอบการกำหนดเป้าหมายการรับนักเรียน

1.3 ประสานงานให้กับสถานประกอบการ เพื่อดำเนินการรับสมัครสอบคัดเลือกนักเรียนให้เป็นไปตามระเบียบของกระทรวงศึกษาธิการ

1.4 ขึ้นทะเบียนนักเรียนที่ทำสัญญาการฝึกอาชีพกับสถานประกอบการแล้วเป็นนักเรียนของสถานศึกษา

2. การจัดบุคลากรเพื่อรับผิดชอบในการจัดการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี มีบุคลากรที่ เกี่ยวข้องได้แก่

2.1 หัวหน้างานอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี

2.2 เจ้าหน้าที่งานอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี

2.3 อาจารย์ที่ปรึกษา

2.4 อาจารย์นิเทศก์

2.5 พนักงานธุรการ

3. การจัดแผนการเรียน สถานศึกษาและสถานประกอบการ มีการร่วมจัดทำหลักสูตรและแผนการเรียน ตามความต้องการของสถานประกอบการ

3.1 งานหลักสูตรและการสอน จัดทำแผนการเรียนในสถานศึกษา

3.2 ครูฝึกประจำสถานประกอบการ ร่วมกับอาจารย์นิเทศก์แต่ละสาขาวิชา รวมทั้งงานหลักสูตรและการสอนจัดทำแผนการเรียนและเขียนคำอธิบายรายวิชาที่จะฝึกในสถาน ประกอบการ

3.3 งานหลักสูตรและการสอน จะต้องควบคุมดูแลการจัดการเรียนการสอนให้จำนวนหน่วยกิตครบถ้วนตามโครงสร้างหลักสูตร

4. การสอนนักเรียนอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี

4.1 สถานศึกษาสอนวิชาพื้นฐาน วิชาชีพพื้นฐาน วิชาเลือกเสรี สัปดาห์ละ 1-2 วัน ตลอดหลักสูตร

4.2 สถานประกอบการสอนวิชาชีพเฉพาะ วิชาชีพเลือก กิจกรรมและโครงงานหรือ โครงการวิชาชีพ สัปดาห์ละ 3-4 วัน ตลอดหลักสูตร

4.3 รายวิชาใด หากสถานประกอบการไม่สามารถจัดการเรียนการสอนได้ตาม หลักสูตรให้สถานศึกษาจัดสอนเพิ่มเติมให้จนครบหลักสูตร

5. ความร่วมมือกับสถานประกอบการในรูปของคณะกรรมการ

5.1 คณะกรรมการดำเนินการจัดการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคีของสถานศึกษาประกอบด้วยผู้ควบคุมการฝึก ครูฝึก อาจารย์นิเทศก์ และบุคลากรของสถานศึกษาที่เกี่ยวข้องทำ หน้าที่บริหารการจัดการเรียนการสอน ทั้งในสถานประกอบการ และสถานศึกษาให้บรรลุวัตถุประสงค์ของหลักสูตร

5.2 คณะกรรมการประเมินผล ประกอบด้วยคณะกรรมการร่วมระหว่างสถานศึกษากับสถานประกอบการไม่น้อยกว่า 7 คน โดยผู้แทนจากสถานประกอบการทำหน้าที่เป็นประธานกรรมการ ผู้แทนจากสถานศึกษาทำหน้าที่เป็นกรรมการและเลขานุการมีหน้าที่รับผิดชอบในการดำเนินการสอบมาตรฐานฝีมือและกรรมการสอบมาตรฐานฝีมือ เฉพาะสาขาไม่น้อยกว่าสาขาละ 3 คน

6. การติดตามและการประเมินผล

6.1 จัดอาจารย์นิเทศก์ไปนิเทศการฝึกอาชีพในสถานประกอบการ

6.2 ประสานงานและให้ความรู้ในการวัดและประเมินผลการเรียนรายวิชาที่ฝึกอาชีพในสถานประกอบการแก่ ครูฝึก

6.3 ติดตามผลการเรียนทุกภาคเรียน

6.4 ประสานงานเพื่อแต่งตั้งคณะกรรมการประเมินผล

6.5 ประเมินผลการเรียนเป็นรายวิชา ทั้งในสถานศึกษาและสถานประกอบการ

6.6 ต้องผ่านการประเมินผลการเรียนจบหลักสูตร การสอบมาตรฐานฝีมือ

6.7 ส่งแบบสำรวจข้อมูลไปยังผู้สำเร็จการศึกษา

6.8 ติดตามผู้สำเร็จการศึกษาจากสถานประกอบการ

จากสรุปผลการประเมินการประชุมเรื่องการจัดและประเมินผลในระบบทวิภาคีจังหวัดเชียงราย, ลำปาง, เชียงใหม่ จุดอ่อนของการประเมินผล การสอบภาคปฏิบัติในระบบทวิภาคี (ศูนย์นิเทศอาชีวศึกษาภาคเหนือ, 2545, หน้า 1-3) คือ

1. ขาดมาตรฐานในการวัดและประเมิน

2. ขาดการประสานงานระหว่างสถานประกอบการสถานศึกษาในรายละเอียดในเรื่องการวัดและประเมินผล

3. แบบประเมินผลของสถานศึกษาไม่ตรงกับสถานประกอบการเพราะสถานประกอบการเน้นที่เนื้อหาของงานที่ฝึก

และในขณะเดียวกันก็ได้กล่าวถึง การที่จะทำให้การวัดและประเมินผลนักเรียนทวิภาคีให้มีมาตรฐานไกล้เคียงกันได้ ดังนี้

1. จัดอบรมหรือแนะแนวทางให้ครูฝึกของสถานประกอบให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน

2. สร้างเกณฑ์มาตรฐานของแต่ละหน่วยงานให้เป็นไปตามความมุ่งหมายของหลักสูตร

3. มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและสร้างเกณฑ์วัดและประเมินผลร่วมกันในกลุ่มสถานประกอบการที่มีภาระงานใกล้เคียงกันและประเภทเดียวกัน

4. มีมาตรฐานในการตรวจสอบความถูกต้องในการวัดและประเมินผลโดยให้เป็นเดียวกัน เช่น ลำดับขั้นตอน วิธีปฏิบัติ เวลาและคุณภาพของชิ้นงาน

5. จัดทำคู่มือมาตรฐานการวัดและประเมินให้กับสถานประกอบการถือปฏิบัติเป็นไปในแนวทางเดียวกัน

สำหรับเฉลิมศักดิ์ นามเชียงใต้ (2541, หน้า 11) กล่าวว่า หน้าที่ของสถานศึกษาที่จัดการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี จะต้องดำเนินการดังต่อไปนี้

1. ขยายเครือข่ายความร่วมมือกับสถานประกอบการให้มากขึ้น

2. ปรับปรุงบทบาทหน่วยงานสนับสนุนการจัดการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคีให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

3. วิจัยและพัฒนาหลักสูตรให้เอื้ออำนวยต่อการจัดการและเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลง

4. ร่วมมือกับภาคเอกชนในการประกันคุณภาพอาชีวศึกษา

5. พัฒนารูปแบบการจัดและดำเนินการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคีให้เหมาะสมกับประเทศไทย

6. เร่งรัดการออกกฎหมายการจัดการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี

และจรูญ ชูลาภ (2543, หน้า 10-11) ก็ได้กล่าวถึง บทบาทหน้าที่ของสถานศึกษาไว้ดังนี้

1. สร้างความเข้าใจให้ครูในสถานศึกษา โดยผู้บริหารสถานศึกษาจะต้องดำเนินการชี้แจงถึงความจำเป็น หลักการ และแนวคิดในการจัดการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี

2. สร้างความเข้าใจให้ผู้ปกครองว่า การเรียนทางด้านอาชีวศึกษาเป็นการเรียนที่เน้นการปฏิบัติมากกว่าทฤษฎี

3. สร้างความเข้าใจให้นักเรียน ซึ่งจะทำให้นักเรียนที่มาเรียนในระบบนี้ เกิดความรักและความมุ่งมั่นในสาขาที่จะเรียน เพื่อออกไปประกอบอาชีพ

ในขณะเดียวกัน สุราษฎร์ พรมจันทร์ (ม.ป.ป., หน้า 4) ก็ได้กล่าวถึง ความพร้อมของสถานศึกษาที่จะจัดการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี ว่าต้องมีความพร้อมดังนี้

1. สามารถที่จะแสวงหาความร่วมมือจากหน่วยงาน องค์กรอื่น ๆ ได้ดีไม่เฉพาะแต่เพื่อการศึกษาเท่านั้น

2. ผู้บริหารสถานศึกษามีความสนใจ มีความเข้าใจ และมุ่งมั่นที่จะสนับสนุนในการจัดการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคีอย่างจริงจัง

3. สามารถให้คำแนะนำ ชี้แจงหลักการ วิธีการจัดการ และรูปแบบการจัดการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคีได้อย่างชัดเจน

4. มีหน่วยงานที่รับผิดชอบดำเนินการจัดการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคีโดยเฉพาะ และสามารถติดต่อประสานงานได้อย่างรวดเร็ว

5. ดำเนินการจัดการเรียนการสอน เป็นที่น่าเชื่อถือแก่สังคมในระยะเวลาอันสมควร

6. มีปัจจัยการดำเนินงานที่พร้อมสมบูรณ์ในระดับหนึ่งไม่ว่าจะเป็นในด้านบุคลากร งบประมาณหรือสถานที่

7. การนำเสนอโครงการจัดการศึกษา ควรมีเอกสารประกอบการนำเสนอแต่ละสาขา

และกรมอาชีวศึกษา (2545, หน้า 1-3) ให้ความสำคัญกับการจัดการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี จึงมีโครงการความร่วมมือภาครัฐ เอกชนและการจัดอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี เป็นโครงการสนับสนุนโดยให้งบประมาณโดยตั้งอยู่ในงานโยบายและแผน (กองแผนงาน) หมวดรายจ่ายอื่นๆโดยมีกิจกรรมดำเนินงาน คือ

1. สร้างความเข้าใจการจัดการเรียนการคสอนระบบทวิภาคีหรือการประชาสัมพันธ์

2. อบรมครูฝึกในสถานประกอบการ

3. อบรมครู-อาจารย์ในสถานศึกษา เกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอนระบบทวิภาคี

4. การนิเทศติดตามผลการจัดการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี

5. ประเมินผลการดำเนินงานอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี

หน้าที่ของสถานประกอบการ

สำนักงานโครงการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี (2541, หน้า 23) ได้กำหนดไว้ว่า สถานประกอบการที่ร่วมจัดการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี ต้องมีความพร้อมดังต่อไปนี้

1. เป็นผู้ประกอบการและประกอบกิจการที่ดำเนินการฝึกอาชีพได้

2. มีความพร้อมในการฝึกอาชีพตามสาขาวิชานั้น

3. สามารถจัดให้มีผู้ควบคุมการฝึกและครูฝึก ทำหน้าที่ประสานงานดูแลการฝึกอาชีพให้แก่นักเรียนได้

4. สามารถจัดสิ่งแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการฝึกอาชีพได้

5. สามารถจัดการฝึกปฏิบัติได้ตลอดระยะเวลา 3 ปี หรือจนจบหลักสูตร ปวช.

6. สามารถจัดส่งบุคลากรเข้าร่วมประชุมสัมมนากับสถานศึกษาได้

7. สามารถจัดสวัสดิการ ตลอดจนมาตรการเกี่ยวกับสวัสดิภาพให้แก่นักเรียนที่เข้ารับการฝึก

วิญญู เล้าพูณพิทยะ (2544, หน้า 30) ได้กล่าวถึง สถานประกอบการที่จัดการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคีต้องมีความพร้อม ดังนี้

1. ด้านการสื่อสาร และการประสานงาน

2. การปรับกลยุทธ์และวิธีการ ตลอดเวลา

3. ความสม่ำเสมอในการรับนักเรียนระบบทวิภาคี

4. ข้อมูลที่ชัดเจนในการดำเนินการจัดการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี

5. การประเมินผลการดำเนินการจัดการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี

6. การปฏิบัติที่ชัดเจนเป็นรูปธรรม

ขณะที่ วิทยา งานทวี (2543, หน้า 26) ก็ได้กล่าวไว้ว่า สถานประกอบการที่จัดการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคีจะต้องมีความพร้อมดังนี้

1. จัดทำหลักสูตรที่ชัดเจนและสอดคล้องกันระหว่างสถานศึกษาและสถานประกอบการ

2. การประเมินผลการเรียนการสอน และจัดทำร่วมกันระหว่างสถานศึกษาและสถานประกอบการ

3. การประเมินผลการดำเนินการจัดการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคีอย่างสม่ำเสมอและให้ดำเนินทุกด้านทั้งสถานศึกษา สถานประกอบการ นักเรียนและผู้ปกครอง

ในขณะเดียวกันสถานประกอบการที่ร่วมจัดการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี ต้องตระหนักว่า เป็นเสมือนสถานศึกษาแห่งที่สองของนักเรียน/นักศึกษา จึงต้องดำเนินการดังต่อไปนี้ (สำนักงานโครงการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี, 2541, หน้า 24-25)

1. การรับนักเรียน/นักศึกษา

1.1 แจ้งจำนวนนักเรียน/นักศึกษาที่ต้องการรับให้สถานศึกษาทราบ

1.2 ประกาศรับสมัครนักเรียน/นักศึกษา

1.3 คัดเลือกและประกาศผล

1.4 ทำสัญญาการฝึกอาชีพเพื่อการเป็นนักเรียน/นักศึกษาของสถานประกอบการอย่างสมบูรณ์

1.5 ส่งนักเรียน/นักศึกษาที่ทำสัญญาการฝึกอาชีพแล้ว ไปขึ้นทะเบียนเป็นนักเรียน/นักศึกษาที่สถานศึกษา

2. จัดให้มีบุคลากรที่รับผิดชอบทำหน้าที่เป็นผู้ควบคุมการฝึกและครูฝึก

2.1 จัดให้มีผู้ควบคุมการฝึก ทำหน้าที่ประสานงานกับสถานศึกษาและรับผิดชอบดูแลการฝึกอาชีพและอบรมให้แก่นักเรียน/นักศึกษา

2.2 จัดให้มีครูฝึกทำหน้าที่ฝึกอาชีพและอบรมให้แก่นักเรียน/นักศึกษา

2.3 ติดต่อประสานงานกับผู้ปกครองและสถานศึกษาในการฝึกอาชีพและดูแลความประพฤติของนักเรียน/นักศึกษาอย่างต่อเนื่อง

3. ทำสัญญาการฝึกอาชีพ ต้องทำสัญญาเป็นหนังสือกับนักเรียน/นักศึกษา โดยได้รับความยินยอมจากบิดามารดาหรือผู้ปกครองและในสัญญาการฝึกต้องประกอบด้วยรายละเอียดที่ครบถ้วนที่เป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย

4. จัดการฝึกอาชีพ

4.1 จัดทำแผนการฝึกอาชีพในสถานประกอบการร่วมกับสถานศึกษา

4.2 จัดให้มีการฝึกอาชีพให้เป็นไปตามแผนการฝึกที่จัดทำร่วมกันกับสถานศึกษา

4.3 จัดวัสดุ อุปกรณ์ เครื่องมือเครื่องใช้ให้ โดยคำนึงถึงความปลอดภัยในการฝึกอาชีพ

4.4 ดูแลให้คำแนะนำแก่นักเรียน/นักศึกษาในการบันทึกสมุดรายงานการฝึกอาชีพและตรวจสอบอย่างสม่ำเสมอ

4.5 กำหนดระเบียบข้อปฏิบัติในการฝึกอาชีพให้กับนักเรียน/นักศึกษา

4.6 วัดผลและประเมินผลการฝึกอาชีพตามเกณฑ์ที่สถานประกอบการและสถานศึกษากำหนดร่วมกัน

4.7 หากสถานศึกษาไม่สามารถจัดการเรียนการสอนได้ ให้สถานประกอบการจัดการสอนเพิ่มเติมได้ตามความจำเป็น

5. ส่งผู้ควบคุมการฝึกและครูฝึกเข้าร่วมประชุมสัมมนากับสถานศึกษา

5.1 เพื่อทำความเข้าใจในหลักการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี

5.2 เพื่อทราบบทบาทหน้าที่ของตนเอง

5.3 เพื่อจัดทำแผนการเรียนและหลักเกณฑ์วัดผลและประเมินผลการเรียน

5.4 เพื่อดำเนินการฝึกอาชีพให้สอดคล้องกับหลักสูตร

5.5 เพื่อแลกเปลี่ยนแนวคิดและวิธีการจัดการฝึกอาชีพ

ซึ่ง ดำรง วรรณโชติถาเวช (2545, หน้า 11) กล่าวว่า การจัดสัมมนาให้กับครูฝึก ผู้ควบคุมการฝึกของสถานประกอบการ ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างสถานประกอบการกับสถานศึกษาและถือว่าประสบความสำเร็จบางส่วน

ขณะที่พิมพ์ธิดา ดีบุกดำ (2545, หน้า 21) กล่าวว่า การที่สถานประกอบการได้เข้ารับการ อบรมจากวิทยากร ทำให้สถานประกอบการรู้ถึงหลักการจัดการศึกษาระบบทวิภาคี วิธีการสอนและการจัดทำแผนการฝึกอาชีพ

และสำนักงานโครงการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี (2544, หน้า 2) กล่าวว่า การที่จะทำให้การจัดอาชีวศึกษาระบบทวิภาคีได้ดำเนินการไปอย่างมีประสิทธิภาพและในทิศทางเดียวกัน จึงได้เสนอหลักสูตรการฝึกอบรมอันประกอบด้วย หลักการจัดอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี แผนการเรียนและการฝึกอาชีพ เทคนิคการสอนงานและการวัดและประเมินผลในระบบทวิภาคี

6. ประชาสัมพันธ์ให้เจ้าหน้าที่และพนักงานของสถานประกอบการทราบถึงการเข้าร่วมจัดการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคีกับสถานศึกษา

7. จัดปฐมนิเทศให้แก่ผู้ปกครองและนักเรียน/นักศึกษา

8. ออกใบรับรองการผ่านงานให้กับนักเรียน/นักศึกษาเมื่อสิ้นสุดการฝึกอาชีพและสำเร็จการศึกษา

มันน์ (Mann, 1999, p. 11) ได้กล่าวถึง หน้าที่ของสถานประกอบการที่จัดการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี พอสรุปได้ดังนี้

1. ประสานงานในกิจกรรมต่าง ๆ กับสถานศึกษา

2. เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการประสานงานการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี

3. เข้าร่วมเป็นคณะกรรมการจัดการประเมินผล

4. เสนอความช่วยเหลือต่าง ๆ ให้กับสถานศึกษา

5. ให้การฝึกอาชีพ โดยการรวมนักเรียนระบบทวิภาคีเข้าไปสู่ระบบการทำงาน ด้วยการสอนและหากจำเป็นอาจจะมีการจัดสัมมนาและการประชุมเชิงปฏิบัติการ

6. จัดหมุนเวียนนักเรียนระบบทวิภาคีเพื่อฝึกอาชีพในหน้าที่และในหน่วยงานต่าง ๆ

7. จัดทำแผนการฝึกอาชีพร่วมกับสถานศึกษา

ในขณะเดียวกัน สุราษฎร์ พรมจันทร์ (ม.ป.ป., หน้า 2-3) ก็ได้กล่าวถึงบทบาทหน้าที่ของสถานประกอบการที่จะจัดการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี ควรพิจารณาในประเด็นสำคัญ ๆ พอสรุปได้ดังนี้

1. เป็นสถานประกอบการที่ดำเนินกิจกรรมเกี่ยวข้องกับหลักสูตรวิชาชีพนั้น ๆ

2. มีการบริหารงานอย่างเป็นระบบ มีสายการบังคับบัญชาที่ชัดเจนโดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านบุคลากร

3. มีผู้ประสานงาน สามารถจะร่วมกิจกรรมต่าง ๆ กับสถานศึกษาได้อย่างต่อเนื่อง

4. มีงานต่าง ๆ ที่สามารถให้นักเรียนระบบทวิภาคีได้ฝึกอาชีพอย่างกว้างขวางตามหลักสูตร

5. มีเครื่องมืออุปกรณ์ที่ทันต่อยุคสมัย มีการปรับปรุงแก้ไขเปลี่ยนแปลงเครื่องมืออุปกรณ์ให้ทันสมัยอยู่เสมอ

6. สภาพแวดล้อมของสถานประกอบการและสภาพทั่วๆ ไป ในการฝึกอาชีพ มีความสะดวกและปลอดภัย

7. การทำงานในสถานประกอบการสามารถหมุนเวียนหน้าที่กันได้ไม่ประจำอยู่ตรงงานใดงานหนึ่ง

8. การปฏิบัติงานมีความยืดหยุ่นสามารถให้นักเรียนระบบทวิภาคีเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ได้อย่างสะดวก

9. มีการดำเนินงานที่คำนึงถึงมาตรฐาน คุณภาพและปริมาณควบคู่กันไปโดยตลอด

10. มีนโยบาย แผนงาน ที่จะพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ ทักษะ และความก้าวหน้าในงานอาชีพอยู่แล้ว

ประโยชน์ที่สถานประกอบการได้รับจากการจัดการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี

การจัดการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี เป็นการจัดการศึกษาที่ให้ประโยชน์กับทุกฝ่ายทั้งต่อตัวนักเรียนเอง ผู้ปกครอง สถานศึกษา และสถานประกอบการ ต่างก็ได้รับผลประโยชน์ สำหรับประโยชน์ที่สถานประกอบการจะได้รับจากการจัดการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี สรุปได้ดังนี้ (สำนักงานโครงการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี, 2541, หน้า 30)

1. สามารถจัดวางแผนกำลังคนในระยะยาวได้ในสาขาวิชาที่ขาดแคลนและต้องใช้ความชำนาญ

2. ช่วยคัดเลือกผู้สมัครที่เหมาะสม เมื่อนักเรียนสำเร็จการศึกษา แล้วมีคุณภาพตอบสนองความต้องการอันแท้จริงของสถานประกอบการ และได้เรียนรู้พนักงานก่อนที่จะมีการจ้างงาน โดยเฉพาะในเรื่องระเบียบวินัยความรับผิดชอบ ความซื่อสัตย์

3. พัฒนาบุคลากรให้สามารถปฏิบัติงานกับเทคโนโลยีชั้นสูงได้ การจัดการในระบบนี้เป็นการจัดร่วมกันระหว่างสถานศึกษากับสถานประกอบการ จึงมีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่าง ครูสอนในสถานศึกษาและครูฝึกประจำสถานประกอบได้ง่ายขึ้น

4. การวางแผนกำลังคนเป็นระบบนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพของงานเข้าสู่ระบบสากล เมื่อสถานประกอบการต้องรับผิดชอบในการฝึกภาคปฏิบัติจะช่วยให้เกิดการปรับปรุงบุคลากร เครื่องมือและอุปกรณ์

5. ผลผลิตงานมีคุณภาพมากขึ้น ได้รับความเชื่อมั่นจากลูกค้า

6. บุคลากรมีความจงรักภักดีและผูกพันกับสถานประกอบการ นักเรียนระบบทวิภาคีจะมีความผูกพันกับสถานประกอบการมากกว่าพนักงานที่มาจากการเลือกสรรของสถานประกอบการ

7. ลดจำนวนการลาออกของพนักงาน

8. สถานประกอบการสามารถลดต้นทุนค่าใช้จ่ายและประหยัดเวลาในการฝึกอบรม พนักงานใหม่

9. สามารถปรับตัวเข้ากับสภาวะเศรษฐกิจ

10. เป็นการช่วยเหลือสังคมอีกประการหนึ่งด้วย

สำหรับ ประเวศ มูลทองสงค์ (2543, หน้า 8) กล่าวถึงประโยชน์ของการจัดอาชีวศึกษาระบบทวิภาคีว่า การรับนักเรียนระบบทวิภาคี เป็นการวางแผนกำลังคนในระยะยาว ซึ่งทำให้สามารถขยายศูนย์บริการรถยนต์ได้ครบทุกภาคของประเทศ และได้นักเรียนที่มีความสามารถโดย ที่สถานประกอบการไม่ต้องมาปูพื้นฐานวิชาชีพใหม่

นอกจากนี้ จรูญ ชูลาภ (2542, หน้า 15) ก็ได้กล่าวว่า ประโยชน์ที่สถานประกอบการจะได้รับจากการจัดการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี พอสรุปได้ดังนี้

1. นักเรียนเกิดความชำนาญและมีทักษะในการทำงาน ทำให้ผลงานมีประสิทธิภาพ

2. ได้แรงงานที่ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน

และ มันน์ (Mann, 1999, p. 7) กล่าวว่า ประโยชน์ที่สถานประกอบการจะได้รับจากการจัดการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี มีดังต่อไปนี้

1. เตรียมแรงงานที่มีความสามารถทางด้านทักษะและประสบการณ์ในการปฏิบัติงานในหน้าที่ที่ได้กำหนดไว้

2. สร้างความพร้อมให้สถานประกอบการในการกำหนดความรับผิดชอบต่อภาระหน้าที่

3. ทำให้พนักงานมีความซื่อสัตย์ต่อองค์กร

4. เกิดทัศนคติที่ดีในการทำงาน

5. ปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ต่าง ๆ ได้ดี

6. สร้างความพร้อมและสนับสนุนในการเรียนรู้ตลอดชีวิต

การจัดการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคีของกรมอาชีวศึกษา

กรมอาชีวศึกษาได้ให้ความสนใจในระบบการฝึกอาชีพของประเทศเยอรมนี และได้นำมาเป็นรูปแบบการฝึกอาชีพให้แก่นักเรียนระบบทวิภาคีในประเทศไทย โดยได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลเยอรมนี ในปี พ.ศ. 2531 การจัดการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคีได้เริ่มเปิดตัวขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทยเป็นโครงการนำร่องระหว่างวิทยาลัยเทคนิคท่าหลวงซิเมนต์ไทยอนุสรณ์กับสถานประกอบการคือ บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (วิจิตร ติจันทึก, 2544, หน้า 7) ปีต่อๆ มา การจัดการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคีได้ขยายโครงการไปยังวิทยาลัยต่าง ๆ มีสถานประกอบการหลายแห่งเข้าร่วมโครงการ

ในปี พ.ศ. 2538 กรมอาชีวศึกษาได้มียุทธวิธีในการดำเนินการจัดการอาชีวศึกษาระบบ ทวิภาคี สรุปได้ดังนี้ (ประธาน กิจจะวัฒนะ, 2538, หน้า 16)

1. ให้ทุกสถานศึกษาสังกัดกรมอาชีวศึกษาดำเนินการจัดการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี ตามศักยภาพ โดยให้จัดเป็นหน้าที่ปกติ

2. ให้ทุกสถานศึกษาจัดตั้งสำนักงานอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี มีหัวหน้างานและเจ้าหน้าที่ รับผิดชอบและมีแผนภูมิการทำงานที่ชัดเจน

3. ปรับปรุงหลักสูตรเดิมซึ่งผู้สำเร็จจะได้รับประกาศนียบัตรผู้ชำนาญงาน เป็นประกาศนียบัตรวิชาชีพ หลักสูตร ปวช.

4. ให้สำนักงานโครงการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคีออกติดตามผลการดำเนินการโดยเฉพาะเมื่อสิ้นภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2538 และหาแนวทางแก้ไข

5. ให้หน่วยศึกษานิเทศก์ ดำเนินการจัดทำหลักสูตร ปวส. ระบบทวิภาคี เพื่อรองรับ การศึกษาต่อของนักเรียนระบบทวิภาคีในระดับ ปวช.

สำนักงานโครงการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี (2543, หน้า 3) กล่าวถึง การจัดการศึกษา อาชีวศึกษาระบบทวิภาคีในระยะแรกได้เปิดสอนเพียงหนึ่งสาขาวิชาในประเภทวิชาช่างอุตสาหกรรม จนถึงปัจจุบันได้เปิดสอนถึง 40 สาขาวิชาหรือใน 4 ประเภทวิชาคือ ช่างอุตสาหกรรม คหกรรม พณิชยกรรมและศิลปกรรม

จากบทสรุปผลงานวิจัย เรื่อง การกำหนดจุดเด่นของความร่วมมือระหว่างสถานศึกษาและสถานประกอบการในการจัดอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี (สำนักงานโครงการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี, 2543, หน้า 3-4) พบว่าปัจจุบันจุดเด่นของการจัดการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี สรุปได้เป็น 2 ลักษณะคือ จุดเด่นของโครงการการจัดการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี และจุดเด่นที่สนับสนุน โครงการจัดการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี

1. จุดเด่นของการจัดการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี มีดังนี้

1.1 ประโยชน์ของการจัดการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคีที่มีต่อทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เช่น สถานประกอบการ สถานศึกษา และนักเรียน

1.2 สถานศึกษาสามารถรับนักเรียนได้มากขึ้น หลังจากที่นักเรียนระบบทวิภาคีถูกส่ง เข้ารับการฝึกอาชีพในสถานประกอบการ

1.3 ผู้สำเร็จการศึกษาในระบบทวิภาคี ตอบสนองความต้องการของสถาน ประกอบการ ในเรื่องของความมีระเบียบวินัย ความรับผิดชอบ ความซื่อสัตย์ และนิสัยการทำงาน

1.4 การจัดการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคีก่อให้เกิดการรับรู้ของครูในสถานศึกษา เพื่อ ตอบรับกับเทคโนโลยีใหม่ ๆ และความต้องการของตลาดแรงงานในขณะเดียวกัน ก็กระตุ้นให้สถานประกอบการพัฒนาครูฝึกประจำสถานประกอบการของตน รวมถึงเครื่องมือ อุปกรณ์ และ สิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ

1.5 ผู้สำเร็จการศึกษาในระบบทวิภาคีจะมีความมั่นใจในตนเองมากกว่านักเรียนปกติและมีความผูกพันกับสถานประกอบการ

1.6 สถานประกอบการสามารถลดต้นทุนค่าใช้จ่ายและประหยัดเวลาในการฝึกอบรมพนักงานใหม่

1.7 การจัดการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคีกระตุ้นให้เกิดความรับผิดชอบร่วมกันและความร่วมมือระหว่างสถานศึกษาและสถานประกอบการ ความพยายามนี้จะนำไปสู่การมีมนุษยสัมพันธ์และในเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวกับการพัฒนา

2. จุดเด่นที่สนับสนุนความก้าวหน้าของโครงการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี มีดังนี้

2.1 ลักษณะเด่นด้านนโยบายของกรมอาชีวศึกษาและผู้บริหารระดับสูงที่ให้ การสนับสนุนการจัดการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี

2.2 มีกระบวนการที่สำคัญหลายประการต่อการจัดการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี กระบวนการดังกล่าวคือ การแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบโครงการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคีโดยใช้งบประมาณของกรมอาชีวศึกษา จุดเด่นที่สำคัญที่สุด คือ การรวมหน่วยงานการจัดการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคีเข้าไว้ในผังการบริหารของผู้บริหารสถานศึกษา

2.3 การจัดการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคีของประเทศเยอรมนี ได้ถูกปรับเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการและค่านิยมของสังคมไทย การปรับเปลี่ยนชื่อระบบโรงเรียน–โรงงาน เป็นการจัดการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี การเปลี่ยนชื่อประกาศนียบัตรจากประกาศนียบัตรช่าง ฝีมือเป็นประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) เหมือนกับผู้สำเร็จการศึกษาในระดับปวช. ปกติ หลักสูตร พ.ศ. 2538 วิชาชีพเลือกสามารถยืดหยุ่นได้ จะตอบสนองความต้องการของผู้ประกอบการและการใช้กฎระเบียบการประเมินผลนักเรียนทวิภาคีที่เหมือนกัน คณะกรรมการประเมินผลประกอบด้วยครูในสถานศึกษาและตัวแทนจากสถานประกอบการ ซึ่งรับผิดชอบในการประเมินผลครึ่ง หลักสูตรและการประเมินผลสิ้นสุดหลักสูตร การเตรียมการในการศึกษาต่อเนื่องของนักเรียนระบบทวิภาคีจากระดับปวช. ไปสู่ระดับที่สูงขึ้นและการเทียบโอนหน่วยกิต นอกจากนี้ ยังเป็นการร่วมมืออย่างใกล้ชิดระหว่างกรมอาชีวศึกษาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

บทบาทของครูฝึกประจำสถานประกอบการในการจัดการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี ผู้มีบทบาทเกี่ยวข้องกับการจัดการเรียนการสอนระบบนี้อย่างใกล้ชิดคือ ครูฝึกประจำสถานประกอบการ เป็นผู้ที่ทำหน้าที่สอนและฝึกอาชีพ เตรียมอุปกรณ์ประกอบการสอนและฝึกงานอาชีพ วัดและประเมินผลการเรียนการสอนรายวิชาที่ฝึกวิชาชีพเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของหลักสูตรขณะเดียวกันเฉลิมศักดิ์ นามเชียงใต้ (2541, หน้า 10) ได้กล่าวถึง ครูฝึกประจำสถานประกอบการควรมีลักษณะ ดังนี้

1. ได้รับการตรวจสอบความสามารถในด้านอาชีพมาแล้วจากสถานประกอบการหรือสมาคมวิชาชีพ

2. ได้รับประกาศนียบัตรวิชาชีพในสาขานั้น ๆ หรือได้รับใบอนุญาตประกอบอาชีพ

3. มีความรู้และประสบการณ์ในสาขาวิชาชีพที่จะฝึกอาชีพ

4. ได้รับมอบหมายจากสถานประกอบการ โดยความเห็นชอบของสถานศึกษาที่ให้ ความร่วมมือในสาขานั้น ๆ

5. มีความมุ่งมั่นที่จะสอนและฝึกอาชีพให้แก่นักเรียนให้เป็นคนดี มีทักษะในการประกอบอาชีพ

6. มีความรู้เกี่ยวกับวิธีสอนปฏิบัติและเข้าใจในพฤติกรรมวัยรุ่นตามสมควร

7. มีความรู้ในด้านการวัดและประเมินผล

8. ซื่อสัตย์และรักษาภาพพจน์ของสถานประกอบการ

สำนักงานโครงการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี (2541, หน้า 15) กล่าวว่า บทบาทหน้าที่ครูฝึกประจำสถานประกอบการ คือ

1. ประสานงานกับสถานศึกษา เตรียมแผนการสอน การฝึกอาชีพและติดต่อกับผู้ปกครองของผู้เข้ารับการฝึกอาชีพ

2. ถ่ายทอดความรู้ เตรียมแผนงานใบงานฯ ให้ผู้เข้ารับการฝึกอาชีพ เริ่มถ่ายทอดตั้งแต่พื้นฐานอาชีพ

3. ประเมินผลนักเรียนที่เข้ารับการฝึกอาชีพ

สำหรับ เมธี ปิลันธนานนท์ (2530, หน้า 149) ได้กล่าวว่า การฝึกอาชีพจะมีประสิทธิผลย่อมขึ้นอยู่กับครูฝึกประจำสถานประกอบการ ซึ่งจะต้องมีประสบการณ์วิชาชีพในการประยุกต์ทักษะ ความรู้ในการฝึกอาชีพและขบวนการทำงานในสิ่งที่ตนสอน และการสร้างนิสัยการปฏิบัติงานจะได้ผลต่อเมื่อครูฝึกประจำสถานประกอบการได้ให้นักเรียนระบบทวิภาคีได้ทำงานจริง ไม่ใช่ทำแบบฝึกหัดหรือทำงานปลอม ขณะเดียวกันแหล่งของเนื้อหาสาระที่เชื่อถือได้ของการฝึกอาชีพเฉพาะแต่ละอาชีพ มาจากแหล่งเดียวเท่านั้น คือ ประสบการณ์ของผู้ชำนาญงานของอาชีพนั้น

ขณะที่ วิทยา งานทวี (2543, หน้า 33) กล่าวถึงครูฝึกประจำสถานประกอบการว่า จะต้องรู้ฐานะของตนเองว่าเป็นครูคนหนึ่ง ต้องมีการหมั่นศึกษาหาความรู้ใหม่ ๆ และเข้าใจในเนื้อหาและหลักสูตรที่สอน

ส่วนพิมพ์ธิดา ดีบุกคำ (2545, หน้า 16) กล่าวว่า สถานประกอบการไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ ทุกคนเป็นมืออาชีพคือ ถ้าใครทำอะไรแบบเดียวซ้ำ ๆ กัน 10 ปี ถือว่ามีประสบการณ์ทั้งถูกและผิดที่จะสอนตัวของเขาเองและ สุราษฎร์ พรมจันทร์ (ม.ป.ป., หน้า 6) ก็ได้กล่าวถึง คุณสมบัติที่ครูฝึกประจำสถานประกอบการจะต้องมี พอสรุปได้ดังนี้

1. มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับรายละเอียดการดำเนินการโครงการความร่วมมือเป็น อย่างดี ทั้งจะต้องมีความรู้เกี่ยวกับด้านเทคนิคหรือด้านวิชาชีพ

2. ต้องเคยทำงานโดยตรงหรือเกี่ยวข้องกับงานวิชาชีพมาแล้วพอสมควร สามารถนำประสบการณ์ดังกล่าวมาใช้ในการสอนได้

3. เป็นคนสุภาพ น่าเชื่อถือ มีไหวพริบ ทำงานเป็นทีมได้

4. รู้จักเทคนิคการนำเสนอเนื้อหา เรียงลำดับเรื่องราวได้อย่างต่อเนื่องผสมผสานกัน

5. ใช้สื่อการสอนต่าง ๆ ได้ดีและมีการปรับแต่งความรู้และตอบปัญหาข้อซักถามได้