นิทรรศการเทิดพระเกียรติ

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระสยามเทวมหามกุฏวิทยมหาราช

ทรงเป็นพระราชโอรสองค์ที่ 2

ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2

และสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี

ประสูติเมื่อวันพฤหัสบดี เดือน 11 ขึ้น 14 ค่ำ ปีชวด จุลศักราช 1166

ตรงกับวันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2347

เมื่อทรงมีพระชนมายุได้ 20 พรรษา ในปี พ.ศ. 2367

ได้ทรงผนวช และทรงได้รับสมณนามฉายาจากพระอุปัชฌาชย์ว่า วชิรญาโณ

ทรงเจริญในสมณเพศอยู่นานถึง 26 ปี

ทรงขึ้นครองราชสมบัติในวันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2394

นับเป็นมหากษัตริย์ลำดับที่ 4 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์

พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประทับ ณ เกยหน้าพลับพลาที่ประทับโปรดให้ฉายพระรูปกับคณะแขกเมือง ณ ค่ายหลวงบ้านหว้ากอ

สุริยุปราคาที่หว้ากอ

หว้ากอ ดินแดนแห่งนี้นับเป็นอนุสรณ์สถานที่ได้จารึกพระนาม คิงมงกุฎ ไว้ในหน้าประวัติศาสตร์ให้โด่งดังปรากฏไปทั่วโลก และนำพระเกียรติยเกียรติประวัติมาสู่ประเทศไทย นำความภาคภูมิใจมาสู่ประชาชนชาวไทยตราบทุกวันนี้ โดยเป็นสถานที่ที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 เสด็จพระราชดำเนินโดยเรือพระที่นั่งอรรคราชวรเดช เพื่อทรงพิสูจน์การคำนวณสถานที่และเวลาการเกิดสุริยุปราคาเต็มดวงได้อย่างถูกต้องชัดเจน ซึ่งคำนวณล่วงหน้าไว้ถึง 2 ปีว่าจะเกิดสุริยุปราคาเต็มดวงในวันอังคาร ขึ้น 1 ค่ำ เดือน 10 ปีมะโรง จุลศักราช 1230 ตรงกับวันที่ 18 สิงหาคม 2411 โดยเส้นศูนย์ของอุปราคา จะผ่านมาใกล้ที่สุด ณ บ้านหว้ากอ แขวงเมืองประจวบคีรีขันธ์ ในพระราชอาณาจักรสยาม ทางฝั่งทะเลตะวันออกของแหลมมลายู ตรงเส้นวิตถันดร (แลตติดจูต) 11 องศา 38 ลิปดาทิศเหนือ และเส้นทีรฆันดร (ลองติดจูต) 99 องศา 39 ลิปดาทิศตะวันออก โดยคราสเริ่มจับเวลา 10 นาฬิกา 4 นาที จับเต็มดวง เวลา 11 นาฬิกา 36 นาที 20 วินาที โดยดวงอาทิตย์ได้ถูกดวงจันทร์บังมิดดวงอยู่นานถึง 6 นาที 46 วินาที และคลายคราสออกเวลา 13 นาฬิกา 37 นาที 45 วินาที ซึ่งไม่ปรากฏว่ามีหลักฐานการคำนวณจากประเทศตะวันตกมาก่อนหน้านี้

กล้องส่องดาว ทรงใช้ทอดพระเนตรสุริยุปราคา ที่ค่ายหลวง บ้านหว้ากอ


พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ฉายพระรูป ร่วมกับเซอร์แฮรี ออด
ผู้ว่าราชการเมืองสิงคโปร์ และคณะ


ราษฎรบริเวณค่ายหลวงที่บ้านหว้ากอ เฝ้ารอดูปรากฎการณ์สุริยุปราคา


ขบวนเรือพระที่นั่ง เมื่อครั้งเสด็จทอดพระเนตร สุริยุปราคา ที่บ้านหว้ากอ


ในระหว่างนั้นประชาชนชาวไทยและชาวต่างประเทศต่างก็เฝ้ารอวันพิสูจน์การเกิดสุริยุปราคาที่หว้ากอ เมื่อใกล้ถึงวัน ทรงโปรดให้เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์มาสร้างค่ายไว้ล่วงหน้า และพระองค์ได้ใช้ค่ายนี้เป็นห้องทดลองวิทยาศาสตร์กลางแจ้ง เพื่อเป็นที่ชุมนุมของนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกและคณะฑูตานุทูตประเทศต่าง ๆ แล้วก็เกิดสุริยุปราคาเต็มดวงตามที่พระองค์ทรงคำนวณ โดยไม่คลาดเคลื่อน พระราชกรณียกิจในครั้งนั้นทำให้พระเกียรติยศระบือไกล บรรดาแขกต่างประเทศจำนวนมากได้รับทราบถึงพระอัจฉริยภาพของพระองค์ที่มีไม่แพ้ชาติใด ทั้ง ๆ ที่ยังขาดเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพ พระเกียรติคุณในด้านวิทยาศาสตร์เป็นที่ยอมรับและปรากฏเด่นชัดแก่บรรดานักปราชญ์ และนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลก แต่ประชาชนชาวไทยก็ต้องประสบกับความสูญเสียครั้งใหญ่หลวง เมื่อพระองค์เสด็จกลับกรุงเทพได้เพียง 5 วัน ก็ทรงประชวรและเสด็จสวรรคตด้วยไข้มาลาเรีย ในวันที่ 1 ตุลาคม 2411 นั่นเอง

เพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงพระองค์และวันสำคัญทางประวัติศาสตร์นั้น คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติเมื่อวันที่ 14 เมษายน 2525 เทิดพระเกียรติแด่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ว่าทรงเป็น “พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย” และกำหนดให้วันที่ 18 สิงหาคมของทุกปี เป็น “วันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ” ทั้งนี้ในระดับนานาชาติสหพันธ์ดาราศาสตร์สากลยังได้ขนานนามปรากฏการณ์สุริยุปราคาในครั้งนั้นว่า “King of Siam’s Eclipse”

สุริยุปราคาที่หว้ากอ

พระราชกรณียกิจทางด้านดาราศาสตร์

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นนักโหราศาสตร์ ทรงแต่งตำราทางโหราศาสตร์ที่เรียกว่า "เศษพระจอมเกล้า" ซึ่งเป็นอีกหนึ่งตำราที่ได้รับการยอมรับว่าแม่นยำ และทรงได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติว่าทรงเป็น "พระบิดาแห่งโหราศาสตร์ไทย"

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดฯ ให้สร้างหอดูดาวบนเขาวัง ในจังหวัดเพชรบุรี เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2403 พระราชทานนามว่า “หอชัชวาลเวียงชัย” ซึ่งตลอดพระชนม์ชีพของพระองค์ ได้เคยทอดพระเนตรดาวหาง 3 ดวง คือ

1. ดาวหางฟลูเกอร์กูส (Flaugergues s Comet)
2. ดาวหางโดนาติ (Donati a Comet)
3. ดาวหางเทพบุท (Tebbut s Comet)

ดาวหางฟลูเกอร์กูส
(Flaugergues s Comet)

เป็นดาวหางที่มีขนาดใหญ่และมีหาง 2 หาง ปรากฏในรัชสมัย พระพุทธเลิศหล้านภาลัย เมื่อ พ.ศ. 2355 ขณะนั้นเจ้าฟ้ามงกฎมีพระชันษาราว 8 ปี เมื่อทรงเห็นแล้ว คงจะทรงติดตามศึกษาเรื่องดาวหางอยู่เสมอ เพราะว่าก่อนดวงที่ 2 จะมาปรากฏ พระองค์สามารถทรงนิพนธ์ประกาศฉบับแรกชื่อว่า “ประกาศดาวหางขึ้นอย่าได้วิตก” แจ้งแก่ประชาชน


ดาวหางโดนาติ
(Donati a Comet)

เป็นดาวหางที่มีขนาดใหญ่มาก นักดาราศาสตร์อิตาเลียนค้นพบในคืนวันที่ 2 มิถุนายน พ.ศ 2401 และคืนต่อ ๆ มา จนถึงวันที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2402 (รวมเวลา 9 เดือน) ชาวไทยคงจะเห็นด้วยตาเปล่า ระหว่างเดือนกันยายน-ตุลาคม พ.ศ. 2401 ดาวหางดังกล่าวมีลักษณะเป็น 2 หาง หางหนึ่งเหยียดตรง อีกหางหนึ่งเป็นพู่โค้งสวยงามอยู่ราว 2 เดือน พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเกรงว่า เมื่อประชาชนเห็นดาวหางโดนาติ แล้วจะตื่นเต้นไปตามคำลือต่าง ๆ จึงทรงออกประกาศเตือนชื่อว่า “ประกาศดาวหางขึ้นอย่าได้วิตก” นับเป็นประกาศทางวิทยาศาสตร์ฉบับแรกของประเทศ มีความว่า “ดาวหางนี้ชาวยุโรปได้เห็นมาแล้วหลายเดือน ดาวหางนี้มีคติแลทางยาวไปในท้องฟ้า แล้วก็กลับมาได้เห็นในประเทศทั้งนี้อีก เพราะเหตุนี้อย่าให้ราษฎรทั้งปวงตื่นกัน และคิดวิตกเล่าลือไปต่าง ๆ ด้วยว่ามิใช่จะเห็นแต่ในพระนครนี้ และเมืองที่ใกล้เคียงเท่านั้นหามิได้ย่อมได้เห็นทุกบ้านทุกเมืองทั่วพิภพอย่างนี้แล”


ดาวหางเทพบุท
(Tebbut s Comet)

เป็นดาวหางที่มีขนาดใหญ่ หางยาว และสว่างกว่าดาวหางโดนาติ ปรากฏแก่สายตาชาวโลก ระหว่างเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม พ.ศ. 2404 เป็นดาวที่พระองค์ทรงสนพระราชหฤทัยมากยิ่งขึ้น ถึงกับทรงได้คำนวณไว้ล่วงหน้าว่า จะปรากฏเมื่อใด และได้ทรงออกประกาศไว้ล่วงหน้า มิให้ประชาชนตื่นตระหนก ทั้งนี้เพราะพระองค์ มีพระราชประสงค์มุ่งขจัดความเชื่อ เกี่ยวกับเรื่องโชคลาง และทรงให้ราษฎรตั้งอยู่ในความไม่ประมาท เตรียมพร้อมที่จะเผชิญเหตุการณ์ (ถ้าจะเกิด) อย่างมีเหตุผลตามแบบวิทยาศาสตร์