ประวัติความเป็นมาของสำนักงานศึกษาธิการภาค 13

ประวัติสำนักงานศึกษาธิการภาค 13

สำนักงานศึกษาธิการภาค 13 เป็นส่วนราชการ สังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงศึกษาธิการตั้งอยู่ เลขที่ 54 ถนนสืบสิริ ซอย 3 ตำบลในเมือง อำเภอเมืองนครราชสีมา จำหวัดนครราชสีมา มีความเป็นมาโดยสังเขปดังนี้

พ.ศ. 2435 ได้จัดตั้งกระทรวงธรรมการขึ้น โดยมี พระยาภาสกรวงศ์ (พร บุนนาค) เป็นเสนาบดีกระทรวงธรรมการ มีกรมในสังกัดจำนวน 5 กรม คือ กรมพระธรรมการกลาง กรมศึกษาธิการ กรมพยาบาล กรมพิพิธภัณฑ์ และกรมสังฆการี มีหน้าที่เกี่ยวกับการศึกษา และการศาสนา

พ.ศ. 2441 ได้มีการแบ่งการศึกษาตามหัวเมืองออกเป็นมณฑลใหญ่ ในการตรวจราชการ จำนวน 6 มณฑล คือ มณฑลกลาง มณฑลเหนือ มณฑลตะวันออก มณฑลตะวันออกเฉียงใต้มณฑลตะวันตกเฉียงใต้ และมณฑลตะวันตก อยู่ในสังกัดกรมศึกษาธิการ มีสารวัตรใหญ่การศึกษา 1 เป็นเจ้าหน้าที่รับผิดชอบในการตรวจสอบวางแผนการเล่าเรียน และการทำรายงานประจำปีต่อกรมศึกษาธิการ

พ.ศ. 2458 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้แบ่งอาณาเขตตรวจการศึกษาหัวเมืองออกจากมณฑลกรุงเทพ โดยแบ่งออกเป็น 4 ภาคดังนี้

ภาคที่ 1 มณฑลกรุงเก่า มณฑลนครชัยศรี มณฑลปราจีนบุรี มณฑลจันทบุรี และมณฑลราชบุรี

ภาคที่ 2 มณฑลนครสวรรค์ มณฑลพิษณุโลก มณฑลมหาราษฎร์ และมณฑลพายัพ

ภาคที่ 3 มณฑลนครราชสีมา มณฑลอุบลราชธานี มณฑลร้อยเอ็ด และมณฑลอุดร

ภาคที่ 4 มณฑลสุราษฎร์ธานี มณฑลนครศรีธรรมราช มณฑลภูเก็ต และมณฑลปัตตานี

ในแต่ละภาคนั้น ได้แต่งตั้งข้าหลวงตรวจการประจำภาคให้มีหน้าที่ตรวจราชการแผนกธรรมการเพื่อดูแลงานให้เป็นไปตามระเบียบ สิ่งใดควรเสนอต่อสมุหเทศาภิบาลก็ให้เสนอโดยตรงสำหรับมณฑลนครราชสีมาได้แต่งตั้งให้พระยาราชสีมาจารย์ (กวย กนิษฐานนท์)

ดำรงตำแหน่งข้าหลวงตรวจการประจำภาค (ธรรมการมณฑล หรือศึกษาธิการภาคในปัจจุบัน) เป็นคนแรก

พ.ศ. 2459 กระทรวงธรรมการได้จัดให้มีการแต่งตั้งธรรมการจังหวัดขึ้น

พ.ศ. 2462 ได้เปลี่ยนชื่อกระทรวงธรรมการเป็นกระทรวงศึกษาธิการ และตำแหน่งเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบในการจัดการศึกษาก็ได้ เปลี่ยนตามไปด้วยคือ จากข้าหลวงตรวจการประจำภาคเป็นศึกษาธิการมณฑล ธรรมการจังหวัดเป็นศึกษาธิการจังหวัด และในปีเดียวกันนี้ก็ได้ตั้งตำแหน่งศึกษาธิการอำเภอขึ้นอีกตำแหน่งหนึ่งด้วย

พ.ศ. 2469 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริว่าการศึกษาไม่ควรแยกออกจากวัดจึงได้เปลี่ยนชื่อกระทรวงศึกษาธิการเป็นกระทรวงธรรมการ โดยมีกรมหมื่นพิทยาลาภพฤติยากร เมื่อครั้งยังเป็นพระองค์เจ้าธานีนิวัติทรงเป็นเสนาบดีกระทรวงธรรมการ ดังนั้น เมื่อกระทรวงศึกษาธิการเปลี่ยนเป็นกระทรวงธรรมการ ตำแหน่งศึกษาธิการมณฑลก็เปลี่ยนชื่อมาเป็นธรรมการมณฑลอีกครั้งหนึ่ง โดยเสนาบดีกระทรวงธรรมการเป็นผู้คัดเลือกธรรมการมณฑล และธรรมการจังหวัด

พ.ศ. 2476 ได้มีพระราชบัญญัติตั้งกระทรวงและกรม พุทธศักราช 2476 เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2476 แบ่งส่วนราชการออกเป็น 7 กระทรวง คือ กระทรวงกลาโหม มหาดไทย เศรษฐการ ยุติธรรม พระคลัง ธรรมการ และกระทรวงการต่างประเทศ สำหรับกระทรวงธรรมการนั้นได้มีพระราชกฤษฎีกาการวางระเบียบกรมในกระทรวงธรรมการ พุทธศักราช 2476 แบ่งส่วนราชการออกเป็นราชการส่วนกลาง และส่วนท้องถิ่น โดยในส่วนราชการส่วนท้องถิ่นมีตำแหน่งธรรมการมณฑล ธรรมการจังหวัด และธรรมการอำเภอ

ต่อมา พ.ศ. 2476 ได้มีพระราชบัญญัติว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2476 จัดระเบียบราชการบริหารแห่งราชอาณาจักรสยามออกเป็นราชการบริหารส่วนกลาง ราชการบริหารส่วนภูมิภาค และราชการบริหารส่วนท้องถิ่น สำหรับราชการบริหารส่วนภูมิภาคให้เลิกมณฑล คงแบ่งออกเป็นจังหวัดและอำเภอ ตำแหน่งธรรมการมณฑลจึงถูกยุบไปด้วยเหลือแต่ธรรมการจังหวัดและอำเภอ เนื่องจากทางการปกครองได้ยุบเลิกมณฑลต่างๆ ข้างต้น กระทรวงธรรมการจึงได้ยุบกองธรรมการมณฑลและกองธรรมการจังหวัดในมณฑล ด้วยเหตุนี้งานแผนกธรรมการทุกแห่ง รวม 70 จังหวัด จึงขึ้นตรงต่อกระทรวงธรรมการแต่ได้ตั้งตำแหน่งข้าหลวงตรวจการธรรมการขึ้น รวม 9 ตำแหน่ง ข้าหลวงตรวจการเหล่านี้จะประจำอยู่ที่จังหวัดอันเป็นที่ตั้งมณฑลเดิม

พ.ศ. 2484 ได้ตราพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พุทธศักราช 2484

กระทรวงธรรมการได้เปลี่ยนชื่อมาเป็นกระทรวงศึกษาธิการ เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2484 ต่อมาในปี พ.ศ. 2485 ได้มีประกาศรวมจังหวัดขึ้นเป็นภาค โดยมีการตั้งข้าหลวงตรวจการศึกษาภาคไปประจำตำแหน่งยังภาคต่าง ๆ

พ.ศ. 2495 มีประกาศใช้พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พุทธศักราช 2495 เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2495 ซึ่งแบ่งการบริหารราชการออกเป็นส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค ส่วนท้องถิ่น กระทรวงศึกษาธิการได้ปรับปรุงการบริหารส่วนภูมิภาคให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติ โดยแบ่งพื้นที่จังหวัดต่าง ๆ ออกเป็นภาค รวม 9 ภาค ตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งภาค พ.ศ. 2495 คือ ภาค 1 ตั้งที่ทำการภาคที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ภาค 2 ตั้งที่ทำการภาคที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ภาค 3 ตั้งที่ทำการภาคที่จังหวัดนครราชสีมา ภาค 4 ตั้งที่ทำการภาคที่จังหวัดอุดรธานี ภาค 5 ตั้งที่ทำการภาคที่จังหวัดลำปาง ภาค 6 ตั้งที่ทำการภาคที่จังหวัดพิษณุโลก ภาค 7 ตั้งที่ทำการภาคที่จังหวัดนครปฐม ภาค 8 ตั้งที่ทำการภาคที่จังหวัดนครศรีธรรมราช และภาค 9 ตั้งที่ทำการภาคที่จังหวัดสงขลา และกระทรวงศึกษาธิการได้ตั้งข้าหลวงตรวจการศึกษาธิการภาคออกไปเป็นหัวหน้าส่วนราชการประจำภาค ทั้ง 9 ภาค ต่อมาเมื่อวันที่ 17 กันยายน 2495 ได้มีพระราชกฤษฎีกาจัดวางระเบียบการบริหารราชการสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการขึ้นและได้เปลี่ยนตำแหน่งข้าหลวงตรวจการศึกษาธิการภาคเป็นศึกษาธิการภาค

พ.ศ. 2500 ได้มีกฎ ก.พ. ฉบับที่ 130 (พ.ศ. 2500) ออกตามความในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2497 กำหนดตำแหน่งที่เรียกชื่ออย่างอื่นในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการในส่วนภูมิภาค โดยเปลี่ยนชื่อศึกษาธิการภาคเป็นผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการเพื่อให้เหมาะสมกับบทบาทหน้าที่การงาน ต่อมาในปีเดียวกันนี้ กระทรวงศึกษาธิการกำหนดท้องที่จังหวัดต่าง ๆ ขึ้นเป็นหน่วยสำหรับตรวจราชการของผู้ตรวจกระทรวงศึกษาธิการ รวม 12 หน่วย เรียกว่าภาคการศึกษา โดยพิจารณาตามหลักทางภูมิศาสตร์ วัฒนธรรม และปริมาณคุณภาพของงานด้านการศึกษาเพื่อประโยชน์ในการบริหารการศึกษาให้เป็นผลดียิ่งขึ้น พร้อมทั้งได้กำหนดอำนาจหน้าที่ของผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการขึ้นด้วย

พ.ศ. 2501 - 2506 กระทรวงศึกษาธิการ และองค์การบริหารและการร่วมมือระหว่างประเทศ ได้ร่วมมือกันจัดทำโครงการพัฒนาการศึกษาโดยใช้ชื่อย่อโครงการนี้ว่า "ค.พ.ศ." หรือ General Education Development project (GED) เป็นโครงการปรับปรุงพัฒนาการศึกษาทุกระดับทั่วประเทศมีการสร้างศูนย์พัฒนาการศึกษาขึ้นทุกภาคการศึกษาทั้ 12 ภาคการศึกษา มีผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ (ภาค) เป็นหัวหน้าหน่วยงาน และมีศึกษานิเทศก์ภาคจากกรมการฝึกหัดครู กรมสามัญศึกษา และกรมวิสามัญศึกษา มาช่วยปฏิบัติงานงานประจำอยู่ ณ ศูนย์พัฒนาการศึกษาภาคต่าง ๆ ที่ทำการภาคการศึกษาจึงปฏิบัติงานในลักษณะเป็นศูนย์วิชาการตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาอีกหน้าที่หนึ่ง

พ.ศ. 2504 ได้มีกฎ ก.พ. ฉบับที่ 300 (พ.ศ. 2504) ออกตามความในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2497 เปลี่ยนแปลงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการเป็นผู้ตรวจการศึกษา

พ.ศ. 2516 ได้ตราพระราชกฤษฎีกาแบ่งท้องที่ของกระทรวงศึกษาธิการออกเป็นเขตการศึกษา รวม 12 เขต ซึ่งมีลำดับและชื่อเขตการศึกษาและจังหวัดภายในเขตเช่นเดียวกันกับภาคการศึกษา และเปลี่ยนแปลงตำแหน่งผู้ตรวจการศึกษาเป็นศึกษาธิการเขต

พ.ศ. 2520 มีพระราชกฤษฎีกาแบ่งท้องที่ของกระทรวงศึกษาธิการออกเป็นเขตใหม่ กำหนดตำแหน่งเรียกว่า "ศึกษาธิการเขต เขตการศึกษา" โดยแบ่งเป็น 13 เขต ตั้งแต่เขตการศึกษากรุงเทพมหานคร มีสำนักงานตั้งอยู่ ณ กรุงเทพมหานคร ไปจนถึงเขตการศึกษา 12 มีสำนักงานตั้งอยู่ ณ จังหวัดฉะเชิงเทรา (พ.ศ. 2528 มีพระราชกฤษฎีกาย้ายสำนักงานไปตั้งอยู่ที่จังหวัดชลบุรีจนถึงปัจจุบัน)

พ.ศ. 2535 มีพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ(ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 เปลี่ยนชื่อสำนักงานศึกษาธิการเขต เขตการศึกษา 1 - 12 เป็นสำนักพัฒนาการศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม เขตการศึกษา 1 - 12 และได้กำหนดตำแหน่งใหม่เป็นผู้อำนวยการสำนักพัฒนาการศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรมในช่วงปฏิรูปการศึกษา ได้มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างกระทรวงศึกษาธิการครั้งสำคัญ คือมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พุทธศักราช 2546 โดยยุบหน่วยงานจาก 14 กรมเหลือเพียงหน่วยงานหลัก 5 หน่วยงาน คือ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา และสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา และสำนักพัฒนาการศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม เขตการศึกษา 11 จึงได้ถูกยกเลิกไปตามพระราชบัญญัติดังกล่าว และจัดตั้งสำนักผู้ตรวจราชการ ประจำเขตตรวจราชการที่ 1 - 12 และกรุงเทพมหานคร ตามประกาศกระทรวงศึกษาธิการ ลงวันที่ 18 สิงหาคม พุทธศักราช 2546 และปรับเปลี่ยนเขตตรวจราชการใหม่ ให้สอดคล้องกับเขตตรวจราชการของสำนักนายกรัฐมนตรี และเขตตรวจราชการกระทรวงอื่น ๆ รับผิดชอบงานการตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ สำนักผู้ตรวจราชการ ประจำเขตตรวจราชการที่ 5 จึงรับผิดชอบ 6 จังหวัด คือ นครราชสีมา มหาสารคาม บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และชัยภูมิ

พ.ศ. 2551 ได้จัดตั้งสำนักบริหารยุทธศาสตร์และบูรณาการการศึกษาที่ 1-12 และกรุงเทพมหานคร ตามประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง การจัดตั้งสำนักบริหารยุทธศาสตร์และบูรณาการการศึกษาที่ 1 - 12 และกรุงเทพมหานครลงวันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2551

พ.ศ. 2555 ได้จัดตั้งสำนักงานศึกษาธิการภาค 1-13 ตามประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง การจัดตั้งสำนักงานศึกษาธิการภาค 1-13 สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ลงวันที่ 27 กันยายน 2555 มีฐานะเป็นสำนักภายในของสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ

พ.ศ.2560 ได้จัดตั้งสำนักงานศึกษาธิการภาค 1-18 ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 19/2560 เรื่องการปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาคของกระทรวงศึกษาธิการเพื่อปฏิบัติภารกิจของกระทรวงศึกษาธิการในพื้นที่โดยมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ประกาศ

ในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นมา (วันที่ 3 เมษายน 2560)

พ.ศ.2564 วันที่ 21 กันยายน 2564 คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติแต่งตั้งข้าราชการ

พลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูงของกระทรวงศึกษาธิการ

ในตำแหน่งศึกษาธิการภาค 13 เป็นครั้งแรก โดยแต่งตั้งให้นายพงษ์พิศาล ชินสำราญ

ดำรงตำแหน่งศึกษาธิการภาค เป็นคนแรกของสำนักงานศึกษาธิการภาค 13 ทั้งนี้ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

ปรัชญาสำนักงานศึกษาธิการภาค 13

ทนฺโต เสฏโฐ มนุสฺโสสุ

ผู้ฝึกฝนตนดีแล้ว เป็นผู้ประเสริฐในหมู่มนุษย์



พระยาราชสีมาจารย์ ธรรมการมณฑลนครราชสีมา คนแรก