เนื้อหาและความรู้ในโครงการ

สภาพปัญหาพร้อมสาเหตุหลักในพื้นที่ดำเนินโครงการ

พื้นที่ตำบลโคกสะบ้า อำเภอนาโยง จังหวัดตรัง เป็นเขตที่มีป่าสาคูมาก และชาวบ้านส่วนใหญ่จะทำนาโดยอาศัยระบบนิเวศป่าสาคูดังกล่าว แต่ว่าการพัฒนาแบบใหม่ที่มุ่งให้ชาวบ้านปลูกพืชเศรษฐกิจ ทำให้รัฐเข้ามาพัฒนาระบบชลประทานในพื้นที่ต่าง ๆ คลองป่าสาคูที่อำเภอนาโยงก็ถูกระบบชลประทานสมัยใหม่เข้ามารื้อป่าสาคูทิ้งและขุดลอกให้มีลักษณะเป็นแบบคลองแบบใหม่ พร้อมทั้งสร้างระบบฝายกั้นน้ำและระบบส่งน้ำต่าง ๆ แทนระบบชลประทานของชุมชนที่ชาวบ้านสืบทอดและสร้างสรรค์ต่อเนื่องกันมาเป็นระยะเวลาอันยาวนานในขณะที่ชาวบ้านก็ถูกกระตุ้นให้ปลูกพืชเศรษฐกิจทำให้ต้องใช้สารเคมีสำหรับการเพิ่มผลผลิตของไร่นา ทำให้สารเคมีจำนวนมากถูกชักล้างลงคลอง ส่งผลให้สัตว์น้ำ ในระบบนิเวศป่าสาคูอยู่ไม่ได้ ยิ่งชาวบ้านหาจับสัตว์น้ำในป่าสาคูไม่ได้ความสนใจในป่าสาคูก็ย่อมลดน้อยลง ผลที่ตามมาอีกชั้นหนึ่งคือเมื่อความสมดุลของชีวิตต่าง ๆ ในป่าสาคูเปลี่ยนแปลงไป ปรากฏว่าจำนวนหนูนาในป่าสาคูเพิ่มมากขึ้นและออกไปทำลายข้าวของชาวบ้าน ชาวบ้านก็แก้ปัญหาด้วยการโค่นป่าสาคูทิ้ง และด้วยความไม่สนใจป่าสาคูดังกล่าว ชาวบ้านก็มักเผาซังข้าวโดยไม่สนใจว่าไฟจะลามไปลุกไหม้ป่าสาคูหรือไม่ ดังนั้นป่าสาคูที่หลงเหลือจากการทำลายของระบบชลประทานของรัฐก็ถูกทำลายไปอีกส่วนหนึ่งโดยชาวบ้านเอง ในช่วงที่เกิดการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนี้ ชาวบ้านยังไม่ตระหนักถึงผลเสียหรือผลกระทบต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นกับพวกตน จนกระทั่งการเปลี่ยนแปลงการผลิตและการใช้ที่ดินได้ดำเนินมาระยะหนึ่ง ชาวบ้านก็พบปัญหาต่าง ๆ เช่นเดียวกับเกษตรกรทั่วไป คือรายได้ไม่พอกับรายจ่าย ในขณะที่การพึ่งตนเองได้ลดลงไปมาก ประกอบกับสภาวะทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน ซึ่งมีผลทำให้ชาวบ้านยิ่งเดือดร้อนมากกว่าเดิม

นอกจากนี้ จากการสอบถามเด็กและเยาวชนในพื้นที่อำเภอนาโยงในปัจจุบันนี้ ปรากฏว่า เด็กและเยาวชนกในพื้นที่กว่าร้อยละ ๖๐ ไม่รู้จักต้นสาคู ไม่ทราบว่าต้นสาคูมีประโยชน์ต่อตนเองและระบบนิเวศน์อย่างไร ซึ่งเป็นอีกหนึ่งปัญหาสำคัญ เพราะเมื่อเยาวชนคนรุ่นใหม่เริ่มไม่รู้จักต้นสาคู การอนุรักษ์และการทำให้ดำรงไว้ของต้นสาคูจึงทำได้ยากมาก ทางสมาชิกในทีม SAGU SRM ได้เล็งเห็นถึงปัญหาสำคัญในประเด็นต่าง ๆ เหล่านี้ จึงมีแนวคิดที่จะจัดโครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าสาคูขึ้น เพื่อให้เกิดการดำรงไว้ซึ่งระบบนิเวศน์ป่าสาคูอย่างยั่งยืนโดยมีเด็กและเยาวชนในพื้นที่เป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนโครงการ


หลักการและเหตุผลการดำเนินโครงการ

ป่าสาคู เป็นระบบนิเวศน์ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อวิถีชีวิตของชาวบ้านในพื้นที่ตำบลโคกสะบ้า อำเภอนาโยง จังหวัดตรัง ความสำคัญของสาคูนั้น ประการแรกสุดเป็นความสำคัญในเชิงนิเวศซึ่งเกิดจาก คุณลักษณะทางธรรมชาติของสาคูเอง อีกประการหนึ่งเป็นผลผลิตทางวัฒนธรรมที่คนสามารถเรียนรู้คุณลักษณะของสาคูและนำไปดัดแปลงใช้ประโยชน์ได้ ความสำคัญในเชิงนิเวศนั้นพบว่าป่าสาคูช่วยรักษาความชุ่มชื้นให้แก่พื้นที่ทำนา เนื่องจากสาคูเป็นพืชที่มีรากดูดซับน้ำไว้ได้มาก ดังนั้นน้ำฝน น้ำคลอง จึงไม่สูญหายกลายเป็นไอหรือไหลลงทะเลไปเพราะรากสาคูจะดูดเข้ามาเป็นความชุ่มชื้นของผืนดิน ยิ่งหากป่าสาคูมีขนาดใหญ่ ประโยชน์ในการช่วยสร้างความชุ่มชื้นให้แก่ดินยิ่งมีมาก ด้วยการรักษาความชุ่มชื้นไว้ดังกล่าว จึงพบว่าแม้ในหน้าแล้งที่ลำคลองแห้งผาก แต่ชาวบ้านยังสามารถหาปลาได้โดยขุดลงไปบริเวณที่มีต้นสาคูขึ้นอยู่ ซึ่งจะพบว่ายังพอมีน้ำอยู่ข้างล่างและปลาก็อาศัยอยู่ในน้ำดังกล่าว เช่น ปลาช่อน ปลาดุก ปลาหมอ

ในช่วงหน้าน้ำนอกจากป่าสาคูจะดูดซับน้ำไว้ได้ส่วนหนึ่งแล้ว ต้นสาคูยังมีส่วนสำคัญที่ไม่น้ำไหลเชี่ยวลงทะเลไปย่างรวดเร็ว เพราะต้นสาคูจะขึ้นในคลองขวางทางน้ำเดินไว้ลักษณะเดียวกับการทดน้ำ ทำให้น้ำไหลช้า และระดับน้ำสูงขึ้นมาก ชาวบ้านจะขุดคลองไส้ไก่เล็ก ๆ ไว้สำหรับรับน้ำเข้านา หากไม่มีต้นสาคูขึ้นอยู่ในคลอง นอกจากน้ำจะไหลลงทะเลไปอย่างรวดเร็วแล้ว ระดับน้ำก็จะไม่สูงพอที่เข้านาได้ ยกเว้นในฤดูที่น้ำลดลงแล้วชาวบ้านก็ยังสามารถตัดต้นสาคูทำฝายกักน้ำเป็นช่วง ๆ เพื่อน้ำเข้านาได้อีก

ในแง่มุมทางวัฒนธรรมนั้นพบว่า คนในภาคใต้มีความรู้และสามารถนำส่วนต่าง ๆ ของต้นสาคูมาใช้ประโยชน์ได้อย่างหลากหลาย เช่น ชาวบ้านรู้มานานแล้วว่าในต้นสาคูนั้นมีแป้ง ซึ่งสามารถนำไปทำอาหารได้ เพียงแต่ว่าในสมัยก่อนข้าวปลาอุดมสมบูรณ์ ชาวบ้านจึงใช้แป้งสาคูสำหรับเลี้ยงสัตว์เป็นส่วนใหญ่ เช่น เลี้ยงไก่ เลี้ยงหมู ส่วนอื่น ๆ ของต้นสาคูชาวบ้านก็สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ทั้งสิ้น เช่น ใช้ใบสำหรับทำตับมุงหลังคาและฝาบ้านที่อยู่อาศัยในลักษณะเดียวกับใบจาก ใช้ก้านใบย่อยที่ชาวบ้านเรียกว่าก้านสาคูมาเหลาทำเป็นไม้กวาด ใช้ยอดอ่อนของสาคูทำอาหารได้เช่นเดียวกับยอดมะพร้าว ใช้ทางสาคูสำหรับการจักสาน ใช้ยางสาคูสำหรับรักษาเริม และรักษาฝ้าของสาว ๆ ที่เกิดขึ้นหลังฤดูปักดำหรือเก็บเกี่ยว ผลของสาคูก็ใช้รับประทานได้และใช้เป็นยาพื้นบ้านสำหรับช่วยลดความดันโลหิตสูงและบรรเทาโรคเบาหวาน เป็นต้น

ด้วยความสำคัญของสาคูดังกล่าว เรื่องของสาคูจึงเข้าไปปรากฏอยู่ในความเชื่อและพิธีกรรมต่าง ๆของชุมชน เช่น พื้นที่อำเภอนาโยง จังหวัดตรังเมื่อมีการแสดงมโนราห์แก้บน จะต้องใช้ใบสาคูประกอบการแก้บนด้วย หากไม่มีใบสาคูร่วมอยู่ในพิธีกรรมดังกล่าว ชาวบ้านเรียกว่าไม่หมดเหมย คือ พิธีกรรมยังไม่เสร็จหรือถือว่ายังไม่มีการแก้บน นอกจากนี้ยังมีความเชื่อเกี่ยวกับทวด โดยชาวบ้านเล่าต่อกันมาแต่อดีตว่า มีทวดเจ้าที่ขี่ช้างมาที่ป่าสาคูและมีข้อห้ามทำลายต้นสาคู แต่สามารถที่จะนำเอาต้นสาคูมาใช้ประโยชน์ได้ ห้ามทิ้งสิ่งสกปรกลงไปในแหล่งน้ำที่มีป่าสาคูอยู่

ป่าสาคูเริ่มหมดความสำคัญและความหมายแบบเดิมต่อชาวบ้านไป เมื่อเข้าสู่ยุคพัฒนาเศรษฐกิจที่ชาวบ้านถูกกระตุ้นให้ปลูกพืชเศรษฐกิจเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาด พร้อม ๆ กับชาวบ้านต้องดิ้นรนหาเงินมาใช้จ่ายในมาตรฐานชีวิตแบบใหม่มากขึ้น รวมทั้งรัฐได้นำระบบการจัดการทรัพยากรที่ดำเนินการโดยรัฐเข้าไปแทนที่ระบบของชุมชน ผลที่ค่อย ๆ เกิดขึ้นก็คือ ชาวบ้านค่อย ๆ ทำลายระบบนิเวศป่าสาคูลงไปและไม่เอาธุระที่จะดูแลป่าสาคู ประกอบกับเด็กและเยาวชนในพื้นที่เองก็ไม่ได้ให้คุณค่ากับป่าสาคูมากนัก จนในที่สุดป่าสาคูจึงเริ่มค่อย ๆ สูญหายไปจากพื้นที่ทีละเล็กทีละน้อย

ทางสมาชิกในทีม SAGU SRM ได้เล็งเห็นถึงปัญหาสำคัญในประเด็นต่าง ๆ เหล่านี้ จึงมีแนวคิดที่จะจัดโครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าสาคูขึ้น เพื่อให้เกิดการดำรงไว้ซึ่งระบบนิเวศน์ป่าสาคูอย่างยั่งยืนโดยมีเด็กและเยาวชนในพื้นที่เป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนโครงการ โดยอาศัยความร่วมมือกับสถานศึกษา หน่วยงานภาครัฐในพื้นที่ โดยน้อมนำแนวพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๒๑ มาใช้เป็นแนวทางในการดำเนินงาน ความว่า “... ธรรมชาติแวดล้อมของเรา ไม่ว่าจะเป็นแผ่นดิน ป่าไม้ แม่น้ำ ทะเล และอากาศ มิได้เป็นเพียงสิ่ง สวยๆ งามๆ เท่านั้น หากแต่เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการดำรงชีวิตของเรา และการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมของเราไว้ให้ดีนี้ ก็เท่ากับเป็นการปกปักรักษาอนาคตไว้ให้ลูกหลานของเราด้วย ...”

“ป่าสาคู มหาสมบัติของท้องถิ่นเรา ถ้าเราไม่รักใครจะรักษ์” ทีม SAGU SRM


โครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูพื้นที่ป่าสาคู.pdf