ความปลอดภัยในงานช่าง

ความปลอดภัยในการปฏิบัติงานช่าง

ในการปฏิบัติงานในงานช่างสิ่งสำคัญอีกสิ่งหนึ่งที่ต้องนึกถึงอยู่เสมอนั่นก็คือความปลอดภัยในขณะปฏิบัติงาน (Safety First) ถึงแม้ว่ามีความระมัดระวังสักเพียงใด อุบัติเหตุก็มักเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาในการเรียนภาคปฏิบัติวิชางานช่างจึงควรมีการส่งเสริมระบบการทำงานให้ถูกต้องตามกระบวนการและทักษะทางด้านงานช่างต่างๆ ตระหนักถึงเรื่องการป้องกันอุบัติเหตุจากการทำงาน รวมไปถึงการปฐมพยาบาลเบื้องต้น เพื่อเป็นการสร้างนิสัยแห่งการรักษาความปลอดภัย (Safety Habit) แก่นักเรียนทุกคนหรืออาจเกิดอันตรายแก่ร่างกายถึงพิการหรือเสียชีวิตได้ หากทุกคนรู้จักวิธีการทำงาน วิธีใช้เครื่องมือและวัสดุอุปกรณ์ด้วยความถูกต้อง เหมาะสมกับงาน และไม่ประมาทจะช่วยลดปัญหาการเกิดอุบัติเหตุได้เป็นอย่างดีเพราะเครื่องมือทุกชนิดถึงแม้จะออกแบบมาอย่างเหมาะสม แต่ก็อาจมีอุบัติเหตุที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้นได้เสมอ เพราะฉะนั้นในการปฏิบัติงานให้เกิดความปลอดภัยสูงสุด ควรปฏิบัติตามหลักความปลอดภัย และดูแลความเรียบร้อยของโต๊ะปฏิบัติงานทุกครั้งหลังเลิกใช้งาน

หลักความปลอดภัยในการปฏิบัติงาน

ในการปฏิบัติงานนั้น ผู้ปฏิบัติงานควรคำนึงถึงความปลอดภัยเป็นอันดับแรก เพราะถ้าประมาทจะทำให้เกิดความเสียหายทั้งร่างการและทรัพย์สิน

ความปลอดภัยทางด้านร่างกาย

การรักษาความปลอดภัยทางด้านร่างกายมีหลักปฏิบัติ ดังนี้

1. ไม่ควรใช้กล้ามเนื้อส่วนหลักยกของหนัก ให้ใช้เฉพาะกล้ามเนื้อขาและแขนเท่านั้น ถ้าของหนักมากหรือมีขนาดใหญ่ควรให้ผู้อื่นช่วยยกเสมอ

2. การทดสอบความคมของเครื่องมือและอุปกรณ์ ควรใช้ไม้หรือกระดาษเท่านั้น ห้ามใช้มือสัมผัสความคม เพราะอาจเกิดอันตรายจากการบาดของมีคมได้

• ขณะเลื่อยไม้ควรควบคุมนิ้วหัวแม่มือ ให้มั่นคง ไม่ลื่นไปมาเพราะหากพลาดเกิดอันตรายได้

• เมื่อใช้มีหรือของมีคม จะต้องให้ด้านคมหันออกจากตัวเสมอ

• ไม่ควรนำเอาเครื่องมือที่มีลักษณะแหลมคมใส่ไว้ในกระเป๋าเสื้อหรือกระเป๋ากางเกง

• ขณะถือเครื่องมือและวัสดุอุปกรณ์ที่มีปลายแหลมหรือมีคม จะต้องให้ปลายของเครื่องมือชี้ลงสู่พื้น และหันด้านคมออกจากตัวผู้ถือเสมอ

• ไม่ควรใช้ปากคาบตะปูเกลียวหรือวัสดุที่ทำด้วยโลหะขณะปฏิบัติงาน

• ไม่ควรโยนเครื่องมือวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ให้เพื่อนร่วมงาน

• ขณะใช้เครื่องเจียระไนวัสดุต่างๆ ควรสมแว่นตาทุกครั้ง เพราะอาจมีสะเก็ดหรือเศษเล็กเศษน้อยกระเด็นเข้าตาได้

• ความปลอดภัยด้านการสวมใส่เครื่องแต่งกายให้เหมาะสม

กฎความปลอดภัย

เป็นข้อบังคับหรือข้อควรระมัดระวังที่กำหนดขึ้น เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้อุบัติเหตุเกิดขึ้นได้ ซึ่งอาจจะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับลักษณะการทำงานในแต่ละสาขาอาชีพช่าง ในที่นี้จะกล่าวถึงกฎความปลอดภัยทั่ว ๆไปเป็นตัวอย่าง

1. แต่งกายให้รัดกุม

2. ไม่ควรหยอกล้อกันในขณะปฏิบัติงาน

3. ไม่ควรดื่มของมึนเมาในขณะปฏิบัติงาน

4. ควรตรวจสภาพเครื่องมือก่อนนำไปใช้งาน

5. ควรปฏิบัติงานในสถานที่ที่มีแสงสว่างเพียงพอ และอากาศถ่ายเทสะดวก

6. ควรศึกษาระบบการทำงานของเครื่องจักร ชนิดนั้น ๆ ให้เข้าใจก่อนปฏิบัติงาน

7. หากเครื่องจักรชำรุด ควรเขียนป้ายบอกกำกับไว้

8. ควรสวมหมวกนิรภัยในการปฏิบัติงานก่อสร้าง

9. หากน้ำมันหกลงพื้นควรทำความสะอาดทันที

10.เครื่องจักรที่มีการทำงานเคลื่อนไหว ด้วยความเร็วสูง ควรมีอุปกรณ์นิรภัยป้องกัน


สาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุ

สาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุ สรุปได้ดังนี้

1. เกิดจากตัวบุคคล คือเกิดจากตัวเราเองประมาท สุขภาพร่างกายไม่ดีพร้อมที่จะปฏิบัติงาน หรือไม่มีความรู้เกี่ยวกับเรื่องนั้น ๆดีพอ ฯลฯ

2. เกิดจากเครื่องมือชำรุด เครื่องมือมีสภาพไม่พร้อมที่จะใช้งาน มีคุณภาพต่ำ ฯลฯ

3. เกิดจากระบบการทำงาน อาคารสถานที่ การวางแผนขั้นตอนการปฏิบัติงานไม่ดี พอ หรือแสงสว่างไม่เพียงพอ อากาศไม่ถ่ายเท อุณหภูมิสูงเกินไป ฯลฯ

ผลกระทบจากการเกิดอุบัติเหตุ

1. สร้างความสูญเสียต่อทรัพย์สิน เช่น รถยนต์ชนกัน สร้างความเสียหายคือ รถยนต์พัง หรือสูญเสียทรัพย์สินจ่ายเงินชดเชยค่าเสียหายให้แก่ผู้อื่น

2. ร่างกายได้รับบาดเจ็บ สูญเสียอวัยวะ หรือหากรุนแรงอาจสูญเสียชีวิตในที่สุด

3. สร้างความเสื่อมเสียชื่อเสียง การยอมรับในทางธุรกิจ เช่น บริษัทรถทัวร์ใดมักเกิดอุบัติเหตุบ่อย ๆ ลูกค้าผู้ใช้บริการอาจใช้บริการของบริษัททัวร์อื่นแทน ทำให้รายได้ของบริษัทลดน้อยลง


แนวทางในการปฏิบัติงานเพื่อให้เกิดความปลอดภัย

- ในการปฏิบัติงานต้องมีสติระลึกไว้เสมอว่า คิดก่อนทำและปลอดภัยไว้ก่อน

- โต๊ะบริเวณที่ปฏิบัติงานจะต้องสะอาด

- เก็บเครื่องมือ วัสดุ อุปกรณ์ ให้เป็นสัดส่วนเพื่อสะดวกในการหยิบใช้งาน

- หากปฏิบัติงานไฟฟ้า ควรตัดกระแสไฟฟ้าให้เรียบร้อยเพื่อป้องกันอันตราย

- อุปกรณ์ เครื่องใช้ไฟฟ้าจะต้องมีการต่อสายดินเพื่อป้องกันไฟรั่ว

- อย่านำเครื่องมือที่มีคมใส่กระเป๋าเสื้อหรือกางเกงขณะปฏิบัติงาน

- อย่าใช้ไขควงแทนสิ่วหรือสกัด

- อย่าใช้ค้อนหรือตะไบที่มีด้ามหลวมหรือแตก และ อย่าใช้ตะไบแทนค้อน

- ก่อน หลัง ปฏิบัติงานควรตรวจสภาพเครื่องมืออุปกรณ์และทำความสะอาดทุกครั้ง


การป้องกันอุบัติเหตุ

อุบัติเหตุเกิดขึ้นได้ทุกเวลา วิธีการที่ดีที่สุด คือ การป้องกันก่อนที่จะเกิดขึ้นโดยการลดหรือป้องกันอุบัติเหตุ สามารถกระทำได้ดังนี้

- ตรวจสอบเครื่องมือเครื่องใช้และบำรุงรักษาให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน

- มีความพร้อมในทุก ๆ ด้าน ของร่างกายขณะปฏิบัติงาน

- จัดบริเวณปฏิบัติงานให้เรียบร้อย ไม่มีสิ่งกีดขวางหรือบดบังแสงสว่าง

- ขณะปฏิบัติงานในที่สูง ต้องมีเครื่องป้องกัน เช่น เข็มขัดนิรภัย

- หากปฏิบัติงานใกล้ วัตถุไวไฟ ควรมีอุปกรณ์ เช่น ถังดับเพลิงวางไว้ใกล้ ๆ