ระเบียบโรงเรียนศึกษานารีวิทยา ว่าด้วย การปฏิบัติตนของนักเรียน พุทธศักราช ๒๕๖๓

คู่มือนักเรียน

ระเบียบโรงเรียนศึกษานารีวิทยา

ว่าด้วย การปฏิบัติตนของนักเรียน พุทธศักราช ๒๕๖๑

♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦

เพื่อให้เกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อย และเป็นการเสริมสร้างความมีระเบียบวินัยให้นักเรียนของโรงเรียนศึกษานารีวิทยา อันจะมีผลให้สามารถดำเนินชีวิตในสังคมได้อย่างมีความสุขเละเพื่อเป็นเกียรติภูมิของโรงเรียน จึงเห็นสมควรกำหนดแนวทางการปฏิบัติตนของนักเรียนไว้ดังต่อไปนี้

ข้อ ๑ ระเบียบนี้เรียกว่า “ระเบียบโรงเรียนศึกษานารีวิทยา ว่าด้วย การปฏิบัติตนของนักเรียน พุทธศักราช ๒๕๖๑”

ข้อ ๒ ระเบียบหรือคำสั่งอื่นใดที่ขัดแย้งกับระเบียบนี้ ให้ใช้ระเบียบนี้แทน

ข้อ ๓ ให้ใช้ระเบียบนี้ควบคู่กับระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วย การแต่งกายของนักเรียน พุทธศักราช ๒๕๒๗ และระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วย การเคารพของนักเรียนและนักศึกษา

พุทธศักราช ๒๕๓๐

หมวด ๑

การปฏิบัติตนโดยทั่วไป

ข้อ ๔ นักเรียนโรงเรียนศึกษานารีวิทยาทุกคน ต้องปฏิบัติตนให้เป็นไปตามระเบียบของโรงเรียนโดยเคร่งครัด ดังนี้

(๑) ต้องมีผู้ปกครองที่ถูกต้องตามระเบียบของกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. ๒๕๒๒ หากเปลี่ยนผู้ปกครองใหม่หรือเปลี่ยนแปลงที่อยู่ ต้องแจ้งทางโรงเรียนให้ทราบในทันทีและนำผู้ปกครองมาทำการมอบตัวใหม่

(๒) ต้องแต่งกายให้สุภาพเรียบร้อยตามระเบียบของโรงเรียน ว่าด้วยการแต่งกายนักเรียนพุทธศักราช ๒๕๖๑ และเมื่ออยู่ในเครื่องแบบนักเรียน ต้องแต่งตัวให้เรียบร้อยไม่ว่าจะอยู่ในโรงเรียนหรือนอกโรงเรียน

(๓) ต้องมาโรงเรียนให้ทันเวลาที่กำหนด หากหยุดเรียนไม่ว่าด้วยเหตุใดก็ตาม ต้องปฏิบัติตามระเบียบการลา คือ การลาป่วยหรือลากิจ นักเรียนต้องส่งใบลาทุกครั้งต่อครูที่ปรึกษา ในวันแรกที่มาโรงเรียนและลายเซ็นผู้ปกครองต้องเป็นบุคคลเดียวกับที่ได้เซ็นไว้ในใบมอบตัว ถ้านักเรียนหยุดหลายวัน ผู้ปกครองควรรีบส่งข่าวให้ครูที่ปรึกษาทราบทันที โดยใช้แบบฟอร์มใบลาซึ่งทางโรงเรียนกำหนดไว้

(๔) นักเรียนพึงปฏิบัติตนเป็นคนดี มีความขยันหมั่นเพียร มีความซื่อสัตย์สุจริตประพฤติตนเป็นคนดี ของบิดา มารดา ผู้ปกครอง ครู เพื่อนนักเรียน และบุคคลทั่วไป

(๕) นักเรียนพึงรักษาความสามัคคีในหมู่คณะ การแตกแยกการทะเลาะวิวาทในระหว่างนักเรียนด้วยกัน ถือเป็นความผิดร้ายแรง

(๖) นักเรียนพึงเป็นบุคคลที่มีกิริยา สุภาพเรียบร้อย กล้าหาญ อดทน มีสัมมาคารวะต่อบิดา มารดา ผู้ปกครอง ครู และมีความสุภาพอ่อนโยนต่อบุคคลทั่วไป มีวัฒนธรรมและศีลธรรมอันดี

(๗) นักเรียนพึงรักษาทรัพย์สินของโรงเรียน หากทำเสียหายต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายให้กับโรงเรียน

(๘) นักเรียนพึงใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์แก่ตนเอง แก่ครอบครัวและหมู่คณะ ส่งเสริมและสนับสนุนกิจกรรมต่าง ๆ ของโรงเรียนให้เจริญยิ่งขึ้น

(๙) นักเรียนจะต้องเป็นผู้มีประชาธิปไตยอันอยู่ในขอบเขตที่ถูกที่ควร เข้าใจสิทธิและหน้าที่ของตน และต้องเคารพสิทธิของผู้อื่น

(๑๐) นักเรียนพึงเสียสละ ช่วยเหลือกิจกรรมหรืองานต่าง ๆ เพื่อการพัฒนาและให้ความร่วมมือกับโรงเรียน

(๑๑) เมื่อถึงเวลาเลิกเรียนให้รีบกลับบ้าน หากมีกิจกรรมนอกเวลาเรียนที่ต้องทำให้แล้วเสร็จต้องมีครูควบคุมดูแลและรับผิดชอบ

(๑๒) นักเรียนพึงสุภาพเรียบร้อย ในการขึ้นรถประจำทาง ปฏิบัติตามกฎระเบียบโดยเคร่งครัด ไม่ห้อยโหน ยืนบนบันได พูดจาหยาบคายเละส่งเสียงดังรบกวนผู้อื่น

(๑๓) การมาโรงเรียนในวันหยุด ต้องแจ้งให้กลุ่มบริหารงานบุคคลหรือครูเวรทราบและต้องแต่งเครื่องแบบนักเรียนหรือชุดพลศึกษาให้เรียบร้อย พร้อมทั้งได้รับอนุญาตจากผู้ปกครองทุกครั้ง

(๑๔) นักเรียนพึงพกบัตรประจำตัวนักเรียนตลอดเวลา และแสดงบัตรประจำตัวนักเรียนทุกครั้งที่มี

การสอบหรือติดต่อกับทางโรงเรียน และเมื่อบัตรประจำตัวนักเรียนชำรุด หรือสูญหายให้ติดต่อกลุ่มบริหารงานบุคคลเพื่อทำบัตรใหม่โดยเร็ว

(๑๕) ในการมาโรงเรียนทุกครั้งนักเรียนต้องแสกนบัตรเพื่อเช็คเวลาการเข้ามาเรียน และตอนเลิกเรียนต้องแสกนบัตรเพื่อออกจากโรงเรียนทุกครั้ง

หมวด ๒

สิ่งที่ควรงดเว้นการปฏิบัติ

ข้อ ๕ นักเรียนโรงเรียนศึกษานารีวิทยา ต้องงดเว้นการปฏิบัติ ดังต่อไปนี้

(๑) สูบบุหรี่ เสพสุรา หรือสารเสพติดอย่างอื่น

(๒) เล่นการพนัน หรือการละเล่นที่มีลักษณะเข้าข่ายการพนัน

(๓) เข้าไปในสถานที่จำหน่ายสุรา สถานการณ์พนัน โรงรับจำนำและสถานค้าประเวณี

(๔) ประพฤติตนทำนองชู้สาว

(๕) แสดงกริยาวาจาหรือการกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดที่ไม่สุภาพ

(๖) เที่ยวเตร่ในยามค่ำคืน

(๗) ทำลายทรัพย์สินของโรงเรียนหรือของผู้อื่นเสียหาย

(๘) หยิบฉวยสิ่งของเงินทองของผู้อื่น หรือกรรโชกทรัพย์ผู้อื่น

(๙) พกพาอาวุธหรือสิ่งของที่ใช้เป็นอาวุธ เช่นวัตถุระเบิด ของแหลม ของมีคมทุกชนิดเข้าใน

บริเวณโรงเรียน

(๑๐) นำอาหาร ขนม ตลอดจนเครื่องดื่มทุกชนิดขึ้นบนอาคารเรียน

(๑๑) ขับขี่ยานพาหนะใด ๆ ทั้งสิ้นมาโรงเรียน

(๑๒) นำโทรศัพท์มือถือ วิทยุติดตามตัว เกมส์คอมพิวเตอร์ เครื่องประดับ และสิ่งของมีค่าทุกชนิดมาโรงเรียน

(๑๓) ใส่รองเท้าเดินบนอาคารเรียน

หมวด ๓

การปฏิบัติตนขณะอยู่ในห้องเรียน

ข้อ ๖ ให้นักเรียนปฏิบัติตน ขณะอยู่ในห้องเรียน ดังนี้

(๑) แสดงความเคารพครูผู้สอน เมื่อเข้าและออกจากห้องเรียน

(๒) ต้องนำสมุด หนังสือเรียน พร้อมทั้งอุปกรณ์การเรียนของวิชานั้น ๆ มาเรียน

(๓) ตั้งใจเรียน ไม่พูด ไม่คุย เล่นหยอกล้อขณะครูสอน หากจำเป็นประสงค์จะออกนอกห้องเรียนต้องขออนุญาตจากครูผู้สอนก่อนทุกครั้ง

(๔) หากยังไม่มีครูเข้าสอนต้องอยู่ในความสงบ ไม่ส่งเสียงดัง อันเป็นการรบกวนห้องข้างเคียงนำงานขึ้นมาทำและเชื่อฟังหัวหน้าห้อง

(๕) ใช้วาจาสุภาพต่อครูและเพื่อนนักเรียน

(๖) ห้ามนำโทรศัพท์มือถือ วิทยุติดตามตัว เกมส์คอมพิวเตอร์หรือสิ่งอื่นใด ขึ้นมาใช้หรือเล่นในห้องเรียนขณะที่มีการเรียนการสอน

หมวด๔

การมาและกลับโรงเรียน

ข้อ ๗ การมาโรงเรียนของนักเรียน

(๑) นักเรียนต้องมาถึงโรงเรียนเวลา ๐๗.๔๐น. เป็นอย่างช้าพร้อมกับเข้าเครื่องแสกนบัตรนักเรียนและเข้าแถวเพื่อทำพิธีหน้าเสาธงพร้อมกัน เมื่อได้ยินสัญญาณให้เข้าแถวและเริ่มเรียนในเวลา ๐๘.๓๐น. และเลิกเรียนเวลา ๑๕.๑๐น. ถ้านักเรียนมาถึงโรงเรียนหลังธงชาติขึ้นสู้ยอดเสาถือว่ามาสาย

(๒) นักเรียนคนใดมาสาย ให้พบครูเวรหรือหัวหน้าระดับเพื่อบันทึกพฤติกรรม

(๓) นักเรียนที่มาสาย ๓ ครั้ง โรงเรียนจะแจ้งให้ผู้ปกครองทราบเพื่อรับรองว่าจะแก้ไขไม่ให้นักเรียนในปกครองมาสายเช่นนั้นอีก

(๔) ก่อนออกจากโรงเรียนเพื่อกลับบ้าน นักเรียนต้องสำรวจเครื่องแต่งกายให้เรียบร้อยถูกระเบียบ ว่าด้วยการแต่งกายนักเรียน

(๕) ในวันหยุดราชการ หากประสงค์จะเข้ามาทำกิจกรรมในโรงเรียน จะต้องมีครูรับผิดชอบดูแล และต้องแต่งเครื่องแบบนักเรียนหรือเครื่องแบบพลศึกษาทุกครั้งพร้อมทั้งขออนุญาตล่วงหน้าโดยความเห็นชอบของผู้ปกครอง

(๖) หากนักเรียนมีความจำเป็นต้องมาสาย ผู้ปกครองจะต้องแจ้งกับโรงเรียนด้วยตนเองเพื่อขออนุญาตให้นักเรียนมาโรงเรียนสาย เป็นกรณีพิเศษ โดยมีคำรับรองจากครูที่ปรึกษาและทำบัตรอนุญาตมาสาย จากกลุ่มบริหารงานบุคคล

(๗) ห้ามนักเรียนขึ้นบนอาคารเรียนก่อนเวลา ๐๗.๑๕ น. และห้ามอยู่บนอาคารเรียนหลังเวลา ๑๖.๓๐น. ยกเว้นมีครูควบคุมดูแล

หมวด ๕

การลาออกนอกบริเวณโรงเรียน

ข้อ ๘ เมื่อนักเรียนมาถึงโรงเรียนแล้ว ต้องอยู่ในความควบคุมของครูห้ามออกนอกบริเวณโรงเรียน

จนกว่าจะถึงกำหนดเวลาเลิกเรียน หากมีกิจธุระจำเป็นต้องการออกนอกบริเวณโรงเรียน ให้

ปฏิบัติดังนี้

(๑) กรณีผู้ปกครองมีหนังสือมาขออนุญาต ให้นักเรียนเขียนใบอนุญาตออกนอกบริเวณโรงเรียนที่ห้องบริหารงานบุคคล ผ่านครูที่ปรึกษา หัวหน้าระดับ หัวหน้า เวรประจำวัน แล้วยื่นต่อรองผู้อำนวยการกลุ่มบริหารงานบุคคล เพื่อออกบัตรอนุญาต

(๒) ให้รองผู้อำนวยการกลุ่มบริหารงานบุคคลหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายเซ็นชื่ออนุญาตและให้ยามเก็บหลักฐานส่วนหนึ่งไว้โดยมอบหนังสืออนุญาตออกนอกโรงเรียนกับนักเรียน โรงเรียนไม่อนุญาตให้นักเรียนออกนอกบริเวณโรงเรียน ถ้าไม่มีหลักฐานการอนุญาตจากผู้ปกครอง ยกเว้นกรณีที่ป่วยกะทันหันหรือมีเหตุจำเป็นโดยเร่งด่วน กลุ่มบริหารงานบุคคลและครูที่ปรึกษาจะพิจารณาเป็น

ราย ๆ ไป และต้องได้รับอนุญาตจากรองผู้อำนวยการกลุ่มบริหารงานบุคคลหรือผู้อำนวยการเท่านั้น

หมวด ๖

การเชิญผู้ปกครอง

ข้อ ๙ การเชิญผู้ปกครอง

(๑) ในกรณีที่มีความจำเป็นและเพื่อประโยชน์ของนักเรียน โรงเรียนจะเชิญผู้ปกครองโดยฝากผ่านหนังสือเชิญให้นักเรียนนำไปแจ้งผู้ปกครองนักเรียนต้องนำหนังสือแจ้งให้ผู้ปกครองทราบเพื่อมาตามกำหนดนัดหมาย

(๒) หากผู้ปกครองขัดข้องไม่สามารถมาโรงเรียนตามกำหนดนัดหมายได้ ต้องแจ้งให้โรงเรียนทราบทางโทรศัพท์ หมายเลข ๐-๒๔๕๐-๓๕๐๑ ถึง ๔ ต่อ ๑๑๔ หรือทางโทรสาร ๐-๒๘๙๒-๓๙๐๕

(๓) หากผู้ปกครองไม่มาติดต่อหลังจากออกหนังสือเชิญ ๓ ครั้ง โรงเรียนจะพิจารณาลงโทษนักเรียนตามขั้นตอนต่อไป

ระเบียบว่าด้วยผู้ปกครองนักเรียน

ตามประกาศของกระทรวงศึกษาธิการ ลงวันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๒๒ กล่าวถึงผู้ปกครองดังนี้

ก. ว่าด้วยการปฏิบัติของผู้ปกครองนักเรียน

(๑) ผู้ปกครอง หมายถึง บุคคลซึ่งรับนักเรียนไว้ในปกครอง หรืออุปการะเลี้ยงดู หรือบุคคลที่นักเรียนอาศัยอยู่ด้วย

(๒) ให้นักเรียนที่กำลังศึกษาในสถานศึกษาสังกัดหรือในความควบคุมดูแลของกระทรวงศึกษาธิการ เว้นแต่การศึกษาผู้ใหญ่ มีผู้ปกครองตลอดเวลาที่ศึกษาอยู่

(๓) ในวันมอบตัวนักเรียนใหม่ ให้ผู้ปกครองมามอบตัวนักเรียนที่สถานศึกษาพร้อมกับส่งหลักฐานเอกสารต่างๆ ตามที่สถานศึกษากำหนด ถ้าผู้ปกครองไม่อาจมามอบตัวนักเรียนได้ตามกำหนดเวลา ผู้ปกครองจะต้องนำนักเรียนมามอบตัวใหม่ตามวัน เวลา ที่โรงเรียนกำหนดฯ

(๔) ผู้ปกครองต้องร่วมมือกับทางโรงเรียนในการควบคุมความประพฤติและการศึกษาเล่าเรียน คอยตักเตือนนักเรียนในความปกครองให้หมั่นเล่าเรียน และประพฤติให้เรียบร้อยตามข้อบังคับและระเบียบวินัยของโรงเรียนทุกประการเป็นผู้อุปถัมภ์ด้านค่าเล่าเรียน เครื่องแบบนักเรียน อุปกรณ์การเรียน ค่าอาหารให้พอใช้สอยและถูกต้องตามระเบียบ

(๕) ผู้ปกครองควรติดต่อกับสถานศึกษาอยู่เสมอ เพื่อจะได้ทราบปัญหาต่างๆ เกี่ยวกับการศึกษาและความประพฤติของนักเรียน และร่วมมือกับสถานศึกษาแก้ปัญหานั้นๆ

(๖) เมื่อผู้ปกครองย้ายที่อยู่ ความเป็นผู้ปกครองสิ้นสุดลงด้วยประการใดๆ หรือจะเปลี่ยนผู้ปกครอง ผู้ปกครองต้องแจ้งให้ทางโรงเรียนทราบภายใน ๓ วัน ผู้ปกครองคนใหม่ต้องมาทำใบมอบตัวนักเรียนที่โรงเรียน และปฏิบัติตามระเบียบว่าด้วยหน้าที่ของผู้ปกครอง

(๗) สำหรับนักเรียนที่ศึกษาอยู่ในสถานศึกษาแล้ว หากโรงเรียนตรวจสอบติดตามหลักฐานการเป็นผู้ปกครองแล้วเห็นว่านักเรียนคนใดไม่มีผู้ปกครอง หรือมีผู้ปกครองไม่เหมาะสม ก็ให้โรงเรียนดำเนินการให้เป็นไปตามระเบียบนี

ข. ว่าด้วยบุคคลที่เป็นผู้ปกครองของนักเรียนได้

(๑) บิดา มารดา

(๒) ญาติผู้ใหญ่เสมอบิดา มารดา หรือครู

(๓) เจ้าของหรือผู้จัดการหอพัก ซึ่งบิดามารดาของนักเรียนและโรงเรียนพิจารณาเห็นว่าเป็นผู้สมควรเป็นผู้ปกครองได้

(๔) ผู้ที่บรรลุนิติภาวะ มีบ้านอยู่อาศัย และมีอาชีพเป็นหลักฐาน ซึ่งบิดามารดามอบความไว้วางใจให้เป็นผู้ปกครองนักเรียน (โรงเรียนไม่อนุญาตให้นักเรียน นิสิต นักศึกษา หรือผู้ไร้อาชีพเป็นผู้ปกครองนักเรียน)

หมวด ๗

การทำความเคารพ

ข้อ ๑๐ การแสดงความเคารพต่อครู และผู้ที่ควรเคารพ

การแสดงความเคารพเป็นการแสดงออกของผู้ซึ่งได้รับการศึกษาอบรมโรงเรียนจึงกำหนดหลักปฏิบัติเพื่อปลูกฝังนิสัยให้นักเรียนรู้จักเคารพ และผู้ที่ควรเคารพ ดังนี้

การแสดงความเคารพในบริเวณโรงเรียน

(๑) ครูทุกท่านของโรงเรียนถือว่าเป็นครูของนักเรียนทุกคนต้องให้ความเคารพนับถือยกย่อง

(๒) ขณะที่นักเรียนนั่งหรือยืน เมื่อครูเดินผ่านไประยะใกล้พอสมควร ให้นักเรียนแสดงความเคารพด้วยการยืนตรง โค้งคำนับ หรือไหว้

(๓) ขณะนักเรียนเดินสวนทางกับครู ให้แสดงความเคารพโดย การยืนตรงโค้งคำนับหรือไหว้รอให้ครูเดินผ่านไปจึงเดินต่อไป

(๔) เมื่อนักเรียนเดินตามหลังครูไม่ควรชิงขึ้นหน้า หากจำเป็นจริง ๆ ต้องกล่าวคำว่า “ขอโทษค่ะ” หรือ “ขอโทษครับ” ก่อนเดินผ่าน

(๕) การทำความเคารพของลูกเสือ เนตรนารี ยุวกาชาด หรือนักศึกษาวิชาทหารให้ปฏิบัติตามแบบธรรมเนียมของเหล่านั้น ๆ

(๖) เมื่อครูเข้าเรียน หรือก่อนออกจากห้องเรียน ให้หัวหน้าห้องบอกทำความเคารพโดยโค้งคำนับหรือยกมือไหว้

(๗) การเข้าพบครู ให้แสดงความเคารพโดยการโค้งคำนับหรือยกมือไหว้และยืนห่างจากโต๊ะครูประมาณ ๑ ก้าว ไม่ยืนห้อมล้อมโต๊ะครู

(๘) เมื่อนักเรียนพบครูภายนอกโรงเรียน ให้แสดงความเคารพทุกครั้ง โดยการไหว้และกล่าวคำว่า “สวัสดีค่ะ” “สวัสดีครับ” ทักทายปราศรัยด้วยความเหมาะสม

หมวด ๘

หน้าที่ของหัวหน้าและรองหัวหน้าห้อง

ข้อ ๑๑ โรงเรียนได้มอบหมายให้นักเรียนซึ่งทำหน้าที่หัวหน้าห้องและรองหัวหน้าห้องทำหน้าที่ ดังนี้

(๑) ควบคุมดูแลนักเรียนให้เรียบร้อยในขณะที่ไม่มีครูในห้องเรียน และเป็นตัวอย่างที่ดี

(๒) ช่วยดูแลจัดแถวให้เรียบร้อยทุกครั้งที่มีการเข้าแถว โดยใช้เวลาให้น้อยที่สุด

(๓) ให้รายงานต่อกลุ่มสาระการเรียนรู้ เมื่อไม่มีครูเข้าสอนประมาณ ๑๐ นาที เพื่อให้กลุ่มสาระการเรียนรู้ จัดสอนแทน

(๔) ควบคุมดูแลความสะอาดของห้องเรียน โดยประสานงานกับครูที่ปรึกษาและเพื่อนนักเรียนในห้อง

(๕) ทำหน้าที่ประสานงานระหว่างครูที่ปรึกษาและเพื่อนนักเรียนในห้อง

(๖) ปฏิบัติหน้าที่อื่น ๆ ตามที่ได้รับมอบหมาย

หมวด ๙

เบ็ดเตล็ด

ข้อ ๑๒ ผู้ปกครองที่ประสงค์พบหรือเยี่ยมนักเรียนให้ติดต่อยาม เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ของโรงเรียน หรือกลุ่มบริหารงานบุคคล และให้รอในบริเวณที่กำหนดให้ไม่อนุญาตให้ผู้ปกครองไปพบนักเรียนที่ห้องโดยลำพัง

ข้อ ๑๓ การแจ้งของหายเละเก็บของได้ ให้นักเรียนที่ของหรือเงินหายแจ้งที่กลุ่มบริหารงานบุคคลโดยทันทีเพื่อประกาศหาผู้เก็บได้ และติดตามฟังประกาศรับของคืน การรับของคืนให้แสดงหลักฐานบัตรประจำตัวประกอบการขอรับคืน และเมื่อนักเรียนเก็บของได้ให้รับนำส่งที่กลุ่มบริหารงานบุคคลทันที เพื่อประกาศหาเจ้าของมารับ

ข้อ ๑๔ นักเรียนที่มีความประสงค์ขอใบรับรองความประพฤติ ให้ขอแบบคำรับรองความประพฤติที่กลุ่มบริหารงานบุคคลและให้ครูที่ปรึกษาเละหัวหน้าระดับชั้นรับรองความประพฤติ เพื่อนำเสนอผู้อำนวยการโรงเรียนลงนามรับรองความประพฤติ

ข้อ ๑๕ นักเรียนทุกคนมีหน้าที่รักษาความสะอาดในห้องเรียน และบริเวณโรงเรียนซึ่งเปรียบเสมือนบ้านตนเอง ต้องไม่ขีดเขียนม้านั่ง โต๊ะ ประตู หน้าต่าง ฝาผนัง รั้วกำแพง หรือทำให้อาคารสกปรก ชำรุดเสียหายใด ๆ ผู้ปกครองต้องรับผิดชอบชดใช้ความเสียหายที่เกิดขึ้น

ประกาศ ณ วันที่ ๕ เดือน มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๑

นายนฤภพ ขันทับไทย

ผู้อำนวยการโรงเรียนศึกษานารีวิทยา

ระเบียบโรงเรียนศึกษานารีวิทยา

ว่าด้วย การแต่งกายนักเรียน พุทธศักราช ๒๕๖๑

¨¨¨¨¨¨¨¨¨¨¨¨¨¨

เพื่อให้การปกครองดูแลและการจัดกิจกรรมตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช ๒๕๔๒ ดำเนินไปด้วยความเรียบร้อย และเป็นไปตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วย เครื่องแบบนักเรียนและนักศึกษา พุทธศักราช ๒๕๒๔ โรงเรียนศึกษานารีวิทยา จึงกำหนดระเบียบการแต่งกายไว้ ดังนี้

ข้อ ๑ ระเบียบนี้เรียกว่า ระเบียบโรงเรียนศึกษานารีวิทยา ว่าด้วยการแต่งกายนักเรียนพุทธศักราช ๒๕๖๑

ข้อ ๒ กฎระเบียบ ข้อบังคับอื่นใดที่ขัดแย้งกับระเบียบนี้ให้ยกเลิกและใช้ระเบียบนี้แทน

หมวดที่ ๑

เครื่องแบบนักเรียนปกติ

ข้อ ๓ เครื่องแบนักเรียนชาย ชั้นมัธยมตอนต้น และชั้นมัธยมตอนปลาย

(๑) เสื้อ แบบเชิ้ตคอตั้ง ผ้าขาวเกลี้ยง ไม่บางเกินควร ผ่าอกตลอด มีสาบกว้าง ๔ ซม. ที่อกเสื้อด้านซ้ายมีกระเป๋า ๑ ใบ ขนาดกว้าง ๘ – ๑๒ ซม. และลึก ๑๐ – ๑๕ ซม. พอเหมาะกับขนาดของเสื้อ เอวเสื้อไม่คอดเล็กและส่วนอื่นๆต้องไม่คับและไม่หลวมจนดูน่าเกลียด เวลาสวมสอดชายเสื้อไว้ในกางเกงและสามารถเห็นเข็มขัดได้รอบตัว ติดกระดุมเสื้อตั้งแต่เม็ดที่สองจากคอลงมา มีเครื่องหมาย ศ.ว. ปักด้วยไหมสีน้ำเงินเข้มที่อกเบื้องขวา ให้อยู่ระดับกระดุมเสื้อเม็ดที่สอง ระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย มีเครื่องหมายซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของโรงเรียนเหนืออักษรย่อ ศ.ว. ประมาณ ๑.๕ ซม. โดยใช้ตรายางของโรงเรียนเท่านั้นห้ามเขียนเอง

- การปักสัญลักษณ์ระดับชั้น

นักเรียนชั้น ม.๑ ปักดาว (เหนืออักษร ศ.ว.) ๑ ดวง

นักเรียนชั้น ม.๒ ปักดาว (เหนืออักษร ศ.ว.) ๒ ดวง

นักเรียนชั้น ม.๓ ปักดาว (เหนืออักษร ศ.ว.) ๓ ดวง

นักเรียนชั้น ม.๔ ปักดาว ๑ ดวง ที่ปลายปกเสื้อด้านซ้าย

นักเรียนชั้น ม.๕ ปักดาว ๒ ดวง ที่ปลายปกเสื้อด้านซ้าย

นักเรียนชั้น ม.๖ ปักดาว ๓ ดวง ที่ปลายปกเสื้อด้านซ้าย

- การปักชื่อ นักเรียนทุกคนต้องปักชื่อใต้ ศ.ว. ขนาดสูง ๓/๔ เซนติเมตร ตัวอักษรตั้งตรงและปักแบบเดินเส้น ห้ามตีเกล็ดแผ่นหลัง ห้ามปล่อยชายเสื้อออกนอกกางเกง และห้ามกัดสีชื่อ เครื่องหมาย ศ.ว. ,ดาว

(๒) กางเกง ผ้าสีดำสนิท เนื้อผ้าเทโรไม่บางหรือหนาจนเกินไป ไม่มีลวดลายในเนื้อผ้า ขาสั้นเพียงเหนือเข่า จากกึ่งกลางลูกสะบ้าขึ้นไปไม่เกิน ๕ ซม. เมื่อยืนตรงส่วนกว้างของกางเกงเมื่อยืนตรงห่างจากขาตั้งแต่

๘ – ๑๐ ซม. ปลายขาพับชายเข้าในกว้าง ๕ ซม. มีกระเป๋าตามแนวตะเข็บข้างละ ๑ ใบ มีจีบหน้า ไม่มีกระเป๋าหลัง เวลาสวมให้ทับชายเสื้อไว้ให้เรียบร้อย และขอบเอวของกางเกงต้องไม่อยู่ใต้สะดือและไม่คับหรือหลวมจนเกินไป หูร้อยเข็มขัด มีจำนวน ๕ หูและกว้างไม่เกิน ๑ ซม. ยาว ๕ ซม. ห้ามใช้ผ้ายีนส์ ผ้ามัน ผ้าลายสอง ห้ามพับหรือม้วนขอบกางเกง

(๓) เข็มขัด หนังสีดำ ไม่มีลวดลายและตัวอักษร ขนาดกว้างตั้งแต่ ๒.๕ ซม. ถึง ๔ ซม. ตามส่วนขนาดของนักเรียน หัวเข็มขัดเป็นโลหะสีเงิน รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าแบน มีปลอกหนังสีเดียวกับเข็มขัด สำหรับสอดปลายเข็มขัด โดยให้ปลายเข็มขัดอยู่ระหว่างหูกางที่ ๑ และหูที่ ๒ ห้ามคาดเข็มขัดของสถาบันอื่น ห้ามเขียนและติดภาพหรือลวดลายทุกชนิดลงบนเข็มขัด

(๔) รองเท้าและถุงเท้า ใช้รองเท้าหุ้มส้นชนิดผูก หนังหรือผ้าใบดำทั้งหมด ทั้งเชือกและตาไก่ไม่มีลวดลาย ส้นเตี้ย หัวมน ถุงเท้าสั้นสีขาวสูงเหนือตาตุ่มประมาณ ๑ นิ้ว ขึ้นไป ห้ามม้วน พับถุงเท้า ห้ามเหยียบส้นรองเท้า ห้ามใช้รองเท้าทีเส้นขอบสีขาวหรือสีแดง

ข้อ ๔ เครื่องแบบนักเรียนหญิง ระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น

(๑) เสื้อ ใช้ผ้าสีขาวเกลี้ยงไม่บางเกินควร เสื้อแบบคอพับในตัว ลึกพอให้สวมศีรษะได้สะดวก สาบตลบเข้าข้างใน ส่วนบนของสาบให้ใหญ่พอและไม่เห็นตะเข็บด้านใน มีปกขนาด ๑๔ – ๑๕ ซม. ใช้ผ้าสองชั้นเย็บแบบเข้าถ้ำ แขนใช้ผ้าตรงตามยามเพียงเหนือศอก ปลายแขนจีบเล็กน้อย ประกอบด้วยผ้าสองชั้นกว้าง ๓ ซม. ความยาวของตัวเสื้อให้ยาวระดับข้อมือเวลาเหยียดแขนตรงและต้องใส่เสื้อทับสีขาวล้วน ทับเสื้อชั้นใน ขอบเสื้อด้านล่างมีรอยพับไม่เกิน ๓ ซม. ขนาดตัวเสื้อตั้งแต่ ใต้แขนถึงขอบล่างมีความกว้างพอเหมาะกับตัวไม่รัดเอว ริมขอบล่างขวาติดกระเป๋าขนาดกว้างไม่เกิน ๒ ซม. ปักเครื่องหมาย ศ.ว. ด้วยไหมสีน้ำเงินเข้มที่อกขวา ห้ามเขียนตัวอักษรเอง ใช้ตามแบบของโรงเรียนเท่านั้น

- การปักดาว นักเรียนชั้น ม. ๑ ปักดาว (เหนืออักษร ศ.ว.) ๑ ดวง

นักเรียนชั้น ม. ๒ ปักดาว (เหนืออักษร ศ.ว.) ๒ ดวง

นักเรียนชั้น ม. ๓ ปักดาว (เหนืออักษร ศ.ว.) ๓ ดวง

- การปักชื่อ นักเรียนทุกคนต้องปักชื่อใต้ ศ.ว. ขนดความสูง ๓/๔ ซม. ตัวอักษรตั้งตรงปักแบบ

เดินเส้น

(๒) คอซอง ใช้ผ้าสีกรมท่า กว้าง ๔ -๕ ซม. ปลายคอซองยาว ๗ ซม. เมื่อผูกแล้วและเมื่อใส่แล้วจะอยู่

ระดับกระดุมเม็ดบน

(๓) กระโปรง ใช้ผ้าสีน้ำเงินเข้ม หรือสีกรมท่า เกลี้ยงไม่มีลวดลาย ด้านหน้าและด้านหลังพับจีบข้างละ

๓ จีบหันกลับออกด้านนอกจับลึกไม่ต่ำกว่า ๓ ซม. ตีเกล็ดระหว่าง ๖ – ๑๒ ซม.เว้นระยะตรงกลางพองาม มี

กระเป๋าด้านข้างขวา ยาวคลุมเข่า วัดจากกึ่งกลางสะบ้า ความยาวประมาณ ๕ – ๑๐ ซม. กระโปรงเป็นทรง

ปลายบาน ห้ามใช้ผ้ายีนส์ ผ้ามัน ผ้าลายสอง กระโปรงทรงสอบ ห้ามเจาะกระเป๋าด้านหน้า ด้านหลัง ห้ามติด

กระดุมทุกชนิด ห้ามพับขอบกระโปรง

(๔) รองเท้าและถุงเท้า สวมรองเท้าหุ้มส้น หุ้มปลายเท้า หัวมน (ห้ามใช้รองเท้าหัวแหลม) ชนิดมีสายรัด

หลังสีดำ ไม่มีลวดลาย ส้นสูงไม่เกิน ๓ ซม. ใช้ถุงเท้าสีขาว ไม่บางหรือไม่หนาจนเกินไป ไม่มีลวดลาย (พับปลายเสมอข้อเท้า) รอยพับกว้างประมาณ ๓ ซม. หรือใช้ถุงเท้าลูกฟูกสีขาวให้สูงเหนือตาตุ่ม ๑ นิ้วขึ้นไป ไม่พับ ห้ามใส่ถุงเท้ามีลวดลาย ห้ามใช้ถุงเท้าใยบัว

ข้อ ๕ เครื่องแบบนักเรียนหญิง มัธยมศึกษาตอนปลาย

(๑) เสื้อ ใช้เสื้อคอเชิ้ตสีขาวเกลี้ยง ไม่มีสาบหน้า ไม่มีกระเป๋า ผ้าหนาพอควร ไม่รัดรูป แขนสั้นเหนือ

ข้อศอก ๓ -๕ ซม. ปลายแขนจีบ ห่างกันจีบละ ๒ ซม. (ไม่ใช้จีบรูด) เก็บชายเสื้อไว้ในกระโปรงและเหนืออักษรย่อ ศ.ว. ประมาณ ๑/๒ ซม. มีเครื่องหมาย ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของโรงเรียน โดยปักด้วยไหมสีน้ำเงินเข้มเช่นเดียวกับนักเรียนชายปักดาวปักเรียงตามขวาง ที่ปกเสื้อด้านซ้ายตามระดับชั้น ใส่เสื้อทับเสื้อชั้นในสีขาวสอดชายเสื้อไว้ในกระโปรง และสามารถมองเห็นเข็มขัดได้รอบตัว ติดกระดุมเสื้อตั้งแต่เม็ดที่สองจากคอลงมา ห้ามปล่อยชายเสื้อออกนอกกระโปรง ห้ามพับชายเสื้อกับเข็มขัด ห้ามกัดสีชื่อ เครื่องหมาย ศ.ว. ดาว

(๒) กระโปรง ใช้เช่นเดียวกับนักเรียนหญิงชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น

(๓) เข็มขัด ให้ใช้เข็มขัดหนังสีดำ หัวเข็มขัดสี่เหลี่ยมสีดำ เข็มขัดกว้าง ๓ – ๔ ซม. มีปลอกหนังสีดำกว้าง

๑ -๑.๕ ซม. สำหรับสอดปลายเข็มขัด ไม่มีลวดลาย ห้ามคาดเข็มขัดของสถาบันอื่น ห้ามเขียนภาพและติดลวดลายทุกชนิดลงบนเข็มขัด

(๔) รองเท้าและถุงเท้า ใช้เช่นเดียวกับนักเรียนหญิงชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น

หมวดที่ ๒

เครื่องแบบพลศึกษา

ข้อ ๖ ให้นักเรียนทั้งชายและหญิงทุกระดับชั้นใช้เครื่องแบบ ดังนี้

(๑) เสื้อ ให้ใช้เสื้อโปโลตามที่โรงเรียนกำหนด ที่กระเป๋าปักตราสัญลักษณ์ประจำโรงเรียนปักชื่อ

นามสกุลด้านขวา ระดับกระดุมเม็ดที่ ๒ ขนาดความสูงของตัวอักษร ๐.๕ - ๑ ซม. พร้อมทั้งปักดาว บอกระดับชั้นที่ปลายปกเสื้อด้านซ้ายสำหรับชั้น ม.ปลาย และเหนืออกเบื้องขวาสำหรับ

ชั้น ม.ต้น ด้วยไหมหรือด้ายสีน้ำเงินเข้ม และห้ามดัดแปลงให้ผิดไปจากนี้

(๒) กางเกง ให้นักเรียนหญิงทุกคนใช้กางเกงยืด (กางเกงวอร์ม) สีดำหรือสีที่โรงเรียนกำหนดให้ใช้

และนักเรียนชาย อนุญาตให้ใช้กางเกงสีดำได้

(๓) รองเท้าและถุงเท้า นักเรียนชายสวมรองเท้าผ้าใบสีดำ ถุงเท้าขาว ชนิดเดียวกันกับชุดนักเรียนรองเท้านักเรียนหญิง สวมรองเท้าผ้าใบสีขาว พื้นยางธรรมดา ไม่มีลวดลาย มีเชือกผูกเรียบร้อย ใช้ถุงเท้าเช่นเดียวกับเครื่องแบบนักเรียน และห้ามเหยียบส้นรองเท้า

หมวดที่ ๓

เครื่องแบบกิจกรรมบังคับ

ข้อ ๗ เครื่องแบบลูกเสือสามัญ รุ่นใหญ่

(๑) กางเกง ผ้าโทเรสีกากี เนื้อผ้าไม่บางหรือหนาจนเกินไป ไม่มีลวดลายในเนื้อผ้า ห้ามใช้ ผ้ายีนส์

ขาสั้นเพียงเหนือเข่า พ้นกลางลูกสะบ้าประมาณ ๕ ซม. มีกระเป๋าตามแนวตะเข็บข้างละ ๑ ใบ มีจีบหน้า จีบ ไม่มีกระเป๋าหลัง เวลาสวมให้ทับชายเสื้อให้เรียบร้อย และขอบบนของกางเกง ต้องไม่อยู่ไต้สะดือและไม่คับหรือหลวมจนเกินไป หูร้อยเข็มขัด มีจำนวน ๕ หูและมีความกว้างไม่เกิน ๑ ซม. ยาว ๕ ซม.

(๒) เสื้อ ใช้เสื้อแขนสั้นสีกากี อินทรธนูที่บ่า กระเป๋าหน้าอกสองใบมีฝาปิด ต้นแขนขวาติดป้ายชื่อโรงเรียน

(๓) หมวก ใช้หมวกเบเร่ย์ทรงอ่อนสีแดงเลือดหมู ประดับเครื่องหมายลูกเสือที่หน้าหมวก

(๔) เข็มขัด ทำด้วยหนังสีน้ำตาลไม่มีลวดลาย หัวเข็มขัดเป็นเครื่องหมายลูกเสือ

(๕) ถุงเท้า ใช้ถุงเท้ายาวสีกากี พร้อมพู่แดงเลือดหมูทั้งสองข้าง

(๖) รองเท้า หนัง หรือผ้าใบสีน้ำตาลแบบรองเท้านักเรียน

(๗) ผ้าผูกคอ ใช้ผ้าสามเหลี่ยมสีเหลือง มีเครื่องหมายตามสัญลักษณ์ของจังหวัดกรุงเทพฯ (พระที่นั่ง

จักรีมหาปราสาท) ม้วนชายสามเหลี่ยม มัดด้วยวอคเกิ้ล ปล่อยชายสามเหลี่ยมไว้ด้านหน้า

(๘) อินทรธนู สีแดงเลือดหมูมีเครื่องหมาย ลญ

(๙) ป้ายชื่อ ให้ปักด้วยด้ายสีเหลืองบนผ้าสีแดงเลือดหมู ตัวอักษรกว้างประมาณ ๑ ซม. เย็บติดที่อกเสื้อด้านขวากระเป๋าพองาม

ข้อ ๘ เครื่องแบบสมาชิกยุวกาชาด

(๑) เสื้อ ใช้เสื้อคอพับสีผ้าอมเทา ผ่าอกตลอดทำเป็นสาบ มีกระเป๋าสองข้างแบบปิดฝากระเป๋า

ด้วยกระดุมสีเดียวกับเสื้อ ตรงกลางกระเป๋าพับจีบเป็นแถบกว้างเท่ากับสาบเสื้อ ตรง บ่าสองข้างมีอินทรธนู

อกเสื้อด้านขวาติดเข็มเครื่องหมายยุวกาชาด ต้นแขนขวาติด แถบป้ายโรงเรียนชายเสื้ออยู่ในกระโปรง

(๒) กระโปรง ผ้าและสีชนิดเดียวกับเสื้อ เป็นแบบ ๔ ตะเข็บ เข้ารูปลาย กระโปรงบานพอสมควร

(๓) ผ้าผูกคอ สีกรมท่ารูปสามเหลี่ยมมุมฉาก มุมผ้าผูกคอด้านหลังติดเครื่องหมายยุวกาชาด

(๔) หมวก ทำด้วยสีกรมท่าแบบมีแก็ปข้างหน้า ตลบปีกหลังและด้านข้าง ขึ้นทั้งสองข้าง

ประดับเครื่องหมายยุวกาชาด

(๕) เข็มขัด ใช้หนังสีดำ มีหัวชนิดเกี่ยว ทำด้วยโลหะสีเงิน มีเครื่องหมายยุวกาชาด

(๖) รองเท้า หนังสีดำแบบเดียวกับเครื่องแบบนักเรียน

ข้อ ๙ เครื่องแบบเนตรนารี สามัญรุ่นใหญ่

(๑) เสื้อ แบบคอพับสีเขียวแก่ แขนสั้นเหนือศอก ผ่าอกตลอด อกเสื้อทำเป็นสาบกว้าง ๓.๕ เซนติเมตรมี

ดุมเหนือเข็มขัด ๔ เม็ด อกมีกระเป๋าข้างละ ๑ กระเป๋า มีแถบตรงกึ่งกลางตามทางดิ่งปกรูปมน เจาะรังดุมกึ่งกลาง ๑ ดุม ประดับอินทรธนูสีเลือดหมูเหนือบ่าทั้งสองข้าง ด้านไหล่กว้าง ๓.๕ เซนติเมตร ด้านคอกว้าง ๒.๕ เซนติเมตร ปลายอินทรธนูมีรูปเครื่องหมายเนตรนารีสีเหลือง การแต่งเครื่องแบบให้สอดชายเสื้อไว้ในกระโปรง หรือเย็บเสื้อติดกระโปรงได้ ด้านล่างและติดป้ายชื่อโรงเรียนที่ต้นแขนเสื้อด้านขวา

(๒) กระโปรง ทำด้วยผ้าสีเขียวแก่ ยาวเสมอเข่า ด้านหน้าและด้านหลังพับเป็นกลีบออกด้านข้าง ข้างละ

๑ กลีบ

(๓) ผ้าพันคอ ใช้ผ้าสีเหลือง รูปสามเหลี่ยมหน้าจั่ว ด้านฐาน ๑๐๐ เซนติเมตร ด้านตั้ง ๗๕ เซนติเมตร ติด

เครื่องหมายจังหวัดกรุงเทพมหานคร และมีห่วงซึ่งไม่ใช่ห่วงกิลเวลล์สวมผ้าผูกคอ

(๔) หมวก แบบปีกแคบ ทำด้วยผ้าสีเขียวแก่ มีตราหน้าหมวกรูปเครื่องหมายเนตรนารี ทำด้วยโลหะสี

ทอง ปีกหมวกด้านหลังพับขึ้น

(๕) เข็มขัด สายทำด้วยหนังสีดำ กว้างไม่เกิน ๓ เซนติเมตร หัวรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าทำด้วยโลหะสีทอง มีลาย

ดุนรูปเครื่องหมายเนตรนารี

(๖) ถุงเท้าและรองเท้า ถุงเท้าสีขาว พับสั้นเพียงข้อเท้า รองเท้าชนิดหนังสีดำแบบนักเรียน หรือผ้าใบสีดำ

ไม่มีลวดลาย หุ้มส้นชนิดผูก

หมวดที่ ๔

ทรงผม

ข้อ ๑๐ นักเรียนชาย

(๑) ตัดทรงนักเรียน ไม่แสก ไม่เสย ด้านข้างและด้านหลังเกรียน ด้านหน้ายาวไม่เกิน ๓ ซ.ม.

(๒) ตัดทรงรองทรงสูง ข้างหน้ายาวไม่เกิน ๕ ซ.ม. สำหรับม.ต้น และ ไม่เกิน ๗ ซ.ม. สำหรับม.ปลาย ห้ามไว้หนวดคราว ห้ามเปลี่ยนสีผม กันจอนไว้จอนข้างหู ห้ามใส่เยลหือน้ำมันแต่งผม ห้ามตัดทรงรองทรงต่ำ ห้ามโกนผม

ข้อ ๑๑ นักเรียนหญิง

(๑) ตัดทรงผมนักเรียน ยาวเสมอติ่งหูหรือเลยลงไป ๑ นิ้ว ผมด้านล่างไม่ปรกคอเสื้อ ไม่ดัด ซอย เซ็ทหรือตกแต่งสีผมแสกข้างใดข้างหนึ่งติดกิ๊บดำให้เรียบร้อย ไม่ใส่เยลหรือน้ำมัน ไม่ติดเครื่องประดับทุกชนิด

(๒) ผมยาวสำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น รวบผมให้เรียบร้อยสวยงามไว้หลังใบหูสองข้างสมดุลกัน ผูกโบว์ได้ ๓ สี คือ สีขาว สำหรับ ม.๑ สีน้ำเงินสำหรับ ม.๒ สีดำ สำหรับม.๓ และ ขนาดความกว้างของโบว์ ๑ นิ้ว และไม่มีลวดลาย

(๓) ผมยาวสำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย รวบผมให้เรียบร้อยสวยงามไว้หลังใบหูสองข้างสมดุลกัน ผูกโบว์ได้ ๓ สี คือ สีขาว สำหรับ ม.๔ สีน้ำเงินสำหรับ ม.๕ สีดำ สำหรับม.๖ และ ขนาดความกว้างของโบว์ ๑ นิ้ว และไม่มีลวดลาย

(๔) ประกาศ ณ วันที่ ๕ เดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๑

นายนฤภพ ขันทับไทย

ผู้อำนวยการโรงเรียนศึกษานารีวิทยา

ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ

ว่าด้วย การลงโทษนักเรียนและนักศึกษา พ.ศ.๒๕๔๘

........................................................

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๖ และมาตรา ๖๕ แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ.๒๕๔๖ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ จึงวางระเบียบว่าด้วยการลงโทษนักเรียนและนักศึกษาไว้ดังต่อไปนี้

ข้อ ๑ ระเบียบนี้เรียกว่า “ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการลงโทษนักเรียนและนักศึกษา พ.ศ. ๒๕๔๘

ข้อ ๒ ระเบียบนี้ให้ใช้ได้ตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

ข้อ ๓ ให้ยกเลิกระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการลงโทษนักเรียนหรือนักศึกษา พ.ศ. ๒๕๔๓

ข้อ ๔ ในระเบียบนี้ “ผู้บริหารโรงเรียนหรือสถานศึกษา” หมายความว่า ครูใหญ่ อาจารย์ใหญ่ ผู้อำนวยการ อธิการบดี หรือหัวหน้าของโรงเรียนหรือสถานศึกษาหรือตำแหน่งที่เรียกชื่ออย่างอื่นของโรงเรียนหรือสถานศึกษานั้น

“กระทำความผิด” หมายความว่า การที่นักเรียนหรือนักศึกษาประพฤติฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับของสถานศึกษา หรือของกระทรวงศึกษาธิการ หรือกฎกระทรวงว่าด้วยความประพฤติของนักเรียนและนักศึกษา

“การลงโทษ” หมายความว่า การลงโทษนักเรียนหรือนักศึกษาที่กระทำความผิด โดยมีความมุ่งหมายเพื่อการอบรมสั่งสอน

ข้อ ๕ โทษที่จะลงโทษแก่นักเรียนหรือนักศึกษาที่กระทำความผิด มี ๔ สถาน ดังนี้

(๑) ว่ากล่าวตักเตือน

(๒) ทำทัณฑ์บน

(๓) ตัดคะแนนความประพฤติ

(๔) ทำกิจกรรมเพื่อให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

ข้อ ๖ ห้ามลงโทษนักเรียนและนักศึกษาด้วยวิธีรุนแรง หรือแบบกลั่นแกล้ง หรือลงโทษด้วยความโกรธ หรือด้วยความพยาบาท โดยคำนึงถึงอายุของนักเรียนนักศึกษา และความร้ายแรงของพฤติการณ์ประกอบการลงโทษด้วย การลงโทษนักเรียนหรือนักศึกษาให้เป็นไปเพื่อเจตนาที่จะแก้นิสัย ความประพฤติไม่ดีของนักเรียนหรือนักศึกษาให้รู้สำนึกในความผิด และกลับประพฤติตนในทางที่ดีต่อไป ให้ผู้บริหารโรงเรียนหรือสถานศึกษา หรือผู้ที่ผู้บริหารโรงเรียนหรือสถานศึกษามอบหมายให้เป็นผู้ที่มีอำนาจในการลงโทษนักเรียนนักศึกษา

ข้อ ๗ ว่ากล่าวตักเตือน ใช้ในกรณีนักเรียนนักศึกษาทำความผิดไม่ร้ายแรง

ข้อ ๘ การทำทัณฑ์บน ใช้ในกรณีนักเรียนนักศึกษาที่ประพฤติตนไม่เหมาะสมกับสภาพนักเรียนนักศึกษา ตามกฎกระทรวงว่าด้วยความประพฤตินักเรียนนักศึกษา หรือกรณีที่ทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียงและเกียรติศักดิ์ของสถานศึกษาหรือฝ่าฝืนระเบียบของสถานศึกษา หรือได้รับโทษว่ากล่าวตักเตือนแล้ว แต่ยังไม่เข็ดหลาบ การทำทัณฑ์บนให้ทำเป็นหนังสือ และเชิญบิดามารดาหรือผู้ปกครองมาบันทึกรับทราบความผิดและรับรองการทำทัณฑ์บนไว้ด้วย

ข้อ ๙ การตัดคะแนนความประพฤติ ให้เป็นไปตามระเบียบปฏิบัติว่าด้วยการตัดคะแนนความประพฤตินักเรียนและนักศึกษาของแต่ละสถานศึกษากำหนด และให้ทำบันทึกข้อมูลเป็นหลักฐาน

ข้อ ๑๐ ทำกิจกรรมเพื่อให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ใช้ในกรณีที่นักเรียนและนักศึกษากระทำความผิดที่สมควรต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรม การจัดกิจกรรมให้เป็นไปตามแนวทางที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนด

ข้อ ๑๑ ให้ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ รักษาการให้เป็นไปตามระเบียบนี้และให้มีอำนาจตีความและวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติตามระเบียบนี้

ประกาศ ณ วันที่ ๑๘ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๘

อดิศัย โพธารามิก

(นายอดิศัย โพธารามิก)

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ