ประวัติความเป็นมาของวิทยาลัยฯ

วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี สุพรรณบุรี ก่อสร้างโดยดำริของ ฯพณฯ บรรหารศิลปอาชา นายกรัฐมนตรีคนที่ 21 ที่เห็นว่าจังหวัดสุพรรณบุรีเป็นจังหวัดทางภาคตะวันตกที่ยังไม่มีสถานศึกษาทางด้านการพยาบาลและสาธารณสุข สมควรให้มีการก่อตั้งสถานศึกษาทางด้านการพยาบาลและสาธารณสุขเพื่อให้เยาวชนในเขตภูมิภาคนี้ได้มีสถานศึกษาทางวิชาชีพด้านการพยาบาลและสาธารณสุข เมื่อจบการศึกษาแล้วสามารถดูแลสุขภาพอนามัยแก่ประชาชนได้อย่างทั่วถึง นพ.สุวัจน์ เทียรทอง นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสุพรรณบุรีในขณะนั้น ได้ดำเนินการของบประมาณก่อสร้างวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี สุพรรณบุรีจากสำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงสาธารณสุข ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2534 เป็นต้นมา โดยฯพณฯบรรหาร ศิลปอาชา ได้มีส่วนสำคัญในการผลักดันและติดตามงบประมาณการก่อสร้างมาโดยตลอดและได้รับงบประมาณเพื่อดำเนินการก่อสร้างในปีงบประมาณ 2536 (งบประมาณผูกพัน ปีงบประมาณ 2536-2538) เป็นเงิน 97,900,000 บาท การก่อสร้างได้ดำเนินการบนเนื้อที่ 22 ไร่ 2 งาน 73 ตารางวา ซึ่งเป็นพื้นที่สาธารณประโยชน์และพื้นที่ธรณีสงฆ์ของวัดชีป่าร้าง บริเวณศูนย์ราชการจังหวัดสุพรรณบุรีแห่งที่ 1 ซึ่งเดิมเรียกพื้นที่นี้ว่าดอนย่างแย้ฯพณฯ บรรหาร ศิลปอาชา ได้บริจาคเงินส่วนตัวจำนวน 200,000 บาท ในการขนย้ายราษฎรออกจากพื้นที่สาธารณประโยชน์และที่ดินธรณีสงฆ์ไปอยู่ที่หมู่บ้านเย็นศิระ บริเวณด้านหลังวิทยาลัย

ต่อมาในปีงบประมาณ 2540 วิทยาลัยได้รับงบประมาณเพิ่มเติมในการปรับปรุงภูมิทัศน์จำนวน 2,983,000 บาทและได้รับการจัดสรรงบพัฒนาจังหวัดจำนวน 1,587,000 บาท ในการจัดซื้ออุปกรณ์ห้องปฏิบัติการภาษา จำนวน 60 ที่นั่ง เป็นเงินจำนวน 342,000 บาท เครื่องคอมพิวเตอร์ จำนวน 15 ชุด เป็นเงิน 506,000 บาท เครื่องปรับอากาศ ขนาด 38,000 BTU จำนวน 6 เครื่อง เป็นเงิน 192,000 บาท และต่อเติมรั้วเหล็กรอบวิทยาลัย ประตูเหล็กหอพักนักศึกษา เป็นเงิน 547,000 บาท รวมทั้งได้รับการจัดสรรงบประมาณจำนวน 24,700,000 บาท(งบประมาณผูกพัน ปีงบประมาณ 2540-2542) เพื่อก่อสร้างหอพักนักศึกษาที่โรงพยาบาลเจ้าพระยายมราช บนที่ดินที่โรงพยาบาลเจ้าพระยายมราชจัดซื้อเพิ่มเติมให้เป็นเงิน 2,066,000 บาท เป็นอาคารหอพัก 6 ชั้น เพื่อให้นักศึกษาพักขณะฝึกภาคปฏิบัติที่โรงพยาบาลเจ้าพระยายมราช

ในวันที่ 19 มีนาคม 2540 วิทยาลัยได้เข้าเป็นสถาบันสมทบของมหาวิทยาลัยมหิดลและได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเป็นองค์ประธานเปิดวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี สุพรรณบุรี เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2543

วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี สุพรรณบุรี ตั้งอยู่เลขที่ 118 หมู่ 1 ตำบลสนามชัย อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นสถาบันอุดมศึกษา สังกัดสถาบันพระบรมราชชนก กระทรวงสาธารณสุข ลำดับที่35 เริ่มรับนักศึกษาพยาบาล รุ่นที่ 1 ในปีการศึกษา 2538 โดยฝากเรียนที่วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี ราชบุรี เมื่อวิทยาลัยก่อสร้างแล้วเสร็จจึงได้ย้ายนักศึกษารุ่นที่ 1 จากวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี ราชบุรี มาเรียนที่วิทยาลัยและเปิดรับนักศึกษาพยาบาล รุ่นที่ 2 โดยวิทยาลัยได้เริ่มเปิดดำเนินการในเดือนปีการศึกษา 2539

ตั้งแต่วิทยาลัยเปิดดำเนินการจนถึงปัจจุบัน (ปีการศึกษา 2557) วิทยาลัยได้ผลิตพยาบาลออกไปปฏิบัติงานในระบบบริการสุขภาพของประเทศ จำนวน 1,451 คน (ปีการศึกษา 2541 - 2556) 

ตราประจำวิทยาลัย ตราอักษรพระนามย่อ สว รูปดอกบัวของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราช

สีประจำวิทยาลัย สีแดง – ขาว สีแดงเป็นสีประจำองค์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และสีขาวเป็นสีสัญลักษณ์ของพยาบาล 


ดอกไม้ประจำวิทยาลัย ดอกสุพรรณิการ์ เป็นดอกไม้ที่มีสีเหลืองสด ซึ่งเป็นสีแห่งธรรม และคุณธรรม ซึ่งมีชื่อพ้องกับ จังหวัดสุพรรณบุรี  

วิสัยทัศน์

เป็นผู้นำด้านการส่งเสริมสุขภาพ ผลิตบัณฑิตและพัฒนาบุคลากรด้านสาธารณสุขที่มีคุณภาพ  โดยใช้ชุมชนเป็นฐานการเรียนรู้
คำอธิบาย

เป็นผู้นำด้านการส่งเสริมสุขภาพ หมายถึง เป็นองค์กรทางการศึกษาซึ่งเป็นที่ยอมรับในด้านความรู้ ความเชี่ยวชาญและเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการส่งเสริมสุขภาพในระดับชาติ

บัณฑิตที่มีคุณภาพ หมายถึง บัณฑิตมีคุณลักษณะที่พึงประสงค์ตามที่วิทยาลัยกำหนด มีคุณภาพสูงและมีผลงานโดดเด่นในระดับชาติ

พัฒนาบุคลากรด้านสาธารณสุขที่มีคุณภาพ หมายถึง ผู้ที่ได้รับการพัฒนาจากวิทยาลัยเป็นผู้ที่สามารถปฏิบัติงานตามภารกิจและยุทธศาสตร์การพัฒนาหน่วยงานของตนเองอย่างเต็มศักยภาพ

ใช้ชุมชนเป็นฐานการเรียนรู้ หมายถึง การบูรณาการพันธกิจของวิทยาลัยโดยให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการดำเนินงานและการแลกเปลี่ยนเรียนรู้

พันธกิจ

1.ผลิตบัณฑิตพยาบาลตามแผนพัฒนากำลังคนของกระทรวงสาธารณสุข
2.วิจัยและพัฒนาองค์ความรู้
3.บริการวิชาการที่ตอบสนองความต้องการของสังคม
4.ทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม
5.บริหารจัดการที่ดีตามหลักธรรมาภิบาล

ปรัชญา

การจัดการเรียนการสอนโดยใช้ชุมชนเป็นฐานการเรียนรู้ ทำให้บัณฑิตพยาบาลมีความรู้ เป็นผู้นำทางวิชาการ มีความรับผิดชอบ เอื้ออาทร  มีความคิดสร้างสรรค์  มีจิตอาสาและใฝ่เรียนรู้ตลอดชีวิต

ปณิธาน

วิทยาการก้าวล้ำ คุณธรรมนำหน้าเลิศด้วยปัญญาสมคุณค่าพยาบาล

ค่านิยม

“ ใฝ่เรียนรู้ คิดสร้างสรรค์ รับผิดชอบ จิตอาสา ”

เอกลักษณ์สถาบัน

“สร้างคนจากชุมชนเพื่อตอบสนองระบบสุขภาพชุมชน”

วัตถุประสงค์

1.ผลิตบัณฑิตพยาบาลที่มีความรู้และสมรรถนะเชิงวิชาชีพ
2.ผลิตผลงานวิจัยและผลงานวิชาการที่มีคุณภาพ
3.บริการวิชาการที่ตอบสนองระบบบริการสุขภาพและสร้างความเข้มแข็งของ ชุมชนและสังคม
4.ทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น
5.บริหารจัดการองค์กรอย่างมีประสิทธิภาพด้วยหลักธรรมาภิบา

นโยบายการดำเนินงาน

หลักการสำคัญของนโยบายคือ

1. สนับสนุนนโยบายและพันธกิจของสถาบันพระบรมราชชนก กระทรวงสาธารณสุข

2. มุ่งเน้นประโยชน์ที่จะเกิดประโยชน์กับนักศึกษาให้นักศึกษาเรียนรู้อย่างมีความสุข ภาคภูมิใจในสถาบันการศึกษา

3. มุ่งเน้นการทำงานที่เป็นระบบ รวดเร็ว ทำได้จริง มีผลต่อเนื่องอย่างยั่งยืน

4. ส่งเสริมและพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ ความสามารถในงานที่รับผิดชอบ

5. ใช้ระบบการประกันคุณภาพการศึกษาเป็นกลไกในการพัฒนาวิทยาลัยให้ได้คุณภาพมาตรฐาน

สำหรับนโยบายบริหารวิทยาลัยยึดหลักการบริหารจัดการตามภารกิจของวิทยาลัย 5 ด้านภายใต้วิสัยทัศน์ คือ เป็นผู้นำด้านการส่งเสริมสุขภาพ ผลิตบัณฑิตและพัฒนาบุคลากรด้านสาธารณสุขที่มีคุณภาพ โดยใช้ชุมชนเป็นฐานการเรียนรู้ดังนี้

1.ด้านการผลิตบัณฑิต จะพัฒนาการเรียนการสอนสู่ความเป็นสากลเพื่อสร้างบัณฑิตที่มีคุณภาพโดยเน้นการเรียนการสอนจากสถานการณ์จริงทั้งในชุมชนและการจัดสถานการณ์เสมือนจริงจากหุ่นจำลองและใช้ SNC Model ในการสร้างบัณฑิตให้มีอัตลักษณ์ตามที่วิทยาลัยได้กำหนดไว้ 6 ด้าน คือ จิตบริการ คิดเป็นแก้ปัญหาได้ การมีส่วนร่วม ใฝ่เรียนรู้ มีวินัย มีความรู้และทักษะทางวิชาชีพ

2. ด้านวิจัย จะส่งเสริมงานวิจัยสถาบัน เพื่อให้ได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการนำไปพัฒนาวิทยาลัย รวมทั้งงานวิจัยที่สร้างองค์ความรู้ระดับสากลและงานวิจัยประยุกต์ที่มุ่งเน้นแก้ปัญหาท้องถิ่น ชุมชน ประเทศ โดยเชื่อมโยงการวิจัยกับการเรียนการสอน การบริการวิชาการและการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม ให้ส่งเสริมซึ่งกันและกัน รวมทั้งสร้างเสริม สนับสนุนศักยภาพของอาจารย์ในการทำวิจัยอย่างต่อเนื่องและการนำเสนอผลงานวิชาการในระดับสากล ตลอดจนพัฒนาความร่วมมือด้านการวิจัยกับสถาบันทั้งในและต่างประเทศ

3.ด้านบริการวิชาการ วิทยาลัยจะนำความรู้และประสบการณ์ของอาจารย์ ตลอดจนความพร้อมของอาคาร สถานที่ มาเป็นประโยชน์ในการพัฒนาชุมชน ท้องถิ่นและบุคลากรสาธารณสุข โดยจะเชื่อมโยงไปกับการเรียนการสอน การวิจัยและเป็นการเพิ่มรายได้เพื่อสร้างความมั่นคงทางการเงินในระยะยาว

4.ด้านการทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม วิทยาลัยจะสนับสนุนให้นักศึกษาได้ร่วมกิจกรรมทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรมกับหน่วยงานทั้งในและนอกจังหวัด ในระดับชาติและนานาชาติ รวมทั้งให้ความสำคัญกับวัฒนธรรมไทยและภูมิปัญญาท้องถิ่น

5.ด้านบริหารจัดการ ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของบุคลากรในวิธีการที่เหมาะสม เพื่อนำไปสู่ความรับผิดชอบร่วมกัน การสร้างเสริม ขวัญ กำลังใจและจัดสวัสดิการที่เหมาะสม พัฒนาศักยภาพการทำงานของบุคลากรทุกระดับให้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ ในงานที่รับผิดชอบ รวมทั้งเผยแพร่ผลงานของวิทยาลัยในรูปแบบต่าง ๆ ให้เป็นที่รู้จักและยอมรับในระดับท้องถิ่นและระดับชาติ 

อัตลักษณ์

สถาบันพระบรมราชชนก สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงสาธารณสุข ได้กำหนดอัตตลักษณ์ของวิทยาลัยในสังกัดสถาบันพระบรมราชชนก ดังนี้

๑. อัตลักษณ์สถาบัน

อัตลักษณ์สถาบัน คือ “สร้างคนจากชุมชนเพื่อตอบสนองระบบสุขภาพชุมชน”

- สร้างคน หมายถึง การผลิตและการพัฒนาบุคลากรด้านสุขภาพ

- ระบบสุขภาพชุมชน (Community Health System) หมายถึง ระบบความสัมพันธ์ทั้งปวงเกี่ยวข้องกับสุขภาพ โดยมีความหมายและขอบเขตที่กว้างขวางเกี่ยวข้องกับเหตุและปัจจัยต่างๆที่มีผล กระทบกับสุขภาพหลายด้าน ทั้งด้านบุคคล ครอบครัว ชุมชน สภาพแวดล้อมและระบบบริการสุขภาพ

 

๒. อัตลักษณ์บัณฑิต

อัตลักษณ์บัณฑิต คือ “บริการสุขภาพด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์” คุณลักษณะบัณฑิตแต่ละด้าน มีพฤติกรรมที่คาดหวังดังนี้
คุณลักษณะของบัณฑิต พฤติกรรม

คุณลัษณะที่ ๑ จิตบริการ

คุณลัษณะที่ ๒ คิดวิเคราะห์

คุณลัษณะที่ ๓ การคำนึงถึงสิทธิ์ผู้ป่วย

คุณลัษณะที่ ๔ ใฝ่เรียนรู้

คุณลัษณะที่ ๕ มีความรับผิดชอบ

คุณลัษณะที่ ๖ มีความรู้และทักษะทางวิชาชีพ