[ความรู้] ประวัติศาสตร์เคนโด

เคนโด้เป็นศิลปะแห่งการใช้ดาบของชนชาติญี่ปุ่น อันมีความหมายว่าวิถีแห่งดาบ โดยมีแนวคิดทางปรัชญาของพระพุทธศาสนาและลัทธิชินโตอีกทั้งยังมีรากฐานทางวัฒนธรรมของญี่ปุ่นผสมผสานเข้าไปอย่างลงตัวอีกด้วย

ราวศักราชที่ 789 หรือก่อนกว่านั้นไม่มากนักได้มีการกล่าวถึงความเป็นมาของวิชาดาบเคนจัตซึและคุมิตาชิ โดยเชื่อว่าเป็นวิชาดาบที่มีไว้สำหรับบุตรชาย

ขุนนางของญี่ปุ่นใน สมัยเฮอันเคียว(794 - 1185)ที่มีการบันทึกว่า ณ เมืองเกียวโตจะมีการจัดงานเทศกาลทุกๆปีโดยจะมีการแข่งขันคุมิตาชิเสมอๆ โดยวิชาดาบคุมิตาชิอาจย้อนไปถึงสองพันปีก่อนและมีที่มาจากประเทศจีนโดยผ่านมาทางเกาหลี

จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่เป็นที่รับรู้กันอย่างกว้างขวางเกี่ยวกับเคนโด้มากคือการกำเนิดเกิดขึ้นพร้อมๆกับซามูไร โดยในสมัยเฮอันเคียว( 794 - 1185 )หลังจากที่เริ่มมีการแบ่งสันปันส่วนที่ดินให้แก่เจ้าขุนมูลนายทำนองเดียวกับศักดินาจากราชสำนักในเกียวโตกระจายไปทั่วญี่ปุ่นนั้นเพื่อแบ่งเบาภาระหน้าที่ราชสำนักในการปกครองแผ่นดินนั้นไปสู่เจ้าขุนมูลนายหรือพวกไดเมียว ต่อมาคือขุนนางที่รั้งตำแหน่งปกครองสืบตระกูลเป็นแว่นแค้วนน้อยใหญ่ย่อมต้องมีกองทหารคอยรักษาผลประโยชน์ที่ดินและทรัพย์สินรวมไปถึงการักษาไว้ซึ่งอำนาจการปกครอง ข้ารับใช้ที่มีทั้งหน้าที่ปกป้องที่ดินได้พัฒนามากองทหารหรือซามูไรและเข้มข้นมากขึ้นเรื่อยๆจนกลายเป็นลัทธิทางทหารบูชิโดที่มีความซับซ้อนสูงต่ำตามตำแหน่งและหน้าที่ราชการโดยการพัฒนาเหล่านั้นได้คู่ขนานไปพร้อมๆกับวิชาดาบเคนจัตซึ ซึ่งเคนจัตซึมีส่วนอย่างมากในการพัฒนารูปแบบวิชาดาบเคนโด้

จวบจนกระทั่งในสมัยเอโดะ( 1603 - 1868 )วิชาดาบเคนโด้มีรูปแบบที่เป็นเอกเทศมากขึ้นโดยมีการแต่งกายและอุปกรณ์เกิดขึ้นเป็นระบบและเป็นมาตรฐานมากกว่าแต่ก่อนและใช้กันอย่างกว้างขวางในระบบนั้น โดยในยุคนี้ที่เคนโด้ได้กลายเป็นวิชาดาบอีกแขนงที่แยกออกมาจากเคนจัตซึอย่างชัดเจน มีหลักฐานแน่นอนว่าเคนโด้ได้ใช้เป็นหนึ่งในหลายๆวิชาเพื่อทำการสอบเข้ารับราชการแก่ผู้ที่จะมาเป็นซามูไรโดยรูปแบบการแต่งกายและอุปกรณ์ยังคงใช้กันมาจนถึงปัจจุบันแม้รายละเอียดและวัสดุบางอย่างอาจแตกต่างกันบ้างเล็กน้อยเท่านั้น

อย่างไรก็ตามหลังสงครามโลกครั้งที่สองจากอำนาจการยึดครองของหน่วย SCAPโดยฝ่ายพันธมิตรได้สั่งห้ามการฝึกเคนโด้เด็ดขาดทั่วญี่ปุ่นโดยกลัวว่าจะเป็นการปลูกฝังลัทธิทางทหารแก่คนญี่ปุ่น อย่างไรก็ดีหลังสนธิสัญญา San Fransico Peace Treaty เคนโด้จึงถูกนำมาฝึกอีกครั้งในช่วงแรกๆใช้ชื่อว่าชื่อ ชินัยเคียวจิ ในปี 1950 และกลับมาเป็นชื่อเคนโด้อีกครั้งในปี 1952 และได้บรรจุเป็นหลักสูตรในโรงเรียนและมหาวิทยาลัยกันอย่างกว้างขวาง และมีการ ดัดแปลงแก้ไขกติกาบางอย่างเพื่อให้มีรูปแบบเป็นกีฬามากขึ้นและเพื่อความเหมาะสมแก่ ยุคสมัย

ถึงกระนั้นก็ตามเคนโด้ยังคงไว้ซึ่งปรัชญาทางพระพุทธศาสนา และลัทธิชินโต ไว้อย่างลงตัวหากผู้ที่ศึกษามีความตั้งใจอย่างจริงจังจะเห็นผลในข้อนี้

สำหรับบทความนี้ ขออนุญาตลงชื่อเพื่อขอบคุณผู้รวบรวมและเรียบเรียงประวัติศาสตร์เคนโดให้ทางชมรมเคนโดไทย-ญี่ปุ่นดินแดง

นายชุติวัฒน์ ศรีณรงค์ สิทธิลัดดา

ผู้รวบรวม และเรียบเรียงประวัติศาสตร์เคนโด

ทางชมรมขอขอบคุณในข้อมูลที่เป็นประโยชน์แก่ผู้อ่านเป็นอย่างยิ่ง

ชมรมเคนโดไทย-ญี่ปุ่นดินแดง