บทเรียนที่1 ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับกราฟิก

ความหมายของ “กราฟิก” 

        กราฟิก (Graphic) มาจากภาษากรีก 2 คำคือ Graphikos หมายถึง การวาดภาพ และคำว่า Graphein หมายถึง การเขียน ซึ่งเมื่อนำคำทั้ง 2 คำมารวมกัน กราฟิก หมายถึง ศิลปะแขนงหนึ่งซึ่งสื่อความหมายด้วยการใช้ศิลปะและศาสตร์ทางการใช้เส้น สัญลักษณ์ ภาพวาด ภาพถ่าย กราฟ แผนภูมิ การ์ตูน ฯลฯ เพื่อให้สามารถสื่อความหมายข้อมูลได้ถูกต้องตรงตามที่ผู้สื่อสารต้องการ

        คอมพิวเตอร์กราฟิก หมายถึง การสร้างและการจัดการกับภาพกราฟิกโดยใช้คอมพิวเตอร์ ซึ่งการพัฒนาคอมพิวเตอร์กราฟิก เริ่มต้นมาจากการเป็นเทคนิคอย่างหนึ่งในการแสดงข้อมูล ตัวเลข จํานวนมากๆ ให้อยู่ในรูปที่ชัดเจนและทําความเข้าใจได้ง่าย เช่น การแสดงข้อมูลด้วยรูปของเส้นกราฟ แผนภาพ แผนภูมิ แทนที่จะเป็นตารางของตัวเลข ปัจจุบันมีการใช้ภาพกราฟิก ในงานทุกๆ ด้าน เช่น ด้านธุรกิจ โรงงานอุตสาหกรรม งานศิลปะ การบันเทิง งานโฆษณา การศึกษา การวิจัย การฝึกอบรม และงานทางการแพทย์

        คอมพิวเตอร์กราฟิก มีความสําคัญมากในปัจจุบัน เนื่องจากเป็นเครื่องมือที่ช่วยในงานออกแบบทางด้านกราฟิก ให้เป็นไปอย่างสะดวกรวดเร็ว ไม่ต้องอาศัยเครื่องมือจํานวนมาก อีกทั้งช่วยให้ผู้ออกแบบเองก็สามารถดูผลงานการออกแบบของตนเองได้ทันที

บทบาทของงานกราฟิก

        1. งานกราฟิกทางการศึกษา ได้แก่ งานกราฟิกซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อการเรียนการสอน ได้แก่ กระดานดำ รูปภาพ แผนภูมิ แผนสถิติ แผนภาพ ตำราสิ่งพิมพ์ ป้ายนิเทศ ภาพโฆษณาทางการศึกษา การ์ตูน ต้นฉบับสำหรับวัสดุฉาย คอมพิวเตอร์ช่วยสอน เป็นต้น

        2. งานกราฟิกทางการสื่อสารและประชาสัมพันธ์ ได้แก่ งานกราฟิกที่มุ่งเผยแพร่ความเข้าใจระหว่างองค์กร หรือ หน่วยงานต่อบุคคลอื่น ปัจจุบันเทคโนโลยีได้วิวัฒนาการไปค่อนข้างรวดเร็ว การใช้ระบบการติดต่อสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ มีการกระจายของข้อมูลไปอย่างรวดเร็ว โดยอาจเป็นการกระจายข้อมูล จากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง และการที่จะให้คนอีกซีกโลกหนึ่งเข้าใจความหมายของคนอีกซีกโลกหนึ่งนั้นเป็น เรื่องที่ไม่สามารถทําได้ง่ายนัก เนื่องมาจากความแตกต่างกันทั้งทางด้านขนบธรรมเนียม ประเพณีวัฒนธรรม สภาพภูมิประเทศ สภาพดินฟ้าอากาศและความเชื่อของแต่ละท้องถิ่นแตกต่างกัน ดังนั้นการใช้งานกราฟิกที่ดี จะต้องสามารถสื่อความหมายได้ชัดเจนถูกต้อง ช่วยให้มนุษย์สามารถสื่อสารกันเข้าใจ เกิดจินตนาการร่วมกัน อีกทั้งยังเกิดทัศนคติที่ดีต่อกันด้วย

        3. งานกราฟิกทางการค้า ได้แก่ งานกราฟิกที่มุ่งประโยชน์ในการส่งเสริมการค้าและการบริการแก่กลุ่ม เป้าหมาย เช่น การโฆษณาด้วยสื่อกราฟิก เป็นต้น

        4. งานกราฟิกทางอุตสาหกรรม ได้แก่ งานกราฟิกที่มีจุดมุ่งหมายต่อการผลิตงานอุตสาหกรรม เช่น งานเขียนแบบทางอุตสาหกรรม การพิมพ์หีบห่อบรรจุภัณฑ์ (Packing) การออกแบบลวดลายผ้า เป็นต้น

ความสำคัญของงานกราฟิก

        เนื่องจากงานกราฟิกเน้นในการสื่อสารด้วยศิลปะระหว่างผู้สร้าง กับผู้รับ (ผู้ดู ผู้เห็น) ทำให้เห็นถึงความคิดในการออกแบบ ซึ่งจะมีอิทธิพลโดยตรงที่จะโน้มน้าวผู้รับข้อมูลให้เกิดความสนใจและยอมรับ ดังนั้นจึงสรุปความสำคัญของงานกราฟิก ได้ดังนี้

        1. ช่วยสรุปความคิด จินตนาการออกมาเป็นข้อมูลที่สื่อสารได้ง่าย และเข้าใจตรงกัน

        2. สร้างระบบการถ่ายทอดที่มีความเด่นชัด แปลความหมายได้รวดเร็ว 

        3. ก่อให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ มีการประดิษฐ์สิ่งของใหม่ๆ และมีประโยชน์ต่อวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ของมนุษย์

        4. สร้างระบบการเรียนรู้ รวมทั้งแนวคิดใหม่ๆ 

        5. สร้างค่านิยมทางความคิดที่งดงาม น่าสนใจ ประทับใจ และน่าเชื่อถือ

        6. สร้างความเจริญก้าวหน้าให้ธุรกิจ สังคม

กราฟิกกับสังคมปัจจุบัน

        ในปัจจุบันโลกได้วิวัฒนาการไปอย่างรวดเร็ว มีการใช้ระบบการติดต่อสื่อสารที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น มีการกระจายข้อมูลไปอย่างรวดเร็ว โดยอาจจะเป็นการกระจายข้อมูลจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง เข้าใจความหมาย เป็นเรื่องที่ไม่ง่ายนัก เนื่องมาจากความแตกต่างกันทั้งทางด้าน สังคมวัฒนธรรม ความเชื่อของแต่ละท้องถิ่นดังนั้นการใช้งานกราฟิกที่ดีสามารถสือความหมายได้ชัดเจนถูกต้อง จะช่วยให้มนุษย์สามารถสื่อสารกันได้ เข้าใจกันได้ เกิดจินตนาการร่วมกันในการนำสื่อกราฟิกมาใช้งานนั้นไม่ว่าจะเป็นการสื่อสารทางใด ผู้ที่นำเอาสื่อกราฟฟิกมาใช้ต้องคำนึงถึงเงื่อนไขและปัญหาเหล่านี้ด้วย คือ เพื่อนำมาใช้ในการขบคิด เพื่อแก้ปัญหา จัดระบบข้อมูล และการนำเอาศิลปะมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในการสื่อสารมากที่สุด

คุณค่าของงานกราฟิก

        งานกราฟิกที่ดีจำทำให้เห็นถึงความคิดในการออกแบบเป็นเลิศ จะมีอิทธิพลโดนตรงที่จะโน้มน้าวผู้รับข้อมูล ให้เกิดความสนใจ การยอมรับ ในขณะเดียวกันยังแสดงถึง

        1. เป็นสื่อกลางในการสื่อความหมายให้เกิดการเข้าใจตรงกัน

        2. สามารถทำหน้าที่เป็นสื่อ เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ เกิดการศึกษากับกลุ่มเป้าหมายได้

        3. ช่วยให้งานเกิดความน่าสนใจ ประทับใจแก่ผู้พบเห็น

        4. ช่วยให้เกิดการกระตุ้นทางความคิด และการตัดสินใจได้อย่างรวดเร็ว

        5. ก่อให้เกิดความคิดสร้างสรรค์

        6. ทำให้ผู้พบเห็นเกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมทั้งทางด้านการกระทำและความคิด

ประเภทของกราฟิก

        กราฟิกที่ใช้ในงานคอมพิวเตอร์ มี 2 ชนิด คือ Bitmap และ Vector

        กราฟิกแบบ Bitmap

        Bitmap เป็นภาพแบบ Resolution Dependent ประกอบขึ้นด้วยจุดสีต่างๆ ที่มีจำนวนคงที่ตายตัวตามการสร้างภาพที่มี Resolution หรือความละเอียดของภาพต่างกันไป หากขยายภาพ Bitmap จะเห็นว่ามีลักษณะเป็น ตารางเล็กๆ ซึ่งแต่ละบิตคือ ส่วนหนึ่งของข้อมูลคอมพิวเตอร์

        เนื่องจาก Bitmap มีค่า Pixel จำนวนคงที่จึงทำให้มีข้อจำกัดในเรื่องการขยายขนาดภาพ การเปลี่ยนขนาดภาพทำโดยเพิ่มหรือลด Pixel จากที่มีอยู่เดิม เมื่อขยายภาพให้ใหญ่ขึ้น ความละเอียดของภาพจึงลดลง และถ้าเพิ่มค่าความละเอียดมากขึ้นก็จะทำให้ไฟล์มีขนาดใหญ่และเปลืองเนื้อที่หน่วยความจำมากขึ้นตามไปด้วย ภาพที่ขยายโตขึ้นจะมองเห็นเป็นตารางสี่เหลี่ยมเรียงต่อกัน ทำให้ขาดความสวยงาม

        ภาพแบบ Bitmap จึงเหมาะสำหรับงานกราฟิกในแบบที่ต้องการให้แสงเงาในรายละเอียด เป็นไฟล์ที่เหมาะกับการทำงานกับภาพเหมือนจริงประเภทภาพถ่าย เพราะ Bitmap มี Channel พิเศษ เรียกว่า Alpha Channel ซึ่งเป็น 32 bit หรือ true color คือสีสมจริง เช่น ภาพที่นำมาใช้กับ PhotoShop จะเป็นภาพเหมือน ภาพถ่าย เพราะไฟล์ที่ได้จาก PhotoShop เป็น Bitmap ในขณะที่ไฟล์ที่สร้างจาก Illustrator จะเหมือนการ์ตูนหรือภาพเขียน เพราะเป็นไฟล์แบบ Vector นอกจากนี้ยังเหมาะสำหรับภาพที่ต้องการระบายสี สร้างสี หรือกำหนดสีที่ต้องการความละเอียดและสวยงาม

        ไฟล์ภาพแบบ Bitmap ในระบบวินโดวส์คือ ไฟล์ที่มีนามสกุล .BMP, .PCX. , .TIF, .GIF, .JPG, .MSP, .PCD เป็นต้น สำหรับโปรแกรมที่ใช้สร้างกราฟิกแบบนี้คือ โปรแกรม Paint ต่างๆ เช่น Paintbrush, PhotoShop, Photostyler เป็นต้น

        กราฟิกแบบ Vector

        Vector เป็นภาพประเภท Resolution-Independent มีลักษณะของการสร้างให้แต่ละส่วนเป็นอิสระต่อกัน โดยแยกชิ้นส่วนของภาพทั้งหมดออกเป็นเส้นตรง รูปทรงหรือส่วนโค้ง โดยอ้างอิงตามความสัมพันธ์ทางคณิตศาสตร์หรือการคำนวณเป็นตัวสร้างภาพ เป็นการรวมเอา Object (เช่น วงกลม เส้นตรง ทรงกลม ลูกบาศก์และอื่นๆ เรียกว่ารูปทรงพื้นฐาน) ต่างชนิดมาผสมกัน มีทิศทางการลากเส้นไปในแนวต่างๆ เพื่อสร้างภาพที่แตกต่างกันโดยใช้คำสั่งง่ายๆ จึงเรียกภาพประเภทนี้ว่า Vector Graphic หรือ Object Oriented

        ลักษณะเด่นของ Vector คือ สามารถยืดหรือหดภาพเท่าใดก็ได้ โดยที่ภาพจะไม่แตก ความละเอียดของภาพไม่เปลี่ยนแปลง คงคุณภาพของภาพไว้ได้เหมือนเดิม และยังสามารถขยายเฉพาะความกว้างหรือความสูง เพื่อให้มองเห็นเป็นภาพผอมหรืออ้วนกว่าภาพเดิมได้ด้วย และไฟล์มีขนาดเล็กกว่าภาพ Bitmap ภาพแบบ Vector จึงเหมาะสำหรับงานแบบวาง Layout งานพิมพ์ตัวอักษร Line Art หรือ Illustration

        ไฟล์รูปภาพแบบ Vector ในระบบวินโดวส์คือ ไฟล์ที่มีนามสกุล .EPD, .WMF, .CDR, .AI, .CGM, .DRW, .PLT เป็นต้น โดยมีโปรแกรมประเภทวาดรูป (Drawing Program) เช่น CorelDraw หรือ AutoCAD เป็นโปรแกรมสร้าง ขณะที่บนแมคอินทอชใช้ Illustrator และ Freehand 

        ในกรณีที่โปรแกรมที่ใช้งานอยู่ไม่สามารถอ่านไฟล์แบบ Vector ต้นฉบับได้ วิธีที่ดีที่สุดก็คือ บันทึกไฟล์เป็นนามสกุล .EPS (Encapsulated Postscript) ไฟล์ประเภทนี้สร้างขึ้นจาก Vector ซึ่งทำให้มีคุณสมบัติเป็นแบบ Vector นอกจากนี้เราสามารถบันทึกไฟล์ Bitmap ให้เป็นแบบ EPS ได้ เนื่องจากโปรแกรมกราฟิกทุกประเภทล้วนสนับสนุน ไฟล์แบบ EPS ทั้งสิ้น

        อย่างไรก็ตามอุปกรณ์แสดงผล ไม่ว่าจะเป็นเครื่องพิมพ์แบบ Dot Matrix หรือ Laser รวมทั้งจอภาพ จะแสดงผลแบบ Raster Devices หรือแสดงผลในรูปของ Bitmap โดยอาศัยการรวมกันของ Pixel ออกมาเป็นรูป แม้ว่าภาพกราฟิกที่สร้างจะเป็นแบบ Vector เมื่อจะพิมพ์หรือแสดงภาพบนหน้าจอจะมีการเปลี่ยนเป็นการแสดงผลแบบ Bitmap หรือเป็น Pixel

        ความแตกต่างระหว่างกราฟิกแบบ Bitmap และ Vector

        Bitmap

        1. ลักษณะภาพประกอบขึ้นด้วยจุดต่างๆ มากมาย

        2. ภาพมีจำนวนพิกเซลคงที่จึงต้องการค่าความละเอียดมากขึ้นเมื่อขยายภาพ โดยจะคำนวณค่าสีทีละ pixels ทำให้ภาพแตกเมื่อขยายภาพให้ใหญ่

        3. เหมาะสำหรับงานกราฟิก ในแบบต้องการให้แสงเงาในรายละเอียด

        4. แสดงภาพบนจอทันที เมื่อรับคำสั่งย้ายข้อมูลจากหน่วยความจำที่เก็บภาพไปยังหน่วยความจำของจอภาพ

        Vector

        1. ใช้สมการทางคณิตศาสตร์เป็นตัวสร้างภาพ โดยรวมเอา Object(เช่น วงกลม เส้นตรง) ต่างชนิดมาผสมกัน

        2. สามารถย่อและขยายขนาดได้มากกว่า โดยสัดส่วนและลักษณะของภาพยังเหมือนเดิม ความละเอียดของภาพไม่เปลี่ยนแปลง

        3. เหมาะสำหรับงานแบบวาง Layout งานพิมพ์ตัวอักษร Line Art หรือ Illustration

        4. คอมพิวเตอร์จะใช้เวลาในการแสดงภาพมากกว่า เนื่องจากต้องทำตามคำสั่งที่มีจำนวนมากกว่า

        ลักษณะและความหมายของ Pixel

        ในโลกของกราฟิกที่ใช้ในงานคอมพิวเตอร์ Pixel ถือเป็นหน่วยย่อยที่เล็กที่สุดของรูปภาพ เป็นจุดเล็กๆ ที่รวมกันทำให้เกิดภาพขึ้น ภาพหนึ่งจะประกอบด้วย Pixel หรือจุดมากมาย ซึ่งแต่ละภาพที่สร้างขึ้นจะมีความหนาแน่นของจุดหนือ Pixel เหล่านี้แตกต่างกันไป ความหนาแน่นของจุดนี้เป็นตัวบอกถึงความละเอียดของภาพ โดยมีหน่วยเป็น ppi (Pixel Per Inch) คือ จำนวนจุดต่อนิ้ว Pixel มีความสำคัญต่อการสร้างภาพของคอมพิวเตอร์มาก เพราะทุกส่วนของกราฟิก เช่น จุด เส้น แบบลายและสีของภาพนั้นเริ่มจาก Pixel ทั้งสิ้น เมื่อเราขยายภาพจะเห็นเป็นภาพจุด

        โดยปกติแล้ว ภาพที่มีความละเอียดสูงหรือคุณภาพดีควรจะมีค่าความละเอียด 300 X 300 ppi ขึ้นไป ยิ่งค่า ppi สูงขึ้นเท่าไร ภาพก็จะมีความละเอียดคมชัดขึ้นมากขึ้นเท่านั้น ขณะเดียวกันจุดหรือ Pixel แต่ละจุดก็จะแสดงคุณสมบัติทางสีให้แก่ภาพด้วย โดยแต่ละจุดจะเป็นตัวสร้างสีประกอบกันเป็นภาพรวม ซึ่งอาจมีขนาดความเข้มและสีแตกต่างกันได้ ทำให้เกิดเป็นภาพที่มีสีสันต่างๆ

        การแสดงผลของอุปกรณ์แสดงผล (Output Devices) ไม่ว่าจะเป็นเครื่องพิมพ์แบบ Dot-matrix หรือแบบ Laser รวมทั้งจอภาพ จะเป็นการแสดงผลแบบ Raster Devices นั่นคือ อาศัยการรวมกันของ Pixel ออกมาเป็นรูป

จิตวิทยาสีกับความรู้สึก

        สี มีความสำคัญอย่างยิ่งในการออกแบบการทำงานกราฟิกต่างๆ การเลือกสีให้เข้ากับเนื้อหาของงานจะทำให้งานที่ทำออกมามีความน่าเชื่อถือ ยิ่งขึ้นและยังส่งผลอย่างมากกับความสวยงามของงานที่ออกมาด้วย 

            - สีฟ้าให้ความรู้สึกสงบ สุขุม สุภาพ หนักแน่น เคร่งขรึม เอาการเอางาน ละเอียด รอบคอบ สง่างาม มีศักดิ์ศรี สูงศักดิ์ เป็นระเบียบถ่อมตนสามารถลดความตื่นเต้น และช่วยทำให้มีสมาธิ 

            - สีเหลืองเป็นสีแห่งความเบิกบาน เร้าอารมณ์ เรียกร้องความสนใจ ให้ความรู้สึกแจ่มใส ความสดใส ความร่าเริง ความเบิกบานสดชื่น ชีวิตใหม่ ความสุกสว่าง การแผ่กระจาย อำนาจบารมี ให้ลองสังเกตดูว่า วันที่ท้องฟ้ามืดครื้มปราศจากแสงแดด เราจะรู้สึกหงอยเหงา หดหู่ แต่พอมีแสงแดด ท้องฟ้าสว่าง มีสีเหลือง เราจะรู้สึกมีชีวิตชีวาขึ้น

            - สีแดง เป็น สีที่สร้างความตื่นเต้น และกระตุ้นสมอง สีแดงปานกลางแสดงถึงความมีสุขภาพดี ความมีชีวิต ความรัก ความสำคัญ ความอุดมสมบูรณ์ ความมั่งคั่ง สีแดงจัดมีความหมายแฝงด้านกามารมณ์ นอกจากนี้สีแดงยังสร้างความรู้สึกรุนแรง ให้ความรู้สึกร้อน กระตุ้น ท้าทาย ตื่นเต้น เร้าใจ มีพลัง ตื่นเต้น หรืออันตราย

            - สีม่วง ให้ความรู้สึก มีเสน่ห์ น่าติดตาม เร้นลับ ซ่อนเร้น มีอำนาจ มีพลังแฝงอยู่ ความรัก ความเศร้า ความผิดหวัง ความสงบ ความสูงศักดิ์เป็นสีที่ปลอบโยน และช่วยลดความเครียด

            - สีเขียวเป็นสีในวรรณะเย็น จะสร้างความรู้สึกเย็นสบาย ใช้เป็นสีที่ช่วยผ่อนคลายความเครียด ให้ความรู้สึก สงบ เงียบ ร่มรื่น ร่มเย็น การพักผ่อน การผ่อนคลาย ธรรมชาติ ความปลอดภัย ความสุข ความสุขุม เยือกเย็น

            - สีส้มให้ความรู้สึก ร้อน ความอบอุ่น ความสดใส มีชีวิตชีวา วัยรุ่น ความคึกคะนอง การปลดปล่อย ความเปรี้ยว การระวัง เป็นสีที่เร้าความรู้สึกปรกติควรใช้แต่น้อยเมื่อเทียบกับสีอื่น สังเกตว่าคนที่อยู่ในห้องสีส้มจะอยู่ได้ไม่นาน

            - สีน้ำตาลให้ความรู้สึกอบอุ่น ได้พักผ่อน แต่ควรใช้ร่วมกับสีส้ม เหลือง หรือสีทอง เพราะถ้าใช้สีน้ำตาลเพียงสีเดียว อาจทำให้เกิดความรู้สึกหดหู่ได้

            - สีเทาให้ความรู้สึก เศร้า อาลัย ท้อแท้ ความลึกลับ ความหดหู่ ความชรา ความสงบ ความเงียบ สุภาพ สุขุม ถ่อมตน สีนี้มีข้อดีคือทำให้เย็น แต่สร้างความรู้สึกหม่นหมองได้ ควรใช้ร่วมกับสีที่มีชีวิต โทนสว่างอย่างน้อยหนึ่งสี

            - สีขาว ให้ความรู้สึก บริสุทธิ์ สะอาด สดใส เบาบาง อ่อนโยน เปิดเผย การเกิด ความรัก ความหวัง ความจริง ความเมตตา ความศรัทธา ความดีงาม ให้ความรู้สึกรื่นเริง โดยเฉพาะเมื่อใช้กับสีแดง เหลือง และส้ม

โปรแกรมสำหรับคอมพิวเตอร์กราฟฟิก

        1. Photo Retouching โปรแกรมที่เหมาะสำหรับการแก้ไข ตกแต่งภาพ และ ทำเอฟเฟกต์ให้กับภาพที่ได้สร้างขึ้นมาแล้ว ซึ่งอาจจะ มาจากภาพถ่ายจริง ได้แก่ Adobe Photoshop, Corel Photopaint, Paint Shop

        2. Graphic Illustrator โปรแกรมสำหรับการออกแบบงานกราฟิก หรืองาน Lay out ซึ่งเป็นงานสองมิติ มีการเขียนรูปในลักษณะการเน้น เส้นเน้นรูปทรงเรขาคณิต ซึ่งไม่ใช่รูปถ่าย ได้แก่ Adobe Illustrator, CorelDraw

        3. Computer Aided Design โปรแกรมสำหรับการเขียนภาพที่แสดงออกถึงมิติ ขนาด ที่ ให้ความชัดเจนของวัตถุที่ต้องการสร้างขึ้นมา ได้แก่ AutoCAD, Prodesign 

        4. 3D Photo Realistic โปรแกรมที่สามารถสร้างภาพสามมิติ ที่มีมวลและปริมาตร และมีคุณสมบัติของพื้นผิว จนเกิดความสมจริงของแสง และเงา ได้แก่ 3D MAX , AutoCAD 3D

        5. Presentation โปรแกรมกราฟิก สำหรับช่วยในการนำเสนองาน ใน ลักษณะเป็นสไลด์ประกอบคำบรรยาย มีการสร้างภาพ กราฟิกที่ดูแล้วเข้าใจง่ายขึ้น เช่น กราฟชนิดต่าง ๆ หรือการสร้างแผนผังการจัดองค์กรโปรแกรมประเภทนี้ ส่วนมากใช้ในงานธุรกิจ

        6. Animation เป็นโปรแกรมสร้างภาพเคลื่อนไหวตามลำดับ โปรแกรมจะ แสดงภาพเป็นลำดับให้แลดูเหมือนภาพเคลื่อนไหว โดย อาจมีเทคนิคต่างๆ ประกอบการแสดงภาพเช่น การซ้อนภาพ , เลื่อนภาพ, การเลื่อนภาพให้หายไปได้ และ การแปลงภาพ รวมถึงมีลักษณะการโต้ตอบกับผู้ใช้ด้วย