- ประวัติกรมแพทย์ ทร.

        นับแต่การทหารเรือได้จัดตั้งเมื่อ พ.ศ.2394 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นผู้บัญชาการทหารเรือ เรียกว่า "ผู้บัญชาการทการเรือวังหน้า" ตั้งที่ทำการอยู่ ณ บริเวณส่วนหนึ่งในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ปัจจุบัน บริเวณที่ทำงานของทหารเรือส่วนมากอยู่แถบฝั่งธนบุรีแทบทั้งสิ้น และกิจการเกี่ยวกับเรือก็อยู่ในบริเวณพื้นที่คลองมอญ สถานที่ทำการของหน่วยแพทย์ทหารเรือแห่งแรกเริ่ม ตั้งอยู่ที่วัดระฆังโฆสิตาราม ซึ่งในปัจจุบันเป็นที่ตั้งของโรงเรียนสตรีวัดระฆัง

        หน่วยแพทย์ทหารเรือในระยะแรกจะตั้งขึ้นเมื่อใด มีนามและฐานะเป็นอย่างไร ยังไม่พบหลักฐาน ตราบจนกระทั่ง พ.ศ.2433 จึงปรากฏหลักฐานในพระราชบัญญัติกรมยุทธนาธิการ เรื่องตั้งตำแหน่งราชการทหารเรือในกระทรวงยุทธนาธิการ ออกเมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ.2433 มีชื่อหน่วยนี้ว่า "โรงพยาบาลทหารเรือ" ตั้งอยู่ที่วัดระฆังโฆสิตาราม ตรงบริเวณโรงเรียนสตรีวัดระฆังขณะนี้ สถานที่ทำการของหน่วยหน่วยบังคับการเป็นเรือนไม้ชั้นเดียวหลังคามุงจาก 1 หลัง ตัวโรงพยาบาลสำหรับรับผู้ป่วยเป็นเรือนไม้ 2 ชั้น หลังคามุงจาก 2 หลัง มีโรงครัวประกอบอาหารสำหรับผู้ป่วยโดยอาศัยศาลาวัดที่มีอยู่ริมน้ำด้านหน้าวัดอีก 1 หลัง อาณาเขตของโรงพยาบาลมีรั้วสังกะสีกั้นโดยรอบ มีเนื้อที่ประมาณ 500-600 ตารางวา

        ครั้น พ.ศ.2443 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้พระราชทานพระราชนิเวศน์เดิม (ขวนเดิม) ของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 ให้เป็นที่ทำการของกรมทหารเรือ หน่วยแพทย์ทหารเรือจึงแยกหน่วยบังคับการออกจากโรงพยาบาล มาตั้งที่ทำการอยู่ในบริเวณกรมอู่ทหารเรือเพื่อให้ใกล้กับที่บัญชาการกรมทหารเรือ อาคารที่ทำการของหน่วยบังคับการเป็นตึกยาว 2 ชี้น 1 หลัง และมีโรงกั้นด้วยสังกะสี ใช้เป็นคลังเก็บยาและพัสดุรวมกันอีก 1 หลัง

        พ.ศ.2446 หน่วยแพทย์มีฐานะเป็นกอง เรียกชื่อว่า "กองแพทย์และโรงพยาบาล" สังกัดกรมปลัดทัพเรือ ในระยะนี้ปรากฏว่า กองแพทย์ได้ตั้งหน่วยพยาบาลย่อยขึ้นที่ป้อมแผลงไฟฟ้า อำเภอพระประแดงอีกแห่งหนึ่ง

        พ.ศ.2453 ทางการได้ดำริย้ายที่ตั้งกองแพทย์และโรงพยาบาล ไปตั้งที่ปากคลองมอญด้านเหนือจังหวัดธนบุรี ตรงข้ามท่าราชวรดิษฐ์ การก่อสร้างจะลงมือเมื่อใดยังไม่พบหลักฐาน เท่าที่ปรากฏหลักฐาน ปรากฏว่าการก่อสร้างได้สำเร็จเรียบร้อย และย้ายกองแพทย์กับโรงพยาบาลจากที่ตั้งเดิม คือจากบริเวณกรมอู่ทหารเรือและบริเวณวัดระฆังโฆสิตาราม มาอยู่ ณ สถานที่ทำการใหม่ บริเวณปากคลองมอญเมื่อ พ.ศ.2456 และได้แยกเป็นหน่วยอิสระมีชื่อว่า "กองแพทย์พยาบาล" สังกัดกระทรวงทหารเรือโดยตรง ได้แบ่งหน้าที่การปกครองส่วนราชการออกเป็น

                    1. แผนกธุรการ

                    2. แผนกสมุห์บัญชี

                    3. แผนกตรวจโรคทั่วไป

                    4. แผนกผ่าตัด

                    5. แผนกเรือนผู้ป่วย

                    6. แผนกคลังยา

                    7. แผนกโรงครัว

                    8. แผนกโรงเรียนพยาบาล

        การก่อสร้างอาคารสถานที่ใหม่นี้ ได้สร้างตึกผู้ป่วยหมายเลข 1, 2, 3, 4, 5, และ 6 ซึ่งเป็นตึกชั้นเดียวเสร็จก่อน ส่วนตึกกองบังคับการซึ่งเป็นตึกหลังใหญ่ประกอบด้วยห้องต่าง ๆ หลายห้อง ชั้นล่างสุดอยู่ใต้ระดับพื้นดิน ใช้เป็นคลังเก็บยาและเวชภัณฑ์ต่าง ๆ ส่วนที่อยู่เหนือระดับพื้นดินอีก 2 ชั้น ใช้เป็นที่ทำการของแผนกต่าง ๆ และกองบังคับการ สร้างเสร็จเมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ.2459

        วันที่ 20 กันยายน พ.ศ.2459 พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ยกฐานะหน่วยขึ้นเป็น "กรมแพทย์พยาบาลทหารเรือ" สังกัดกระทรวงทหารเรือ

        ฐานะและนามของหน่วยได้มีการปรับปรุงกันมาตามยุคตามสมัย เพื่อความเหมาะสมหลายครั้ง บางสมัยก็มีฐานะเป็นกรมกองในนามเดิม สังกัดกรมหรือกระทรวงทหารเรือ บางสมัยก็เปลี่ยนนามเป็นกรมและกอง สังกัดกรมแพทย์สุขาภิบาลทหารบก ซึ่งจะกล่าวเฉพาะครั้งที่สำคัญ ๆ คือ

        พ.ศ.2475 เป็นระยะเวลาที่เศรษฐกิจของประเทศชาติกำลังตกต่ำ หน่วยนี้ได้เปลี่ยนชื่อเป็น "กรมเสนารักษ์ ราชนาวี" แล้วลดลงเป็น "กองเสนารักษ์ ราชนาวี" สังกัดกรมแพทย์สุขาภิบาลทหารบก

        พ.ศ.2476 เปลี่ยนเป็น "กองเสนารักษ์ ราชนาวี" ย้ายมาสังกัดกรมทหารเรือ และกองทัพเรือ

        พ.ศ.2479 เปลี่ยนเป็น "กองแพทย์ทหารเรือ" สังกัดกองทัพเรือ

        พ.ศ.2493 ยกฐานะขึ้นเป็น "กรมแพทย์ทหารเรือ" สังกัดกองทัพเรือ เรื่อยมาจนกระทั่งบัดนี้

        กิจการแพทย์ทหารเรือในตอนต้น ทั้งแพทย์และพยาบาลตลอดจนวิธีการรักษาโรค ก็เป็นไปตามแบบแผนโนราณของไทย ครั้น พ.ศ.2472 รัฐบาลสมัยนั้นได้ตั้งโรงเรียนราชแพทยาลัย ให้การศึกษาอบรมวิชาแพทย์แผนปัจจุบันขึ้น กรมแพทย์ทหารเรือได้รับ หม่อมราชวงศ์สะอาด (ยังไม่มีนามสกุล) ซึ่งสำเร็จวิชาแพทย์จากโรงเรียนราชแพทยาลัย เข้าเป็นนายแพทย์เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2448 ต่อมาก็มีนายแพทย์ และวิธีการรักษาตามแผนปัจจุบันตลอดมา ส่วนเจ้าหน้าที่พยาบาลก็เช่นเดียวกัน ในตอนต้นก็ได้จากผู้ที่รักวิชาแพทย์แล้วสมัครเป็นศิษย์หรือลูกมือรับใช้แพทย์เพื่อได้วิชา คงถือเอาการปฏิบัติหน้าที่หาความรู้ความชำนาญเท่านั้น ต่อมาเมื่อ พ.ศ.2452 จึงใช้วิธีคัดเลือก หรือถามความสมัครใจจากทหารเรือเหล่าอื่น ๆแล้วโอนมาเป็นพยาบาล จนกระทั่ง พ.ศ.2459 จึงตั้งโรงเรียนพยาบาลเปิดเรียนขึ้นเป็นหลักฐาน รับบุคคลทั่วไปเข้าศึกษา ครั้น พ.ศ.2476 อันเป็นสมัยที่ พลเรือตรี เล็ก สุมิตร ดำรงตำแหน่งหัวหน้าหน่วย ให้มีการปรับปรุงหลักสูตรใหม่ให้มีมาตรฐานทัดเทียมกับนักเรียนในสถานพยาบาลแห่งอื่น ๆ นับว่าได้วางรากฐานอันมั่นคงให้แก่พยาบาลสืบมาจนบัดนี้ ส่วนในด้านแพทย์ก็ได้ส่งเสริมให้ไำปศึกษาเพิ่มเติมจากต่างประเทศ เพื่อนำความรู้ความชำนาญมาปรับปรุงกิจการแพทย์ทหารเรือ ให้เจริญก้าวหน้าทัดเทียมกับอารยประเทศทั้งหลาย ในด้านวัตถุก็ได้ดำเนินการก่อสร้างโรงพยาบาลอาภากรเกียรติวงศ์ ที่สถานีทหารเรือสัตหีบ และโรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า ที่ตำบลบุคคโล จังหวัดธนบุรี เพิ่มขึ้นเพื่อให้เป็นโรงพยาบาลอันทันสมัย สำหรับใช้เป็นที่รักษาพยาบาลข้าราชฃการทหาร คนงานและครอบครัว สังกัดกองทัพเรือ ตลอดจนประชาชนทั่วไปด้วย ผู้ดำรงตำแหน่งนายแพทย์ใหญ่ทหารเรือสมัยต่อ ๆ มา ได้พยายามปรับปรุงองค์บุคคลและองค์วัตถุของกรมแพทย์ทหารเรือ ให้เจริญก้าวหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง โดยเฉพาะการปรับปรุงโรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้าในปัจจุบัน ได้พยายามให้กว้างขวางเป็นโรงพยาบาลหลักของกองทัพเรือในพื้นที่จังหวัดธนบุรีอย่างรีบเร่ง ในปี 2508 นับว่าเป็นโชคดีของโรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า ที่ได้รับการสนับสนุนจากทางราชการให้ก่อสร้างตึกผู้ป่วยขนาด 100 เตียง อีก 2 หลัง และต่อเติมตึกอำนวยการและตึกเด็กให้กว้างขวางยิ่งขึ้นอีก

        กรมแพทย์ทหารเรือ ได้แบ่งส่วนราชการเป็นส่วนใหญ่ ๆ ทั้งที่ขึ้นตรงและขึ้นในมางเทคนิคดังนี้

            1. กองอนามัย

            2. กองควบคุมโรคติดต่อ

            3. กองเภสัชกรรม

            4. กองศึกษา

            5. โรงพยาบาลทหารเรือกรุงเทพฯ

            6. โรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า

            7. โรงพยาบาลอาภากรเกียรติวงศ์

            8. โรงพยาบาลโรงเรียนนายเรือ

            9. โรงพยาบาลโรงเรียนชุมพลทหารเรือ

           10. โรงพยาบาลกรมสรรพาวุธทหารเรือ

            11. โรงพยาบาลป้อมพระจุลจอมเกล้า

            12. หน่วยแพทย์กองบริการโรงเรียนพลทหาร

            13. กองร้อยพยาบาล กรมผสมนาวิกโยธิน กรมนาวิกโยธิน

            14. โรงพยาบาลสถานีทหารเรือสงขลา (ยังไม่ได้เปิดที่ทำการ)

        หน้าที่ทั่วไป กรมแพทย์ทหารเรือมีหน้าที่อำนวยการ วิจัย และพัฒนาการ ประสานงาน แนะนำ กำกับการ และดำเนินการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล การสุขาภิบาลและอนามัยของกองทัพเรือ ตลอดจนการฝึกและการศึกษาของเหล่าทหารแพทย์ มีนายแพทย์ใหญ่ทหารเรือเป็นผู้บังคับบัญชาและรับผิดชอบ

        หัวหน้าหน่วยผู้รับผิดชอบดำเนินการกิจการแพทย์ทหารเรือในตอนต้น มีตำแหน่งเป็น "สารวัต" ต่อมาเมื่อหน่วยมีฐานะเป็นกอง หัวหน้าหน่วยก็มีตำแหน่งเป็น ผู้บังคับการกอง และผู้บังคับกอง เมื่อมีฐานะเป็นกรมหัวหน้าหน่วยก็มีตำแหน่งเป็นนายแพทย์ใหญ่ทหารเรือ เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่บรรดาผู้ที่ดำรงตำแหน่งหัวหน้าหน่วยของกิจการแพทย์ทหารเรือ ที่ได้สร้างสรรค์คุณงามความดีไว้แก่กรมแพทย์ทหารเรือ จึงขอกล่าวนามท่านไว้ตามลำดับต่อไปนี้

%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%

ขึ้นข้างบน     กลับหน้าแรก