ประวัติ กก.๕ บก.สอ.บช.ตชด.

  “ กองกำกับการ ๕ กองบังคับการสนับสนุนทางอากาศ   กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน เป็นหน่วยงานหลักที่มีความเชี่ยวชาญในการถวายความปลอดภัยด้านการป้องกันและ ระงับอัคคีภัยในเขตพระราชฐานที่ประทับ รวมถึงสนับสนุนการบรรเทาสาธารณภัยและฝึกอบรมให้กับประชาชนและหน่วยงานอื่น ”

พันธกิจ

๑) จัดหากำลังพลให้เพียงพอและมีความรู้ มีขีดความสามารถมีความเชี่ยวชาญในการป้องกันและระงับอัคคีภัยในเขตพระราชฐานและที่ประทับ

๒) จัดหาสิ่งอุปกรณ์และยานพาหนะให้มีประสิทธิภาพสูงสุด

๓) จัดหางบประมาณในการบริหารจัดการดำเนินงาน

๔) พัฒนาการบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งเสริมให้ข้าราชการตำรวจมีคุณธรรม ศึกษากฎหมาย ระเบียบที่เกี่ยวข้องกับเขตพระราชฐาน

๕) ส่งเสริมสวัสดิการค่าตอบแทนบุคลากร

ค่านิยม

              “ สามารถ สุจริต สากล”

          การปฏิบัติ

การรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคง

ประวัติ

          ยุคแรก

           งานป้องกันและระงับอัคคีภัยสำหรับประเทศไทย ได้มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา กล่าวคือ ในรัชสมัยพระราชาธิราช ประมาณ พ.ศ. 2057 – 2071 ได้จัดให้มีหมู่เวรยามรักษาการณ์ระวังภัย มีทั้งการสอดแนมระวังผู้ที่มารุกราน การก่อวินาศกรรม และวางเพลิงเผาเมือง ประจักษ์พยานที่เห็นได้อย่างชัดเจน ก็คือ การตั้งหอกลอง ขึ้นภายในกำแพงพระนคร สูงประมาณ 1 เส้น หอกลองที่สร้างขึ้นในสมัยนั้น มีอยู่ 3 ชนิด คือ

1. กองมหาฤกษ์ ใช้ตีเมื่อเวลามีข้าศึกหรือเกิดจลาจล มีขบถขึ้นกลางเมือง

2. กลองพระมหาระงับดับเพลิง ใช้ตีเมื่อเวลาไฟไหม้ในกำแพงเมืองให้ตี 3 รา ไหม้นอกกำแพงเมืองพนักงานจะตีกลองเป็นจังหวะสม่ำเสมอไปจนกว่าไฟจะดับ

3. กลองพระทีพาราตรี ใช้ตีบอกเวลาย่ำรุ่งและย่ำค่ำ

กลองทั้ง 3 ชนิดนี้ ในสมัยรัตนโกสินทร์ ได้เปลี่ยนเสียใหม่เป็นกลองนำพระสุริยศรี กลองอัคคีพินาศ และกลองพิฆาตไพรี  

          ยุคที่สอง        

ต่อ มาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงให้เลิกใช้กลองทั้ง 3 ชนิดข้างต้น และทรงห่วงใยไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินในการป้องกันอัคคีภัย พระองค์ยังได้เล็งเห็นการณ์ไกลด้านผจญเพลิง เพื่อจะได้มีเครื่องมือทันสมัยเทียบอารยประเทศ ได้ปรับปรุงและทรงตราพระราชบัญญัติการดับเพลิงใหม่ ในปี ร.ศ.117  ทรงให้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำสำหรับดับเพลิงกับรถรางกรุงสยามเป็นครั้งแรก เพื่อจะได้ไปถึงที่เกิดเหตุเพลิงไหม้ได้อย่างรวดเร็ว

          พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังให้แยกหน้าที่การดับเพลิงจากฝ่ายทหาร ให้ไปขึ้นกับพลตระเวน ต่อมาได้เปลี่ยนเป็น “ กรมตำรวจนครบาล ”  มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการป้องกันอัคคีภัยอย่างเต็มที่

          ในปี พ.ศ.2506 ได้เกิดภัยร้ายแรงขึ้นที่แหลมตะลุมพุก จังหวัดนครศรีธรรมราช กองตำรวจดับเพลิง ได้รับคำสั่งจากกรมตำรวจ ให้ออกปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบวาตภัยในครั้งนั้นร่วมกับมูลนิธิราช ประชานุเคราะห์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวองค์ปัจจุบัน ได้ทรงตั้งหน่วยงานนี้ขึ้นโดยเรียกชื่อว่า “ หน่วยป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ” กองตำรวจดับเพลิง

          พ.ศ.2508 กรมตำรวจได้เริ่มจัดตั้ง “ หน่วยบรรเทาสาธารณภัย ” ขึ้นในกองตำรวจดับเพลิงและยกฐานะขึ้นเป็นกองบังคับการตำรวจดับเพลิง ขึ้นตรงต่อกรมตำรวจ และตราเป็นพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการกรมตำรวจ กระทรวงมหาดไทย

          พ.ศ.2514  กองบังคับการตำรวจดับเพลิง กรมตำรวจ ได้แบ่งส่วนราชการออกเป็น 5 กองกำกับ คือ

                - กองกำกับการ 1 ทำหน้าที่รับผิดชอบงานธุรการ

                - กองกำกับการ 2 ทำหน้าที่รับผิดชอบงานผจญเพลิง

                - กองกำกับการ 3 ทำหน้าที่รับผิดชอบงานซ่อมบำรุง

                - กองกำกับการ 4 ทำหน้าที่รับผิดชอบงานธุรการ อบรมเผยแพร่และตรวจป้องกัน

                - กองกำกับการ 5 ทำหน้าที่รับผิดชอบงานบรรเทาสาธารณภัย และการรักษาความปลอดภัยพระมหากษัตริย์

               ยุคที่สาม   

                   ต่อมาเมื่อ พ.ศ.2546  มีมติคณะรัฐมนตรีให้โอนภารกิจการป้องกันและระงับอัคคีภัยของ กองบังคับการตำรวจดับเพลิง ไปอยู่ในความรับผิดชอบของ กทม. ทำให้กองบังคับการตำรวจดับเพลิงถูกยุบเลิกไปตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

ใน พ.ศ.2548 มีมติคณะรัฐมนตรีให้โอนภารกิจการป้องกันและระงับอัคคีภัยในเขตพระราชฐานและ ที่ประทับในเขตพื้นที่ กทม.และต่างจังหวัด กลับมาเป็นภารกิจของ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยให้ขึ้นตรงกับ สำนักงานนายตำรวจราชสำนักประจำ

               ยุคปัจจุบัน

                  พ.ศ.2552 มีพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้กำหนดให้ หน้าที่การปฏิบัติงานถวายความปลอดภัยด้านอัคคีภัยในเขตพระราชฐานและที่ ประทับ อยู่ในความรับผิดชอบของ บช.ตชด.  กฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการเป็นกองบังคับการ หรือส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2552 และระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่าด้วยการกำหนดอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2552 กำหนดให้หน้าที่การถวายความปลอดภัยดังกล่าวอยู่ในความรับผิดชอบของ กก.5 บก.สอ.บช.ตชด. มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 7 ก.ย.2552 เป็นต้นไป