งานวิจัย coaching ครูคณิตฯ

บทคัดย่อ

ชื่อเรื่องวิจัย การนิเทศการศึกษาด้วยกระบวนการสอนแนะ (Coaching) และพี่เลี้ยง (Mentoring) เพื่อพัฒนาการ จัดการเรียนรู้กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ ครูผู้สอนในโครงการยกระดับคุณภาพครูทั้งระบบตามศักยภาพ โดยใช้กระบวนการสร้างระบบพี่เลี้ยง Coaching and Mentoring

ชื่อผู้เขียน นางเบ็ญจมาศ อินทร์ฤทธิ์

ปีการศึกษา 2556

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษากระบวนการจัดการเรียนรู้ของครูในโครงการยกระดับคุณภาพครูทั้งระบบตามศักยภาพโดยใช้กระบวนการสร้างระบบพี่เลี้ยง Coaching and Mentoring และเพื่อศึกษาผลการนิเทศการศึกษาด้วยกระบวนการสอนแนะ (Coaching)และพี่เลี้ยง (Mentoring) ที่เกิดต่อครู กลุ่มเป้าหมายในการวิจัย ได้แก่ครูผู้สอนกลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ในโรงเรียนในโครงการยกระดับคุณภาพครูทั้งระบบตามศักยภาพโดยใช้กระบวนการสร้างระบบพี่เลี้ยง Coaching and Mentoring สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสิงห์บุรี จำนวน 5 โรงเรียน รวม 7 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ประกอบด้วยเครื่องมือสำหรับเก็บข้อมูลโดยผู้วิจัย เป็นเครื่องมือที่พัฒนามาจากเครื่องมือการวิจัยในโครงการการจัดการเรียนรู้แบบคละชั้นในโรงเรียนขนาดเล็ก ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน มี 3 ฉบับ คือแบบสัมภาษณ์ก่อนการจัดการเรียนรู้ แบบสังเกตการจัดการเรียนรู้ และแบบสัมภาษณ์หลังการจัดการเรียนรู้ และเครื่องมือที่เป็นเอกสาร ได้แก่ แผนการจัดการเรียนรู้ที่ครูกลุ่มเป้าหมายพัฒนาขึ้นและบันทึกผลหลังการสอนของครู วิเคราะห์ผลการวิจัยโดยการวิเคราะห์เนื้อหาเชิงคุณภาพ ผลการวิจัยพบว่า

1. กระบวนการจัดการเรียนรู้ของครูในโครงการยกระดับคุณภาพครูทั้งระบบตามศักยภาพโดยใช้กระบวนการสร้างระบบพี่เลี้ยง Coaching and Mentoring ครูสอน โดยการออกแบบแผนการจัดการเรียนรู้ที่มีองค์ประกอบครบถ้วนสอดคล้องกับหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน และระบุกิจกรรมการเรียนรู้ที่ละเอียดชัดเจน จัดกระบวนการเรียนการสอนตามแผนที่ออกแบบไว้ จัดการสอนในห้องเรียนปกติ โดยใช้เกม เพลง และสื่ออื่นๆประกอบในการนำเข้าสู่บทเรียน สอนโดยการเขียนแสดงให้นักเรียนดูประกอบกับการใช้คำถามให้นักเรียนตอบ ฝึกทักษะโดยใช้สื่อใบงาน ใบกิจกรรม และวัดประเมินผลจากการสังเกตพฤติกรรมนักเรียน การตรวจผลงาน และการทดสอบหลังเรียน

2. ผลการนิเทศการศึกษาด้วยกระบวนการสอนแนะ (Coaching) และพี่เลี้ยง (Mentoring) ที่เกิดต่อครู ดังนี้

2.1 ด้านความรู้ความเข้าใจ สื่อ/นวัตกรรมและกระบวนการเรียนการสอนครูมีความรู้ความเข้าใจการออกแบบและจัดทำแผนการจัดการเรียนรู้ การออกแบบสื่อ นวัตกรรม กระบวนการเรียนการสอน การวัด ประเมินผล มีการปรับกระบวนการเรียนการสอน และสามารถวิเคราะห์จุดเด่น จุดด้อยและกำหนดวิธีการพัฒนา ปรับปรุงงานได้ด้วยตนเอง

2.2 ด้านเจตคติ/ความพึงพอใจ ครูมีการปรับเปลี่ยนความคิดเห็นความสำคัญของการพัฒนา การเรียนการสอนมากขึ้น พึงพอใจโครงการและการนิเทศด้วยกระบวนการสอนแนะ (Coaching) และพี่เลี้ยง (Mentoring) ต้องการให้มีต่อเนื่องและขยายผลไปยังครูคนอื่นๆในโรงเรียน