1.      หลักการและเหตุผล

   การบริบาลทางเภสัชกรรมผู้ป่วยนอกและการพัฒนาระบบยาผู้ป่วยนอกเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการดูแลผู้ป่วยที่มีโรคทางระบบต่างๆ เช่น ผู้ป่วยโรคระบบหัวใจและหลอดเลือด โรคระบบต่อมไร้ท่อ โรคติดเชื้อ โรคจิตเวช โรคมะเร็ง เป็นต้น โดยมุ่งเน้นให้ผู้ป่วยได้รับประสิทธิภาพจากการใช้ยาบนพื้นฐานของหลักฐานทางวิชาการที่ทันสมัย เภสัชกรมีหน้าที่ในการสืบค้น วางแผนแก้ไข ติดตาม และป้องกันปัญหาที่เกิดจากการใช้ยาอย่างรอบด้าน นอกจากนี้แล้วจำเป็นต้องสนับสนุนในการให้ข้อมูลและการให้คำปรึกษาเรื่องการใช้ยาที่ถูกต้อง

       ปัญหาจากการใช้ยา (drug related problems) ในผู้ป่วยนอก เป็นประเด็นที่อาจจะเกิดขึ้นได้ การป้องกันหรือจัดการปัญหาที่เกิดขึ้นจำเป็นต้องใช้หลักฐานทางวิชาการที่ทันสมัยถูกต้อง เพื่อทำให้ผู้ป่วยได้รับประโยชน์จากการใช้ยามากที่สุด ทั้งนี้จำเป็นต้องบูรณาการกิจกรรมและองค์ความรู้ต่างๆ อาทิเช่น เภสัชบำบัด (Pharmacotherapy) โอสถกรรมานุบาลหรือการติดตามอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา การติดตามตรวจวัดระดับยาในเลือด (Therapeutic drug monitoring) การซักประวัติ การให้คำแนะนำปรึกษาการใช้ยาแก่ผู้ป่วย (Patient counseling) การวิเคราะห์ใบสั่งยา (prescription analysis) เพื่อแก้ไขปัญหา

คณะเภสัชศาสตร์ ม.สยาม มีความตระหนักและมุ่งเน้นให้บุคลากรทางการแพทย์ภายนอกได้ทราบถึงความแข็งแกร่งทางวิชาการของคณะฯ และบทบาทของเภสัชกรในการดูแลผู้ป่วยด้านยา จัดทำโครงการประชุมวิชาการ The 10th Siam University Pharmacy Conference 2024 (SIP 2024): Common pitfall in Ambulatory Care Practice มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้เข้าร่วมประชุม ทั้งเภสัชกร บุคลากรทางการแพทย์อื่น ๆ รวมทั้งศิษย์เก่าของคณะฯ ได้มีองค์ความรู้ด้านยาที่ถูกต้องและทันสมัย เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในการทำงานและการดูแลผู้ป่วย ณ สถานพยาบาลต่างๆ ได้อย่างเหมาะสม  


  

2.      วัตถุประสงค์

2.1   เข้าใจหลักการพื้นฐานทางยา ปัญหาที่เกิดขึ้นจากยาและแนวทางแก้ไขปัญหา

2.2 สามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้และบูรณาการได้อย่างเหมาะสม