การระบาดของโควิด19... เพราะพระมหากรุณาธิคุณปกเกล้าฯ
การศึกษาของ
ไทย จักรอด พ้นภัย

โดย *ว่าที่ ร.อ.ศศวรรธน์ ขรรค์ทัพไทย ๒A-๒๖๘ จิตอาสา ๙๐๔ รุ่นที่ ๒/๖๑
หัวหน้ากลุ่มงานส่งเสริม และพัฒนาสื่อ นวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการศึกษา
ศึกษานิเทศก์ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสมุทรปราการ เขต ๑

เพราะความรัก ความห่วงใย และสายพระเนตรอันยาวไกลของสถาบันพระมหากษัตริย์ที่วางรากฐานกิจการสำคัญของบ้านเมืองเอาไว้ให้ ประเทศไทยจึงรอดพ้นจากวิกฤติการณ์สำคัญต่าง ๆ มาตลอด

แม้กระทั่งในด้านการศึกษา ปัญหาการขาดแคลนครูของประเทศไทย ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ด้วยการเพิ่มจำนวนครูในเชิงนโยบาย เนื่องจากสัดส่วนครูต่อนักเรียนในภาพรวมนั้นเพียงพออยู่แล้ว แต่ต้องบริหารจัดการจำนวนครูที่มีอยู่ให้กระจายออกไปในต่างจังหวัดโดยเฉพาะโรงเรียนขนาดเล็ก ให้โรงเรียนทุกแห่งมีครูครบชั้นและอย่างน้อย ๘ คนครบตามสาระการเรียนรู้ แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นกับโรงเรียนขนาดเล็กที่หลายรัฐบาลพยามจะแก้ปัญหาด้วยนโยบายควบรวม หรือยุบโรงเรียนนำนักเรียนมาเรียนรวมกันนั้น ไม่ใช่แนวทางแก้ปัญหาที่จะเกิดขึ้นได้โดยง่ายเพราะบริบทของโรงเรียนขนาดเล็กแต่ละแห่งนั้นมีความแตกต่างกัน พระบามสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดช มหาราช ทรงมีความเข้าใจอย่างลึกซึ้งในข้อเท็จจริงและสภาพปัญหานี้ ทรงไม่เคยเข้ามาก้าวก่ายการดำเนินงานของกระทรวงศึกษาธิการในการที่จะลดหรือเพิ่มจำนวนครู เพื่อทำให้มีครูพอเพียงในทุกห้องเรียน แต่ทรงมีพระราชวินิจฉัยพิจารณาแนวทางการแก้ปัญหาที่ไม่เคยมีผู้ใดในประเทศเคยคิดมาก่อน พระองค์ทรงริเริ่มระบบโทรทัศน์ดาวเทียมเพื่อการศึกษา ในขณะที่ระบบโทรทัศน์ของทั้งประเทศยังเป็นระบบภาคพื้น ที่ออกอากาศด้วยย่านความถี่สูงมาก (Very High Frequency ; VHF) และการออกอากาศด้วยระบบดาวเทียมต้องเช่าสัญญาณของต่างประเทศซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูงมาก เนื่องจากประเทศไทยในขณะนั้นยังไม่มีดาวเทียมเป็นของตนเอง ก่อนจะพัฒนามาเป็นการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมที่ดำเนินกิจการมายาวนานมากกว่า ๒๐ ปี จนถึงปัจจุบัน

สถานีวิทยุโทรทัศน์การศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๘ เพื่อเฉลิมพระเกียรติ ในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงครองสิริราชสมบัติครบ ๕๐ ปี บริหารงานโดย มูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ในพระบรมราชูปถัมภ์ (Distance Learning Foundation ; DLF) จัดการเรียนการสอนทางไกลผ่านดาวเทียม ถ่ายทอดสดตามหลักสูตร ปฐมวัย​ ประถมศึกษา มัธยมศึกษา สายอาชีวศึกษา อุดมศึกษา ให้แก่โรงเรียนในประเทศไทย และประเทศเพื่อนบ้าน จำนวน ๑๕ ช่อง (ในชื่อ DLTV ๑ - ๑๕) รวมทั้ง การออกอากาศรายการเพื่อพัฒนาครู จำนวน ๑๕ ช่อง ในส่วนของการศึกษาขั้นพื้นฐาน สถานีวิทยุโทรทัศน์การศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมออกอากาศจากโรงเรียนวังไกลกังวลใน พระบรมราชูปถัมภ์ เป็นห้องเรียนต้นทาง ถ่ายทอดสดรายการการจัดการเรียนการสอนจากห้องเรียนต้นทางชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ ถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๖ ทั้ง ๘ กลุ่มสาระการเรียนรู้ ทุกชั่วโมง ทั้ง ๒ ภาคเรียน ออกอากาศการจัดตั้งเวลา ๐๘.๓๐ – ๑๔.๓๐ น. โดยนอกตารางเวลาการจัดการเรียนการสอน จะเป็นวีดิทัศน์รายการสารคดีและรายการเสริมความรู้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๓๘ จนถึง พ.ศ.๒๕๖๑

วันที่ 10 มีนาคม 2561 พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ปรับภารกิจของมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ให้ดำเนินการส่งเสริมและสนับสนุนการดําเนินงานการจัดการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมและสื่ออื่น ๆ จัดการเรียนรู้ในการจัดการศึกษาสําหรับผู้ด้อยโอกาสและบุคคลที่มีความต้องการพิเศษ ส่งเสริมโอกาสการเข้าถึงการศึกษาของประชาชนทุกกลุ่ม ทุกช่วงวัย พร้อมทั้งเผยแพร่องค์ความรู้ด้านการศึกษา การมีงานทํา และการเรียนรู้ตลอดชีวิต อีกทั้งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งคณะกรรมการมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมชุดใหม่เข้ามาบริหาร สถานีวิทยุโทรทัศน์การศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม และโรงเรียนวังไกลกังวลจึงมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการเป็นการออกอากาศเป็นระบบความคมชัดสูง (High Definition หรือ HD) จัดการเรียนการสอนในห้องเรียนต้นทางเป็นแบบ Active Learning มากขึ้น เน้นการลงมือปฏิบัติ และมีการวัดและประเมินผลการเรียนตามสภาพจริง (Authentic Assessment) มีการยุติการออกอากาศการถ่ายทอดการเรียนการสอนในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย และปรับเปลี่ยนช่องออกอากาศมาเป็นการถ่ายทอดตัวอย่างการจัดประสบการณ์ในระดับการศึกษาปฐมวัย รายการเพื่อการพัฒนาครู การฝึกอาชีพ และการศึกษาตลอดชีวิตแทน นอกจากนี้ มีการออกอากาศวีดิทัศน์บันทึกการสอนแทนการออกอากาศสดทั้งในระบบโทรทัศน์ เว็บไซต์ www.dltv.ac.th และแอพพลิเคชัน DLTV บนสมาร์ตโฟน เพื่อให้การเตรียมการสอนของครู การศึกษาบทเรียนล่วงหน้าและการเรียนซ่อมเสริมของนักเรียน ให้มีความยืดหยุ่นและสามารถปรับประยุกต์ได้โดยสอดคล้องกับความต้องการ

รูปแบบการให้บริการการจัดการศึกษาทางไกลที่ปรับเปลี่ยนใหม่นี้ เป็นการนำเอาระบบการจัดการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมที่มีอยู่เดิมในระบบโทรทัศน์ซึ่งมีข้อดีคือ สามารถเข้าถึงประชาชนได้ทุกพื้นที่ เนื่องจากระบบโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมมีการแพร่สัญญาณได้กว้างครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศ และอุปกรณ์ที่ใช้ในการรับชมก็มีราคาถูก ทำให้เกิดการเรียนรู้ได้อย่างกว้างขวาง มาเพิ่มช่องทางการเผยแพร่บนอินเทอร์เน็ต เนื่องจากข้อมูลการใช้อินเทอร์เน็ตของประเทศไทย ที่รายงานโดยกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ระบุว่า ในปี พ.ศ.๒๕๖๒ ประชากรที่มีช่วงอายุต่ำกว่า 19 ปี และระหว่าง 19 – 35 ปี เป็นกลุ่มที่อินเทอร์เน็ตสูงที่สุด คือมีการใช้อินเทอร์เน็ตมากกว่า 10 ชั่วโมง 35 นาที ต่อวัน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าอินเทอร์เน็ตเป็นพื้นที่ที่มีบทบาทในชีวิตของประชาชนเป็นอย่างมาก การนำเอาการจัดการศึกษาทางไกลที่แต่เดิมออกอากาศผ่านระบบโทรทัศน์เพียงช่องทางเดียวมาเผยแพร่ผ่านช่องทางอินเทอร์เน็ตและแอพพลิเคชั่น จึงเป็นการนำระบบการศึกษาให้เข้าถึงกลุ่มเยาวชนที่เป็นกลุ่มพลเมืองดิจิทัล (Digital Citizen) ของประเทศ อันการดำเนินงานลดช่องว่างทางสังคม ลดปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษาได้อย่างแท้จริง

ในสถานการณ์ภัยพิบัติเกิดการแพร่ระบาดครั้งใหญ่ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ที่ประเทศไทยและทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ รุนแรงถึงขนาดที่โรงเรียนไม่สามารถเปิดทำการจัดการเรียนการสอนได้ แต่การศึกษาของประเทศไทยมิได้หยุดชะงักลง ครูกับนักเรียนยังคงทำการเรียนการสอนได้ผ่านระบบและช่องทางต่าง ๆ ของระบบการศึกษาทางไกล เพราะพระมหากรุณาธิคุณของสถาบันพระมหากษัตริย์ เพราะความรัก ความห่วงใยที่พระราชทานให้กับปวงชนชาวไทย การศึกษาทางไกลจึงเป็นทางออกด้านการศึกษาของประเทศในยามวิกฤติ เช่นเดียวกับวิกฤติการณ์ของประเทศในอดีต ที่ประเทศชาติของเรารอดพ้นได้เสมอมา.