“โรงเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวายเกิดก่อน ทั้งเป็นโรงเรียนสำหรับพระนคร จึงต้องรับภาระอันจะเป็นแบบอย่างแห่งโรงเรียนช่างก่อสร้างทั้งหลาย กับเป็นที่เพาะวิชาครูช่าง เพื่อไปเผยแผ่วิชาช่างในโรงเรียนช่างก่อสร้างทั้งหลายอันจะเกิดขึ้นสะพรั่งตั้งแต่นี้ไป”

ข้อความดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งในคําอวยพรของ เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงธรรมการ มอบให้แก่โรงเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวาย เมื่อแรกสถาปนาในพุทธศักราช ๒๔๗๕ การจัดการศึกษาวิชาช่างไทยนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชปรารภไว้แล้ว แต่ยังมิทันได้โปรดเกล้าฯ ให้ดําเนินการก็เสด็จสวรรคตเสียก่อน กระทั่งถึงพุทธศักราช ๒๔๕๖ กระทรวงธรรมการ ซึ่งมีเจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี (หม่อมราชวงศ์เปีย มาลากุล) เป็นเสนาบดี ได้จัดการก่อสร้างโรงเรียนฝึกหัดการหัตถกรรม เพื่อถวายเป็นพระบรมราชานุสรณ์แด่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขึ้นที่บริเวณถนนตรีเพชร และนําความขึ้นกราบบังคมทูลขอพระราชทานนาม พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามว่า “โรงเรียนเพาะช่าง” และ เสด็จพระราชดําเนินทรงเปิด เมื่อวันที่ ๘ มกราคม พุทธศักราช ๒๔๕๖ ครั้งนั้นมีพระราชดํารัสตอบความตอน หนึ่งว่า “ตามที่เจ้าพระยาพระเสด็จอ่านรายงานเรื่องสร้างโรงเรียนนี้ว่า ได้กระทําขึ้น เพื่อเป็นอนุสาวรีย์ถวายสมเด็จพระบรมชนกนาถของเรานั้น เราเชื่อว่าถ้ามีวิถีอันใดที่กิตติศัพท์อันนี้จะทรงทราบถึงพระองค์ได้ แม้จะเสด็จอยู่ในสถานที่ใดก็ตาม คงจะทรงยินดีและพอพระราชหฤทัย เป็นอันมาก เพราะว่าพระองค์ได้มีพระราชประสงค์อยู่นานแล้วที่จะทรงบํารุงศิลปวิชาการของไทยเราให้เจริญ ตัวเราเองก็ได้เคยฟังกระแสพระราชดําริอยู่เสมอ เราเห็นพ้องด้วยกระแสพระราชดํารินั้นตั้งแต่ต้นมา คือเราเห็นว่าศิลปวิชาช่างเป็นสิ่งสําคัญอันหนึ่ง ซึ่งสําหรับแสดงให้ปรากฏว่า ชาติได้ถึงซึ่งความเจริญเพียงใดแล้ว เราได้เคยปรารภกับเจ้าพระยาพระเสด็จและผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องด้วยการศึกษาที่จะใช้วิชาช่างของเราตั้งขึ้นใหม่จากพื้นเดิมของเราแล้ว และขยายให้แตกกิ่งก้านสาขางอกงามยิ่งขึ้น เปรียบเหมือนเอาพันธุ์พืชของเราเองมาปลูกลงในพื้นแผ่นดินของเรา แล้วบำรุงให้เติบโตงอกงาม ดีกว่าจะเอาพันธุ์ไม้ต่างประเทศมาปลูกลงในพื้นแผ่นดินของเรา อันไม่เหมาะกัน” โดยความประสงค์เช่นนี้ เมื่อเจ้าพระยาพระเสด็จ มาขอชื่อโรงเรียน เราระลึกผูกพันอยู่ในความเปรียบเทียบกันต้นไม้ดังกล่าวนี้ เราจึงได้ให้ชื่อโรงเรียนนี้ว่า “โรงเรียนเพาะช่าง”
โรงเรียนเพาะช่างเปิดสอนวิชาช่างหัตถกรรมไทยมาแต่แรกตั้งมีสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพ็ชรบูรณ์อินทราชัย ทรงเป็นที่ปรึกษาโรงเรียนตั้งแต่พุทธศักราช ๒๔๖๒ และทรงเป็นผู้บัญชาการโรงเรียนเพาะช่าง ตั้งแต่พุทธศักราช ๒๔๖๕ กระทั่งสิ้นพระชนม์ เมื่อวันที่ ๘ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๔๖๖ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณา โปรดเกล้าฯ ให้พระราชทานเพลิงพระศพ ณ พระเมรุท้องสนามหลวง ตามราชประเพณีที่ทรงดํารงพระอิสริยยศสมเด็จเจ้าฟ้าต่างกรม และ “ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเงินการพระราชกุศลถาวรวัตถุสําหรับงานพระเมรุท้องสนามหลวงคราวนี้ เป็นเงิน ๑๐,๐๐๐ บาท ให้สร้างโรงงานนักเรียนเพาะช่างทรงพระราชอุทิศพระราชทานแด่สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพ็ชรบูรณ์อินทราชัย...” โรงงานของโรงเรียนเพาะช่างที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นนี้ตั้งอยู่บริเวณโรงเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวายปัจจุบัน

ที่มาของนามอุเทนถวาย

ถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าธานีนิวัต ทรงเป็นเสนาบดี กระทรวงธรรมการ พระเสนอพจนพากย์ (เสนอ รักเสียม) เป็นอาจารย์ใหญ่โรงเรียนเพาะช่าง ช่วงเวลาดังกล่าวขาดแคลนช่างไม้และช่างก่อสร้างที่เป็นคนไทย ช่างก่อสร้างที่มีอยู่ส่วนมากเป็นชาวต่างชาติ หัวหน้าผู้ควบคุมการก่อสร้างมักเป็นชาวจีน เพื่อเป็นการทํานุบํารุงวิชาการก่อสร้างไทย ในพุทธศักราช ๒๔๗๔ จึงได้เปิดการสอนวิชาช่างแผนกแบบแปลน และเปิดแผนกรับเหมาก่อสร้างขึ้นที่เชิงสะพานอุเทนถวาย ถนนพญาไท อันเป็นที่ตั้งของโรงงานนักเรียนเพาะช่าง ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นอุทิศพระราชทานแด่สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนเพ็ชรบูรณ์อินทราชัย ตั้งแต่พุทธศักราช ๒๔๖๖ ให้ชื่อแผนกที่ตั้งขึ้นใหม่นี้ว่า “โรงเรียนเพาะช่าง แผนกก่อสร้าง” “สะพานอุเทนถวาย” ซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงงานนักเรียนเพาะช่าง อันเป็นที่มาของชื่อโรงเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวายนั้น เป็นสะพานข้ามคลองสวนหลวง ถนนพญาไท คลองนี้เชื่อมต่อกับคลองอรชร ข้าราชการและพนักงาน กรมสรรพากรในร่วมกันบริจาคเงินจํานวน ๘,๐๑๕ บาท ๔๐ สตางค์ ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตสร้างสะพานในที่แห่งใดแห่งหนึ่ง เพื่อน้อมเกล้าฯ ถวายพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อพุทธศักราช ๒๔๕๕ พร้อมกับสะพานช้างโรงสี ที่ข้ามคลองหลอดเยื้องกระทรวงกลาโหม ซึ่งรื้อของเดิมและสร้างขึ้นใหม่ ส่วนสะพานที่ข้าราชการกรมสรรพากรในประสงค์จะสร้างถวายนั้น โปรดเกล้าฯ ให้สร้างที่คลองสวนหลวง ครั้งนั้นเจ้าพระยายมราชเสนาบดีกระทรวงวัง ซึ่งกํากับดูแลกรมสุขาภิบาล ได้เสนอชื่อสะพานที่จะสร้างใหม่ทูลเกล้าฯ ถวายให้ทรงเลือก ๔ ชื่อ ได้แก่ สะพานอุเทนอุทิศ สะพานสรรพากรอุทิศ สะพานบริวารถวาย และสะพานเบญจมราชูทิศ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามว่า “อุเทนถวาย” กรมสรรพากรมีตราประจํากรมเป็นรูปพระเจ้าอุเทนดีดพิณ” หรือ “อุเทนราชดีดพิณ” ดังนั้น “อุเทนราช” ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของกรมสรรพากรและข้าราชการในสังกัด สะพานอุเทนถวาย จึงหมายถึง “สะพานที่ข้าราชการกรมสรรพากรสร้างถวาย” สะพานนี้สร้างเสร็จและพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ ทรงเปิดเมื่อวันที่ ๑๗ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๕๖ ปัจจุบันสะพานดังกล่าวถูกรื้อแล้ว

กําเนิดช่างก่อสร้างอุเทนถวาย

พุทธศักราช ๒๔๗๕ คณะราษฎรยึดอํานาจเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบ สมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตั้งแต่วันที่ ๒๕ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๗๕ ต่อมาถึงเดือนตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๗๕ เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีเป็นเสนาบดีกระทรวงธรรมการในขณะนั้น ได้มีคําสั่งเรื่องตั้งโรงเรียนวิสามัญศึกษาช่างก่อสร้าง เป็นการส่งเสริมการศึกษาวิชาช่างไทย ความในคําสั่งมีดังนี้ "บัดนี้ถึงเวลาที่จะจัดตั้งโรงเรียนช่างก่อสร้างขึ้น เพื่อเป็นโรงเรียนฝึกหัดวิชชาชีพต่อไป เพราะฉะนั้นให้ตั้งโรงเรียนวิสามัญศึกษาขึ้นที่ โรงงานของโรงเรียนเพาะช่าง ถนนพญาไท เชิงสะพานอุเทนถวาย ตำบล ถนนพญาไท โรงหนึ่ง ให้ชื่อว่า "โรงเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวาย" และขึ้นแขวง วิสามัญ กับให้กรรมการจัดการโรงเรียนในคณะหนึ่ง" ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป สั่งแต่ ณ วันที่ ๒๙ ตุลาคม ๒๔๗๕(ลงนาม) เจ้าพระยาธรรมศักดิ์ เสนาบดี หลังจากมีคําสั่งตั้งโรงเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวายแล้ว เสนาบดีกระทรวงธรรมการได้เสนอโครงการจัดวิสามัญศึกษา แผนกโรงเรียนช่างก่อสร้างไปยังประธานคณะกรรมการราษฎร เมื่อวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๗๕ การจัดการศึกษาในโรงเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวายกําหนดชั้นต้นกับชั้นกลาง ดังปรากฏในโครงการที่เสนอตอนหนึ่งว่า “เวลานี้กําลังเริ่มตั้งโรงเรียนช่างก่อสร้างชั้นประถมวิสามัญกับมัธยมต้นวิสามัญซึ่งควรจะมีมากแห่งในพระนคร และในนิคมคามต่างๆ ได้ตั้งโรงเรียนแรก...เรียกว่า โรงเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวาย จะได้เปิดรับนักเรียนในไม่ช้า แผนกประถมวิสามัญรับนักเรียนจบประถมสามัญแล้ว ให้เรียนเป็นช่างไม้ช่างปูนและช่างทาสี แผนกมัธยมต้นวิสามัญรับนักเรียนจบมัธยมต้นแล้วให้เรียนวิชาช่างนั้นๆ จนมีความรู้สูงขึ้นไปเป็นนายช่างคุมงานและกะงาน อย่างหัวหน้าช่างอื่นที่เรียกว่า “จีนเต็ง” ได้ เวลาเรียนกำหนดคราว ๕ ปี ทั้ง ๒ ชั้น มีการเรียนวิชชาสามัญเพิ่มเติมบ้างเล็กน้อยตามสมควร... โรงเรียนช่างชั้นสูงสอนวิชชาสถาปัตยกรรม ตัดให้เป็นสถาปนิก (Architect) คือ นายช่างผู้ออกแบบการก่อสร้าง บัดนี้เปิดสอนอยู่แล้วในโรงเรียนเพาะช่าง ซึ่งต่อไปจะได้สมทบเข้าเป็นส่วนหนึ่ง ในมหาวิทยาลัยตามควรแก่ฐานชั้นอุดมศึกษา...” เสนาบดีกระทรวงธรรมการมีบัญชาให้ตั้งคณะกรรมการจัดการโรงเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวาย ประกอบด้วย พระยาวิทยาปรีชามาตย์ พระยาปริมาณสินสมรรค พระยาโสภณหิรัญกิจ จมื่นสุรฤทธิ์พฤฒิไกร หลวงอาจอัคคีการ นายนารถโพธิประสาท และมีหลวงวิศาลศิลปกรรมเป็นครูใหญ่ เปิดรับนักเรียนเข้าศึกษาวิชาช่างก่อสร้าง เมื่อวันที่ ๒๐ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๗๖ ครั้งนั้นมีนักเรียนทุกชั้นทุกแผนกรวมกันจํานวน ๔๒ คน

เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี
(สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา)

ผู้ให้กำเนิด “โรงเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวาย
เมื่อวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๖

“โรงเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวาย ควรเป็นรากเหง้าของโรงเรียนช่างก่อสร้างทั้งหลาย อันจะต้องมีประปรายไปทั่วพระราชอาณาเขตเสนาสนะเป็นสำคัญส่วนหนึ่งแห่งตุปัจจัย คือ สิ่งจำเป็นทั้ง ๔ อย่างสำหรับการยังชีพให้เป็นไป ดังนั้นมีชุมชนเจริญึ้น ที่ไหนก็จะต้องมีโรงเรียนช่างก่อสร้างที่นั้น โรงเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวายเกิดก่อน ทั้งเป็นโรงเรียนสำหรับพระมหานครจึงต้องรับภาระอันจะเป็นแบบอย่างแห่งโรงเรียนช่างก่อสร้างทั้งหลายกับเป็นที่เพาะครูวิชา ช่างเพื่อไปเผยแพร่วิชาช่างในโรงเรียนช่างก่อสร้างทั้งหลายอันจะเกิดขึ้นสะพรั่งตั้งแต่นี้ไป ภาระทั้ง ๒ อย่างนี้เป็นภาระหนัก การจะเป็นแบบอย่างก็ต้องเป็นแบบที่ดี และ การเพาะครูก็ต้องเพาะผู้ที่มีความสามารถโรงเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวายยอมพร้อมที่จะ รับภาระอันหนักนี้โดยเหตุที่เป็นผู้เกิดก่อน และเป็นโรงเรียนสำคัญของพระนคร...”(อ้างอิงจากหน้งสือ อนุสรณ์ ๖๘ ปี โรงเรียนช่างก่อสร้าง)

วันที่ ๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๗๗

พระสารสาสน์ประพันธ์ (ชื้น จารุวัสตร์)รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ขณะนั้น ได้มีคำสั่งให้เปิดโรงเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวาย แยกออกจากโรงเรียนเพาะช่าง มาดำเนินการเปิดเป็นอีกโรงเรียนหนึ่ง ณ สถานที่ตั้งเดิม พร้อมทั้งมีคำสั่งแต่งตั้ง ร.อ.ขุนบัญชารณการ (วงศ์ จารุศร) ดำรงตำแหน่งอาจารย์ใหญ่

วันที่ ๒๑ มีนาคม ๒๔๗๗ เป็นวันแรกที่ "อุเทนถวาย" ได้อัญเชิญองค์พระวิษณุกรรมเสด็จมาประทับเป็นเทพาจารย์ เป็นศูนย์รวมจิตใจของเหล่าช่างอุเทนถวายทั้งมวล

อ้างอิงจาก: อาจารย์ปัญญา สัลลกานนท์ บทความเรื่อง "ความหลังสิบสี่ปี ของเลือดสีน้ำเงิน หมายเลข ๗๗" ในหนังสืออนุสรณ์ โรงเรียน "ช่างก่อสร้างอุเทนถวาย ๒๔๙๐"

พระเทวภินิมมิต (ฉาย) ได้เขียนภาพระบายสี โดยจำลองรูปวิษณุกรรมเหยียบเมฆ พระหัตถ์ขวาทรงจับไม้วา พระหัตถ์ซ้ายทรงถือไม้ฉากและลูกดิ่ง ใช้เป็นสัญลักษณ์ประจำสำนัก

สีน้ำเงิน อุเทนถวาย

ท่านอาจารย์ปัญญา สัลลกานนท์ ศิษย์เก่าของโรงเรียนรุ่นที่ ๒ เข้าเรียนเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๗ ได้แสดง ความในใจของท่านไว้ในเรื่อง "ความหลังสิบสี่ปีของเลือดสีน้ำเงินหมายเลข ๗๗" ในหนังสืออนุสรณ์โรงเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวาย ๒๔๙๐ ว่า“...ตัวของข้าพเจ้า และเพื่อนของข้าพเจ้าในรุ่นนั้น ยุคนั้น เป็นรุ่นแรกที่ได้เข้าสู่พิธีครอบตัวตามแบบของช่าง โดยอาจารย์พระเทวาภินิมิตเป็นประธาน ในพิธีนี้ยังผลให้ข้าพเจ้ารู้สึกตัวว่า ข้าพเจ้าได้สาบานแล้ว ต่อหน้าพระเทวอาจารย์วิศวกรรมโดยสมบูรณ์ ซึ่งข้าพเจ้าจะต้องมีดวงจิตต์เป็นเลือดสีน้ำเงินตามสีพระกายของท่านเทวาจารย์ อันเป็นความหมายทางจิตต์ใจซึ่งชาวสีน้ำเงินทุกคนย่อมทราบดีแล้วนั้นโดยไม่เป็นสีที่จางจนกว่าชีวิตของข้าพเจ้าจะแตกดับลงไป”จากคำบันทึกของอาจารย์ปัญญา สัลลกานนท์ นี้ ช่วยสนับสนุนความเห็นที่ว่า วันที่พระเทวาภินิมมิต (ฉาย) มาเป็นประธานเพิ่มขึ้นครูการช่างนั้น เป็นครั้งแรกที่ได้กระทำกันต่อหน้า (ภาพเขียน) พระวิศวกรรม (ขอเรียกพระนามตามบันทึกของอาจารย์ปัญญา) และที่ว่าสีพระกายของพระวิศวกรรมเป็นสีน้ำเงินก็คงเนื่องจากสีพระกายที่ปรากฏในภาพเขียนนั่นจะเป็นไปได้หรือไม่สีน้ำเงินซึ่งใช้เป็นสีของโรงเรียนในเวลาต่อมา (เดิมใช้สีแดง-เทา) ได้รับความบันดาลใจมาจากสีพระกายของพระวิษณุกรรม

ประวัติอาจารย์สว่าง สุขัคคานนท์

ชื่อ-สกุล อาจารย์สว่าง สขุคคานนท์

เกิด ๘ ตุลาคม ๒๔๔๙

การศึกษา ป.๑ - ป.๓ โรงเรียนวัดป่าโมกข์ อำเภอป่าโมกข์ จังหวัดอ่างทองป.๔ - มัธยมปีที่ ๔ โรงเรียนวัดเทพศิรินทร์ จังหวัดกรุงเทพมหานคร มัธยมปีที่ ๕ – จบการศึกษา โรงเรียนมัธยมวัดปทุมคงคา เป็นบุตรคนที่ ๔ ของ อำมาตย์เอก ขุนปาโมกข์เกษตร ประวัติสังเขป สุวรรณ (สุข) และนางปาโมกข์เกษตรสุวรรณ (แป้น) เมื่อเยาว์ศึกษาอยู่ในโรงเรียนวัดป่าโมก ขณะนั้นบิดารับราชการเป็น นายอำเภอป่าโมก จังหวัดอ่างทอง จบชั้นประถมศึกษาและมา ศึกษาต่อในพระนครที่ โรงเรียนวัดปทุมคงคา และโรงเรียน เทพศิรินทร์ จบการศึกษาในปี ๒๔๖๗ และได้เข้ารับหน้าที่เป็น ครูใหญ่โรงเรียนประชาบาลวัดโพธิ์ราษฎร์ อำเภอโพธิ์ทอง จังหวัดอ่างทอง ในขณะที่ทำหน้าที่ครูใหญ่ ได้มีการอบรมครูใหญ่ ทั้งมณฑล สอบได้เป็นที่ ๙ ของจังหวัด เป็นที่ ๔ ในมณฑล สอบ ได้ประโยคครูประถม ธรรมศึกษาเอก นับเป็นคนแรกของจังหวัด ในสมัยนั้น กรมหมื่นพิทยลาภพิทยาลงกรณ์ ครั้งดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงธรรมการ ได้เสด็จไปตรวจราชการทรงพอพระทัย ได้ยกโรงเรียนประชาบาลวัดโพธิ์ราษฎร์ ขึ้นเป็นโรงเรียนตัวอย่างในจังหวัด โรงเรียนนั้นจึงมีชื่อเสียง มีนักเรียนกว่า ๗๐๐ คน นับว่ามากที่สุด ในยุคนั้น ๒๔๓๓ ย้ายมาเป็นครูโรงเรียนเกษตรกรรมจังหวัดอ่างทอง (ปัจจุบันเป็นโรงเรียนการช่าง) ต้องบุกร้างถางพง วางผังก่อตั้งโรงเรียนขึ้น กองวิสามัญศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ รับสมัครสอบครูเข้าบรรจุในโรงเรียนมัธยมวิสามัญ (ต่อมาได้รับสถาปนาเป็น กรมอาชีวศึกษา) สอบได้เป็นอันดับที่ ๑๔ บรรจุเข้าเป็นครูใน โรงเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวาย เมื่อ ๙ กรกฎาคม ๒๔๗๘ หลังจาก โรงเรียนได้สถาปนาขึ้นเพียงระยะ ๖ เดือน โดยได้รับอัตราเงินเดือน ๔๕ บาท สอบได้ประโยคครูมัธยมในปีนั้น พ.ศ. ๒๕๕๖ ได้เลื่อนเป็นครูตรี พ.ศ. ๒๕๕๑ ได้เลื่อนเป็นครูโท และดำรงตำแหน่งผู้ช่วยอาจารย์ใหญ่ พ.ศ. ๒๔๙๕ ได้เลื่อนเป็นครูเอก อยู่ในหน้าที่และตำแหน่งเดิม พ.ศ. ๒๕๐๒ ได้รับแต่งตั้งเป็นอาจารย์ใหญ่ รวมเวลาที่รับราชการอยู่ในโรงเรียนนี้เป็นเวลา ๓๔ ปีเศษ นับเป็นครูตั้งแต่เริ่มแรกที่ได้เห็นกิจการของโรงเรียนที่ได้เปลี่ยนแปลงมาก
การต่อสู้ในกิจการงาน ในการดำเนินงานได้พยายามศึกษา และปรับปรุงตนเอง ในกิจการของโรงเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวายจนผู้บังคับบัญชามองเห็น ว่าเป็นผู้ที่มีความสวยงามเหมาะสมสภาพและศักดิ์ศรีของโรงเรียนเป็นอย่างยิ่ง ในด้านการศึกษาก็ได้จัดให้ครูอาจารย์ดำเนินงานด้วย ความเหมาะสม กับสภาพตามหลักสูตรของกรมอาชีวศึกษาที่วางไว้เป็นอย่างดี เมื่อเห็นสิ่งใดที่สมควรจะเพิ่มเติมเพื่อประโยชน์ของนักเรียน ก็ได้พยายามชี้แจงต่อกรมอาชีวศึกษาเพื่ออนุมัติจนไต้ นับว่าเป็นประโยชน์ต่อนักเรียนผู้ศึกษาเป็นอย่างมาก ในด้านส่งเสริมกิจกรรมอื่น ๆ ก็ได้จัดทำเพื่อให้นักเรียนให้มีประสบการณ์ และความชำนิชำนาญ ตลอดจนการเสริมความสัมพันธ์กับผู้อื่น หรือหน่วยงานให้มีความสนใจ ต่อนักเรียนของโรงเรียนเพื่อเป็นแนวทางต่อไปจนได้รับผลเป็นที่พอใจของบุคคลทั่วไป ทั้งยังให้ความร่วมมือในด้านการกุศลและงาน อันเป็นการบำเพ็ญประโยชน์ต่อส่วนรวมของรัฐและราษฎร์ ที่ขอความร่วมมือมาอย่างดี จนได้รับการยกย่องจากหน่วยงานนั้น ๆ จนเป็น ผลงานที่ดีเด่นอย่างยิ่ง ผลงานในตำแหน่งที่ควรนับได้ว่าเป็นเปอร์เซ็นต์สูงสุดในหน้าที่ของอาจารย์ใหญ่แห่งโรงเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวาย เป็นผู้มีอุปนิสัยใจคอกว้างขวาง และมีสัจจะ รักการทำจริง พูดจริง มีเมตตาจิตต่อผู้ที่มาขอร้อง ไม่ว่าจะเป็นการทำยากอย่างไร ก็รับช่วยเหลือจนสำเร็จตามความประสงค์ของแต่ละคนไป มีความยุติธรรมต่อผู้ที่อยู่ในการปกครองตูแลโดยไม่ทอดทิ้ง โดยเฉพาะศิษย์ ได้ติดตามผล ตั้งแต่ต้นจนจบ จนเป็นที่รู้กันทั่ว ๆ ไปในหมู่ศิษย์และได้รับการแต่งตั้งให้ฉายาว่า “พ่อ” ของเขา ซึ่งรู้จักกันดีในหมู่ศิษย์ ในด้านอัธยาศัยนั้น กล่าวได้ว่าไม่เคยทำอะไรให้ใครผิดหวัง เอาใจช่วยสนับสนุนทุกด้านทุกวิถีทาง มีความสุขุมรอบคอบในการปฏิบัติงาน ซึ่งผู้ใต้บังคับบัญชาได้ทราบแล้วว่า เป็นที่อบอุ่นใจได้อย่างดี ไม่เกิดความกังวลใจในเมื่อปฏิบัติก็มีบางขณะในการที่ต้องทำอะไรหักโหม เด็ดขาด ก็พยายามทำให้กระทบกระเทือนน้อยที่สุด ซึ่งเป็นที่เคารพรักและเกรงใจของผู้ใต้บังคับบัญชาทุกคนที่ได้ผ่านเข้ามาและต้องจากไป ซึ่งเรื่องเช่นนี้ ถ้าจะหาผู้บังคับบัญชาความสามารถดีเด่นเหมาะสมได้รับตำแหน่งอาจารย์ใหญ่ของโรงเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวาย สืบแทน นายดิเรก อิศรางกูณ อยุธยา อดีตอาจารย์ใหญ่ซึ่งถึงแก่กรรมในขณะปฏิบัติราชการตั้งแต่วันที่ ๒๐ มกราคม ๒๕๖๑ ตลอดเวลาที่ทำหน้าที่ เป็นครูน้อย จนกระทั่งตำรงตำแหน่งอาจารย์ใหญ่ จนถึงวันครบเกษียณในวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๑๔ ได้พยายามทุกวิถีทาง ในอันที่จะสร้างความเป็นผู้สามารถ ในอาชีพช่างก่อสร้างให้แก่นักเรียนอย่างจริงจัง เป็นที่ปรากฏเป็นผลงานที่มีพยานหลักฐานแก่หน่วยงาน ต่าง ๆ ทั้งของรัฐบาลและเอกชนมาแล้วจนถึงปัจจุบัน นอกจากนั้นยังสร้างให้นักเรียนช่างก่อสร้างทุกรุ่น มีความสามัคคีรักใคร่กันฉันท์พี่น้อง ไม่ว่าจะอยู่ในที่ใดมีฐานะอย่างไร จะต้องช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ทำให้เกิดผลดีแก่งานทั้งทางส่วนตัวและของบ้านเมือง จึงนับว่าเป็นผลงาน อันดีเลิศในการรวมและปลูกจิตใจของบรรดาศิษย์ช่างก่อสร้างอุเทนถวายให้ช่วยกันสร้างและท่าความดีให้แก่บ้านเมืองได้เป็นอย่างดียิ่ง การต่อสู้ในการงานใช้หลักของความจริงและความสัตย์ซื่อเป็นพลังในการปฏิบัติงานทั้งอดีตและปัจจุบันให้ลุล่วงมาด้วยดี ในการทำงานก็ ย่อมต้องมีผิดพลาดเป็นเรื่องธรรมดา เป็นที่น่าสังเกตว่าแม้จะทำอย่างดีแล้วอย่างไรก็ยังไม่วายที่จะมีเรื่องผิดพลาดจนได้ แต่ก็อาศัยหลักของความจริงและความสัตย์เป็นพลังที่ปฏิบัติมา เรื่องก็จบลงด้วยความเรียบร้อย จนครบเวลาที่ต้องจากราชการของกระทรวงศึกษาธิการ กรมอาชีวศึกษา ไปตามกำหนดวาระระเบียบของราชการผลงานจากผลงานนับตั้งแต่เริ่มดำรงตำแหน่งอาจารย์ใหญ่ได้ทำให้กิจการของโรงเรียนก้าวขึ้นสู่การเปลี่ยนแปลงไปทั้งในด้านต่าง ๆ เช่น ด้านอาคารสถานที่ การตบแต่งต่าง ๆ ภายในบริเวณทุกแง่ทุกมุมงานพิเศษ – โปรดเกล้าฯ๑. ให้เป็นกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ เมื่อ ๒๕๐๗-๒๕๑๒ ๒. เป็นคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิสภาลูกเสือแห่งชาติ๓. เป็นกรรมการที่ปรึกษาฝ่ายบรรเทาทุกข์ มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ในพระบรมราชูปถัมภ์ ๔. เป็นอนุกรรมการยุวสมาชิกสมาคมป้องกันปราบปรามยาเสพ์ติดให้โทษ๕. เป็นหัวหน้าคณะลูกเสือวิสามัญ๖. เป็นอุปนายกสโมสรลูกเสือกรุงเทพฯ๗. เป็นผู้กำกับพิเศษ กรมการรักษาดินแดนอ้างอิงจากหนังสือรุ่นปี ๒๕๑๒