กิจกรรมการเพิ่มผลิตภาพการผลิตของวิสาหกิจและพัฒนาศักยภาพบุคลากรภาคอุตสาหกรรมจังหวัดจันทบุรี จังหวัดตราด

ภายใต้โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและบริหารธุรกิจอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป

งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ประจำปีงบประมาณ 2561

ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 9 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม

หลักการและเหตุผล

ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) เป็นองค์ประกอบที่สำคัญของเศรษฐกิจไทย โดยมีจำนวน SMEs จำนวนกว่า 3 ล้านราย มีการจ้างงานในกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs ถึง 10.7 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 80.4 ของการจ้างงานทั้งหมด ปัจจัยต่างๆ ที่เข้ามากระทบไม่ว่าจะเป็น การปรับขึ้นค่าจ้างแรงงานภายใต้ภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันย่อมส่งผลกระทบต่อต้นทุนของผู้ประกอบการ SMEs ผนวกกับความผันผวนจากทิศทางของค่าเงิน การปรับเพิ่มสูงขึ้นของต้นทุนวัตถุดิบ การขยับขึ้นของราคาน้ำมัน อัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ย รวมถึงการเคลื่อนย้ายแรงงานระหว่างภาคอุตสาหกรรมโดยมีแรงจูงใจจากผลต่างค่าจ้าง และสวัสดิการที่แรงงานได้รับ ทำให้ผู้ประกอบการ SMEs โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปซึ่งมีสัดส่วน 85,000 ราย ในปัจจุบันต้องเผชิญกับความท้าทายในการดำเนินธุรกิจเป็นอย่างยิ่ง

วิธีหนึ่งที่ผู้ประกอบการ SMEs สามารถนำมาใช้เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน คือ การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและบริหารธุรกิจ โดยการลดระยะเวลาและต้นทุนการผลิต ลดภาระการพึ่งพิงกำลังแรงงาน ขณะเดียวกันสามารถเพิ่มกำลังการผลิตให้สูงขึ้นตาม ซึ่งเป็นการมองภาพรวมของระบบการผลิตทั้งหมดตั้งแต่กระบวนการผลิตสินค้า กระบวนการขนส่งและกระจายสินค้า รวมถึงการปรับเปลี่ยนหรือเพิ่มทักษะฝีมือทรัพยากรแรงงานให้สอดคล้องและเหมาะสมกับงานที่รับผิดชอบ ซึ่งผู้ประกอบการอาจคิดหาวิธีตัดลดขั้นตอนการทำงานที่ซ้ำซ้อนลง เช่น การปรับเปลี่ยนสถานที่วางเครื่องจักร เพื่อลดเวลาการประกอบ และขนถ่ายสินค้าจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่ง เป็นต้น

แนวทางการพัฒนาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและการบริหารธุรกิจ SMEs ในอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปให้มีศักยภาพและมีขีดความสามารถในการแข่งขัน สามารถดำเนินการได้หลายวิธีการ ได้แก่ ปรับปรุงกระบวนการผลิตให้สามารถผลิตสินค้าที่มีคุณภาพด้วยต้นทุนที่ต่ำที่สุด โดยการนำเทคโนโลยีหรือระบบอัตโนมัติเข้ามาใช้ในการผลิต หรือใช้เทคนิค Productivity Improvement Tools (เครื่องมือการปรับปรุงการเพิ่มผลิตภาพเชิงบูรณาการ) เช่น Lean-Kaizen เพื่อลดต้นทุนจากความสูญเปล่า TPM – Total Productive Maintenance เพื่อลดความสูญเสียที่เครื่องจักร TQM – Problem Solving Techniques เพื่อลดความสูญเสียจากของเสียในกระบวนการผลิต เป็นต้น นอกจากนี้ ในการบริหารจัดการธุรกิจสามารถนำระบบอัตโนมัติและระบบดิจิทัลมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในแต่ละขั้นตอนของการดำเนินการ เพื่อเตรียมความพร้อมองค์กรเข้าสู่อุตสาหกรรม 4.0

จากเหตุผลดังกล่าวศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 9 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม จึงเล็งเห็นถึงความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องดำเนินโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและการบริหารธุรกิจ SMEs ในอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป เพื่อช่วยให้ SMEs มีการบริหารจัดการธุรกิจที่มีประสิทธิภาพ มีขีดความสามารถในการแข่งขันสูงขึ้น และสามารถประกอบธุรกิจได้อย่างต่อเนื่องต่อไป

มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี เป็นสถาบันการศึกษาเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น ที่ดูแลประชาชนที่ประกอบอาชีพอย่างหลากหลายในจังหวัดจันทบุรี และภาคตะวันออก เปิดสอนหลายคณะที่มีองค์ความรู้แยกออกไปเป็นหลายศาสตร์ เช่น เกษตรศาสตร์ อุตสาหกรรมเกษตร วิศวกรรมศาสตร์ วิทยาศาสตร์ วิทยาการจัดการ นิเทศศาสตร์ อัญมณีศาสตร์ อุตสาหกรรม มนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ และอื่นๆ ทำให้มหาวิทยาลัยฯมีความพร้อมด้านบุคลากร ที่มีประสบการณ์การบริการวิชาการสู่ชุมชนเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะด้านการเกษตรและเกษตรแปรรูป เนื่องจากจันทบุรีและตราด เป็นจังหวัดที่มีผลไม้และอาหารทะเลอุดมสมบูรณ์ ทำให้ผลผลิตทางการเกษตร และเกษตรแปรรูปมีเกิดขึ้นหลายรายในพื้นที่สองจังหวัดนี้ ด้วยความพร้อมดังกล่าว ทางมหาวิทยาลัยฯ จึงได้จัดทำข้อเสนอทางเทคนิคกิจกรรมการเพิ่มผลิตภาพการผลิตของวิสาหกิจและพัฒนาศักยภาพบุคลากรภาคอุตสาหกรรมจังหวัดจันทบุรี จังหวัดตราด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การบริหารจัดการธุรกิจ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ มาตรฐานผลิตภัณฑ์ กระบวนการผลิต การควบคุมคุณภาพ การลดความสูญเปล่า การลดต้นทุน การตลาด และการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม ให้ผู้ประกอบการวิสาหกิจ สถานประกอบการ SMEs มีขีดความสามารถในการแข่งขัน และมีความพร้อมเข้าสู่อุตสาหกรรม 4.0

วัตถุประสงค์โครงการ

1. เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการธุรกิจกระบวนการผลิต การควบคุมคุณภาพ การลดความ สูญเปล่า การลดต้นทุน ให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันของวิสาหกิจ และเตรียมความพร้อมเข้าสู่อุตสาหกรรม 4.0

2. เพื่อเพิ่มศักยภาพของผู้ประกอบการและบุคลากรในสถานประกอบการ SMEs ให้มีขีดความสามารถในการดำเนินธุรกิจ

กลุ่มเป้าหมาย

ประเภทกลุ่มเป้าหมาย

1. วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ในอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปและอุตสาหกรรม ที่เกี่ยวเนื่องหรือต่อยอดเป็นซับพลายเชนและอุตสาหกรรมสนับสนุนที่เกี่ยวข้อง จำนวน 50 กิจการ โดยเป็น

    • วิสาหกิจทั่วไป จำนวน 40 กิจการ แยกเป็น
        • จังหวัดจันทบุรี 31 กิจการ
        • จังหวัดตราด 9 กิจการ
    • วิสาหกิจที่มีศักยภาพสูง จำนวน 10 กิจการ แยกเป็น
        • จังหวัดจันทบุรี 9 กิจการ
        • จังหวัดตราด 1 กิจการ

2. ผู้ประกอบการและบุคลากรในภาคธุรกิจ SMEs ที่เข้าร่วมโครงการได้รับการถ่ายทอดความรู้ตามแนวคิดการเพิ่มผลิตภาพเชิงบูรณาการ จำนวน 100 คน โดย

        • จังหวัดจันทบุรี 80 คน
        • จังหวัดตราด 20 คน
คุณสมบัติของกลุ่มเป้าหมาย 

1. วิสาหกิจทั่วไป มีคุณสมบัติ ดังนี้

  • เป็นวิสาหกิจที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล หรือมีการจดทะเบียนพาณิชย์ในสาขาอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง หรือต่อยอดเป็นซัพพลายเชนและอุตสาหกรรมสนับสนุนที่เกี่ยวข้อง
  • มีผู้ถือหุ้นเป็นคนไทย ร้อยละ 51 ขึ้นไป
  • ไม่เป็นบุคคลล้มละลาย
  • ไม่เป็นธุรกิจที่ขัดต่อศีลธรรม


2. กลุ่มวิสาหกิจที่มีศักยภาพสูง มีคุณสมบัติ ดังนี้

  • เป็นวิสาหกิจที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล หรือมีการจดทะเบียนพาณิชย์ในสาขาอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง หรือต่อยอดเป็นซัพพลายเชนและอุตสาหกรรมสนับสนุนที่เกี่ยวข้อง
  • มีผู้ถือหุ้นเป็นคนไทย ร้อยละ 51 ขึ้นไป
  • ไม่เป็นบุคคลล้มละลาย
  • ไม่เป็นธุรกิจที่ขัดต่อศีลธรรม
  • เป็นวิสาหกิจที่มีศักยภาพสูง โดยพิจารณาจากคุณสมบัติจำนวน 3 ข้อ จาก 11 ข้อ ดังต่อไปนี้
        • มียอดขายเพิ่มขึ้นต่อเนื่องติดต่อกัน 2 ปี
        • มีฐานลูกค้าเพิ่มขึ้นในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา
        • มีการส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศ
        • มีการขยายสาขา หรือมีแผนที่จะขยายสาขาของกิจการ
        • ได้รับการรับรองมาตรฐานสากลต่างๆ
        • ได้รับรางวัลการประกวดต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจ
        • มีการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ
        • มีการเชื่อมโยงระบบอัตโนมัติในกระบวนการผลิต
        • มีแผนการพัฒนาการผลิตโดยใช้ระบบอัตโนมัติ
        • มีการนำเทคโนโลยี ดิจิทัลมาใช้ในการบริหารจัดการองค์กร
        • มีการจัดทำแผนธุรกิจ หรือแผนกลยุทธ์ที่ชัดเจนเพื่อใช้ในการดำเนินธุรกิจ


สาขาอุตสาหกรรมเป้าหมาย

อุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปหรืออุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง เช่น อุตสาหกรรมอาหารแปรรูปและปศุสัตว์ อุตสาหกรรมสิ่งทอที่ทำจากเส้นใยธรรมชาติ อุตสาหกรรมไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้ อุตสาหกรรมหนังและฟอกหนัง อุตสาหกรรมน้ำยางและแปรรูปผลิตภัณฑ์ยาง อุตสาหกรรมกระดาษและสิ่งพิมพ์ บรรจุภัณฑ์จากไม้และกระดาษ อุตสาหกรรมพลังงานเชื้อเพลิงชีวภาพ อุตสาหกรรมปาล์มและแปรรูปผลิตภัณฑ์ปาล์ม อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลการเกษตร เป็นต้น

พื้นที่ดำเนินการ

จังหวัดจันทบุรี จังหวัดตราด

ระยะเวลาดำเนินโครงการ

ระยะเวลาดำเนินการภายใน 4 เดือน (สิ้นสุดวันที่ 25 กันยายน 2561)