ระเบียบข้อบังคับสมาคมผู้ปกครองและครูโรงเรียนราชินีบน (พ.ศ.2553)

ข้อ 1.       

สมาคมนี้ชื่อว่า “สมาคมผู้ปกครองและครูโรงเรียนราชินีบน เรียกชื่อย่อว่า “ส.ป.ร.บ. ใช้ภาษาอังกฤษว่า “Rajinibon Parent and Teacher Association” และใช้ชื่อย่อภาษาอังกฤษว่า “RBPTA”

ข้อ 2.       

สำนักงานสมาคมนี้ตั้งอยู่ที่ โรงเรียนราชินีบน เลขที่ 885 ถนนสามเสน แขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร 10300 

ข้อ 3.       

เครื่องหมายของสมาคมมีดังนี้ คือ

    3.1   มีตัวอักษร สผ. ไขว้ สีขาวและน้ำเงินอยู่ใต้พระมหามงกุฎ

    3.2  ใต้ตัวอักษร สผ. ไขว้มีโบว์รูปครึ่งวงกลม และภายในโบว์ มีข้อความว่า “สมาคมผู้ปกครองและครูโรงเรียนราชินีบน"

    3.3   มีเลข ๕ สีน้ำเงินอยู่ใต้พระมหามงกุฎ

คำนิยาม

ข้อ 4.   

    4.1   สมาคมฯ หมายถึง “สมาคมผู้ปกครองและครูโรงเรียนราชินีบน”

    4.2   โรงเรียน หมายถึง โรงเรียนราชินีบน

    4.3   ครู หมายถึง ผู้ที่กำลังทำงานในวิชาชีพครูและ/หรือบุคลากรทางด้านการศึกษาโดยเป็นลูกจ้างประจำของโรงเรียน

    4.4   ครูเกษียณ หมายถึง ผู้ที่ได้ทำงานในวิชาชีพครูและ/หรือบุคลากรทางด้านการศึกษาซึ่งมีอายุงานกับโรงเรียนไม่น้อยกว่า 25 ปีต่อเนื่องกัน และเกษียณอายุงานที่โรงเรียนเท่านั้น

    4.5   นักเรียน หมายถึง นักเรียนทุกระดับชั้นที่กำลังศึกษาอยู่กับโรงเรียน

    4.6   ผู้ปกครอง หมายถึง บิดา มารดา หรือผู้ปกครองที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้กับสมาคมฯ เท่ากับระยะเวลาที่นักเรียนยังศึกษาอยู่กับโรงเรียนหรือตามข้อกำหนดของสมาคมฯ

    4.7   กองทุนครู หมายถึง เงินที่เก็บสะสมไว้หรือเงินรับบริจาคหรือเงินอื่นใดที่เก็บไว้สำหรับกิจกรรมหรือค่าใช้จ่ายของครูตามที่สมาคมฯ กำหนด

    4.8   กองทุนครูเกษียณ หมายถึง เงินที่เก็บสะสมไว้หรือเงินรับบริจาค หรือเงินอื่นใดที่เก็บไว้สำหรับกิจกรรมหรือค่าใช้จ่ายของครูเกษียณ ตามที่สมาคมฯ กำหนด

    4.9   กองทุนผู้ปกครองและนักเรียน หมายถึง เงินที่เก็บสะสมไว้ หรือเงินรับบริจาค หรือเงินอื่นใดที่เก็บไว้สำหรับกิจกรรมหรือค่าใช้จ่ายของผู้ปกครองและนักเรียน ตามที่สมาคมฯ กำหนด

    4.10  กองทุนสำรองสะสม หมายถึง เงินรายได้หรือเงินบริจาคหรือเงินอื่นใดที่สมาคมฯ กำหนดให้เป็นเงินกองทุนสำรองสะสมซึ่งแยกต่างหากจากเงินในกองทุนครู กองทุนครูเกษียณ กองทุนผู้ปกครองและนักเรียนและนักเรียน กองทุนการศึกษาเพื่อนักเรียนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ และเงินของสมาคมฯ ที่ใช้สำหรับงานการบริหารจัดการ โดยเงินกองทุนสำรองสะสมแบ่งเป็นสองประเภทคือ

   - เงินสำรองสะสมประเภท ก หมายถึง เงินสะสมที่นำไปใช้ในกิจการของสมาคมฯ ได้

   - เงินสำรองสะสมประเภท ข หมายถึง กองทุนคงเงินต้น

    4.11  กองทุนการศึกษาเพื่อนักเรียนขาดแคลนทุนทรัพย์ หมายถึงเงินที่ได้รับบริจาคหรือเงินอื่นใดที่เก็บไว้สำหรับเป็นทุนการศึกษาของนักเรียน ตามที่สมาคมฯ กำหนด

    4.12  กองทุนคงเงินต้น หมายถึง เงินกองทุนสำรองสะสม เฉพาะส่วนที่คงยอดเงินต้นไว้ โดยที่สมาคมฯ หรือคณะกรรมการสมาคมฯ จะต้องรักษาเงินต้นไว้โดยไม่สามารถเบิกถอนเงินต้นไปเป็นค่าใช้จ่ายหรือการค้ำประกันใด ๆ แต่คณะกรรมการสมาคมฯ สามารถดำเนินการนำเงินไปลงทุนเฉพาะในตราสารหนี้หรือตราสารทุน เพื่อให้เถิดดอกผลแก่สมาคมฯ 

    4.13  งานบริหารจัดการ หมายถึง ภารกิจที่คระกรรมการสมาคมฯ ได้ใช้จ่ายเป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารสมาคมฯ ได้ใช้จ่ายเป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารสมาคมฯ ได้แก่ เงินเดือน ค่าจ้าง ค่าตอบแทน ค่ารับรอง ค่าเดินทาง ค่าที่พัก ค่าพาหนะ ค่าน้ำมันรถ และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นจากการดำเนินงานของคณะกรรมการสมาคมฯ เช่น ค่าใช้จ่ายประเภทเงินบริจาค ค่าใช้จ่าย งานกุศลภายนอกโรงเรียนราชินีบน งานกิจกรรมหรืองานบุญประเพณีของโรงเรียนราชินีบนที่ไม่เกี่ยวกับกองทุนครู กองทุนครูเกษียณ กองทุนผู้ปกครองและนักเรียน ให้ใช้จ่ายได้เท่าที่คณะกรรมการสมาคมฯ ได้จัดสรรงบประมาณไว้ เพื่อการนั้นในแต่ละปีเท่านั้น ทั้งนี้จะต้องไม่ทำให้งานบริหารจัดการมีขาดทุนสะสม หรืออาจขาดทุนสะสมในรอบปี

ข้อ 5.  

การดำเนินงานตามวัตถุประสงค์ จะไม่ขัดแย้งกับนโยบายและการบริหารราชการของกระทรวงศึกษาธิการ

สมาชิก

ข้อ 6.   

สมาชิกของสมาคมฯ แบ่งออกเป็น 3 ประเภท  คือ

    6.1   สมาชิกกิตติมศักดิ์

    6.2   สมาชิกวิสามัญ

    6.3   สมาชิกสามัญ

ข้อ 7.  

สมาชิกกิตติมศักดิ์ ได้แก่ ผู้ทรงคุณวุฒิหรือผู้มีอุปการคุณแก่สมาคมฯ หรือโรงเรียน หรือมีเกียรติคุณ-พิเศษ สมาชิกภาค เริ่มเมื่อคณะกรรมการบริหารสมาคมฯ มีมติเป็นเอกฉันท์เชิญเข้ามาเป็นสมาชิก และเมื่อผู้นั้นได้ยอมรับเป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์แล้ว

ข้อ 8.   

สมาชิกวิสามัญ ได้แก่ ผู้ที่ได้บำรุงหรือบริจาคสมาคมฯ เป็นมูลค่าไม่น้อยกว่า 3 เท่า ของค่าบำรุงสมาคมฯ ของสมาชิกสามัญและถือเป็นสมาชิกวิสามัญเมื่อคณะกรรมการบริหารสมาคมฯ มีมติเป็นเอกฉันท์รับเป็นสมาชิก

ข้อ 9.   

สมาชิกสามัญต้องมีคุณสมบัติดังนี้

    9.1   บรรลุนิติภาวะ

    9.2   มีความประพฤติดี

    9.3   เป็นบิดา มารดา หรือผู้ปกครองนักเรียนโรงเรียนราชินีบนหรือเคยเป็นครูอาจารย์ในโรงเรียนราชินีบน

    9.4   คู่สมรสของผู้มีสิทธิตามที่กล่าวในข้อข้างต้น

ข้อ 10.  

สมาชิกสามัญต้องเสียค่าลงทะเบียนและค่าบำรุงสมาคมฯ

    10.1  ค่าลงทะเบียน 50 บาท

    10.2  ค่าบำรุงสมาคมฯ 5,000 บาท/ต่อนักเรียนหนึ่งคน

    10.3  ค่าทำบัตร กรณีทำบัตรใหม่เนื่องจากบัตรชำรุด สูญหาย เปลี่ยนแปลงชื่อตัวและชื่อสกุล ผู้ถือบัตรสมาชิก ต้องชำระค่าธรรมเนียม 100 บาท

ข้อ 11.   

สมาชิกที่ได้รับการยกเว้นค่าลงทะเบียนและค่าบำรุงสมาคมฯ 

    11.1  สมาชิกกิตติมศักดิ์

    11.2  สมาชิกสามัญซึ่งเป็นครูอาจารย์โรงเรียนราชินีบนปัจจุบันเว้นแต่จะมีเจตนาเป็นอย่างอื่น

ข้อ 12.   

ผู้ใดสมัครเข้าเป็นสมาชิกสามัญ ต้องแสดงความจำนงเข้าเป็นสมาชิกเป็นลายลักษณ์อักษร ตามแบบฟอร์มของสมาคมฯ ที่กำหนดไว้ มีสมาชิกรับรองไม่น้อยกว่า 2 คน สมาชิกภาพของสมาชิกสามัญเริ่มเมื่อกรรมการบริหารสมาคมฯ ได้ลงมติรับเข้าเป็นสมาชิกและผู้สมัครได้ชำระค่าลงทะเบียนและค่าบำรุงสมาคมฯ แล้ว

ข้อ 13.   

ให้มีสมุดทะเบียนสมาชิกไว้ลงทะเบียนเป็นสมาชิกโดยถูกต้องและเก็บรักษาไว้ในที่อันมั่นคงและปลอดภัย ณ สมาคมผู้ปกครองและครูโรงเรียนราชินีบน

ข้อ 14.   

สมาชิกภาพย่อมสิ้นสุดลงเมื่อ

    14.1  ตาย

    14.2  ลาออก

    14.3  ถูกศาลสั่งให้เป็นผู้ไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถ หรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ

    14.4  ต้องรับโทษจำคุก โดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่ความผิดที่เป็นลหุโทษหรือความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท

    14.5  ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับของสมาคมฯ หรือประพฤติอันอาจนำความเสื่อมเสียมาสู่สมาคมฯ และโรงเรียน และคณะกรรมการบริหารสมาคมฯ มีมติไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของกรรมการที่เข้าประชุมให้ออกจากการเป็นสมาชิก

ข้อ 15.  

สมาชิกผู้ใดประสงค์จะลาออก ให้ยื่นหนังสือขอลาออกต่อสมาคมฯ โดยให้นายทะเบียนรายงานต่อคณะกรรมการบริหารสมาคม และจำหน่ายชื่อออกจากการเป็นสมาชิก และให้ประกาศชื่อผู้นั้นไว้ ณ สำนักงานของสมาคมฯ ไม่น้อยกว่า 7 วัน ทั้งนี้ต้องไม่มีหนี้สินติดค้างกับสมาคม

ข้อ 16.   

เมื่อสมาชิกภาพของผู้ใดสิ้นสุดลง ผู้นั้นจะยกเอาเหตุแห่งการนั้นมาอ้างเรียกร้องเอาผลประโยชน์แห่งตนและค่าเสียหายอื่นใดจากสมาคมฯ หรือคณะกรรมการบริหารสมาคมฯ ไม่ได้

ข้อ 17.   

สมาชิกย่อมมีสิทธิ์ประดับเครี่องหมายของสมาคมฯ ได้

ข้อ 18.   

สมาชิกมีสิทธิ์ได้รับประโยชน์ต่าง ๆ อันจะพึงมีพึงได้ เนื่องจากผลงานตามวัตถุประสงค์ของสมาคมฯ และย่อมมีสิทธิ์สอบถามถึงกิจการของสมาคมฯ ได้

ข้อ 19.   

ถ้ามีเหตุผลว่า คณะกรรมการบริหารกระทำผิดวัตถุประสงค์ของสมาคมฯ สมาชิกไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมด หรือไม่น้อยกว่า 30 คน มีสิทธิ์ทำหนังสือลงลายมือชื่อร่วมกัน ขอให้คณะกรรมการบริหาร จัดให้มีการประชุมใหญ่วิสามัญได้และในคำขอต้องแสดงเหตุผลไว้ชัดเจน

คณะกรรมการบริหารสมาคมฯ

ข้อ 20.   

ให้มีคณะกรรมการบริหารสมาคมฯ เพื่อดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของสมาคมฯ ประกอบด้วยผู้อำนวยการโรงเรียน สมาชิกสามัญที่เป็นผู้ปกครองที่ได้รับเลือกมาไม่น้อยกว่า 10 คน และไม่เกิน 20 คน สมาชิกสามัญที่เป็นครูของโรงเรียนที่ได้รับเลือกมาไม่น้อยกว่า 5 คน และไม่เกิน 10 คน

ข้อ 21.   

คณะกรรมการบริหารสมาคมฯ มีสิทธิเชิญผู้แทนองค์การสมาคมฯ หรือมูลนิธิได้อีกไม่เกิน 5 คน ร่วมเป็นกรรมการบริหารสมาคมฯ โดยมีมติไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของกรรมการที่เข้าประชุม (หมายถึงต้องบอกตำแหน่งหน้าที่ด้วย)

ข้อ 22.   

คณะกรรมการบริหารอาจเชิญผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้มีความชำนาญในด้านต่าง ๆ เป็นกรรมการที่ปรึกษา

ข้อ 23.   

คณะกรรมการบริหารอยู่ในตำแหน่งวาระละ 2 ปี เมื่อครบกำหนดแล้วก็คงให้มีอำนาจหน้าที่บริหารต่อไปจนกว่าคณะกรรมการบริหารชุดใหม่ได้รับมอบหมายงานอย่างเป็นทางการ

ข้อ 24.   

ถ้าตำแหน่งกรรมการบริหารสมาคมฯ ว่างลงก่อนถึงกำหนดเลือกตั้งใหม่ ให้คณะกรรมการบริหารเชิญสมาชิกผู้ที่ได้รับคะแนนเลือกตั้งในอันดับถัดไป หรือพิจารณาเลือกสมาชิกที่เห็นสมควรเป็นกรรมการแทนในตำแหน่งที่ว่างนั้น โดยมีมติไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของกรรมการที่เข้าประชุม ผู้ที่เข้าเป็นตัวแทนดังกล่าวให้อยู่ในตำแหน่งเท่าเวลาของผู้ที่ตนแทน

ข้อ 25.   

ในการเลือกตั้งคณะกรรมการบริหาร ให้ใช้วิธีลงคะแนนลับ ให้มีกรรมการนับคะแนน ให้สมาชิกเสนอชื่อผู้ที่ตนเห็นสมควร พร้อมชี้แจงคุณสมบัติและประสบการณ์ ความรู้ความสามารถและมีผู้รับรองไม่น้อยกว่า 30 คน ขึ้นชื่อบนกระดาน แล้วให้สมาชิกลงบัตรคะแนนเลือกตั้งตามจำนวนที่กำหนด

ข้อ 26.   

ให้คณะกรรมการบริหารเลือกตั้งกันเอง เป็นนายกสมาคมฯ 1 คน อุปนายกสมาคมฯ ไม่เกิน 3 คน แล้วให้นายกและอุปนายกร่วมกันตั้งกรรมการอื่นให้มีตำแหน่งและหน้าที่รับผิดชอบ

ตำแหน่งและอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการบริหาร

ข้อ 27.   

ตำแหน่งต่าง ๆ ของกรรมการบริหารสมาคมฯ ประกอบด้วย

    27.1   นายกสมาคมฯ มีหน้าที่รับผิดชอบในงานทั่วไปของสมาคมฯ เป็นประธานในที่ประชุม ส่วนการดำเนินอรรถคดีหรือ/ทำนิติกรรมใด ๆ เกี่ยวกับสมาคมฯ นั้น นายกต้องลงนามร่วมกับเลขาธิการหรือกรรมการอื่นอีก 1 คน กับประทับตราเครื่องหมายสมาคมฯ จึงจะสมบูรณ์

    27.2   อุปนายก  มีหน้าที่ช่วยเหลือและทำการแทนนายกฯ ในขณะที่นายกฯ ไม่อยู่ หรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้

    27.3   เลขาธิการ มีหน้าที่รับผิดชอบบังคับบัญชาและประสานงานให้เป็นไปตามระเบียบและคำสั่งของนายกฯ เตรียมระเบียบวาระการประชุม จดและรักษารายงานการประชุม ทำจดหมายโต้ตอบ และให้มีหน้าที่รับผิดชอบปฏิบัติงานซึ่งมิได้จัดให้อยู่ในตำแหน่งหน้าที่ใดและยังมิได้ตั้งกรรมการบริหารผู้ใดขึ้นมาปฏิบัติงาน

    27.4   เหรัญญิก มีหน้าที่รับผิดชอบในการเงิน บัญชี ทรัพย์สิน ของสมาคมฯ

    27.5   นายทะเบียน มีหน้าที่รับผิดชอบในการจัดทำ รักษาทะเบียนของสมาชิก และเก็บทะเบียนในที่มั่นคงของสมาคมฯ

    27.6   ปฏิคม มีหน้าที่ต้อนรับควบคุมดูแลสถานที่และอำนวยการในการนั้น ๆ

    27.7   สาราณียกร มีหน้าที่จัดทำประวัติของสมาคมฯ จัดทำเผยแพร่วารสาร ตลอดจนเผยแพร่กิจกรรมทั่วไปของสมาคมฯ

    27.8   บรรณารักษ์ มีหน้าที่รักษาห้องสมุดของสมาคมฯ และจัดหาหนังสือประจำห้องสมุด จัดทำระเบียบเกี่ยวกับหนังสือสำหรับห้องสมุด

    27.9   ประชาสัมพันธ์ มีหน้าที่ประชาสัมพันธ์ให้บุคคลภายนอกเข้าใจในกิจกรรมของสมาคมฯ และแถลงข่าวของสมาคมฯ

    27.10  สวัสดิการ มีหน้าที่รับผิดชอบดูแลเกี่ยวกับสวัสดิการของครูและนักเรียน

    27.11  จัดหารายได้ มีหน้าที่จัดหารายได้เพื่อนำมาใช้ในการดำเนินกิจการตามวัตถุประสงค์และมติของคณะกรรมการสมาคมฯ

    27.12  วิเทศสัมพันธ์ มีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับงานต่าง ๆ ประเทศทั้งปวง

    27.13  กรรมการกลาง มีหน้าที่รับผิดชอบงานที่นายก อุปนายก หรือมติของคณะกรรมการบริหารมอบหมาย

ข้อ 28.   

เพื่อประโยชน์ในการบริหารงานตามวัตถุประสงค์ของสมาคมฯ คณะกรรมการอาจจัดตั้งอนุกรรมการ หรือผู้ใดให้ทำหน้าที่อย่างหนึ่งอย่างใด หรือผู้ช่วยกรรมการเจ้าหน้าที่ตำแหน่งใด ๆ โดยได้รับอนุมัติจากที่ประชุมคณะกรรมการบริหาร

ข้อ 29.   

เพื่อประโยชน์ในการบริหารงานตามวัตถุประสงค์ของสมาคมฯ ให้คณะกรรมการบริหาร มีอำนาจออกระเบียบต่าง ๆ ของสมาคมฯ โดยไม่ขัดต่อข้อบังคับนี้

คณะกรรมการที่ปรึกษา

ข้อ 30.   

คณะกรรมการที่ปรึกษา ประกอบด้วย

    30.1   อดีตนายกสมาคมโรงเรียนราชินีบน (มีหนังสือยืนการเข้าเป็นคณะกรรมการที่ปรึกษา)

    30.2   คณะกรรมการบริหารโรงเรียนราชินีบนชุดปัจจุบัน (โดยตำแหน่ง)

    30.3   ผู้ทรงคุณวุฒิที่คณะกรรมการบริหารสมาคมฯ เห็นควร

ข้อ 31.   

การสิ้นสุดสภาพของกรรมการที่ปรึกษา

    31.1   กรรมการที่ปรึกษาประเภทผู้ทรงคุณวุฒิจะดำรงตำแหน่งเท่ากับวาระของคณะกรรมการบริหารชุดนั้น

    31.2   อดีตนายกสมาคมฯ และคณะกรรมการบริหารโรงเรียน ดำรงตำแหน่งตลอดอายุของสมาคมฯ

    31.3   ทำหนังสือลาออก หรือบอกกล่าวแก่ที่ประชุมของคณะกรรมการบริหารสมาคมฯ หรือเสียชีวิต

ข้อ 32.   

หน้าที่ของกรรมการที่ปรึกษา

    32.1   กรรมการที่ปรึกษามีหน้าที่ให้คำปรึกษาตามความรู้และความเชี่ยวชาญพิเศษ ตามความประสงค์ของคณะกรรมการบริหารสมาคมฯ

    32.2   กรรมการที่ปรึกษาที่เป็นอดีตนายกสมาคมฯ และกรรมการบริหารโรงเรียน มีหน้าที่ในการเข้าประชุมเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขระเบียบข้อบังคับที่เกี่ยวกับกองทุนสำรองสะสมของสมาคมฯ และมีสิทธิในการร่วมลงมติ

การประชุมใหญ่สมาชิก

ข้อ 33.   

คณะกรรมการบริหารสมาคมฯ เรียกประชุมใหญ่สมาชิกประจำปีอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ภายในเดือนกรกฎาคมเพื่อแถลงกิจการที่ได้ทำไปแล้ว และปรึกษาหารือบริหารงานตามระเบียบข้อบังคับของสมาคมฯ เสนอบัญชีรับ-จ่ายในรอบปี ตั้งผู้ตรวจสอบบัญชีและเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารของสมาคมฯ เมื่อครบกำหนดองค์ประชุมไม่น้อยกว่า 1 ใน 4 ของสมาชิกทั้งหมด หากสมาชิกไม่ครบองค์ประชุม ให้มีการเรียกประชุมใหญ่ภายใน 15 วัน ในการเรียกประชุมครั้งที่ 2 จะมีสมาชิกจำนวนเท่าไหร่ก็ตามให้ถือว่าครบองค์ประชุม

ข้อ 34.   

การเปิดประชุมใหญ่ เลขาธิการต้องทำหนังสือบอกกล่าวไปยังสมาชิกล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 10 วัน และประกาศไว้ ณ สำนักงานของสมาคมฯ

ข้อ 35.   

นายกสมาคมฯ เป็นประธานในที่ประชุมทุกครั้ง ถ้านายกฯ ไม่สามารถประชุมได้ให้อุปนายกสมาคมฯ เป็นประธานแทน ถ้าอุปนายกสมาคมฯ ไม่สามารถเข้าประชุมได้ และไม่ได้รับมอบหมายให้ผู้ใดเป็นประธานแทน ให้ที่ประชุมเลือกตั้งกรรมการบริหารคนใดคนหนึ่งในที่ประชุมนั้น เป็นประธานชั่วคราวเฉพาะการประชุมนั้น ๆ

ข้อ 36.   

การแก้ไขเปลี่ยนแปลง หรือเพิ่มเติมข้อบังคับของสมาคมฯ จะทำได้ตามมติของที่ประชุมใหญ่ด้วยเสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของผู้เข้าร่วมประชุม

ข้อ 37.  

ให้มีการประชุมคณะกรรมการบริหารตามปกติอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง เพื่อปรึกษาหารือเกี่ยวกับการดำเนินงานในรอบเดือน เกี่ยวกับสวัสดิการครู นักเรียน และอื่น ๆ

ข้อ 38.   

ให้มีผู้สอบบัญชี มีหน้าที่ตรวจสอบและรับรองบัญชีงบดุลของสมาคมฯ

การเงิน

ข้อ 39.

การเงินของสมาคมฯ ประกอบด้วย

    39.1   แหล่งที่มารายได้ เป็นดังนี้

        ก)  ค่าลงทะเบียน (ตามข้อ 10.1)

        ข)  ค่าบำรุงสมาคม (ตามข้อ 10.2)

        ค)  ค่าธรรมเนียมทำบัตรสมาชิกใหม่ (ตามข้อ 10.3)

        ง)  เงินบริจาค

        จ)  การจัดกิจกรรม

        ฉ)  รายได้อื่น ๆ ที่นอกเหนือจากข้อ 39.1 (ก). ถึง ข้อ 39.1 (จ)

    39.2   การจัดสรรรายได้ให้ปฏิบัติ ดังนี้

        39.2.1  รายได้ตามข้อ 39.1(ข) และ 39.1(ง) ให้หักเข้ากองทุนสำรองสะสมร้อยละ 20 ยกเว้น เงินบริจาคตามข้อ 39.1(ง) ที่ผู้บริจาคมีความประสงค์บริจาคเข้ากองทุนใดกองทุนหนึ่งหรือตามวัตถุประสงค์ใดเป็นการเฉพาะ ให้ดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของผู้บริจาค

        39.2.2   รายได้จากข้อ 39.1(จ) ให้หักเข้ากองทุนสำรองสะสมร้อยละ 20 ของรายได้ที่หักค่าใช้จ่ายแล้ว

        39.2.3  รายได้อื่น ๆ ตามข้อ 39.1(ฉ) ให้หักเข้ากองทุนสำรองสะสมร้อยละ 20 ของรายได้ที่หักค่าใช้จ่ายแล้ว ซึ่งมียอดเงิน ตั้งแต่ 50,000 บาทขึ้นไป

    39.3   การจัดสรรรายได้เข้ากองทุน

        39.3.1  เงินรายได้ส่วนที่เหลือจากการได้หักเข้ากองทุนสำรองสะสมตามข้อ 39.2.1 ถึง 39.2.3 แล้วให้แบ่งเข้ากองทุนดังนี้

            ก)  กองทุนครูเกษียณร้อยละ 20

            ข)  กองทุนครูร้อยละ 15

            ค)  กองทุนผู้ปกครองและนักเรียนร้อยละ 25

            ง)  กองทุนการศึกษาเพื่อนักเรียนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ร้อยละ 15

            จ)  งานบริหารจัดการร้อยละ 10

        39.3.2  เงินรายได้ที่ไม่เข้ากองทุนตามข้อ 39.3.1(ก) ถึง (ง) ให้นำเข้าไว้ในส่วนงานบริหารจัดการ (39.3.1(จ))

        39.3.3  คณะกรรมการสมาคมฯ ต้องสรุปยอดรวมดอกผลที่เกิดจากกองทุนคงเงินต้นทุนวันที่ 30 มิถุนายนของทุกปี ทั้งปีคณะกรรมการสามารถนำดอกผลไปบริหารจัดการตามระเบียบของสมาคมฯ หรือนำดอกผลไปบริหารจัดการตามระเบียบของสมาคมฯ หรือนำดอกผลทั้งหมดหรือบางส่วนส่งเข้ากองทุนคงเงินต้นก็ได้

        39.3.4  คณะกรรมการบริหารสมาคมฯ ต้องตั้งสำรองเงินสำหรับงานบริหารจัดการไม่น้อยกว่า 120,000 บาท ภายในเดือนสิงหาคมของทุกปี ทั้งนี้เงินรายได้ตามข้อ 39.3.2 ในส่วนที่เกินกว่าเงินที่ตั้งสำรองไว้เพื่องานบริหารจัดการแล้ว ให้ดำเนินการจัดส่งเข้ากองทุนคงเงินต้นไม่ต่ำกว่าร้อยละ 50 ของส่วนที่เหลือ

ข้อ 40.   

เงินของสมาคมฯ ต้องฝากไว้ในธนาคารในนามของสมาคมฯ โดยเหรัญญิกเก็บรักษาเงินสดย่อยไว้ไม่เกิน 10,000 บาท (หนึ่งหมื่นบาทถ้วน)

ข้อ 41.   

การเบิกจ่ายจากธนาคารต้องมีนายกหรืออุปนายกฝ่ายหนึ่งกับเหรัญญิก หรือผู้ช่วยอีกฝ่ายหนึ่ง ลงนามร่วมกันทั้งสองฝ่าย

ข้อ 42.   

การตั้งจ่ายเงินของสมาคมฯ แต่ละครั้ง นายกหรืออุปนายกให้มีฐานะทำการแทน สั่งจ่ายได้ไม่เกิน 2,000 บาท แล้วเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารทราบในคราวต่อไป จำนวนเงินที่เกินกว่านี้ต้องขอมติคณะกรรมการบริหาร

ข้อ 43.   

การแก้ไขระเบียบหรือข้อบังคับที่เกี่ยวข้องกับเงินทุนสำรองสะสม คณะกรรมการบริหารสมาคมฯ ต้องเชิญคณะกรรมการที่ปรึกษาโดยมีอดีตนายกสมาคมฯ และคณะกรรมการบริหารโรงเรียนรวมกันแล้วไม่น้อยกว่า 6 คน เข้าร่วมพิจารณาการลงมติแก้ไขระเบียบข้อบังคับเรื่องกองทุนสำรองสะสมให้ใช้คะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของคณะกรรมการบริหารและคณะกรรมการที่ปรึกา มิฉะนั้นคณะกรรมการบริหารสมาคมฯ จะปรับปรุงหรือแก้ไขระเบียบหรือข้อบังคับในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเงินกองทุนสำรองสะสมมิได้

ข้อ 44.  

ระเบียบการใช้เงินกองทุนและข้อกำหนดว่าด้วยระเบียบการเบิกจ่ายเงินของสมาคมฯ ให้เป็นไปตามมติที่ประชุมคณะกรรมการบริหารสมาคมฯ

การเลิกสมาคม

ข้อ 45.   

เมื่อสมาคมฯ เลิก ถ้ามีทรัพย์สินอยู่เท่าใด ทรัพย์สินนั้นให้ตกเป็นของโรงเรียนราชินีบน

ข้อ 46.   

ให้ผู้ริเริ่มก่อตั้งสมาคมฯ มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบเหมือนคณะกรรมการบริหารสมาคมฯ ทุกประการ และให้ถือว่าผู้ริเริ่มก่อตั้งสมาคมฯ เป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์ตลอดชีพ

ข้อ 47.   

มติที่ประชุมที่นอกเหนือจากที่กำหนดไว้ข้างต้น ให้ถือคะแนนเสียงข้างมาเป็นเกณฑ์ ถ้าคะแนนเสียงเท่ากันให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงชี้ขาด